มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

Written by 5:22 pm Featured, Patani, Patani Notes

ฮูก่มปากัต: เราแก้ปัญหาถูกจุดหรือยัง

ต้องมองว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพื่อที่การแก้ปัญหาของเราจะได้ไม่สุกเอาเผากิน

ข่าวที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากในช่วงที่ผ่านมา เห็นจะเป็นเรื่องของ “ฮูก่มปากัต” ปรากฎการณ์ที่ชุมชนจัดการปัญหาวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสด้วยการให้พวกเขาแต่งงานกัน มีคำอธิบายว่าเรื่องนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายชารีอะห์ ส่งผลให้มีคำถามหลายประการทั้งเรื่องข้อกำหนดของกฎหมายไทย ข้อสงสัยกับการใช้ชารีอะห์ บ้างถึงกับตั้งคำถามว่า สังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะเดินไปทางไหน

มูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง เป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สนใจปัญหานี้ เขาคุยกับ Patani NOTES ในเรื่องของความผิดและการลงโทษในอิสลาม วิธีคิดแก้ปัญหาแบบ “จารีต” ที่สำคัญ ชวนให้เรามองปัญหาเพศสัมพันธ์นอกสมรสของวัยรุ่นให้มากไปกว่าปรากฎการณ์

เริ่มที่ศัพท์ “ฮูก่มปากัต” เขาอธิบายว่า ฮุกม แปลว่ากฎเกณฑ์ (อันมีนัยยะถึงสิทธิอำนาจ) โดยหมายรวมถึงอำนาจบังคับ “ปากัต”เป็นคำภาษายาวี แปลว่าสามัคคีกันหรือร่วมมือกัน รวมความแล้วหมายถึงกฎเกณฑ์หรือข้อตกลงร่วมกันของชุมชนที่จะต้องยึดถือปฏิบัติมีอำนาจบังคับ บทสนทนาตัดเข้าเรื่องตรงที่อจ.อิลยาสอธิบายเรื่องของศาสนากับจารีตเป็นอันดับแรก

เมื่อเราคิดถึงปรากฏการณ์การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้นิกะฮ์หรือไม่ได้ทำพิธีทางศาสนา เหตุใดเราคิดถึงแต่การลงโทษแต่เพียงอย่างเดียว? ยิ่งไปกว่านั้นการลงโทษในลักษณะฮูดูด มันลงโทษกันได้ยากมาก ๆ

อจ. อิลยาส ในสังคมจารีตอย่างสังคมไทย เวลาเราจะสอนเด็กให้เด็กเป็นคนดี สิ่งแรกๆที่เราคิดคือการลงโทษ อย่างที่มีคนพูดเอาไว้ว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ในสังคมมุสลิมก็คล้ายคลึงกัน อยากให้เด็กละหมาด อยากให้เด็กเยาวชนเป็นคนดี อยากให้เข้าใจคำสอนทางศาสนาก็สอนด้วยการตี หรือขู่ว่าจะตี หรือขู่ว่าจะใช้อำนาจจับกุม นี่คือวิธีคิดแบบจารีต คือการใช้กำลังหรือขู่จะใช้กำลัง  แทนที่เราจะอธิบายข้อดีข้อเสีย พูดกันด้วยเหตุผล 

ฮูกุ่มปากัต ที่ทางเจ้าหน้าที่และผู้นำศาสนาบอกว่าเป็นมาตรการป้องปราม ก็มาจากฐานคิดแบบนี้  วิธีคิดแบบนี้มันเป็นฐานรากขับเคลื่อนสังคมและโผล่ออกมาเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ  นี่ไม่ต้องพูดถึงว่าตำรวจมีอำนาจในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร  แต่การสนับสนุนการใช้วิธีการเฆี่ยนตี ใช้กำลัง นี่เป็นความย้อนแย้ง เนื่องจากปัญหาหลักที่พี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ประสบอยู่เกิดจากการใช้กำลัง มีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อันส่งผลให้เกิดความอยุติธรรมตามมา

