Wanwisa

Written by 10:32 am Featured, Local History, Patani, Staff's Picks, Uncategorized

พบหลักฐานชุมชนเก่า ศริสต์ศตวรรษ 13 ที่ปัตตานี

ผลการขุดสำรวขของนักโบราณคดีได้หลักฐานชุมชนการค้าเก่าย่านตันหยงลูโละ

นักโบราณคดีขุดพบเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่ริมน้ำแถบตันหยงลูโละ เชื่อว่าเป็นหลักฐานแสดงสภาพความเป็นชุมชนคนค้าขาย ผลการพิสูจน์พบว่าเป็นของเก่ามีอายุในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 

การขุดค้นของนักโบราณคดีคือผศ.ดร. วันวิสาข์ ธรรมานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เปิดเผยให้เห็นผลของการศึกษาที่มาของพื้นที่ ซึ่งในที่นี้คือตำบลตันหยงลูโละ ใกล้ๆชุมชนกรือเซะและบานา โดยนักโบราณคดีใช้วิธีขุดค้นพบเศษเครื่องถ้วยโบราณแล้วนำไปพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาอายุ 

อจ.วันวิสาข์เปิดเผยกับ Patani NOTES ว่า จุดที่ขุดซึ่งดำเนินการในปี 2560 นั้นอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 500 เมตร ขุดเป็นหลุมสองหลุม  การขุดค้นหาโบราณวัตถุที่บริเวณดังกล่าวเป็นผลจากการศึกษาเบื้องต้นและพบว่าพื้นที่ที่ว่านี้น่าสนใจ  “ ตอนไปสำรวจ เขาทำนากุ้ง แค่ดูที่คันนาก็เห็นแล้วว่ามีแต่เศษภาชนะดินเผาเต็มไปหมด” 

ขอบคุณภาพจากผศ.ดร.วันวิสาข์ ธรรมานนท์

“เราเลือกพื้นที่ที่ไม่ค่อยถูกรบกวน เพราะว่าถ้าทำอะไรมามากๆก่อนหน้านั้น อาจทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้” 

พื้นที่ที่ว่านี้อจ.วันวิสาข์คาดว่าเป็นแผ่นดินใหม่เกิดขึ้นจากการทับถมของทะเล “พื้นที่ที่ขุดนี้คาดว่าเมื่อหลายร้อยปีก่อน ถ้าไม่เป็นทะเลก็ต้องเป็นทะเลโคลน เป็นธรรมชาติของพื้นที่ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักฐานจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับบริเวณใกล้เคียง เช่นเอกสารจีนเรียกปาตานีว่าต้าหนีซึ่งแปลว่าโคลน ส่วนเอกสารดัชท์ที่บอกว่าปัตตานีเป็นเมืองเก่านั้น ระบุว่าเรือไม่เข้า เข้าไม่ถึงเพราะว่าติดโคลน” 

อจ.วันวิสาข์บอกว่าทีมงานขุดสำรวจสองหลุม ใช้เวลาหนึ่งเดือน ขนาดของหลุมที่ขุดคือ 3×3 เมตร  “ ขุดลงไปแค่สิบเซ็นต์ก็เจอภาชนะดินเผา ยิ่งขุดก็ยิ่งเจอ ได้มารวมๆกันแล้ว 4-5 กระสอบ”  สิ่งของที่ได้มาซึ่งเป็นชิ้นส่วนเครื่องถ้วย เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่ามีหลากหลายทั้งที่มาและช่วงอายุ ในบรรดานั้นมีเครื่องถ้วยจีนที่เป็นแบบเคลือบหรือ glaze ที่มีอายุเก่าแก่และเป็นจุดยึดโยงให้ข้อมูลได้หลายอย่าง

“สิ่งที่เราเจอมันมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ เราพบเครื่องถ้วยจีน เมื่อนำไปกำหนดอายุพบว่าอายุเก่ากว่าสมัยอยุธยา คือมีอายุราวๆราชวงศ์ซ่งไต้” ราชวงศ์ซ่งไต้ของจีนมีช่วงเวลาอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 

