Written by 8:27 am Featured, Patani, World

นศ.มุสลิมเสนอเลิกพรก.ฉุกเฉิน ยุติซ้อมทรมาน

เปิดสถิติคนร้องเรียนซ้อมทรมานตั้งแต่ปี 62 มี 142 ราย ด้านผู้รายงานพิเศษยูเอ็นชี้ประเด็นสิทธิตกต่ำทั่วโลก

studentletterPM

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน จับมือมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอยุติการซ้อมทรมาน ผลักดันกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย เผยตั้งแต่ปี 2562 มีผู้ร้องเรียนถูกซ้อมทรมาน 142 ราย ด้านผู้รายงานพิเศษด้านการซ้อมทรมานยูเอ็นแสดงความวิตกสถานการณ์ด้านสิทธิตกต่ำทั่วโลก ผู้นำโลกอย่างสหรัฐฯยังเดินหน้าปกป้องทหารที่ทำผิดไม่เลิกราเท่ากับส่งเสริมการลอยนวลไม่ต้องรับโทษ

เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสนับสนุนเหยื่อจากการซ้อมทรมานคือ 26 มิ.ย. มีการจัดงานหลายแห่งเพื่อกระตุ้นให้สังคมได้มองเห็นปัญหาจากการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิ สหประชาชาติหรือยูเอ็นจัดวงเสวนา หลายประเทศมีความเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับความรับรู้ปัญหา รวมทั้งถือโอกาสเรียกร้องให้มีการแก้ไขและหามาตรการป้องกันการซ้อมทรมาน

ช่วงบ่ายวันนี้มีตัวแทนของสหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมไปยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้มีการยุติการซ้อมทรมานและช่วยเหลือเหยื่อให้ได้รับความเป็นธรรมที่สำนักนายกรัฐมนตรีและเย็นนี้คาดว่าจะยื่นที่สำนักงานของยูเอ็น ในขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกรายงานเรื่องการซ้อมทรมานในไทยระหว่างปี 2562-2563 ในวันนี้ด้วย

สำหรับในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น มีเนื้อหาเป็นข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ข้อเสนออันแรกคือให้ยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉินเพราะหมดความจำเป็นแล้วเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ลดลงอย่างมาก  ถัดมาคือห้ามไม่ให้มีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ลับ ให้กระทำในสถานที่ที่ทางการรับรองและให้ตรวจสอบได้ ให้มีบันทึกรายละเอียดในเรื่องการควบคุมตัวและให้ดูแลในเรื่องสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว นอกจากนั้นมีข้อเสนอในเรื่องของการฟ้องร้องเอาผิดที่เปิดให้ผู้ใดก็ตามที่พบเห็นการกระทำผิดสามารถแจ้งความได้ว่า จะต้องให้ผ่านกรรมการตามหมวดที่ 3 ของกฎหมาย คณะกรรมการนี้ควรเป็นผู้เลือกผู้สอบสวนเพื่อไม่ให้เกิดลักษณะผู้ถูกกล่าวหาทำหน้าที่สอบสวนไปด้วย ให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์หรือจิตแพทย์เข้าร่วมในการซักถาม ส่วนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ จดหมายเสนอให้ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งกฎหมายสองฉบับนั้นบังคับใช้ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2549 และ 2548 ตามลำดับและเรื่อยมา

letter
จดหมายเปิดผนึกสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิม

ส่วนรายงานของมูลนิธิที่ออกมาต่างหากซึ่งมีปรากฎในเพจและเวบของมูลนิธิ ได้กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องการซ้อมทรมานในไทยในะระหว่างปี 2562-2563 โดยระบุว่า การซ้อมทรมานในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งหมด 9 กรณีด้วยกัน ในจำนวนนี้ห้ากรณีเกิดขึ้นในค่ายทหาร แต่เชื่อว่ากรณีที่เกิดจริงมีมากกว่านี้ โดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้  รายงานระบุว่าในปี 2562 มีผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินถึง 142 กรณี ส่วนในปี 2563 จนถึงขณะนี้มี 22 กรณี

