Written by 2:50 pm Interviews, Patani Notes, Staff's Picks

เช็คต้นทุนสุขภาพคนปาตานีหลังการระบาดของโควิด

แม้วัคซีนป้องกันจะยังไม่ออกสู่ตลาดแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เป็นอยู่ดูเหมือนว่าเมืองไทยจะผ่านพ้นช่วงวิกฤติที่สุดมาแล้ว หลายฝ่ายบอกว่าเป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขไทยนั้นดี ขณะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือได้ว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการระบาดอย่างรุนแรงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 250 กรณี และเสียชีวิตกว่า 4 คน นอกเหนือไปจากผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่แล้วการระบาดของไวรัสโควิดก็ทำให้หลายคนพบว่าปัญหาทางด้านสาธารณสุขเป็นอีกหนึ่งวิกฤติที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่เช่นกัน

Patani NOTES สัมภาษณ์ นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ หรือหมอฟาห์มี แพทย์หนุ่มซึ่งเป็นทั้งนักระบาดวิทยา นักวิจัย และเจ้าของร้านโรตี ถึงสถานการณ์ที่ผ่านพ้นไปในภาพใหญ่ของประเทศและช่วยอธิบายให้เราฟังว่าสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่เป็นเช่นไร รวมทั้งทำไมถึงยังมีโรคที่แทบไม่พบในภูมิภาคอื่นแต่ปรากฎอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

หมอฟาห์มียังได้ตั้งขอสังเกตด้วยว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีการสร้างจุดเปลี่ยนขนาดใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ มันกลายเป็นว่าต้นทุนทางร่างกายของคนที่นี่ด้อยกว่าที่อื่นและส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตของร่างกายสำหรับคนในวัยเด็ก

เราผ่านสถานการณ์ที่แย่ที่สุดของโควิดหรือยัง

น่าจะผ่านไปแล้ว ไม่น่าจะมีที่แย่กว่านี้แล้ว หากมีการระบาดรอบใหม่ก็มีความเป็นไปได้น้อยลงที่ความรุนแรงมันจะมีขนาดเท่าเดิม ตามหลักของระบาดวิทยาเชื้อที่ยังอยู่ตอนนี้เป็นเชื้อที่อ่อนลงแล้ว อัตราการตายที่ยุโรปที่สหรัฐอเมริกาก็ลดลง ที่อินเดียแม้มันจะเพิ่งระบาดแต่อัตราการตายก็ไม่ได้เยอะเหมือนที่อเมริกา ถ้าดูจากกรณีของอิตาลีช่วงแรกๆ ตอนนั้นอัตราการเสียชีวิตอยู่ 10% ตอนนี้ลดลงเหลือ 0.2% แล้ว 

ไวรัสเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ในโลกนี้ได้

ใช่ สมมุติเราทำลายทรัพยากรจนหมดแล้วไม่มีโลกให้อยู่เราก็ตายกันหมด แต่ถ้าเราประนีประนอมหน่อย ใช้ในอัตราที่โลกผลิตทดแทนได้ซ่อมแซมได้มันก็จะอยู่ได้นาน มันเป็นกฎธรรมชาติ โลกนี้ถูกสร้างให้อยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด โดยธรรมชาติของไวรัสซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตก็เช่นกัน ไวรัสแบบไข้หวัดนั้นอยู่กับมนุษย์มาเป็นพันๆปี มันจะต้องกลายพันธุ์ลดความรุนแรงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ถ้ามันทำให้คนตายเร็วโอกาสที่ตัวมันเองจะมีชีวิตต่อก็น้อยลง ไวรัสจะปรับตัวเองเพื่อให้อยู่ในตัวคนเพื่อโอกาสแพร่พันธ์มากขึ้น

แต่ไวรัสที่อยู่ไม่ได้คือไวรัสที่รุนแรงมากๆ ยกตัวอย่างเช่นโปลิโอซึ่งทำให้เด็กพิการ มันทำให้มนุษย์ต้องหาวิธีกำจัด มีการออกมาตราการอย่างเด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนโปลิโอ หรือไวรัสอีกตัวที่แรงๆคืออีโบลาที่รุนแรงมากทำให้คนตายเร็ว ตัวเชื้อไปทำลายร่างกายคน ไวรัสอีโบลาไม่ได้ลดความรุนแรงแต่อยู่ๆมันก็หายไปเองเพราะมันต้องใช้พลังมหาศาลกว่ามันจะโจมตีไปที่ตัวคน มันทำให้ธรรมชาติของไวรัสที่รุนแรงมากแพร่เชื้อได้ยากขึ้น 

เพราะอะไรประเทศไทยจึงรับมือกับโควิดได้ค่อนข้างดีหากเทียบกับหลายประเทศ

มันเป็นพื้นฐานทางสาธารณสุขที่ดี ปูโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างยาวนาน นี่เป็นข้อดีที่วงการแพทย์ไทยซึ่งมีปูชนียบุคคลในวงการที่มีหัวไปทางสังคมนิยม มีอิทธิพล มีบทบาทในการขับเคลื่อน เช่นหมอประเวศ วะสี ที่วางรากฐานระบบสาธารณสุขไทยให้เป็นในแนวสวัสดิการ เป็นต้นกำเนิดของตระกูล สสส.  เป็นต้นกำเนิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนที่ผลักดันให้แขนงความรู้ทางระบาดวิทยาของเมืองไทยแข็งแรง 

