Written by 8:52 am Featured, Patani, World

“ไกรศักดิ์ ชุณหวัน” กับสามจังหวัดใต้

“เมืองไทยไม่ให้ความสำคัญกับความตายของชาวบ้านคนยากคนจน ชีวิตคนเหล่านี้เกือบจะไม่มีค่าเลย” ว่าด้วยบทบาทของไกรศักดิ์กับการสร้างสันติภาพอินโดจีนและในสามจังหวัดใต้

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ไกรศักดิ์ ชุณหวันเสียชีวิตแล้วเมื่อ 11 มิ.ย. ในห้วงเวลาของการทำงานอันยาวนาน ไกรศักดิ์ในฐานะบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีพล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ มีวิถีชีวิตที่มีสีสันไม่ต่างไปจากผู้เป็นบิดา รวมทั้งมีบทบาทในงานหลายอย่างที่ควรค่าแก่การรับรู้

ก่อนที่เขาจะจากไป ได้มีการตีพิมพ์เรื่องราวชีวิตของไกรศักดิ์ในหนังสือ “ชีวิต มุมมอง ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เขียนโดยกุลธิดา สามะพุทธิ มีชื่อไกรศักดิ์ ชุณหะวัณเป็นบรรณาธิการ นั่นหมายถึงว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ไกรศักดิ์อยากให้สังคมได้รู้จักเขานั่นเอง หนังสือนี้ออกสู่สายตาผู้อ่านสดๆร้อนๆเมื่อพค. 2563  จากเนื้อหาเราจะพบว่า ไกรศักดิ์ให้ข้อมูลและความเห็นเอาไว้หลายเรื่อง และในสถานะของบุคคลเช่นไกรศักดิ์ เขาย่อมได้เห็นในหลายสิ่งหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าเขาเลือกที่จะบอกเรื่องใดบ้าง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนและการสร้างสันติภาพ ไกรศักดิ์เปิดเผยว่าเขามีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมสร้างสันติภาพอินโดจีนรวมทั้งกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนทั่วไปและของคนชายขอบ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และแน่นอนบทบาททางการเมืองซึ่งรวมไปถึงในการเข้าร่วมกับกปปส. ซึ่งเขาบอกในเวลาต่อมาว่าได้ถอยห่างออกจากกลุ่มในที่สุด  

ในรายงานชิ้นนี้ Patani NOTES จะพยายามสกัดเรื่องราวในส่วนของการสร้างสันติภาพในภาคใต้ มุมมองต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของเขาขึ้นมานำเสนอเป็นหลัก โดยมีเรื่องราวภูมิหลังด้านอื่นเป็นองค์ประกอบ

ลูกทหาร กับงานการเมืองและความคิดเรื่องสิทธิ 

ย้อนกลับไปดูภูมิหลังชีวิตของไกรศักดิ์อย่างคร่าวๆ ข้อมูลในหนังสือทำให้เห็นได้ว่า การเป็นลูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทำให้ไกรศักดิ์มีวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ได้เห็นการขับเคี่ยวของคนระดับสูงในทางการเมือง ครอบครัวของพล.อ.ชาติชายอยู่ในเครือข่ายของผู้เกาะกุมอำนาจทั้งทางทหารและการเมืองระดับสูง พี่สาวคนหนึ่งของพล.อ.ชาติชายเป็นภริยาของเผ่า ศรียานนท์ พี่สาวคนถัดมาสมรสกับประมาณ อดิเรกสาร คนที่สามกับอรุณ ทัพพะรังสี และคนท้ายกับเฉลิม เชี่ยวสกุล ขณะที่บุตรบุญธรรมของบิดาของเขา ผิณ ชุณวัณ คือจงกล ถนัดรบ ที่เป็นบุตรีของพันเอกหลวงจบกระบวนยุทธ์ก็ได้สมรสกับจอมพลถนอม กิตติขจร เครือข่ายครอบครัวเช่นนี้ทำให้สมาชิกตระกูลชุณหวัณโลดแล่นอยู่ในการเมืองแถวหน้าของเมืองไทยมาโดยตลอด แม้หลายครั้งจะระหกระเหินแทบเอาตัวไม่รอด แต่ไกรศักดิ์ก็คลุกคลี “วงใน” โดยตลอด 