นักวิชาการที่ช่วยตรวจสอบอายุของเครื่องถ้วยจากปัตตานีหนนี้คือ ปริวัตร ธรรมาปรีชากร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องถ้วยจีน การศึกษาเพื่อกำหนดอายุเครื่องถ้วยดังกล่าว อจ.วันวิสาข์อธิบายว่ากระทำโดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ ที่นำอินทรียวัตถุที่ใช้ไปตรวจสอบ วิธีการนี้เรียกว่า การเรืองแสงความร้อน หรือ Thermoluminescence อันเป็นวิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญใช้เพื่อศึกษาและกำหนดอายุวัสดุในภาชนะดินเผา ผลการตรวจสอบได้คำตอบว่าเครื่องถ้วยจำนวนหนึ่งมีอายุราว 900 ปีหรือคริสต์ศตวรรษที่ 13 ดังกล่าว

ขอบคุณภาพจากผศ.ดร. วันวิสาข์ ธรรมานนท์

ในบรรดาเครื่องถ้วยที่ขุดพบยังมีของสุโขทัยที่มาจากสมัยพุทธศตวรรษ 20 – 21 หรือในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งพิจารณาจากลวดลายและเนื้องาน การเขียนสี รวมถึงการเคลือบ จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องถ้วยของสุโขทัย นอกนั้นก็พบของจากสมัยอยุธยา อจ.วันวิสาข์ตีความว่าเครื่องถ้วยโบราณเหล่านี้เป็นผลพวงของการค้า เช่นเครื่องถ้วยสุโขทัยก็นำเข้าสู่ตลาดทดแทนเครื่องถ้วยของจีน เธออธิบายว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลักฐานระบุว่าจีนได้ระงับการขายเครื่องถ้วยของตนซึ่งสมัยหนึ่งเคยส่งออกอย่างแพร่หลายและไปไกลถึงฟิลิปปินส์ เมื่อสินค้าจีนขาดหายไปจากตลาด ทำให้ของจากสุโขทัยเข้ามาแทนที่ ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้จากบทความทางวิชาการที่มีการศึกษาไว้แล้ว

สิ่งที่บอกได้จากขุดค้นหนนี้คือ พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีชุมนุมเก่าแก่มาก่อนและมีกิจกรรมการค้า ประเด็นถัดไปสำหรับนักวิชาการคือการหาที่มาของชุมชนนี้ รวมทั้งหาคำตอบว่าเป็นชุมชนเดียวกันกับปัตตานีใช่หรือไม่ ทั้งมีความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียงที่อยู่ในห้วงเวลาเดียวกันอย่างไร 

ผศ.ดร.วันวิสาข์ ธรรมานนท์

พื้นที่ที่มีการขุดค้นดังกล่าวนี้อจ.วันวิสาข์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปาตานีเดลต้าตอนล่างหรือ Lower Patani Delta ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่กรือเซะมายังริมทะเล เป็นพื้นที่ที่อจ.วันวิสาข์บอกว่ายังมีเรื่องราวในอดีตที่ขาดคำอธิบายอีกมาก เรื่องราวของชุมชนในพื้นที่นี้ปรากฎในตำนานก็คือช่วงราชวงศ์ศรีวังสา ซึ่งอยู่ในพุทธศตวรรษ 19 – 20 หรือในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากนั้นเรื่องราวก็ขาดช่วงและไปปรากฎอีกครั้งในช่วงของรายา 5 องค์ เรื่องราวก่อนหน้าราชวงศ์ศรีวังสามีหลักฐานหรือตำนานที่เล่าเรื่องค่อนข้างน้อย  แม้แต่ราชวงศ์ศรีวังสาเองก็มีโจทย์อยู่ว่ามาจากไหนแน่