เมืองไทยมีนวัตกรรมใหญ่ๆทางระบบสาธารณสุขเกิดขึ้นมาตลอด ในภาวะปกติเราไม่ได้คิดว่ามันสำคัญ แต่พอมีวิกฤติเราจะเห็นว่ามันสำคัญมากเช่นสามสิบบาทรักษาทุกโรคที่ทำให้เราเห็นความมหัศจรรย์ของมันในการเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ลดการเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข 

มีอีกสิ่งที่เป็นนวัตกรรมซึ่งสร้างขึ้นมานานแล้วคือ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นแขนขาของระบบสาธารณสุขในหน่วยเล็กระดับหมู่บ้าน อสม.มีความรู้ทางสาธารณสุขมากกว่าชาวบ้านและรู้จักทุกคนในหมู่บ้าน อสม.เป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่ทรงพลังมากของรัฐ อสม.รู้จักคนทุกคนในหมู่บ้าน พวกเขาต้องเยี่ยม ดูแลเรื่องสารทุกข์สุกดิบทางสุขภาพ เมื่อมีเรื่องโควิดเข้ามา คนเข้าคนออกในหมู่บ้านจะอยู่ในสายตาอสม.หมด และพวกเขาทำหน้าที่ส่งข้อมูลกลับมาเข้าสู่ระบบซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็ว

นี่คือสองตัวอย่างที่เราจะเห็นว่าระบบสาธารณสุขของไทยมันแข็งแรงและที่สำคัญมีฐานข้อมูลที่ดีมากเพราะมีฐานคิดเรื่องการจัดการข้อมูลมาตลอดตั้งแต่แรก ขณะที่กระทรวงอื่นอาจไม่มี คนรู้สึกว่าสามารถนำคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปปฏิบัติได้โดยไม่ต้องระแวงว่าหวังผลอย่างอื่นหรือเปล่า

หมอกำลังจะบอกว่าต่อให้กระทรวง ทบวงอื่น หรือการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่สาธารณสุขไทยจะยังเป็นที่พึ่งได้เสมอ

การตอบว่าเสมอมันก็ยากเหมือนกัน ในระบบสาธารณสุขมันก็มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆเข้ามาเหมือนกัน มีความเป็นทุนนิยมที่มากขึ้นซึ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมของสาธารณสุขไปพอสมควร คนจำนวนไม่น้อยไหลไปตามทุน ถ้ามันมีนโยบายอะไรที่กระทบเรื่องเงินเรื่องทองของเจ้าหน้าที่มันก็จะเขวและไปทางทุนนิยมมากขึ้น โดยพื้นฐานแล้วสาธารณสุขมันเป็นเรื่องของการไม่แสวงหากำไร ขณะที่การแพทย์สมัยใหม่เป็นเรื่องของการหากำไร ยกตัวอย่างเช่นระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาที่แตกต่างกับไทยอย่างสิ้นเชิง พวกเขามีนวัตกรรมการรักษาโรคใหม่ๆที่ดีมาก เป็นการลงทุนเพื่อหากำไร แต่ไม่มีระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้  

เมื่อมองมาที่ภาคใต้ พื้นที่ระบาดหนักๆของโควิด-19 ในสามจังหวัดพบว่าเป็นพื้นที่เดียวกับที่มีการระบาดของโรคอื่นๆเช่นโรคหัด

มันใกล้เคียงกันและเป็นพื้นที่ที่การสื่อสารในด้านสาธารณสุขเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เมื่อไปทาบตำแหน่งดูก็ทับซ้อนกัน เช่น รือเสาะ (นราธิวาส) บันนังสตา (ยะลา) ทุ่งยางแดงและยะรัง (ปัตตานี) ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นพื้นที่ที่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการพูดคุยไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามที่มาจากรัฐแม้แต่เรื่องสาธารณสุข

ขณะที่ความรู้ด้านสาธารณสุขก็เป็นความรู้ใหม่ไม่ใช่ความรู้เดิมของพื้นที่ เป็นเรื่องที่ไม่เคยปฏิบัติกันมาก่อนความเข้าใจบางอย่างมันก็เกี่ยวพันกับเรื่องของภาษา แต่สถานการณ์จะค่อยๆเปลี่ยนเมื่อลูกหลานคนในพื้นที่ออกมาเจอโลกข้างนอกมากขึ้น รู้จักความรู้และภาษาทางการแพทย์มากขึ้น มันจะไปเปลี่ยนความเข้าใจในวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ จากที่ฉีดวัคซีนกันน้อยๆ ก็เริ่มมีการฉีดกันมากขึ้น

