Written by 7:59 am Environment, Featured, Food, Patani Notes

ชาวบ้านจะนะอยากให้คนไทยร่วมสู้รักษาทรัพยากร

“ทะเลมันไม่ใช่ของเรา เราแค่คนดูแลในพื้นที่”
กลุ่มประชาชนจากจะนะที่คัดค้านการทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะขณะนี้ปักหลักชุมนุมกันบนทางเดินเท้าหน้าสำนักงานของสหประชาชาติหรือยูเอ็นในกรุงเทพฯ พวกเขาต้องการให้รัฐบาลชะลอโครงการพร้อมกับทบทวนการศึกษาผลกระทบและทำใหม่โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เพราะเห็นว่าการศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเดิมประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมากเท่าที่ควร บ้างอยู่ภายใต้อิทธิพลและแรงกดดันให้ต้องสนับสนุน

“ถ้าคนไทยออกมาได้ มาเรียกร้องแทนหรือร่วมกับคนจะนะ สิ่งดีๆในประเทศนี้เกิดขึ้นแน่นอน และถ้าหากรัฐบาลล้มคนจะนะได้ เท่ากับรัฐมีอำนาจเหนือปวงชนอย่างมหาศาลไม่อาจที่จะนับได้ว่าขนาดไหน” นาซอรีย์ หวะหลำ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านจากจะนะกล่าวกับ Patani NOTES

ประชาชนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเคยเดินทางไปกรุงเทพมหานครเพื่อประท้วงเรื่องนี้และจบลงด้วยการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือเอ็มโอยูกับรัฐบาลว่าจะชะลอการดำเนินโครงการในขณะที่ศึกษาความเป็นไปได้ ตรวจสอบศักยภาพพื้นที่กันใหม่ว่าควรพัฒนาด้านใด แต่คราวนี้พวกเขาเดินทางไปกรุงเทพฯอีกครั้งเพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญา ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาที่บอกว่าจะชะลอโครงการ กลับมีการเดินหน้าโครงการกันอย่างเงียบๆ เป็นที่มาเป็นการไปชุมนุม “ทวงสัญญา” จากรัฐบาลในหนนี้ที่นาซอรีย์บอกว่า “มีเหลี่ยมมากยิ่งกว่านาฬิกา” เขาเห็นว่า การต่อสู้หนนี้เพื่อปกป้องทรัพยากรที่จะนะไม่ใช่การต่อสู้ที่คนจะนะควรทำคนเดียว

ฐานทรัพยากรที่จะนะเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ของคนจะนะ คนจะนะแค่ดูแลในฐานะคนในพื้นที่ แต่สมบัตินั้นเป็นของคนทั้งประเทศ มันคืออ่าวไทย ไม่ใช่อ่าวจะนะ ในแผนที่ก็เขียนชัดเจน

นาซอรีย์กล่าว

เขาชี้ว่าที่ประชาชนในพื้นที่ต้องออกมาเรียกร้องที่กรุงเทพฯอีกครั้งก็เพราะไม่มีหนทางอื่นอีกในอันที่จะปกป้องพื้นที่ดังกล่าวซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า หากทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมไปนอกจากจะไม่ได้ผลในเชิงเศรษฐกิจดังที่กล่าวอ้างแล้ว ยังทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในพื้นที่หมดหนทางทำมาหากิน นาซอรีย์ชี้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลรู้ดีว่าชาวบ้านในจะนะยังคงคัดค้านโครงการสร้างนิคม มีกิจกรรมส่งสัญญานถึงรัฐบาลโดยตลอด แต่กลไกรัฐบาลเดินหน้าโครงการทั้งๆที่มีข้อตกลงกับชาวบ้านว่าจะชะลอไปก่อน

ด้านนายหมิด ชายเต็ม แกนนำเครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมาร่วมชุมนุมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมด้วยเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของการต่อสู้ว่า เรื่องคัดค้านโครงการจะนะ ชาวบ้านที่จะนะต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2557 การต่อสู้พบแรงกดดันมากมาย เช่นจากการถูกจับกุมและจากแรงกดดันรวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องหาเลี้ยงชีพ บ้างไม่กล้าแสดงออกแม้ว่าจะไม่ต้องการ แต่คนที่ยังต่อสู้อยู่เชื่อว่าเวลานี้คือเวลาที่จะต้องรณรงค์เต็มที่ เพราะหากปล่อยไปเชื่อว่ารัฐบาลสานต่อโครงการเต็มที่อย่างแน่นอนและโอกาสในอันที่จะต่อสู้หลังจากนี้จะหมดไป 

นายหมิดบอกเล่าว่า ชาวบ้านจะนะที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงขณะนี้มีอยู่ราว 500 ครัวเรือน มีประชากรทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วม 3,000 คน ในพื้นที่ชุมชนของพวกเขามีมัสยิดสามแห่ง กุโบร์อีกสาม ยังมีโรงเรียนปอเนาะอีกหนึ่งและตาดีกาอีกสอง คนในพื้นที่จริงๆเขาเชื่อว่าคัดค้านโครงการ แต่ที่ผ่านมาปรากฎประชาชนกลุ่มที่ส่งเสียงสนับสนุนให้สร้าง ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “คนนอกทั้งนั้น ผมก็บอกพวกเขาว่า ถ้าอยากให้สร้างก็ไปสร้างบ้านคุณก็แล้วกัน”