อย่างไรก็ตามเราอาจต้องทำความเข้าใจว่าเหตุใดชุมชนมุสลิมจึงซีเรียสกับเรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรส ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตามโลกทัศน์ของอิสลามถือว่าครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าคุณแก้ปัญหาครอบครัวได้ เรื่องอื่นๆก็จะสามารถแก้ไขได้ ซึ่งแตกต่างจากความคิดสมัยใหม่ที่ถือว่าเสรีภาพส่วนบุคคลสำคัญที่สุด หรืออาจพูดง่ายๆว่าอิสลามมีจุดเน้นที่ครอบครัว อะไรที่มากระทบต่อความเป็นครอบครัว ความมั่นคงของครอบครัว จะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่สะเทือนมาก และมันเลยผูกโยงไปเรื่องอื่น เช่นเรื่องแอลจีบีทีคิว จะเห็นว่าอิสลามทีท่าทีไม่เป็นมิตรมากนักกับ LGBT และไม่ใช่แค่อิสลามเท่านั้น ศาสนาต่างๆมักมีท่าทีคล้ายๆกันเพราะศาสนามีจุดเน้นที่ความมั่นคงของครอบครัว  ในมโนทัศน์เรื่องครอบครัว เรื่องเพศสภาพต้องมั่นคง คงที่ ไม่ลื่นไหล ความคิดเรื่องศาสนา ความศรัทธามันอยู่กับความนิ่ง สงบ มั่นคง แต่ความคิดเรื่องแอลจีบีทีที่ใจกลางหลักอยู่ที่เพศสภาพที่ลื่นไหล หลากหลาย มองในแง่ความมั่นคงของครอบครัวด้วยมโนทัศน์ของศาสนามันไม่มั่นคง

Patani NOTES ความคิดเรื่องฮูก่มปากัตโดยเฉพาะเรื่องการลงโทษเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาหรือเปล่า 

อจ. อิลยาส คือศาสนามีธรรมชาติของความเป็นจารีตประเพณี หน้าที่ของจารีตคือการรักษาความต่อเนื่องซึ่งอาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ แต่สังคมที่ไหนก็มีจารีตดั้งเดิมทั้งนั้น เมื่อศาสนาเกิดขึ้นเพื่อมาปฏิรูปจารีต ต่อมาจารีตพวกนี้มาเกาะเกี่ยวกับศาสนาได้อย่างลงตัว บางทีเราบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ศาสนา มันเป็นจารีต มันฟังดูเป็นการแก้ตัว แต่พื้นที่ทับซ้อนระหว่างจารีตกับศาสนามันกว้างขวางมาก บางพื้นที่มันอาจแยกแยะได้ บางพื้นที่มันเบลอ 

แล้วทีนี้เรามาพูดกันถึงชารีอะห์ ต้องเข้าใจก่อนว่า ชารีอะห์เป็นเรื่องของการปกป้องคุ้มครอง ถ้าเปรียบชารีอะห์กับกฎหมายเราอาจเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญ และเวลาเราคิดถึงรธน.เราคิดถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพ การกำหนดอำนาจหน้าที่และเงื่อนไขทางอำนาจของสถาบันกลไกต่างๆ เราอาจไม่ได้คิดถึงการลงโทษเป็นอันดับแรก แต่เนื่องจากความเข้าใจของมุสลิมที่มีต่อชารีอะห์เป็นความเข้าใจในเชิงจารีต เหมือนที่เข้าใจว่า ถ้าเด็กทำผิดต้องลงโทษ เวลาคิดถึงชารีอะห์จึงคิดถึงการลงโทษ นี่ไม่นับรวมว่าโลกของข่าวสารมีการนำเสนอภาพของการลงโทษ เพราะข่าวแบบนี้มันทำให้ผู้คนสนใจ และคุณค่าสมัยใหม่ก็ไม่เป็นมิตรกับคุณค่าที่ชารีอะห์ยึดถือด้วย

