Written by 5:41 am Featured, World

ทนายสิทธิ : รัฐใช้กฎหมายปราบปรามประชาชน

ชี้จนท.ใช้กฎหมายตามอำเภอใจ ส่งเสริมการลอยนวลพ้นผิด พรก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือปรามผู้เห็นต่าง เรียกร้องมีระบบตรวจสอบ

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สะท้อนภาพปัญหาสิทธิมนุษยชนยุคใต้รัฐบาลคสช.และหลังคสช. ชี้จนท.ใช้กฎหมายตามอำเภอใจแม้แต่นักกฎหมายยังงงและจนระบบนิติรัฐถูกทำลาย กฎหมายพิเศษและกฎหมายลูกหลายฉบับถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ชี้ต้องนำระบบตรวจสอบการทำงานของจนท.กลับคืนมา 

สภาพพลิกตำราไม่ทันของกลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชนจากการสะท้อนของเยาวลักษณ์ ประธานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานมา 6 ปีคือตั้งแต่ช่วงหลังการทำรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน เธอกล่าวถึงปัญหานี้ในระหว่างการร่วมเสวนาเรื่อง “ความยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน” เมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

เยาวลักษณ์ชี้ว่า คำสั่งที่นำมาใช้เป็นกฎหมายในช่วงคสช.มีปัญหาทั้งที่มาและลักษณะ

“ถ้ายังจำกันได้ ผู้นำคสช. จะบอกเราว่า ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย เคารพกระบวนการยุติธรรม และชี้แจงต่างประเทศว่ารัฐบาลทำตามกฎหมายทุกประการ โดยที่ไม่ได้พูดถึงที่มาของกฎหมายเลย” 

“เราพบว่าคำสั่งคสช.มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วน ไม่พอสมควรแก่เหตุ ไม่ได้เป็นไปตามหลักความจำเป็นตามที่เราเรียนมา ระบบกฎหมายไม่มีความชัดเจนแน่นอน ส่งผลให้มีการตีความอย่างกว้าง จนท.ใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีอย่างกว้างขวางและตามอำเภอใจ ลงโทษสูงในสัดส่วนกับการกระทำ ที่สำคัญไม่มีการตรวจสอบและไม่มีการรับผิดของจนท.” การไม่ต้องรับผิดของจนท.ที่นำกฎหมายไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เธอระบุว่ากลายเป็นสถานการณ์ที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

“สังคมในวันนี้ไปไกลถึงขั้นเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีประชาชนจำนวนหนึ่งยังถูกดำเนินคดีในฐานะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง”

เยาวลักษณ์อธิบายว่า ในช่วงหลังรัฐประหารจนถึงก่อนการเลือกตั้งนั้น คสช.ใช้กฎหมายกับประชาชนที่เห็นต่างอย่างเข้มงวด หลังการรัฐประหาร แม้มีการทำประชามติเสร็จสิ้นแล้วก็ยังมีการใช้พรบ.ประชามติดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง และขณะนี้ยังคงมีคดีที่ค้างอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนประชาชนกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งโดยเร็วก็ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ในคดีที่เรียกกันว่าคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จนถึงปัจจุบันก็ยังมีคดีของคนกลุ่มนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล ในขณะที่ความเคลื่อนไหวของสังคมในวันนี้ไปไกลกว่าถึงขั้นเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีประชาชนจำนวนหนึ่งยังถูกดำเนินคดีในฐานะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรถูกดำเนินคดีแต่แรกแล้ว

ประธานศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนให้รายละเอียดอีกว่า ในช่วงหลังเลือกตั้งและก่อนที่จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงการระบาดของโควิด-19  มีปรากฎการณ์สำคัญของการใช้กฎหมายกับประชาชน “เราคิดว่าเลือกตั้งแล้วไม่ควรมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมาดำเนินคดีกับประชาชน แต่ปรากฎว่ามีเป็นจำนวนมาก” พร้อมยกตัวอย่างคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.แจ้งความฐานหมิ่นประมาทประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์กกต. ทำให้มีคดีหมิ่นประมาทและคดีที่ใช้พรบ.คอมพิวเตอร์หลายคดีด้วยกัน ช่วงต้นปีที่ผ่านมายังมีคดีอันเกิดขึ้นหลังจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”  กับ “คนที่ออกมาทำกิจกรรมเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ”  มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากและทั่วประเทศ จนถึงขณะนี้ก็ยังมีคดีเช่นนี้ค้างอยู่ สรุปว่าตั้งแต่รัฐประหารจนถึงปัจจุบันมีการใช้กฎหมายกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรธน.อย่างเข้มข้น