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเขาชี้ว่ากลไกที่ผลักดันโครงการในส่วนต่างๆเริ่มเดินหน้าตระเตรียมการกันแล้วหลายอย่าง หากหนนี้ชาวบ้านต่อสู้ไม่ชนะ เชื่อว่าโครงการเดินหน้าแน่

การต่อสู้เพื่อคัดค้านในส่วนของประชาชนจะนะนั้น นายหมิดบอกว่า ถูกทำให้อ่อนแอลงด้วยเรื่องของผลประโยชน์ นอกจากการมีคนนอกเข้าไปสนับสนุนการสร้างนิคมแล้ว ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งในพื้นที่ซื้อที่ดินเอาไว้เพื่อเตรียมจะขายต่อก็มี และชาวบ้านกลุ่มนี้คือคนที่สูญเสียหากโครงการไม่เดินหน้า

เขาพูดถึงเรื่องของการรณรงค์คัดค้านว่าที่ผ่านมาตลอดเวลาหนึ่งปีชาวบ้านต่อสู้กันโดยตลอด จัดกิจกรรมหลายครั้งเพื่อส่งเสียงให้สังคมรับรู้ว่าชาวบ้านไม่ต้องการโครงการนี้ ดังนั้นไม่อาจอ้างได้ว่าชาวบ้านเพิ่งจะมาค้าน ตัวเขาเองโดนจับกุมทั้งในพื้นที่และในกรุงเทพฯคือเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการโดนจับอาจบั่นทอนขวัญกำลังใจคนกลุ่มหนึ่ง แม้ว่ากับคนอีกจำนวนหนึ่ง การถูกจับยิ่งทำให้พวกเขายืนหยัดมากขึ้น ที่สำคัญ การโดนจับยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะมากขึ้น เวลานี้มีคนในสามจังหวัดใต้จำนวนหนึ่งเตรียมตัวจะเดินทางไปสมทบการชุมนุมหนนี้ รวมทั้งประชาชนในกรุงเทพฯและที่อื่นก็ให้ความสนใจมากขึ้นด้วย

เขาบอกเล่าด้วยว่า ในการทำเอ็มโอยูเมื่อหนึ่งปีมาแล้วนั้น เรื่องเกิดขึ้นได้เชื่อว่าเพราะประชาชนเข้มแข็งต่อสู้ไม่เลิกราทำให้รัฐบาลยอมทำเอ็มโอยู แต่เขาวิเคราะห์ว่า รัฐบาลเพียงแต่ซื้อเวลาเพราะเชื่อว่าประชาชนจะอ่อนแรงลง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆส่งคนไปพูดคุยกับชาวบ้านตลอดเพื่อชี้แจงผลดีของโครงการ ข้ออ้างที่ว่าจะช่วยสร้างงานและประชาชนในพื้นที่จะได้ทำงานดี เงินเดือนสูง นายหมิดกล่าวว่า เขาเชื่อว่าชาวบ้านหลายคนที่ได้ยินไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้แม้ว่าจะไม่พูดออกมา

เขาไม่รู้ว่าชาวบ้านเทพา ออกทะเลตีห้าแปดโมงเช้ากลับ ได้มาแล้วเจ็ดร้อยพันหนึ่ง นี่คือแถวชายฝั่ง ส่วนที่ออกไปข้างนอกอีกไม่ต้องพูดถึงพวกที่ไปวางอวน อาทิตย์นึงได้เป็นแสนก็มี

เขาย้ำว่าเรื่อง “การมี” ของชาวบ้านแม้ไม่มีเป็นตัวเงินแต่พวกเขาไม่อดอยากและมีอาหารบริบูรณ์ ในช่วงเวลาที่ผู้คนรอบข้างเดือดร้อนเพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด คนในจะนะนำอาหารทะเลไปทำอาหารช่วยเหลือหลายชุมชนมาแล้ว แต่ภาพที่ปรากฎจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ภาพว่าชาวบ้านยากจนช่วยตัวเองไม่ได้ พื้นที่ริมทะเลปลูกอะไรไม่ขึ้น และการมีโครงการจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับพวกเขา ซึ่งในความเป็นจริงชาวบ้านมองในทางกลับกัน พวกเขามีโอกาสมากอยู่แล้วในท่ามกลางทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในทะเลและชายฝั่ง หลายคนปลูกพืชผักทำรายได้ดี แต่การมีนิคมอุตสาหกรรมจะทำลายโอกาสที่มีอยู่ให้หมดไปมากกว่า

“เพราะแบบนี้คนจึงยังสู้ มันเป็นบ้านเขา เขาสู้เพื่อปกป้องบ้านเขา เพราะทำนิคมแล้วจะให้เขาไปอยู่ไหน” เขาเล่าว่าเมื่อเขาถูกจับเพราะการรณรงค์และต้องไปขึ้นศาลสงขลานั้น มีการพูดเรื่องย้ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่นิคมไปอยู่ที่อื่น “ผมบอกกับศาล  จะให้ผมไปขึ้นควน ผมคนเลจะให้ผมไปทำไร เขาตอบให้ไม่ได้” พร้อมกันนั้นเล่าอีกว่า เคยมีผู้สัญญาว่า หลังทำนิคมจะหาที่ดินให้ชาวบ้านได้อยู่ด้วยกัน จะมีการจัดหาที่ดินให้คนละไร่ แต่กระนั้นก็ยังบอกไม่ได้อีกว่าจะเป็นที่ไหน

(Visited 67 times, 1 visits today)
Close