ข้อมูลของมูลนิธิผสานระบุว่า รูปแบบของการถูกซ้อมทรมานที่ได้จากการร้องเรียนนั้นหลากหลาย ทั้งการบังคับให้ยืนเปลือยกายในห้องแอร์เป็นเวลานาน การข่มขู่ญาติ การบังคับกดน้ำหรือใช้น้ำราดจนหายใจไม่ออกที่เรียกว่า waterboarding การกระทำที่ไม่ทิ้งร่องรอย การตบกกหู ฯลฯ  ขณะนี้คดีที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างมากว่าจะมีการซ้อมทรมานจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือไม่ ก็คือกรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอที่ถูกควบคุมตัวและกลายเป็นผู้ป่วยอาการโคม่าในเวลาเพียงคืนเดียว ซึ่งจะมีการไต่สวนการตายในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ที่ศาลจังหวัดสงขลา นอกจากนั้นยังมีกรณีของนายณัฐพงษ์ และยุทธนา ซ้ายซา สองพี่น้องที่ถูกควบคุมตัวที่นครพนมเพื่อสอบสวนเพราะต้องสงสัยเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติด นายณัฐพงษ์ได้รับบาดเจ็บกระดูกหัก นายยุทธนาเสียชีวิต โดยมีทหาร 7 นายรับสารภาพว่าเป็นผู้ทำร้ายคนทั้งสองและมีการจ่ายเงินเยียวยาครอบครัว แต่องค์กรสิทธิยังคงเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับทหารทั้งกลุ่ม

มูลนิธิระบุว่า ปัญหาการป้องกันและป้องปรามการซ้อมทรมานขณะนี้กำลังมีการผลักดันให้ไทยมีกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องการซ้อมทรมานตลอดจนทำให้บุคคลสูญหายซึ่งเป็นความพยายามที่ใช้เวลานับสิบปียังไม่ประสบผล จากที่ก่อนหน้านี้ไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีหรือ CAT ตั้งแต่ปี 2550 แต่การออกกฎหมายในประเทศเพื่อทำให้พันธะดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติกลับล่าช้าอย่างมาก ขณะนี้ทางภาคประชาชนได้นำเสนอร่างกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานตลอดจนการบังคับให้สูญหายซึ่งพรรคการเมืองขานรับร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว และบางพรรคก็นำเสนอร่างของตนเข้าสู่สภา ในขณะที่ร่างกฎหมายเนื้อหาทำนองเดียวกันของกระทรวงยุติธรรมนั้น ครม.รับหลักการแล้วแต่ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไข  รายงานดังกล่าวชี้ว่า ประเด็นที่น่าวิตกและต้องจับตาในเวลานี้คือการละเมิดสิทธิในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการขยายเวลาการใช้พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเรื่องการซ้อมทรมานนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้ยืนยันมาโดยตลอดว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีการซ้อมทรมานผู้ควบคุมตัว และปฏิเสธในกรณีต่างๆเรื่อยมา เช่น มีกรณีการฝึกทหารใหม่ทำให้มีพลทหารเสียชีวิตในปี 2560 คือพลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ กองทัพปฏิเสธว่าไม่มีการซ้อมทรมานแต่เป็นการตายเพราะการติดเชื้อในช่องท้องอันเนื่องมาจากโรคประจำตัวเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ กองทัพภาคที่ 4 เตรียมผลักดันให้มีการดำเนินคดีกับองค์กรสิทธิคือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจที่ทำรายงานเรื่องปัญหาการซ้อมทรมานในพื้นที่ แต่หลังจากนั้นได้ถอนฟ้องเมื่อ 2560 ในปี 2561 กองทัพภาคที่ 4 ได้ฟ้องนายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีหรือ HAP ฐานกล่าวหาว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว โดยฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท ส่วนกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ กองทัพให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นกลไกในพื้นที่ตรวจสอบแต่ทว่าไม่ได้บทสรุปชัดเจน มีเพียงข้อมูลว่าเสียชีวิตเพราะสมองตาย และที่ผ่านมาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีเพราะเรื่องนี้ แม้ว่าในกรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และนายอัสฮารี สะมะแอ ศาลจะตัดสินในคดีไต่สวนการตายสรุปผลว่า เสียชีวิตเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็ตาม

ส่วนในต่างประเทศ ในวันเดียวกันนี้มีการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิและการซ้อมทรมานอีกหลายแห่งทั่วโลก โดยใช้แฮชแท็ค #TortureVictimsDay 

