Written by 6:41 am Featured, Patani Notes

ปาตานีอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพและการเมืองไทย

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกล่าสุดของประเทศได้เปิดเพดานใหม่ของบทสนทนาที่ท้าทายสังคมไทย และแน่นอนว่ามันแหลมคมเพียงพอที่จะส่งผลโดยตรงต่อบทสนทนาของผู้คนที่อยู่ในปาตานีหรือสามจังหวัดชายแดนใต้ คนรุ่นใหม่หลายคนในพื้นที่ไม่เพียงแต่ลุกขึ้นมาท้าทายกรอบความคิดเดิมของสังคมไทยเท่านั้นแต่ยังลุกขึ้นมาตั้งคำถามอันท้าทายกับสังคมของตัวเองอีกด้วย

Patani NOTES สนทนากับรอมฎอน ปันจอร์ ในค่ำคืนอันเงียบเหงาของย่านเมืองเก่าปัตตานี ในฐานะ Curator หรือนักคัดสรรแห่งสำนักศูนย์เฝ้าระวังชายแดนใต้ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยและความขัดแย้งอันยืดเยื้อที่ปาตานีหรือชายแดนใต้ในระยะประชิด รอมฎอนชวนให้เราคิดตามว่าในสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้จะมีผลอย่างไรต่อสังคมปาตานีหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางของปาตานีนั้นอยู่ตรงไหนในความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพดูเหมือนจะนิ่งเงียบไปแต่กลับไม่ไร้ซึ่งความเคลื่อนไหว และที่สำคัญความขัดแย้งที่ปาตานีจะสามารถมอบบทเรียนอะไรให้แก่การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยได้บ้าง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น

สันติภาพปาตานีอยู่ตรงไหนในความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย

ทั้งสองเรื่องนี้เป็นกระบวนการทางการเมือง หัวใจของมันคือความพยายามในการสร้างฉันทามติ พยายามจะเปลี่ยนตัวความขัดแย้งไปสู่สถานะใหม่ ทำให้คนมีความสัมพันธ์กันแบบใหม่ ที่น่าสนใจคือสองเรื่องนี้มันกินระยะของความขัดแย้งยาวนาน อายุของวิกฤตการณ์ทั้งสองถ้าเรานับจากจุดเริ่มต้นของมันก็ใกล้เคียงกัน เห็นได้ชัดว่าเป็นของที่คู่กับสังคมไทย

ก่อนหน้านี้กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นพันธมิตรฯ นปช.และ กปปส. ก็พูดถึงเรื่องภาคใต้ในเวทีตัวเองแต่พูดบนฐานคิดที่มุ่งโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม เช่นในเวทีพันธมิตรฯ ก็พูดกันถึงเรื่องตากใบ มีการฉายวิดิทัศน์เรื่องตากใบในที่ชุมนุมเพื่อโจมตีทักษิณ ในขณะที่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงก็มีเหมือนกันแต่เพื่อโจมตีทหาร 

ฉะนั้นเรื่องภาคใต้มันอยู่ตรงไหนของการเคลื่อนไหวมวลชนพวกนี้ คือมีเอาไว้ทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่าย ฟังค์ชั่นของมันมีแค่นั้น ทั้งสองฝ่ายก็อยู่บนฐานคิดเดียวกันเวลามองภาคใต้ พวกเขามองว่าเป็นดินแดนที่มีปัญหาของพวกชนกลุ่มน้อย มีแต่เจ้าหน้าที่คอยแสวงหาประโยชน์ คือมองปัญหาอย่างผิวเผิน เป็นตัวอย่างของการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของผู้ครองอำนาจรัฐแค่นั้น ไม่มีข้อเสนอที่เป็นเรื่องเป็นราว ประเด็นเรื่องภาคใต้ไม่เคยเป็นวาระสำคัญในการเคลื่อนไหวมวลชนระดับชาติมาก่อน