“ไม่มีเอกสารที่พูดถึงปัตตานีในช่วงก่อนหน้านั้น มีแต่อิบราฮิม ชูกรีที่เขียนไว้เรื่อง “ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมาลายูปาตานี” ที่พูดว่า ก่อนราชวงศ์ศรีวังสา ที่ Lower Patan Delta มีเมืองเก่าแล้ว ก็รู้แต่ว่ามีกิจกรรมทางการค้า เป็นเมืองท่า แต่ว่าถูกควบคุมโดยใครยังไม่รู้”

ขอบคุณภาพจากผศ.ดร.วันวิสาข์ ธรรมานนท์

ส่วนในพื้นที่ทางตอนบนหรือ Upper Patani Delta คือเหนือกรือเซะขึ้นไป มีกลุ่มเมืองเก่าคือยะรัง รวมทั้งเมืองโบราณบ้านประแว อจ.วันวิสาข์ตั้งโจทย์อีกว่า ชุมชนตามหลักฐานที่พบใหม่นี้จะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับยะรังและประแวถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบเช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับญี่ปุ่นที่น่าค้นหา เพราะในบรรดาเครื่องถ้วยที่พบซึ่งมีทั้งของจีน เครื่องถ้วยยุโรป ก็ยังมีเครื่องถ้วยปาตานี ซึ่งอจ.วันวิสาข์บอกว่าก่อนหน้านั้นเคยมีการพบแหล่งเตาเผาอยู่แถวพื้นที่บราโหม จ.ปัตตานี เป็นเตาเผาดินจำนวน 4-5 เตาที่ผลิตเครื่องถ้วยในลักษณะที่เรียกว่า earthern ware คือไม่ได้เคลือบ และเคยมีการค้นพบเครื่องถ้วยปาตานีที่ญี่ปุ่น 

ขอบคุณภาพจากผศ.ดร.วันวิสาข์ ธรรมานนท์

เมืองเก่ายะรังนั้นเชื่อว่าในอดีตเคยอยู่ใกล้ทะเลและเป็นเมืองท่า แต่ผลของการทับถมของดินทำให้ต่อมาเกิดเป็น Lower Patani Delta หรือดินดอนปาตานีล่วนล่าง มีผลให้ตัวเมืองยะรังถอยร่นออกไป เชื่อว่าเดิมยะรังเป็นเมืองการค้า เป็นสังคมของกลุ่มคนอพยพ มีกิจกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ มีเมืองเก่าเช่นโกตามาห์ลิฆัยซึ่งขณะนี้ก็ถมไปหมดแล้ว แต่มีหลักฐานระบุว่ามีการเลี้ยงวัว ปลูกมะพร้าว  มีการผลิตเครื่องถ้วยที่ไม่ผ่านการเคลือบหรือ earthern ware เป็นจำนวนมาก มีเครื่องถ้วยที่เป็นของจีนและต่างชาติ รวมทั้งของยุโรป เชื่อกันว่าเป็นสถานีการค้าหรือ entrepot คือมีสินค้าหลายอย่างแต่ไม่ได้ผลิตเอง และมีบริการต่างๆเช่นการซ่อมเรือซึ่งปรากฎหลักฐานอย่างเช่นพื้นที่แถบบราโหมและบานา ยังสันนิษฐานอีกว่าอาจมีชุมนุมชาวดัชท์เล็กๆอาศัยอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีโจทย์อีกหลายอย่างที่นักโบราณคดียังหาคำตอบไม่ได้ เช่นมีการพบพระโบราณแต่กลับอยู่ในที่ที่ไม่มีที่หลักฐานการอยู่อาศัยของชุมชนเป็นต้น

“พื้นที่สามจังหวัดใต้เป็นขุมทรัพย์ของนักวิชาการด้่านโบราณคดี ถ้าเราดูพื้นที่ใกล้เคียงกันอย่างมาเลเซียจะเห็นว่ามีการค้นพบหลักฐานย้อนหลังระดับเป็นหมื่นปี แต่ปาตานีไม่มีใครสำรวจ อาจจะมีบ้างแต่ก็ทำกันแบบลวกๆ ไม่มีใครกล้าเพราะเป็นประเด็นการเมือง”

(Visited 1,447 times, 1 visits today)
Close