Patani NOTES แล้วชารีอะห์เปิดโอกาสให้กับการตีความแค่ไหน

อจ. อิลยาส เวลาพูดถึงชารีอะห์ คำที่ใกล้ที่สุดในภาษาอังกฤษคือ ethic กล่าวคือมันเป็นระบอบจริยธรรมและจรรยาบรรณ อันเป็นผลมาจากการมองโลกด้วยสายตาบางอย่าง เป็นระบบที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า ระหว่างเรากับสังคม  กับโลกภายนอก คำว่าชารีอะห์จึงเป็นคำที่กว้างมาก โดยรากศัพท์มาจากคำว่า “ชาเรียะ”แปลว่าทางไปสู่บ่อน้ำ หมายความว่าถ้าเดินเส้นทางนี้จะมีชีวิต ในแง่อุปลักษณ์ ทางหรือถนน มันเปิดโอกาสให้เราว่า ในการสร้างทาง เราจะสร้างทางแคบหรือทางกว้าง ถ้าทางแคบคนอื่นเดินด้วยอาจจะอึดอัด แต่ก็มีความรู้สึกปลอดภัยในแง่ที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนเดินกันเพลินตามใจฉัน ถ้าทางกว้างคนเดินด้วยก็สบายกว่าแต่อาจรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะความกว้างอาจเปิดโอกาสให้เดินหลงออกจากแนวทางได้ง่าย คำถามคือแล้วขอบเขตทั้งสองฝั่งของทางหรือถนนอยู่ตรงไหน ใครเป็นผู้กำหนด ในหลักคิดของโลกสมัยใหม่ยกให้เหตุผลเป็นผู้กำหนด แต่ในศาสนาอิสลามพระเจ้าเป็นผู้กำหนด ผ่านคัมภีร์และแบบอย่างของศาสนทูต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งเหตุผลและการกำหนดของพระเจ้ามิได้เป็นสองปริมลฑลที่แยกจากกันหรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน อาจมีการซ้อนทับ เหลื่อมกัน 

Patani NOTES  อจ.พูดว่าชารีอะห์คือระบบจริยธรรม แต่จริยธรรรมของเรามันอาจไม่ใช่ของคนอื่น

อจ. อิลยาส ใช่ นั่นคือสิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้น แต่มันมีจริยธรรมบางหลายอย่างที่ซ้อนทับกัน หรือบางอย่างไม่ขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ หรือระบบคุณค่าเฉพาะ เช่นการฆ่าคนโดยเจตนา เป็นสิ่งผิดจริยธรรมไม่ว่าเราจะอยู่ในระบบคุณค่าแบบไหน

Patani NOTES แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสังคมเปลี่ยนไป คุณค่าของคนและสังคมอาจเปลี่ยน จริยธรรมมันอาจลื่นไหลได้ 

อจ. อิลยาส แน่นอนว่ามันไหลอยู่แล้ว แต่ไหลไปจนถึงขอบเขตใด อิสลามก็ไม่ได้แข็งทื่อตายตัว มันก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปไม่งั้นอิสลามก็สูญสลายไปแล้วจากการท้าทายของโลกสมัยใหม่  แต่จริยธรรมที่ลื่นไหลมันไม่ไหลไปจนกระทั่งไร้ขอบเขต ชารีอะห์มันมาจำกัดขอบเขต เช่น จริยธรรมของการค้าขาย คุณสามารถทำกิจการการค้าขายอะไรก็ได้ตามใจคุณ แต่ขอบเขตคือ สิ่งที่เป็นอันตรายต่อ สาธารณะและสติปัญญา เช่น ผับ บาร์ เหล้า นี่เป็นขอบเขตที่คุณจะข้ามผ่านไปไม่ได้ในระบบจริยธรรมแบบชารีอะห์

มูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง คุยกับ Patani NOTES เรื่องของฮูก่มปากัต

Patani NOTES แล้วยึดอะไรเป็นต้นแบบ เพราะในทางปฏิบัติ ทุกอย่างต้องมีแบบอย่างให้มองหาได้