ผมว่าสถานภาพตอนนี้ในช่วงการเคลื่อนไหวตลอดแปดเดือนที่ผ่านมาหากเรานับการเคลื่อนไหวตั้งแต่วิ่งไล่ลุง ซึ่งเป็นกระแสที่มีการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล ประเด็นเรื่องภาคใต้ก็ยังมีสถานะคล้ายๆกัน การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาอาจมีเวทีให้พูดออกมาบ้างเช่นการกระจายอำนาจ เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวาระต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นวาระหลัก เพราะเรื่องที่มีการพูดบนเวทีปราศรัยมันใหญ่กว่านั้นมากเช่นเรื่องสถาบันกษัตริย์ เรื่องชายแดนใต้ยังคงหาที่ทางของมันไม่ได้มากนักในการเคลื่อนไหวทางมวลชน มันไม่ได้เป็นหัวใจของประเด็นการเรียกร้องทางการเมืองระดับชาติขนาดนั้น 

ภาครัฐพยายามลดทอนความซับซ้อนของปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ขณะที่ฝ่ายต่อสู้เพื่อเอกราชก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นความสำคัญของประเด็นตัวเอง

อีกด้านหนึ่งฝ่ายทางการไทยก็มีพยายามลดทอนความเป็นการเมืองของตัวความขัดแย้งเอง ช่วงแรกๆมีการอธิบายว่าเป็นเรื่องการก่อการร้ายที่ไม่รู้เป้าประสงค์ที่แท้จริง หรือไม่ก็เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในระหว่างผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ที่นิสัยไม่ดี เป็นเรื่องของอาชญากร ต่อมาวิวัฒน์มาเป็นแนวคิดเรื่องภัยแทรกซ้อน คำอธิบายพวกนี้มีไว้เพื่อจะลดทอนหัวใจของความขัดแย้งทางการเมืองที่มันต้องถกเถียงและเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมานั่นคือความชอบธรรมในการใช้อำนาจปกครองผู้คนและดินแดนแถบนี้ รวมทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรมอันเป็นความต่อเนื่องของมาตรการที่แข็งกร้าวทั้งหลายที่วิวัฒน์ขึ้นมาตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 2547 เพื่อรับมือกับการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งก็รวมถึงบรรดากฎหมายพิเศษอย่าง พรก.ฉุกเฉิน พรบ.ความมั่นคง ที่มีการประกาศใช้ในเวลาต่อมา

เครื่องมือพวกนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียง การใช้ของพวกนี้ยิ่งตอกย้ำโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม การมองเรื่องความขัดแย้งชายแดนใต้จากสายตาของกรุงเทพฯเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนในความหมายที่เป็นความพยายามที่จะลดทอนเรื่องที่จัดการได้ยาก เช่นจะจัดการกับประวัติศาสตร์ที่มันแตกต่างยังไง เรื่องเล่าของผู้คนที่แตกต่างกันจะทำยังไง และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องอำนาจการบริหารการปกครองว่าคุณจะแบ่งกันอย่างไร ทุกคนพยายามไม่เผชิญหน้ากับโจทย์ยากๆ 

ในด้านกลับกันเมื่อถึงจุดนี้แล้วเราก็ควรต้องวิพากษ์วิจารณ์ฝั่งต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีด้วยว่าไม่มีความสามารถที่จะโน้มน้าวหรือทำให้คนอื่นเห็นและเอาด้วยกับข้อเสนอของตัวเอง เป็นขีดความสามารถทางการเมืองที่จำกัดมาก ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาแนวทางการทหารของพวกเขามันบดบังไม่ให้เห็นศักยภาพของแนวทางการเมือง คุณอาจจะเรียกมันว่าสันติวิธีก็ได้หรืออะไรก็ได้แต่คุณต้องทำให้คนเชื่อและเห็นคล้อยตามคุณ ซึ่งมันมีอย่างจำกัด การศึกษาจากหลายๆกรณีบอกว่าการใช้สันติวิธีหรือแนวทางการเมืองของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชมีแนวโน้มสำเร็จมากกว่าเพราะท้ายที่สุดแล้วการต่อสู้มันไม่ได้ต้องการยึดอำนาจแต่คือการยอมรับสถานะในทางการเมืองจากผู้คนและบรรดารัฐอื่น มันต้องการแรงสนับสนุนจากคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสังคมไทยในระดับที่มากพอต่อการเปลี่ยนแปลง แต่อันนี้เป็นโจทย์ที่ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชไม่เคยก้าวข้าม