นอกจากโรคหัดแล้ว ยังมีโรคอื่นๆที่ไม่ระบาดในภูมิภาคอื่นแต่กลับพบในพื้นที่

มีหลายโรคที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่เช่น คอตีบ บาดทะยัก โรคกลุ่มแม่และเด็ก มดลูกเน่า โรคขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในเด็ก คงเป็นเพราะมีวัฒนธรรมบางอย่างหรือความรู้เดิมที่ไปด้วยกันไม่ได้กับระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ ก็เลยเจอเยอะกว่าที่อื่น นอกจากนี้การถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นสู่รุ่นอาจเป็นปัจจัยสำคัญเหมือนกัน ขณะที่ไม่มีการสร้างจุดเปลี่ยนขนาดใหญ่ของพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกินนมของเด็กอย่างขนานใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มันกลายเป็นว่าต้นทุนทางร่างกายของคนที่นี่ด้อยกว่าที่อื่นและส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตของร่างกาย

ในช่วงที่โควิดระบาดอย่างหนักมีการประกาศหยุดปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น มองเรื่องนี้อย่างไร 

มันเป็นช่วงที่การรักษาชีวิตมีความสำคัญกว่าทุกสิ่ง ไม่เช่นนั้นคุณจะโดนด่าและเข้าทางรัฐ ในขณะที่รัฐเตรียมสาธารณสุขเข้าไปในทุกหมู่บ้าน รัฐสามารถแสดงบทบาทการนำได้ในสถานการณ์โควิดระบาด อันนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าถ้าคุณไม่มีการบริการสาธารณะให้ประชาชนตั้งแต่แรกคุณก็จะไม่สามารถสร้างแอคชั่นได้มาก เพราะเป็นรัฐทั้งหมดที่ผลิตและรัฐก็มีภาษีให้บริหารเยอะมาก

แต่ต้องยอมรับด้วยว่าการบริหารและใช้จ่ายของรัฐในหลายๆด้านมันไม่มีประสิทธิภาพ การให้คนจากที่อื่นมาคิดแก้ปัญหาให้คนที่นี่มันก็ไม่เวิร์ก ในขณะที่เราเองก็ไม่มีคนที่สามารถผลักดันบิ๊กไอเดียที่จะเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบได้จริงๆ กระทั่ง สส. สว. หรือว่านักการเมืองพอขึ้นไปมีอำนาจก็ไม่มีบิ๊กไอเดียแบบเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่นี่ไปตลอดกาล เพราะมันยังต้องไปสู้กันในเรื่องสิทธิ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่สามารถหลุดไปคิดเรื่องที่ไกลกว่านั้นได้

ทราบมาว่าหมอเองเป็นคนที่ทำหลายอย่าง ทั้งสอนหนังสือและทำธุรกิจ มีวิธีการจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร

เราต้องเข้าใจก่อนว่าเรามีงานอะไร สร้างระบบการทำงานขึ้นมา หลังจากนั้นเราก็ต้องหาคนที่สามารถทำแทนเราได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องสอน สอนไม่ได้ก็หาคนใหม่ ผมว่าผมมีสายตาในการเลือกคนให้เหมาะกับงาน ถึงจุดหนึ่งเราก็สามารถปล่อยให้ระบบมันเดินไปของมันเอง หัวใจสำคัญของการจัดการคืออันแรกเลยต้องมองว่าเวลาของเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดอยู่เสมอ จะผลิตอะไรได้มากกว่าความสามารถที่เราคิดว่ามีอยู่เสมอ ความคิดแบบนี้ของผมเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 14-15  ผมรู้สึกว่าเวลาเรามีเท่ากันกับคนอื่นเราต้องทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น  ผมไม่ชอบเวลาว่าง ไม่ชอบการอยู่เฉยๆโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาในสมองเรา มันต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น มันก็ฝึกฝนการใช้เวลามาเรื่อย ๆ ยิ่งใช้ยิ่งคุ้ม เราก็จะเจอวิธีการใช้เวลาพิเศษมากขึ้น แล้วก็เจอเทคนิคใหม่ ๆ มันเป็นแนวคิดทุนนิยมแหละ มันไม่เหมาะกับคนตัดจากโลก ไม่เหมาะกับสายซูฟี 

ขึ้นชื่อว่าเป็นหมอทำให้มีต้นทุนในการทำอย่างอื่นสูงกว่าคนอื่นหรือไม่

การที่เรามีต้นทุนสูงกว่าคนอื่นไม่ดีตรงไหน อีกอย่างมันยังมีคนอีกหลายแบบที่มีต้นทุนสูงกว่าผม ผมเป็นหมอผมไม่ได้เล่นเส้น ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกติกาสังคม ไม่ได้ไปโกงเขามาเพื่อให้ได้เป็นหมอ มันมาจากความอุตสาหะ ความพยายาม ขณะที่ผมเองก็พยายามทำให้ทุกคนได้รับโอกาสดีๆแบบที่ผมได้รับมาตลอดชีวิตเหมือนกัน

(Visited 358 times, 1 visits today)
Close