อจ. อิลยาส แน่นอนอย่างที่พูดในตอนต้นว่าอิสลามเช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆคือมีลักษณะเป็นจารีต ลักษณะของความเป็นจารีตคือต้องรับแบบอย่าง รักษา และส่งต่อแบบอย่าง ในอิสลามมีคำพิพากษาฟัตวา (ข้อวินิจฉัย) ต่อกรณีต่างๆในอดีต ซึ่งนักกฎหมายอิสลามนำมาใช้เป็นแบบอย่าง  แต่เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในโลกสมัยใหม่ประกอบกับการไม่มีสภาพบังคับจะด้วยสาเหตุที่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่หันมาใช้ civil law หรือถ้าเป็นชุมชนมุสลิมในประเทศที่มีคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่มุสลิมอย่างประเทศไทย การบังคับใช้คำฟัตวาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลงโทษทางร่างกายย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว 

Patani NOTES  ฮูก่มปากัตที่ยะหา มันก็คือการแก้ปัญหาใช่หรือไม่

อจ. อิลยาส ผมว่าการที่ชุมชนลุกขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องที่ดีมาก เราควรจะชื่นชม โดยเฉพาะชุมชนมีมาตรการที่เรียกว่าการลงโทษทางสังคม หรือโซเชียลแซงชั่น (social sanction) เช่นชุมชนตกลงร่วมกันว่าจะต้องไม่ตัดไม้ในป่า ถ้าใครขัดขืน จะไม่ไปทำพิธีให้เช่นในงานบวช งานบุญ งานแต่งงาน  มีมัสยิดบางแห่งในกรุงเทพมหานคร คือในชุมชนนั้นถ้าใครเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ฮุกุ่มปากัตของเขาคือ เขาจะไม่ทำพิธีทางศาสนาให้  ไม่ละหมาดให้เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต ถ้าผู้นำศาสนา ไม่ทำการละหมาดให้คือเรื่องใหญ่มาก ซึ่งท่านศาสนฑูตก็ใช้วิธีการแบบนี้ โดยเมื่อเกิดสงครามก็จะมีการเรียกกำลังคนเพื่อออกรบถ้าใครไม่ไปท่านศาสนฑูตจะใช้มาตรการโซเชียลแซงชั่น  เมื่อก่อนถ้าคุณไม่ไปรบ คุณก็เอาเปรียบคนอื่นเขา คนที่ไม่ไปรบหรือไม่จ่ายซะกาด (ภาษี) ท่านศาสดาก็โซเชียลแซงชั่นด้วยการไม่ไปละหมาดให้ หรือทำเฉย ๆ ไม่ปฏิสัมพันธ์ด้วย หรือใช้มาตรการอื่น ๆ ในทางสังคม 

การใช้โซเชียลแซงชั่น เป็นชารีอะห์อย่างหนึ่ง แต่ถ้าคุณไปละเมิดร่างกายคนอื่นหรือการกระทำที่มุ่งหมายเอาชีวิตผู้อื่นก็จะเข้าเรื่องของ ฮูดูดหรือ กีซอส ฮูดูดคือการล้ำเส้นทางจริยธรรมเป็นความผิดต่อพระเจ้า ความผิดลักษณะนี้มีไม่กี่อย่าง แต่เป็นความผิดที่ซีเรียสมากตามหลักอิสลามถือว่าเป็นเรื่องใหญ่จึงมีการกำหนดอัตราโทษไว้สูง  ซึ่งในแนวคิดทางกฎหมายก็เป็นไปในลักษณะนี้ เช่น การจารกรรมความลับของชาติไปให้ศัตรูหรือการเป็นสปายถือว่าเป็นเรื่องซีเรียสเป็นเรื่องใหญ่ ผู้กระทำผิดมักถูกลงโทษประหารชีวิตหรือไม่ก็จำคุกตลอดชีวิต สำหรับอิสลามแล้วการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องซีเรียส เพราะถือว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุดดังที่ได้อธิบายไปตอนต้น

Patani NOTES เมื่อกี้อาจารย์บอกว่าเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส เป็นฮูดูด เป็นความผิดต่อพระเจ้า ดังนั้นต้องมีบทลงโทษ โซเชียลแซงชั่นอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเช่นนั้นข้อกำหนดให้ลงโทษกันอย่างไร ในเมื่อสังคมไทยไม่ได้มีกฎหมายเอาผิดการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ในกรณีแบบนี้สังคมมุสลิมจะทำอย่างไรถ้าอยากจะแก้ปัญหานี้

