Written by 6:33 am Patani Notes

33 ปีสหกรณ์อิสลามปัตตานี ทิศทางและอนาคตทางการเงินของคน จชต.

Patani Notes ได้พูดคุยกับนายแวอาแซ แวหะมะ ผู้จัดการใหญ่สหกรณ์อิสลามปัตตานีจำกัด ณ สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกชุมชนตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สหกรณ์แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสถาบันการเงินที่ใช้ระบบอิสลามในการดำเนินการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เป็นต้นแบบให้สถาบันการเงินอื่นๆในพื้นที่ จากตัวเลขศูนย์ ทุกวันนี้สหกรณ์อิสลามปัตตานีแห่งนี้สามารถยืนอยู่ได้เป็นเวลามากกว่าสามสิบปีและมีทุนดำเนินการมากกว่า1,000 ล้านบาทจากสมาชิกกว่า 60,000 คน ซึ่งถือได้ว่าน่าสนใจหากดูตัวเลขในทางเศรษฐกิจที่บอกว่าสามจังหวัดเป็นพื้นที่ซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ

แวอาแซเริ่มต้นอธิบายว่าเมื่อราวสามสิบกว่าปีก่อนประเทศไทยไม่มีสถาบันทางการเงินในรูปแบบอิสลาม จนเมื่อเด่น โต๊ะมีนา ในฐานะนักการเมืองคนสำคัญของพื้นที่ได้เดินไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ แม้ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้จะมีมุสลิมไม่มากแต่กลับมีสถาบันการเงินในรูปแบบอิสลามให้บริการ ขณะที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่และมีความต้องการที่จะใช้ระบบการเงินในรูปแบบอิสลามกลับไม่มีสถาบันการเงินในรูปแบบอิสลามรองรับ

เมื่อคุณเด่นกลับมาจึงได้เชิญชวนให้ผู้รู้ศาสนาในด้านต่างๆกว่า 2,000 คนมาร่วมประชุมปรึกษาหารือในช่วงต้นปี 2530 โดยมีธนาคารอิสลามมาเลเซีย (BIMB) และกรมส่งเสริมสหกรณ์มาให้ความรู้และมติให้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็ได้มีการจดทะเบียนขึ้นอย่างเป็นทางการ

เด่น โต๊ะมีนา – ภาพจากสหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด

หลักสำคัญที่แวอาแซอธิบายถึงการจัดตั้งในรูปแบบสหกรณ์โดยทั่วไปคือต้องมีสมาชิกเข้าร่วมในฐานะเจ้าของร่วม ในปีแรกของการจัดตั้งสหกรณ์มีสมาชิกจำนวน 360 คน เมื่อครบหนึ่งปีก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 1,200คน จนสามสิบสามปีผ่านไปสหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิกเกือบ 60,000 คน ให้บริการใน 7 สาขาครอบคลุมพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีทุนในการดำเนินการในปัจจุบันมูลค่า 1,000 ล้านบาท ดูเหมือนว่ามุสลิมในพื้นที่แห่งนี้จะให้การตอบรับสถาบันการเงินที่ใช้รูปแบบอิสลามเป็นอย่างดี

“ในอิสลามถ้าทำธุรกรรมอะไรก็แล้วแต่ก็ต้องให้ถูกต้องตามหลักการ ในเรื่องของธุรกิจหรือธุรกรรมด้านการเงินหลักการสำคัญคือจะต้องให้ปลอดจากดอกเบี้ย”

ก่อนหน้าที่สหกรณ์แห่งนี้จะเปิดให้บริการ แวอาแซเล่าว่ามีบริษัทหรือห้างร้านในพื้นที่ซึ่งให้บริการที่ปลอดจากดอกเบี้ยแต่อยู่ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ และการที่ช่วงแรกของการจัดตั้งสหกรณ์แห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายเศรษฐกิจสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในรั้วของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ไม่แปลกนักหากสถาบันการเงินแห่งนี้จะได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่

เช่นเดียวกับบรรดาสหกรณ์ในพื้นที่อีกสามสี่แห่งที่ให้กำเนิดในรูปแบบคล้ายกันขึ้นมาในภายหลังก็ได้รับความนิยมจากบรรดาผู้คนในพื้นที่ แวอาแซบอกว่ากว่า 30 สหกรณ์ออมทรัพย์ในรูปแบบอิสลามซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยมีทุนดำเนินการรวมกันอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า10,000 ล้านบาท 