นิลส์ เมลเซอร์ (Nils Melzer) ผู้รายงานพิเศษปัญหาการซ้อมทรมานของสหประชาชาติหรือยูเอ็นให้สัมภาษณ์ Deutche Welle พูดถึงสถานการณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่าย่ำแย่ลงโดยถ้วนหน้าซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็นกระแสที่เกิดทั่วโลก เห็นได้ชัดทั้งในจีน ฮ่องกง รัสเซีย บราซิล สหรัฐฯ ซีเรีย และมีมากจนบอกได้ไม่หมด สิ่งที่ปรากฎคือทั้งระบบและมาตรฐานด้านการดูแลสิทธิมนุษยชนตกต่ำทั่วโลก ในบางประเทศสืบเนื่องมาจากปัญหาคนอพยพเข้าเมืองเป็นตัวกระตุ้น  แม้ว่าจะมีบางกรณีที่น่าสนใจ คือในเยอรมัน มีการนำตัวผู้ซ้อมทรมานสองคนจากซีเรียขึ้นศาล ซึ่งเขาบอกว่าเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่เกิดในเยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เข้มแข็งในเรื่องดำเนินคดีทหารที่ก่ออาชญากรรม 

เมลเซอร์บอกว่า ประสบการณ์ส่วนตัวของเขาในช่วงที่ทำงานในซีเรีย เขาพบว่ามีการละเมิดสิทธิอย่างหนักมีการซ้อมทรมานมานานตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และนานาชาติล้มเหลวในอันที่จะทำจัดการเรื่องนี้ เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายมากที่สุดบทหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ  ผู้สัมภาษณ์ถามเลยไปถึงเรื่องความพยายามดำเนินคดีกับทหารอเมริกันของศาลโลก ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯข่มขู่ว่า หากมีประเทศสมาชิกของศาลโลกหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการ สหรัฐฯจะคว่ำบาตรประเทศนั้นๆ เมลเซอร์บอกว่า ถ้าไม่นับท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยังถือได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯมีท่วงทำนองปกป้องทหารของตนเองไม่เปิดให้มีการเอาผิดหรือลงโทษ วิธีการนี้ถือว่ากระทบต่อสถานะของสหรัฐฯในเวทีโลก เป็นท่าทีที่ไม่สมกับเป็นผู้นำโลก ซึ่งทำให้มีคนทำตามเช่นอิสราเอลและอังกฤษ ซึ่งอยากจะใช้วิธีแบบเดียวกันเพื่อปกป้องทหารของตนเองให้ไม่ต้องรับโทษเมื่อกระทำผิด (impunity)  

บทสัมภาษณ์ถามเลยไปถึงเรื่องของจูเลียน อัสซาจ์น ซึ่งขณะนี้ถูกนำตัวขึ้นศาลในลอนดอนเพื่อจะพิจารณาว่าจะส่งตัวเขาให้กับสหรัฐฯหรือไม่ ในฐานะที่สหรัฐฯต้องการตัวเพราะนำความลับรัฐบาลไปปล่อย หากศาลอังกฤษตัดสินใจส่งตัวให้สหรัฐฯ อัสซาจ์นจะถูกลงโทษจำคุกถึง 175 ปี เมลเซอร์ ผู้รายงานพิเศษด้านปัญหาการซ้อมทรมานยูเอ็นบอกว่า เรื่องนี้เขาหนักใจมากเพราะว่ากระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลถือว่าไม่เป็นธรรมสำหรับอัสซาจ์นเพราะไม่ได้พบทนายอย่างที่ควรจะได้พบ และถูกขังเดี่ยวซึ่งไม่มีความจำเป็น เมลเซอร์บอกว่า คดีอัสซาจ์นไม่ใช่มีผลกระทบแค่เขาคนเดียว แต่จะวางมาตรฐานคดีเกี่ยวกับการทำงานสื่อสารโดยเฉพาะการทำรายงานเชิงสืบสวนสอบสวน เรื่องที่เกี่ยวกับความลับ การละเมิดสิทธิเช่นการซ้อมทรมานและการไม่ต้องรับผิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก  และหากรัฐบาลสหรัฐฯเอาผิดอัสซาจ์นในฐานะทำจารกรรม ก็เท่ากับถือว่าการเปิดเผยหลักฐานของการที่จนท.สหรัฐก่ออาชญากรรมกลายเป็นเรื่องอาชญากรรมเสียเอง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการสร้างตัวอย่างที่ผิดมาก ในขณะที่การกระทำต่างๆที่อัสซาจ์นนำมาเปิดโปงกลับไม่มีใครถูกดำเนินการ

(Visited 120 times, 1 visits today)
Close