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กรุงเทพฯเปิดประเด็นในเรื่องที่ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะพูดได้

ผมประเมินว่านี่คือโอกาสแต่ไม่ใช่โอกาสสำหรับทุกเรื่อง ในสังคมไทยมีคติอย่างหนึ่งคืออย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก อย่าแยกแผ่นดิน การเคลื่อนไหวในปัจจุบันอาจถูกเข้าใจได้ว่านี่เป็นการดึงฟ้าต่ำ ซึ่งก็ถือว่าหนักหน่วงแล้ว การพูดถึงข้อเสนอทางการเมืองในชายแดนใต้ แม้จะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายก็ตามก็อาจจะถูกมองว่าจะมาแยกแผ่นดินอีก ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ Taboo (ต้องห้าม)  แต่ว่าท้ายสุดวิธีการสลายประเด็น Taboo คือต้องสร้างบทสนทนา สร้างข้อถกเถียง ให้เหตุผลที่แตกต่างได้ประชันขันแข่งกัน ที่ผ่านมาต้องดูจังหวะจะโคนว่าในสถานการณ์นั้นๆ เรื่องบางเรื่องมันเข้าไปได้แต่บางเรื่องเข้าไปไม่ได้ 

ผมว่าช่วงนี้น่าสนใจมากเพราะมีการปะทะกันทางความคิดภายในแวดวงต่างๆที่ค่อนข้างแรง ประเด็นที่คิดว่าแรงพอๆกันก็คือการปรากฎขึ้นของประเด็นเรียกร้องให้มีการยอมรับ ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้มันมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงเทพฯ เรื่องใหญ่คือสังคมมลายูมุสลิมจะยอมรับสถานภาพของความหลากหลายทางเพศได้ขนาดไหน นี่คือข้อท้าทาย 

เรื่องความหลากหลายทางเพศกับเรื่องราวในชายแดนใต้หรือปาตานีนั้นแตกต่างในหลายมิติก็จริง แต่มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือการเรียกร้องให้คนยอมรับสิทธิของตัวเอง ชาวมลายูต้องการให้การยอมรับว่าแผ่นดินนี้มาตุภูมินี้เป็นสิทธิของมลายู หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า Hak Pertuanan (สิทธิความเป็นเจ้าของ)  คนอื่นในที่นี้ก็ต้องยอมรับสิทธินี้ก่อนแล้วจะมาถกเถียงต่อไปว่าอยู่ด้วยกันหรือไม่อย่างไรค่อยว่ากัน เหมือนกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือให้ยอมรับสถานภาพในทางสังคมคือเห็นหัวพวกเขาว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผมยังไม่เห็นว่าการปะทะในเรื่องนี้มันจะคลี่คลายไปในทางใด เราจะเห็นการถกเถียงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วมุสลิมทั้งในภาพรวมของสังคมไทยและในพื้นที่เฉพาะอย่างชายแดนใต้ก็ต้องหาที่ยืนเพื่อจะรับมือประเด็นพวกนี้ให้ได้เพราะไม่ช้าก็เร็วประเด็นพวกนี้จะมาท้าทายอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่กรุงเทพฯจะส่งผลกระทบยังพื้นที่แน่ ไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจรัฐที่มันจะเปลี่ยนแปลง แต่การเปิดกว้างก็จะสร้างโจทย์ใหม่ๆให้คนมุสลิมในพื้นที่

ขบวนการติดอาวุธตามการเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยทันหรือไม่?