“ส่วนใหญ่สมาชิกของสหกรณ์ของเราจะเป็นชาวบ้าน ชาวสวน โต๊ะครู หรือ ผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆมีหมด ตอนนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่เขียนโปรแกรมเพื่อจำแนกให้ชัดเจนในฐานข้อมูลว่าใครมีอาชีพอะไรบ้าง เมื่อเสร็จแล้วเราจะได้ตอบชัดๆว่าสมาชิกของสหกรณ์ของเราคือใครที่เป็นเจ้าของเสียส่วนใหญ่”

แวอาแซบอกว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหกรณ์แห่งนี้อยู่ได้อย่างยาวนาน คือ การเข้าถึงสมาชิกในระดับรายย่อยแม้สมาชิกบางรายจะฝากเงินแค่ 100-200 บาทแต่แวอาแซยืนยันว่าพวกเขาก็ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของสหกรณ์ และสามารถเข้าถึงการบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านอื่นๆของสหกรณ์ได้ ซึ่งทำให้สมาชิกของสหกรณ์รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพหรือแหล่งสินเชื่อที่ทำให้พวกเขาสามารถซื้อสินค้า ยานยนต์หรือข้าวของเครื่องใช้ได้

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินแห่งนี้อยู่ได้อย่างยาวนานคือการสร้างความเชื่อมั่นและการบริหารที่สามารถปันผลกำไรกลับคืนมาให้กับสมาชิกด้วย แวอาแซบอกว่าในบรรดาสมาชิกกว่า 60,000 คนที่มีอยู่สารบบนั้น มีคนใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านต่างๆอยู่ไม่เกิน 20,000 คน ขณะที่สมาชิกที่ไม่ได้ใช้บริการ ทางสหกรณ์ก็ต้องปันผลกำไรให้กับพวกเขาทั้งหมดในฐานะของสมาชิก โดยแต่ละปีจะมีการจัดส่วนกำไรให้กับสมาชิกซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี ซึ่งมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้จากระบบธนาคารโดยทั่วไป และเคยมีบางช่วงที่สามารถปันผลกำไรได้มากกว่า 10% ต่อปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสหกรณ์ในแต่ละปี

“การปันผลให้สูงสุดที่เคยทำได้คือ12%  เกิดขึ้นก่อนปี2540 แต่ในช่วงหลังอยู่ที่ประมาณ 3% ถึง10% ปีที่แล้วคือ 3.5% ในแต่ละปีจะไม่เหมือนกันแต่มันสูงกว่าสถาบันการเงินแบบธนาคาร”

หนึ่งในหลักการสำคัญของการดำเนินธุรกิจในแบบอิสลามที่แวอาแซบอกกับ Patani Notes คือ อิสลามไม่ได้ส่งเสริมให้เก็บเงินไว้แต่ให้ต่อยอดให้เกิดผลแล้วนำกลับมาสู่สังคม จากเงินจำนวนน้อยๆจนสามารถสะสมทุนได้ถึง 1,000 ล้านได้ในปัจจุบันมาจากการลงทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายประเภทอาทิ สินเชื่อเพื่อให้สมาชิกใช้ซื้อรถหรือสร้างบ้าน สมาชิกหลายคนก็กู้เงินเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจ ขณะเดียวกันสหกรณ์ก็จะทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินให้สถานศึกษาได้ใช้สินเชื่อเพื่อต่อเติมหรือสร้างอาคารเรียน

แต่มีหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่แวอาแซบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญของสหกรณ์คือ อัลเราะห์นู อันหมายถึงการรับจำนำที่รับจำนำเฉพาะทองเท่านั้นและปลอดจากระบบดอกเบี้ย โดยมีกระบวนการคิดคำนวณค่าดูแลและการปล่อยสินเชื่ออันสลับซับซ้อน ในภูมิภาคที่มีค่านิยมเรื่องการซื้อทองเก็บไว้ การนำทองไปจำนำเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินในบางช่วงบางตอนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ช่วงแรกของการให้บริการจำนำทองของสหกรณ์ผู้คนมีท่าทีเขินอายที่จะเข้ามาใช้บริการแต่ในปัจจุบัน อัลเราะห์นู คือหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญมากของตัวสหกรณ์ 

“ช่วงแรกที่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้เกิดขึ้นมาในสหกรณ์ผู้คนเขาอายกัน จะมาแบบหลบๆซ่อนๆ และเริ่มเข้าสู่เป็นปกติในปัจจุบัน ช่วงที่พีคที่สุด เฉพาะในเรื่องสินเชื่อทั่วไปจะอยู่ที่ 300-400 ล้าน มากสุด 500 ล้านต่อปี แต่ของอัลเราะห์นูอยู่ที่ ประมาณ 900 กว่าล้านขาดนิดนิดเดียวที่จะแตะ 1,000 ล้านที่เราปล่อยเงินออกไป”