อจ. อิลยาส ในเมื่อเราไม่มีระบบศาลชารีอะห์ คุณไม่สามารถทำได้ คุณต้องใช้กฎหมายไทย และคุณไม่สามารถทำได้เพราะทำแล้วมันผิดกฎหมาย สิ่งที่ทำได้อย่างมากคือโซเชียลแซงชั่น หมายถึงในเชิงการลงโทษนะ  

ปัญหาก็คือเมื่อเราคิดถึงคิดถึงปรากฏการณ์การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้นิกะฮ์หรือไม่ได้ทำพิธีทางศาสนา เหตุใดเราคิดถึงแต่การลงโทษแต่เพียงอย่างเดียว? ยิ่งไปกว่านั้นการลงโทษในลักษณะฮูดูด มันลงโทษกันได้ยากมาก ๆ กรณีความผิดทางเพศ การที่จะลงโทษคน มันมีกระบวนการที่ละเอียดมากโดยเฉพาะเรื่องพยาน คือต้องมีประจักษ์พยาน การที่จะไปกล่าวหาคนๆหนึ่งว่ามีเพศสัมพันธ์นอกสมรสจะต้องเห็นด้วยตาตัวเอง และต้องมีประจักษ์พยานอีกสามคนที่เห็นด้วยตาตนเองด้วย จึงจะสามารถลงโทษได้ โดยกฎหมายอิสลามแล้วหากมีความสงสัยในพยานแม้เพียงน้อยนิดศาลชารีอะฮจะยกผลประโยชน์ให้จำเลย เว้นแต่มีการยอมรับหรือสารภาพผิด เมื่อเป็นความผิดต่อพระเจ้าบางคนเขาก็สารภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น  

ใจกลางของปัญหาในสังคมมุสลิมในเรื่องการจัดการกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงคือ เรามักมองปรากฎการณ์ที่มันเกิดขึ้นเบื้องหน้า ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งที่ปรากฎตรงหน้าคือยอดของภูเขาน้ำแข็ง มันมีกระบวนการการก่อตัว การสั่งสม ปัจจัยแวดล้อมก่อนที่ยอดของมันจะปรากฎออกมา  เหมือนกับปัญหาการคอร์รัปชั่น เราแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยการคิดถึงบทลงโทษและลงโทษให้หนักเข้าไว้ แล้วเราคิดว่าทุกอย่างจะโอเค แต่กระบวนการที่กว่าจะมาถึงปรากฏการณ์ตรงหน้าเรา ที่เราเห็นเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุม เราไม่ได้จัดการกับมันเลย

ผู้นำต้องรับผิดชอบแต่ต้องมีขอบเขตอำนาจ และวิธีการที่ถูกต้องและมีขั้นตอน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการอ้างว่าเป็นหน้าที่ แล้วบังคับอะไรก็ได้ครอบจักรวาล

Patani NOTES คืออาจารย์กำลังจะเสนอว่า เราควรจะไปจัดการสิ่งที่เป็นเงื่อนไขต่างๆก่อนที่ปัญหามันจะเกิด

อจ. อิลยาส คือเราทำไปพร้อมๆกันได้  มีมาตรการโซเชียลแซงชั่น โดยมีกฎหมายเป็นกรอบ ขณะเดียวกันต้องกลับไปดูว่ากว่าที่เด็กวัยรุ่นจะมีอะไรกันพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง การเลี้ยงดูเป็นยังไง ในโรงเรียนเป็นยังไง ระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่มันเอื้อหรือไม่ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นยังไง เด็กเยาวชนเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ มันเหมือนเป็นภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมา 

แน่นอนเราต้องมีมาตรการ แต่การเน้นและมุ่งเป้าไปที่เยาวชน เด็กผู้หญิง คือคนที่อ่อนแอ อยู่ล่างสุดของสังคมและชายขอบ มันไม่ใช่จุดเน้นและเป้าที่ถูกต้อง 