ไม่รู้ อันนี้ขึ้นอยู่กับพวกเขา ผมเชื่อว่าพวกเขากำลังปรับตัวบางอย่าง คนที่ประสงค์ต้องการเอกราชทุกเฉดสี และทุกขบวนการทั้งที่ใช้กำลังและใช้สันติวิธีกำลังใคร่ครวญอยู่ แต่ผมเข้าใจว่าโจทย์ใหญ่กว่าของพวกเขาคือทำยังไงให้พวกเขาสามารถรวมเป็นหนึ่ง สังเกตได้จากความเงียบของพวกเขาต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในการเมืองไทย คือถ้าแค่เขาพูดสองสามประโยคก็จะมีน้ำหนักมากในแง่ที่ว่ามันชี้ทิศทางชี้การประเมินสถานการณ์ในสายตาเขา แต่มันไม่มี แสดงว่าเขามีเรื่องใหญ่จัดการมากกว่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องไปถามเรื่อง LGBT หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ และผลของมันคือถ้าสังคมไทยเปลี่ยนและการถกเถียงภายในประเทศมันคลี่คลายไปสู่ประเด็นใหม่ๆ ก็เป็นไปได้ที่พวกเขาจะตกขบวน

ผมคิดว่าพวกเขาต้องเสนอประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งนี้ที่เขาอ้างว่าพวกเขาคือตัวแทนว่าควรจะมองสถานการณ์การเมืองไทยอย่างไร อาจจะมีคำแนะนำหรือว่าข้อเรียกร้องต่อประชาชนในพื้นที่ว่าควรต้องทำอะไร หรือไม่ทำอะไร เพราะนี่คือการช่วงชิงการให้ความหมายของสถานการณ์และกำหนดทิศทางในอนาคต 

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางบวกสำหรับกระบวนการประชาธิปไตย มันจะปะทะแนวคิดชาตินิยมมลายูแบบเก่า เพราะพื้นที่มันจะเปิดกว้าง ผู้คนจะเรียกร้องข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เรียกร้องการตรวจสอบ และการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมเห็นร่องรอยคนรุ่นใหม่ๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พวกเขาไม่ได้ตีฝากะลาที่ถูกครอบจากโครงเรื่องเล่าแบบชาตินิยมไทยเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการท้าทายความคิดอนุรักษ์นิยมในสังคมมลายูด้วย ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมองไม่เห็นว่าสังคมที่เปิดกว้างมันสู้กับสังคมของเขาได้ดีกว่าแนวคิดชาตินิยมไทยที่ปฏิเสธความคิดเห็นที่แตกต่าง

ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางลบคือมีการดึงศูนย์กลับ รวมศูนย์อำนาจและการควบคุมสกัดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ มันจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับสายอนุรักษ์นิยมปาตานีด้วย เพราะมันยิ่งทำให้อัตลักษณ์ของสองอย่างนี้ชัดเจนขึ้น มีการรวมคนเข้ามีการกันคนออกอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่แนวโน้มความตึงเครียดและความรุนแรงอีกในอนาคต

กระบวนการสันติภาพในช่วงวิกฤติโควิด-19

เรื่องการประกาศหยุดยิงตามคำร้องขอขององค์การสหประชาชาติต่อพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก (Global Ceasefire) ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นได้คะแนน ถ้าสมมุติว่าการหยุดยิงเป็นการส่งสัญญาณว่าตัวเองมีขีดความสามารถในทางการเมืองหรือควบคุมทหารได้ระดับหนึ่งแต่มันก็ไม่ได้มีนัยยะที่สำคัญขนาดนั้นแล้ว เพราะปัญหาที่พวกเขาเผชิญตอนนี้น่าจะใหญ่กว่านั้น โควิด-19 ทำให้การพบปะแบบซึ่งหน้าลำบากขึ้น ขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังเผชิญกับโจทย์อันพัวพันยุ่งเหยิงว่าจะทำยังไงกับสองช่องทางการพูดคุยคือในด้านหนึ่งกระบวนการที่เรียกว่า Berlin Initiative ที่เปิดเผยเมื่อตอนต้นปีว่ามีการพบปะพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นอย่างลับ ๆ มาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ และช่องทางเดิมที่ตัวแทนรัฐบาลไทยพูดคุยกับมาราปาตานีโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่นับรวมประเด็นปัญหาที่ไม่ลงตัวในเรื่องกรอบและขั้นตอนการพูดคุยหรือ TOR ที่แต่ละช่องทางต่างก็ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า มันเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าว่าจะนัดกันเมื่อไหร่ จะคุยกันไหม จะคุยเรื่องอะไร ความอีรุงตุงนังพวกนี้เกิดขึ้นก่อนที่โควิด-19จะเข้ามา 

ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวของคณะพูดคุยซึ่งลงพื้นที่และดูเหมือนจะลดทอนน้ำหนักการพูดคุยผ่านช่องทางหลัก มาเลเซียเองก็กำลังเจอกับวิกฤติการเมือง ถ้าถามว่าหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ตอนนี้คงต้องบอกเพียงว่ายังไม่อาจถือว่าเราอยู่ในสถานการณ์หลังโควิดแล้ว เพราะสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนได้หมด แม้ในฝั่งไทยสถานการณ์จะดีขึ้นแต่การเดินทางข้ามประเทศได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการพูดคุยเพราะมันไม่ใช่มีแค่ฝ่ายคู่เจรจาพูดคุยเท่านั้น มันยังมีกุญแจสำคัญอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายผู้สังเกตุการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญจากห้าประเทศที่ต้องอยู่ด้วย นี่เป็นหลักประกันที่จะสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของการพูดคุยสันติภาพ ถ้าไม่มีองค์ประกอบนี้เข้ามาฝ่ายขบวนการต่อสู้อาจลังเลใจที่จะเข้าสู่การพูดคุยต่อ 

สำหรับฝ่ายไทยการมีองค์ประกอบอื่นจากนานาชาตินอกจากมาเลเซียสร้างความลำบากใจและถ้าเลือกได้เขาจะจำกัดหรือกันคนพวกนี้ออกไปพร้อมๆกับบทบาทของกลุ่ม Humanitarian Dialogue ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับของมาเลเซียที่พยายามจะควบคุมให้กระบวนการพูดคุยอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น ขณะที่ด้านหนึ่งก็มีข่าวว่าจะมีการเจอกันอีกเร็วๆนี้ ของพวกนี้ถ้าอยากจะเจอแม้กระทั่งต้องกักตัวก็ต้องยอมถ้ามันสำคัญขนาดนั้น ประเด็นคือการพูดคุยมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรือเปล่า 

การจัดการพูดคุยสันติภาพในประเทศเป็นทางเลือกได้หรือไม่

ในฐานะที่เราสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ผมกังวลว่าน้ำหนักของการเจรจาสันติภาพแบบนี้ (กระบวนการพูดคุยที่จัดขึ้นในมาเลเซียกับปีกการเมืองของบีอาร์เอ็น) อาจจะน้อยลงในสายตาของผู้กำหนดนโยบายหลายฝ่ายและแทนที่ด้วยการพูดคุยกันในประเทศ ผมสงสัยว่าช่วงเวลาที่เรียกว่าห้วงขณะของการเจรจา หรือ negotiation moment มันกำลังเลยผ่านไปแล้วหรือเปล่า ช่วงเวลาแบบนี้หากยังดำรงอยู่มันจะสร้างแรงเหวี่ยงต่อการถกเถียงต่อประเด็นใจกลางของความขัดแย้งและแสวงหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ได้

สัญญาณที่บ่งชี้ว่าทิศทางของการพูดคุยจะอยู่ภายในประเทศได้เริ่มตั้งแต่สมัยพลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย มันไม่ใช่อะไรอื่นหากแต่เป็นความพยายามจะลดทอนความสำคัญของสมาชิกฝ่ายการเมืองของขบวนการที่อยู่ในต่างประเทศ ไปพร้อมๆกับตีกรอบและลดเพดานของข้อเรียกร้องและแรงกดดันของฝ่ายขบวนการต่อสู้ บางคนมองว่าบีอาร์เอ็นอาจต้องทำอะไรบางอย่างแต่มากที่สุดก็เพียงเพื่อรักษาช่องทางหลักของการพูดคุยเจรจาเท่านั้น