อย่างไรก็ตามแวอาแซยืนยันว่าสหกรณ์แห่งนี้ไม่ได้มองผลประโยชน์ในเรื่องของธุรกิจอย่างเดียวแต่มองในแง่เรื่องความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้คนในพื้นที่และที่สำคัญกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจทั้งหมดก็จะกลับไปสู่สมาชิก คนที่มีสิทธิใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆก็จะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์ และที่สำคัญที่สุดเงินจำนวนหนึ่งจะต้องมาจ่ายซากาตซึ่งแต่ละปีทางสหกรณ์จะต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าล้านบาท

“ซากาตเป็นสิ่งที่วายิบอยู่แล้ว แต่ละปีจะมีไม่ต่ำกว่าล้านบาท และจะมีงบอีกส่วนที่จัดสรรไว้สำหรับสำหรับกิจกรรม CSR รวมทั้งภัยพิบัติต่างๆในพื้นที่เช่นเรื่องโควิดปีนี้ เราก็จัดซื้อเครื่องอุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลปัตตานี เครื่องตรวจหัวใจให้กับโรงพยาบาลยะลาและโรงพยาบาลอื่นๆประมาณ 500,000 บาท”

กิจกรรมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ – ภาพจากสหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด

และเมื่อพูดเรื่องสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ ผู้จัดการใหญ่แห่งสหกรณ์แห่งนี้ก็ยอมรับว่าต้องปรับตัวไปกับสถานการณ์เช่นกันโดยยอดการปล่อยสินเชื่อลดลงเพราะความยากลำบากในการเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบโครงการหรือสมาชิกที่ทำเรื่องขอสินเชื่อ และที่น่าสนใจคือแวอาแซบอกว่าจำนวนเงินฝากในช่วงโรคระบาดเพิ่มขึ้นขณะที่ยอดถอนกลับลดลง

“เพราะว่าในช่วงโควิดพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้ ธุรกิจก็ต้องหยุด ร้านก็ต้องหยุด อะไรทุกอย่างก็ต้องหยุด เพราะฉะนั้นเงินที่จะใช้ไปเลยไม่มี แต่ถ้าโควิดจบเมื่อไหร่ช่วงนั้นเงินมันจะไหลออก”

และเมื่อถามถึงการผิดนัดชำระอันเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่มาจากการระบาดของไวรัส แวอาแซอธิบายว่าแม้ไม่ได้ประกาศว่ามีโครงการพักชำระหนี้แต่หากสมาชิกรายย่อยที่ไม่สามารถชำระได้เพราะขายข้าวไม่ได้ ขายขนมไม่ได้ในช่วงวิกฤติ ทางสหกรณ์จะถือว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจผิดการชำระแต่เป็นเพราะสภาพการณ์ที่บีบคั้น ซึ่งโดยปกติแล้วแวอาแซยอมรับว่าการให้บริการสินเชื่อมักมาพร้อมการผิดนัดชำระแต่ไม่ได้มากจนทำให้เกิดปัญหา

ขณะเดียวกันสหกรณ์ก็วางแผนจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโดยเฉพาะคนยากจนในเรื่องการอบรมอาชีพในด้านการเกษตร การทำอาหาร การเย็บผ้า “เมื่อก่อนนี้เราจะส่งเสริมคนที่มีงานแต่อนาคตเราจะสนับสนุนคนที่ไม่มีงาน และเราก็จะสร้างงานให้เขา”

ประเด็นสุดท้ายที่ Patani Notes ถามแวอาแซคือผลงานชิ้นไหนที่เขาภูมิใจมากที่สุดตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปีที่ไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งจนมายืนอยู่สูงสุดของฝ่ายปฏิบัติงาน

“ผมมีความภาคภูมิใจที่สามารถทำงานที่นี่ได้อย่างยาวนาน ผมมองถึงความสำเร็จของสหกรณ์คือภาพรวมกำไรทั้งหมดที่กลับไปสู่สมาชิก ความภาคภูมิใจก็คือให้สหกรณ์นี้สามารถเดินต่อไปได้ ไม่ต้องเร็วก็ได้แต่ให้เป็นไปตามสเต็ปของมัน ให้สหกรณ์แห่งนี้สามารถอยู่คู่กับประชาชน ให้พวกเขามั่นใจ มีความเชื่อมั่นในฐานะสมาชิกของสหกรณ์”

(Visited 1,124 times, 1 visits today)
Close