คือสังคมต้องถามตัวเองว่า เหตุใดสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอ้างว่าเป็นสังคมแห่งศาสนา เป็นศูนย์กลางของการศึกษาอิสลามจึงเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้?  มันต้องมีอะไรที่ผิดปกติ  แล้วเรามาเน้นเรื่องการลงโทษอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้ไหม?  โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแต่ละโรงเรียนเป็นโรงเรียนใหญ่มาก มีนักเรียนหลายพันคน สภาพเป็นอย่างไร มีครูกี่คน ดูแลนักเรียนทั่วถึงหรือไม่ ระบบสวัสดิการครู เงินเดือนครูจะช่วยทำให้ครูทุ่มเทดูแลเด็กได้หรือไม่ โรงเรียนในกรุงเทพฯ หลายแห่งมีโปรแกรมดึงผู้ปกครองเด็กให้ไปร่วมกิจกรรม บางที่ไปเยี่ยมนักเรียนถึงที่บ้าน เรียกประชุมผู้ปกครองและครูเป็นระยะๆ โรงเรียนในสามจังหวัดเราทำไหม คือในสังคมเรา เด็กถูกปล่อยปละละเลยมากจากระบบดังกล่าว แล้วเวลาเกิดปัญหาเหล่านี้มา เราก็จับเด็กมาแต่งงาน

มีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือบทบาทผู้หญิงในพื้นที่มัสยิด ในอดีตเราพบว่าผู้หญิงไปมัสยิดด้วย ไปด้วยกันกับผู้ชาย แต่ในปัจจุบันผู้หญิงแทบไม่มีพื้นที่ในมัสยิดเลย คือมันมีการก่อตัวของความคิดที่ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงไปมัสยิด โดยมาจากการตีความตามตัวอักษรจากอิสลามสายเคร่งครัด กลายเป็นการสร้างแนวความคิดบางอย่างที่มัสยิดไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับผู้หญิง คล้าย ๆ ว่าถ้าผู้หญิงปรากฎตัวอยู่ในพื้นที่ของมัสยิดจะเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหา เป็นต้นเหตุของความฟิตนะหรือความไม่ดีไม่งาม เป็นตัวยั่วยุทำให้ผู้ชายเสียหาย 

ผมมีชีวิตอยู่ในช่วงที่พ่อพาไปมัสยิด แม่ก็ไปมัสยิด เราไปด้วยกัน สมัยผมวัยรุ่น พวกวัยรุ่นก็ไปมัสยิด ไปละหมาด เราก็ได้เห็นว่าคนนี้ลูกใคร คนนั้นลูกใคร ระบบนี้เป็นระบบที่ควบคุมดูแลคนด้วย ในแง่ที่ว่าเรารู้ว่านี่เป็นลูกใคร อยู่ในสายตา มีความอบอุ่น มีสายสัมพันธ์

อีกอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ในอดีตมัสยิดจะมีงานอะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด ปัจจุบันงานเหล่านี้ค่อย ๆ น้อยลงจนแทบไม่มี เพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องศาสนา เป็นเรื่องของอุตริกรรม  แต่มันได้ทำให้โอกาสที่เด็กหรือเยาวชนจะพบกันภายใต้สายตาของผู้ใหญ่และครอบครัวมันยิ่งน้อยลงไปอีก 

มีผลการศึกษาเรื่องบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่มัสยิดชี้ว่า ชุมชนไหนที่มัสยิดมีผู้หญิงไปละหมาดอยู่เป็นประจำ หรือผู้หญิงมีส่วนร่วมในมัสยิด ชุมชนนั้นจะเป็นลักษณะชุมชนที่เป็นจิตอาสา มีการสนทนาระหว่างศาสนา และจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เพราะเมื่อผู้หญิงไปมัสยิด เด็กและเยาวชนก็จะไปมัสยิดด้วย 