เยาวลักษณ์ระบุด้วยว่า นักกฎหมายในทีมงานพบเอกสารที่กลายมาเป็นคำอธิบายถึงการใช้กฎหมายอันเข้มข้นเช่นว่านี้ เป็นเอกสารของจนท.นำไปประกอบในคดีคดีหนึ่งที่ศาลยกฟ้องไปแล้ว เอกสารดังกล่าวเขียนไว้ว่า การดำเนินคดีต่างๆมิได้มุ่งหวังผลของการดำเนินคดี แต่มุ่งหวังสร้างแรงกดดันและความยุ่งยากแก่แกนนำการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดรับกับสิ่งที่รัฐบาลหรือจนท.ต้องการ เนื้อความของเอกสารนี้อธิบายการจับกุมจำนวนมากที่ต่อมามีการปล่อยตัว 

นอกจากนั้น วิธีการใช้กฎหมายก็มีลักษณะไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั่วไป เธอยกตัวอย่าง คดีคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีที่แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มผู้ชุมนุมกับกลุ่มแกนนำ “ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมจนท.รัฐดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ปกติเขาจะดำเนินคดีกับแกนนำ” 

ในช่วงของคสช. ศูนย์ทนายความสิทธิฯ ว่าความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไป 253 คดี  คดีที่ชุกก่อนหน้านั้นคือคดีขัดคำสั่งคสช.และคดีความตามมาตรา 112 ซึ่งกรณีข้อกล่าวหาที่เข้าข่ายมาตรา 112 นั้นมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการฟ้องร้องดำเนินคดีในช่วงปี 2560 การเอาผิดประชาชนในมาตรานี้ไม่ปรากฎอีกหลังจากนั้น แต่หันไปใช้กฎหมายอื่นเช่นพรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แทน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคดีตามมาตรา 112 ที่ค้างอยู่ในระบบ ที่สำคัญคือการดำเนินคดีเอาผิดด้วยการใช้มาตรา 116 ของประมวลกฎหมาบอาญาที่ว่าด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นกลับมีจำนวนมากขึ้น และขณะนี้มีถึง 26 คดี นอกจากนี้มีปรากฎการณ์การใช้กฎหมายอื่นๆ เช่นพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพรก.ฉุกเฉิน ตลอดจนกฎหมายเล็กอื่นๆอีกมากมายเพื่อแจ้งความเอาผิดประชาชน เช่น พรบ.รักษาความสะอาด พรบ.ชุมนุมสาธารณะ  กฎหมายแจ้งความเท็จ ฯลฯ 

สำหรับพรก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงโควิดเพื่อควบคุมสถานการณ์ของโรคระบาดนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังคงใช้อยู่ แต่การใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามและป้องกันโรคระบาดมีอาการส่อเจตนาอื่นแทรกอยู่ด้วย

เยาวลักษณ์ยกตัวอย่างว่า หลังข่าวการถูกลักพาตัวหรือบังคับให้สูญหายกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จากกรณีนี้มีผู้ไปยื่นหนังสือที่สถานทูตกัมพูชาเพื่อให้ตามหานายวันเฉลิมจำนวนสองกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน  ต่อมาพวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน โดยจนท.อาศัยข้อกำหนดห้ามการชุมนุม ซึ่งเรื่องนี้มีข้อถกเถียงอยู่ว่า การไปยื่นหนังสือที่สถานทูตถือเป็นการชุมนุมหรือไม่ และมีความสุ่มเสี่ยงในการทำให้โรคระบาดมากเพียงใด ปัจจุบันนี้คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการว่าการยื่นหนังสือถือเป็นความผิดฐานชุมนุมตามพรก.ฉุกเฉินหรือไม่

ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 5 เดือน เยาวลักษณ์ระบุว่า มีกรณีของนายทิวากร วิถีตนที่สวมเสื้อยืดข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จนท.ได้เอาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช เรื่องนี้มีคำถามในเชิงข้อกฎหมายว่าจนท.ใช้อำนาจใดในการจัดการ และขณะที่ตามพรบ.สุขภาพจิตมีข้อความระบุว่าให้บุคคลอื่นสามารถยื่นขอคัดค้านการควบคุมตัวได้ และนายจตุภัทร บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน ที่รู้จักทิวากรเป็นการส่วนตัวได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลขอนแก่นขอให้ปล่อยตัวด้วยถือว่าคุมขังโดยมิชอบ แต่ศาลได้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่านายจตุภัทรไม่ใช่ญาติและไม่มีสิทธิตามกฎหมาย “ ถ้าอย่างนั้นแล้วข้อความตามวงเล็บนี้หายไปไหน”  เยาวลักษณะตั้งคำถามพร้อมระบุว่า กรณีนี้สะท้อนว่ามีการใช้อำนาจเกินเลยกฎหมาย แต่กลับไม่มีการตรวจสอบและจนท.ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด 

ในระยะหลังเมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองระลอกใหม่ เริ่มจากการครบรอบเหตุการณ์พฤษภา 53 มีผู้จัดกิจกรรมรำลึกและถูกดำเนินคดีโดยจนท.ใช้ข้อหาว่าฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน และตั้งแต่ 18 กค.เป็นต้นมา สถิติการใช้กฎหมายจับกุมดำเนินคดีกับประชาชนมีสูงโดยเฉพาะการใช้พรก.ฉุกเฉินจัดการกับผู้ชุมนุมทางการเมือง

นอกจากนั้น เยาวลักษณ์ระบุว่า ยังมีการใช้วิธีการที่อยู่นอกกฎหมาย กล่าวคือการคุกคามผู้ชุมนุม ศูนย์ทนายฯมีสถิติการคุกคามนักเรียน จากเดือนกค.ถึงสค. มีไม่ตำกว่า 121 กรณี “ศูนย์ทนายฯ โทรศัพท์สายไหม้ ทำงานทั้งวันทั้งคืน” เธอบอกว่าการคุกคามเกิดขึ้นทั้งประเทศ และมาในรูปแบบที่นักเรียนถูกอุ้ม ห้ามชูสามนิ้ว ตบหัว ตีมือ ตบโทรศัพท์ ยึดโบว์ขาว ยึดอุปกรณ์ในการแสดงออก ที่เลวร้ายในทัศนะของเยาวลักษณ์ ก็คือในสถานศึกษาให้ตร.เข้าไปได้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีศึกษาธิการกลับอธิบายว่าจนท.เข้าไปในโรงเรียนเพื่อจะไปตรวจยาเสพติด แต่ทั้งหมดนี้เธอเห็นว่าคือรูปแบบของการคุกคามที่ยังปรากฎอยู่ แม้กระทรวงจะชี้แจงแล้วว่านักเรียนสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ก็ตาม 

การชุมนุมเมื่อ 18 กค. 2563 ทำให้มีคดีตามมา แม้ว่าข้อเรียกร้องสามข้อจากผู้จัดชุมนุมจะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ปรากฎว่า มีผู้ถูกดำเนินคดี 31 คน ที่ต่อมาถูกตัดเหลือ 30  คน การดำเนินคดีนี้ทำให้นักกฎหมายหลายคนสงสัยอย่างยิ่งว่าจนท.ใช้กฎหมายในลักษณะอย่างไร  ความคาดหวังของทนายสิทธิมนุษยชนในเวลานั้นคือคาดว่าศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบ แต่แล้วก็มีผู้ถูกออกหมายจับ กล่าวคือเป็นแกนนำ 15 คนและผู้ชุมนุมอีก 15 คน “เราตั้งคำถามว่า สิบห้าคนถูกออกหมายจับได้อย่างไรในเมื่อเขาเรียกร้องใช้สิทธิภายใต้ตามรธน.” และผู้ถูกดำเนินคดีมีทุกกลุ่มตั้งแต่ผู้อ่านแถลงการณ์ไปจนถึงนักร้อง