สถานการณ์แบบนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ตัวบีอาร์เอ็นเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบแต่รวมทั้งคนในประเทศ ห้วงเวลาของการเจรจาต่อรองหรือโอกาสทางการเมืองแบบนี้มันเปิดแค่ไม่กี่จังหวะในประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความขัดแย้งจริงๆจังๆและร่วมหาทางออกกับมัน ถ้าการหาทางออกเรื่องนี้ไม่ตกตะกอน ไม่ได้ข้อสรุป ไม่ได้ฉันทามติเราก็จะเจอความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและผ่องถ่ายไปเรื่อยๆ วันดีคืนดีถ้าเงื่อนไขมันสุกงอม มันก็อาจจะเกิดการโต้กลับขึ้นมาอีกครั้ง พูดง่ายๆการจัดการด้วยช่องทางภายในนั้นมันเป็นยาแก้ปวด แนวทางการพูดคุยภายในประเทศมันแค่รักษาอาการ อย่างมากสุดก็เป็นเพียงแสวงหาประเด็นหรือข้อเสนอที่หลากหลายและมุ่งเอาชนะใจประชากรมลายูมุสลิมอย่างกว้างๆ แน่นอนว่าไม่มีใครพร้อมรับมือกับโจทย์ทางการเมืองยากๆ  มันต้องฝืนใจนั่งลงแล้วก็หาแนวทางแก้กันจริงๆ 

เรารู้สึกว่ามีการสูญเสียตั้งเจ็ดพันกว่าคนในระหว่างสงคราม15-16ปีที่ผ่านมา ในระหว่างนั้นมีการเสนอไอเดียเยอะแยะมากมาย พื้นที่ทางการเมืองมันเปิด มีโอกาสตั้งเยอะแยะให้คนเปลี่ยนความขัดแย้งให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้  มันน่าคิดว่าสถานการณ์ที่กรุงเทพในเวลานี้จะมีส่วนที่ทำให้การคิดเรื่องทางออกแบบคุยกับตัวแทนขบวนการต่อสู้ที่อยู่นอกประเทศมีน้ำหนักลดลงหรือเปล่าในอนาคต แต่ถ้าปล่อยไว้ตามโครงสร้างการพูดคุยที่ออกแบบมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็จะทำให้เราไม่เห็นแนวโน้มว่าจะคลี่คลายได้

บทเรียนของปาตานีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย

ในท่ามกลางการต่อสู้ การเคลื่อนไหว การผลักดัน ผลของมันในบางจังหวะอาจก่อให้เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้เสมอ เช่นวันนี้เราคุยกันในช่วงเวลาที่ในรัฐสภากำลังเดือดมาก การคว่ำญัตติของพรรครัฐบาลและบรรดา ส.ว.อาจเป็นประโยชน์ต่อขบวนการประชาธิปไตยในอนาคตก็ได้ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้คนเห็นว่าจริงๆแล้วอุปสรรคของการสร้างประชาธิปไตยไทยมันอยู่ตรงไหน ในทางกลับกันถ้าพวกเขาใจกว้าง ยอมหลักการอย่างปิดสวิตช์ ส.ว. หรือยกเลิกบทเฉพาะกาลโน่นนี่ พัฒนาการของข้อเรียกร้องมันก็ต้องปรับตัว ท้ายสุดแล้วมันจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่อาจจะไม่ได้มีผลอะไรในทางบวกต่อประชาธิปไตยใดๆเลย

แต่โดยรวมการต่อสู้ในลักษณะนี้ยังดีกว่าการใช้กำลังซึ่งกำหนดความแน่นอนอะไรไม่ได้เลย และผลของมันที่เห็นได้ชัดจากกรณีชายแดนใต้คือ ถ้าเมื่อหนึ่งเมื่อใดมีการใช้กำลังอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อและทำให้ความรุนแรงมีชีวิตของมันเอง ความสามารถในทางการเมืองในการโน้มน้าวใจคนการสร้างพันธมิตรก็จะน้อยลง อันนี้คือบทเรียน ไม่ว่าประเด็นจะแหลมคมไต่เพดานสูงขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้ายืนอยู่บนหลักการของการพยายามจะหาเพื่อนหรือหาผู้สนับสนุนที่แม้ครั้งหนึ่งจะเคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ตาม ความหวังของการเปลี่ยนแปลงก็จะยังมีอยู่เสมอ

(Visited 631 times, 1 visits today)
Close