ผมต้องการชี้ชวนว่าในขั้นนี้เราจำเป็นต้องมองเป็นกระบวนการว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คือเมื่อเรามองกระบวนการว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร การแก้ไขปัญหาเราก็จะไม่สุกเอาเผากิน หรือเราจะได้มองหลากหลายมิติของปัญหามากยิ่งขึ้น 

Patani NOTES สังคมมุสลิมที่อื่น ที่มีลักษณะคล้ายที่นี่ คืออยู่ในสังคมใหญ่ที่เขามีกฎหมายอีกแบบหนึ่ง ระบบกฎหมายที่มีเน้นความสำคัญอีกแบบหนึ่ง เขามีวิธีการจัดการปัญหาเช่นนี้อย่างไร

อจ. อิลยาส อันนี้ต้องดูเรื่อง Identity politics คือการเมืองเรื่องของอัตลักษณ์  ในสามจังหวัดมีเรื่องการเมืองของอัตลักษณ์ คือต้องการสร้างอัตลักษณ์เพราะว่ามีการช่วงชิงความหมาย มีการต่อสู้กันในเชิงอัตลักษณ์ เพราะฉะนั้นการที่ผู้คนในชุมชนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มันเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ต้องการปกป้องความเป็นอัตลักษณ์ของอิสลาม ทีนี้การเมืองอัตลักษณ์ มันส่งผลที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอยู่พอสมควร  การเมืองอัตลักษณ์เป็นการตีความทางศาสนาให้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของชุมชน เมื่อมีการตีความทางศาสนาให้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ทำให้ศาสนาแข็งทื่อ ผูกติดอยู่กับจารีตบางอย่าง ในขณะที่มุสลิมที่อื่นเช่นในยุโรปมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ได้มีการเมืองแบบอัตลักษณ์ที่จะต้องปกป้องอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิม เขาไม่ได้ช่วงชิงความหมายกัน เขาไม่ได้ต่อสู้กันในเชิงอัตลักษณ์  ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจในศาสนาของมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในยุโรปหรือที่อื่นๆแม้แต่ในประเทศไทยที่ไม่ใช่สามจังหวัดจึงเป็นความเข้าใจที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า

เหตุใดยืดหยุ่นบ้างแข็งทื่อบ้าง ก็เนื่องจาก ชารีอะห์ เป็นการหลอมรวมของสองอย่าง คือเหตุผลและคัมภีร์ (revelation ) ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อมนุษย์ที่มีหลากหลายมิติ   บางคนอาจต้องใช้ระบบเหตุผลถกเถียงด้วยความคิด บางคนต้องใช้ความศรัทธา นั่นคือใช้คัมภีร์อย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ค่อนข้างแข็งทื่อหน่อยและเนื่องจากศาสนาก็มีลักษณะเป็นจารีต ทำให้บรรดาประเพณีต่าง ๆ หรือจารีตต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา ที่เป็นจารีตทางสังคมเข้ามาเกาะเกี่ยวอยู่กับศาสนา และอยู่ภายใต้ศาสนาได้อย่างกลมกลืน แนบเนียน ด้วยเหตุนี้ในการตีความศาสนามันก็เลยออกไปในทิศทางของจารีต โดยที่ไม่มีที่มาที่ไป โดยเฉพาะเรื่องการจับแต่งงาน ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหน

ในอดีตก็เป็นแบบนี้ เช่น ภาษายาวี ผู้คนในชุมชนเรียกว่าภาษาอิสลาม กลายเป็นภาษาอิสลามไปเลย ถ้าหากว่าคุณพูดภาษายาวีไม่ได้คุณก็ไม่ใช่มุสลิม หรือการขลิบบอวัยวะเพศชาย เรียกว่ามาโซะยาวี คือมาโซะอิสลาม คือการเข้าอิสลาม กลายเป็นเรื่องเดียวกันไปเลย