“จนท.ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ห้าปีที่ผ่านมา จนท.ย่ามใจในการใช้อำนาจในลักษณะแบบนี้  การดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดในรธน.เกิดขึ้นทั้งประเทศ มีคดีเล็กคดีน้อยตามกฎหมายเล็กๆอีกหลายฉบับ แล้วเสรีภาพตามรธน.ของเราหายไปไหน” 

เช่นเดียวกันกับคดีที่เรียกกันว่าคดีแฮรีพอตเตอร์ จากการชุมนุมเมื่อ  3 ส.ค. มีทนายอานนท์ นำภา ปราศรัยและมีการอ่านข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เยาวลักษณ์บอกว่า เธอพบว่าการปราศรัยหนนั้น “อยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รธน. เราคิดในตอนนั้นว่า วันที่ 3 สค.คงไม่มีหรอกการออกหมาย แต่แล้วก็มาเลย” ในงานดังกล่าวมีผู้ถูกออกหมายจับรวม 6 คน มีทั้งนศ. นักดนตรี แรปเปอร์ นักกิจกรรม เยาวลักษณ์ระบุว่า นักกฎหมายในทีมงานไม่เข้าใจว่าคดีนี้มีการออกหมายจับได้อย่างไร พรก.ฉุกเฉินเองในส่วนที่ห้ามการชุมนุมก็ได้ยกเลิกไปแล้ว กล่าวคือประชาชนสามารถชุมนุมได้แต่ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และผู้ชุมนุมหนนั้นก็ได้ไปแจ้งขออนุญาตจัดชุมนุมแล้ว ในเรื่องนี้นักกฎหมายเห็นว่าหากจะมีการดำเนินตดีได้ก็ต้องใช้กฎหมายพรบ.การชุมนุมสาธารณะ แต่จนท.กลับใช้พรก.ฉุกเฉินเพราะเห็นว่าหากใช้พรบ.ชุมนุมสาธารณะไม่ปรากฎโทษ นอกจากนี้ในกรณีของนายภาณุพงศ์ จาดนอกหรือไมค์ ระยองที่ไปชูป้ายคัดค้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถูกจนท.เข้าควบคุมตัวโดยที่ไม่มีข้อกล่าวหา

“จนท.ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ห้าปีที่ผ่านมา จนท.ย่ามใจในการใช้อำนาจในลักษณะแบบนี้  การดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นทั้งประเทศ มีคดีเล็กคดีน้อยตามกฎหมายเล็กๆอีกหลายฉบับ แล้วเสรีภาพตามรธน.ของเราหายไปไหน” 

เยาวลักษณ์ระบุว่า สิ่งที่หายไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็คือระบบตรวจสอบ สภาพการณ์ในเวลานี้คือระบบนิติรัฐพังทลายและ rule of law หายไป “ห้าปีที่ผ่านมาเราเจอศาลทหาร เจอการเปิดทำงานสามทุ่มเพื่อเอานศ.ไปฝากขัง ไต่สวนกันถึงสามทุ่ม ฝากไผ่ (ดาวดิน)สองทุ่ม ศาลถอดคดีประกันไผ่ เราบอกมันถอนไม่ได้  พอมาเจอคดีอานนท์ ไต่สวนเพิกถอนการประกัน เรานั่งเลย” 

เยาวลักษณ์เรียกร้องให้มีระบบตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ เธอชี้ว่าสถาบันตุลาการต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหาร การไม่ตรวจสอบส่งเสริมการลอยนวลพ้นผิดที่จนท.รัฐไม่เคยต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฎตั้งแต่อดีตเรื่อยมาไม่ว่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์พฤษภา 35  การใช้กฎหมายพิเศษอย่างพรก.ฉุกเฉิน ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าใช้ควบคุมโรคติดต่อ การใช้กฎหมายนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆจะทำให้เกิดความเคยชิน เหมือนเช่นในสามจังหวัดภาคใต้ที่ประกาศใช้กฎหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะไม่ใช่วิถีปกติของประชาชน

(Visited 383 times, 1 visits today)
Close