กลับมาว่าเรื่องชารีอะห์ เมื่อพูดถึงชารีอะฮ์เอะอะก็จะลงโทษกัน เฆี่ยนตีกัน จับแต่งงานกัน จนทำให้ภาพของชารีอะฮ์ดูป่าเถื่อน ไร้เหตุผล ใครที่ไปถกเถียงก็เอาทัวร์ไปลงเขาอย่างเสียๆหายๆ และเมื่อเราคิดถึงชารีอะฮ์ เป้าหมายของเรามักมุ่งไปที่ผู้หญิง ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย เรื่องเพศ คนทั่วไปเข้าใจว่าชารีอะฮ์หมายถึงการลงโทษ

ชารีอะห์ไม่ใช่เรื่องของการบังคับใช้ แม้ว่าการบังคับใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบจริยธรรมหรือ ethic ทั้งหลาย มันก็มีระบบการลงโทษ แต่ว่าโดยหลักแล้วมันเป็นเรื่องจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน มันเป็นเรื่องของความสมัครใจ เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมที่เราเห็นว่าเราจำเป็นต้องทำในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เพราะว่ามันมีคุณค่าบางอย่าง ซึ่งถ้าเราไม่ทำเราจะเผชิญกับผลที่ใหญ่หลวงของมันจากการละเลย รวมทั้งจะทำให้เรามีความหมายด้วยหากเราทำสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากโลกทัศน์ของมุสลิมเห็นว่าการดำเนินชีวิตในโลกนี้มันมีวัตถุประสงค์ (purposive)และมีความหมายเพื่อไปสู่โลกหน้า ความสมัครใจจึงแก่นแกนของโลกทัศน์แบบนี้ 

ข้อถกเถียงของผมก็คือว่าเวลาเราพูดถึงชารีอะห์ มันถึงเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่แน่นอนในทุกระบบจริยธรรมมันก็มีการบังคับใช้อยู่ด้วย แต่เราไปเน้นเรื่องการบังคับใช้เกินไป ที่สำคัญเวลาเราพูดถึงการบังคับใช้ เราไปลงที่ผู้หญิงเพราะว่าโดยส่วนใหญ่คนที่ทำเรื่องนี้ก็คือผู้ชาย

ข้อถกเถียงของคนที่ทำเรื่องนี้ไม่ว่าตำรวจ โต๊ะอีหม่าม หรือผู้นำชุมชน ที่เขาบอกว่า นี่เป็นเรื่องชารีอะห์ ถ้าเราไม่ทำเราบาป อันนี้ในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า มนุษย์ไม่ต้องไปรับผิดชอบต่อความผิดบาปของผู้อื่น เว้นแต่บางเรื่อง เช่นผู้นำครอบครัว กับลูก และที่สำคัญถ้าใช้ข้อถกเถียงแบบนี้ก็ต้องใช้กับเรื่องอื่นๆในทางชารีอะฮ์ด้วย เช่นการจ่ายซะกาต (ภาษี) ตำรวจหรือโต๊ะอิหม่ามต้องรับผิดชอบต่อบาปของผู้คนโดยเฉพาะคนร่ำรวย ชนชั้นนำในชุมชนที่พวกเขาไม่จ่ายซะกาตด้วย หรือบาปเรื่องดอกเบี้ยที่ผู้คนในชุมชนไม่มีเงินต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินด่วนที่ตั้งอยู่เต็มไปหมดในชุมชน 

แน่นอนในฐานะผู้นำต้องรับผิดชอบแต่ต้องมีขอบเขตอำนาจ และวิธีการต้องถูกต้องและมีขั้นตอนด้วยไม่เช่นนั้นจะเกิดการอ้างว่าเป็นหน้าที่แล้วบังคับอะไรก็ได้ครอบจักรวาล นี่จะต่างอะไรกับกลุ่มสุดโต่งต่างๆที่อ้างว่าพวกเขามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต้องจัดการกับความเสื่อมทางจริยธรรม แล้วก็ปฏิบัติการอย่างที่เราเห็นในรายงานข่าวผู้นำต้องรับผิดชอบแต่ต้องมีขอบเขตอำนาจ และวิธีการต้องถูกต้องและมีขั้นตอนด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดการอ้างว่าเป็นหน้าที่แล้วบังคับอะไรก็ได้ครอบจักรวาล

(Visited 802 times, 1 visits today)
Close