รัฐประหารเมื่อกย. 2500 ในวัยที่ไกรศักดิ์ยังสิบขวบ ทำให้ครอบครัวพล.อ.ชาติชายถูกเนรเทศทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ในหนนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจจากจอมพลป. พิบูลสงคราม ทำให้ทั้งจอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่า คนสนิทของเขาต้องหนีออกนอกประเทศ พล.อ.ชาติชาย ในตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะและเป็นน้องเขยของพล.ต.อ.เผ่าย่อมไม่ได้รับความไว้วางใจไปด้วยแม้ว่าจะสนิทสนมกับจอมพลสฤษดิ์อย่างมากก็ตาม เขาถูกสั่งให้ไปเป็นทูตที่อาร์เจนติน่า และวนเวียนอยู่นอกประเทศยาวนานร่วมสิบห้าปี ทำให้ไกรศักดิ์ในวัยรุ่นจนถึงช่วงเป็นนักศึกษาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตกับความเคลื่อนไหวในต่างแดน เข้าใจวัฒนธรรมสากลและการเมืองระหว่างประเทศอันเป็นสิ่งหลักที่เขาสนใจอย่างหนึ่งเรื่อยมา ในขณะการอยู่ต่างประเทศยังเปิดความคิดของทหารอย่างพล.อ.ชาติชายให้กว้างขึ้น 

ไกรศักดิ์ดูดซับสิ่งต่างๆไม่เพียงแต่ภาษาสเปน แต่มุมมองการเมืองของคนอาร์เจนตินา เช เกวารากลายมาเป็นฮีโร่ของเขา ประสบการณ์การได้ใช้ชีวิตในพื้นที่สีเขียวทำให้อยากเห็นการมีสวนสาธารณะในเมืองที่มีผลทำให้ไกรศักดิ์ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สีเขียวในเวลาต่อมา แต่เขาไม่ค่อยชอบโรงเรียนในสหรัฐฯที่ถูกส่งไปเรียนที่เมสชาชูเซตส์มากนัก เขาพบว่าสังคมในโรงเรียนแห่งนั้นที่เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของไทยค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และพบว่าชาวอเมริกันเหยียดสีผิว เหยียดชาติพันธุ์ เหยียดคนคิดต่างและไม่ค่อยมีความรู้เรื่องคนในประเทศอื่น แต่ที่นั่นก็ทำให้เขารักการอ่าน โดยเฉพาะวรรณกรรมตะวันตกต่างๆรวมไปถึง 1984 เพราะได้พบครูที่มีอิทธิพลในเรื่องนี้  

ชีวิตไกรศักดิ์ในช่วงวัยรุ่นดูจะ “แหกคอก” ไม่น้อย เขาเลิกเรียนลาออกไป “แสวงหาตัวเอง” อันเป็นช่วงประจวบเหมาะกับที่คนอเมริกันโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกำลังต่อต้านสงครามเวียดนาม แถมยังตั้งวงดนตรีของตัวเองเสียด้วย บิดาคือพล.อ.ชาติชายพยายามดึงลูกให้กลับเข้ารูปเข้ารอยด้วยการให้ไปทำงานในเมืองไทย เขาก็ได้บวช ไปทำงานเสริ์ฟในโรงแรมเอราวัณ ต่อมาไปเรียนต่อที่สวิสเซอร์แลนด์และไปลงเอยที่ปารีส ที่ซึ่งไกรศักดิ์เห็นว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตและวิธีคิดของเขาอย่างมาก มันเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาคนหนุ่มสาวกำลังมีบทบาทและตั้งคำถามต่อสังคม รวมทั้งออกเคลื่อนไหวนอกสถานศึกษา ฝรั่งเศสทำให้ไกรศักดิ์เรียนรู้งานของนักคิดฝ่ายซ้ายจำนวนมากไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก ตั้งแต่คาร์ล มาร์กซ์ ทรอตสกี จนถึงเหมา เจ๋อ ตุง วิถีทางเช่นนั้นทำให้เขาพบรักกับลูกสาวนักการเมืองฝ่ายซ้ายของเกาหลีใต้ ทั้งยังตกลงพากันไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันจนจบปริญญาตรี ต่อด้วยปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน คือที่ SOAS หรือ School of Oriental and African Studies ไกรศักดิ์ทำปริญญานิพนธ์เรื่อง Thailand: Politics of the Elit เพื่อนสาวของเขาทำเรื่องความเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

เขาตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่โซแอส  ระหว่างเรียนเขากลับเมืองไทยเป็นระยะเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการทำวิทยานิพนธ์ มันเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ขบวนการนักศึกษาในเมืองไทยกำลังคึกคักด้วยการต่อต้านเผด็จการทหารและการเรียกร้องประชาธิปไตย มันเป็นความเคลื่อนไหวที่ไกรศักดิ์ให้ความสนใจอย่างยิ่ง

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไกรศักดิ์ได้สัมภาษณ์นักศึกษาที่ติดคุกและเขียนรายงานให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และได้รณรงค์ให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง  บทบาทช่วงนั้นทำให้เขาถูกจับตา และมีช่วงเวลาที่พล.อ.ชาติชายถึงกับบอกลูกชายไม่ให้กลับไทยเพราะอาจติดคุกในข้อหาเป็นภัยสังคม  ไกรศักดิ์ผลิตงานเขียนทั้งเรื่องเมืองไทย เศรษฐศาสตร์การเมือง การเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่อาจารย์ที่ปรึกษาช่วงเรียนปริญญาเอกคือมัลคอล์ม คาล์ดเวลล์ก็ชื่นชมกลุ่มเขมรแดงในเรื่องที่สามารถต่อต้านสหรัฐอเมริกาได้ แต่ทว่าในปี 1978 คาล์ดเวลล์ที่ได้รับเชิญให้ไปเยือนกัมพูชา หลังจากที่ได้พบกับพลพตหรือที่หลายคนออกเสียงว่าพอลพต ผู้นำเขมรแดง เขากลับถูกลอบสังหารในที่พัก ความตายของอจ.ที่ปรึกษาที่เขาสนิทสนมทำให้ไกรศักดิ์สะเทือนใจจนล้มเลิกความคิดทำปริญญาเอก ที่หนักมากกว่าคือเขาเริ่มตั้งคำถามกับคนที่เขาเรียกว่าพวกซ้ายจัดรวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และเขมรแดง  เมื่อในช่วงชีวิตของเขา ไกรศักดิ์ก็ยังคงคลุกคลีกับมิตรสหายฝ่ายซ้ายเรื่อยมา หลายครั้งมันก็ทำให้เขาเข้าใกล้การถูกจับกุม 

ไกรศักดิ์ไปใช้ชีวิตเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ร่วมสิบกว่าปี ในช่วงเวลานี้เขาร่วมทำกิจกรรมกับนักเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนในการกำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรในชุมชนของพวกเขาโดยเฉพาะอีสานและเหนือ เขาประทับใจกับการทำงานของคนเหล่านั้น มันเปิดความคิดไกรศักดิ์ทำให้เขาเห็นความเสียเปรียบของคนชายขอบ นักเคลื่อนไหวครูอีสานที่เขานับถือถูกยิงตาย ชาวบ้านในหมู่บ้านอาข่าในจังหวัดเชียงรายที่ถูกทหารไล่ที่ในปี 2525 ซึ่งหนังสือบันทึกไว้ว่าไม่ใช่เพียงไล่ที่แต่ยังมีการกระทำที่โหดร้าย มีคนถูกฆ่า ผู้หญิงถูกข่มขืน และที่หนังสือระบุคือ ที่อยู่ที่พวกเขาถูกไล่ออกก็คือที่ที่กองทัพบกได้ยกให้พวกเขาอยู่เป็นการตอบแทนกับที่พวกเขาเคยอาสาช่วยทหารไทยรบกับคอมมิวนิสต์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไกรศักดิ์เพิ่มความเห็นใจในคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม

ไกรศักดิ์ผลิตงานวิชาการ เขาวิพากษ์วิจารณ์ระบบ มองหาแนวทางพัฒนาที่เริ่มจากชุมชน และก็พบว่าการทำงานต้านกระแสหลักทำให้เขาอาจถูกลงโทษได้เสมอแม้จะมีสายสัมพันธ์ดีเพียงใดก็ตาม เขาและเพื่อนนักวิชาการคือปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ เดินทางไปเวียดนาม เมื่อกลับมาถูกสถาบันลดเงินเดือนเพราะถือว่าผิดวินัยที่เดินทางไปประเทศคอมมิวนิสต์และไปโดยพลการ  เขาสละงานวิชาการไปรับหน้าที่ทำทีมที่ปรึกษาให้กับบิดาคือ พล.อ.ชาติชายที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อส.ค. 2531 เป็นที่มาของกลุ่มคนหนุ่มทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกอันเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้น มีนักวิชาการหน้าใหม่หลายคนเข้าร่วมอาทิ พันศักด์ วิญญรัตน์ มรว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร  บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ฯลฯ 

ในช่วงนี้นี่เองที่ไกรศักดิ์ได้มีบทบาทสนับสนุนนโยบายต่างประเทศสำคัญภายใต้รัฐบาลพล.อ.ชาติชายที่ประกาศเปลี่ยนอินโดจีน “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”  ซึ่งหนังสือบอกเราว่าประกอบด้วยการยุติความขัดแย้งขั้นสู้รบในกัมพูชา และพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอินโดจีน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ.ช่วงนั้นเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญเข้าช่วยประสานความต้องการของเขมรสี่ฝ่าย พล.อ.ชวลิตเรียกการดำเนินการดังกล่าวว่าเป็นการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร  ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกทำงานกับพล.อ.ชวลิตและฝ่ายต่างๆในกัมพูชาเพื่อผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ ในขณะที่อีกด้านก็ติดต่อกับจีนเพื่อให้จีนสนับสนุน ซึ่งการติดต่อกับจีนก็ดี การผลักดันนโยบายสนามการค้าอินโดจีนก็ดีล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องทวนกระแสในเวลานั้น ทำให้พวกเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักและเจอแรงต้านจากภายในคือกระทรวงต่างประเทศ แต่ก็ยังเดินหน้าต่อไป มีการประสานกับเจ้านโรดม สีหนุและฮุนเซน ให้ทั้งสองไปหารือกันที่บ้านพักของพล.อ.ชาติชายในซอยราชครู ผลักดันให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาและให้ฝ่ายต่างๆยุติการสู้รบกัน การเจรจาระหว่างรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยที่มีเจ้านโรดมสีหนุเป็นผู้แทน กับฝ่ายรัฐบาลเฮง สัมรินที่มีฮุน เซ็นเป็นผู้แทนมีขึ้นที่กรุงโตเกียวในเดือนมิ.ย. 2533 และมีการลงนามยุติปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งรัฐบาลชาติชายถือว่านั่นเป็นก้าวแรกของการสร้างสันติภาพ แม้ว่าเขมรแดงภายใต้เขียว สัมพันจะไม่พอใจก็ตาม ผู้เขียนบอกเราว่า นี่เป็นงานที่ไกรศักดิ์ภูมิใจมากที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิตของเขา คือการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในอินโดจีน 

บทบาทของไกรศักดิ์กับทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกยุติลงเมื่อรัฐบาลพล.อ.ชาติชายถูกรัฐประหารโดยคณะรสช.ที่นำโดยพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เมื่อกพ. 2534 หนึ่งในข้อกล่าวหาที่รสช.ใช้เพื่อยึดอำนาจคือข้อกล่าวหาที่ว่าพล.อ.ชาติชายสนับสนุนพล.ต.มนูญ รูปขจรที่เคยวางแผนล้มล้างสถาบัน ไกรศักดิ์ถูกกล่าวหาว่าร่วมวางแผนลอบสังหารบุคคลระดับสูงรวมถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  แถมยังถูกกล่าวหาว่าประสานงานกับคอมมิวนิสต์ เรื่องที่เขาเห็นว่าชวนขบขันอย่างมากคือการที่มีนายทหารบุกเข้าตรวจค้นบ้านพิษณุโลกแล้วออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพบหลักฐานว่าทีมที่ปรึกษาติดต่อกับทั้งซีไอเอของสหรัฐฯและเคจีบีของรัสเซีย ยังมีข้อกล่าวหาอื่นๆอีกในหมายจับที่ไกรศักดิ์บอกว่า “อ่านแล้วเกือบจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง” นับเป็นความสามารถในการสร้างข้อกล่าวหาที่ไกรศักดิ์กล่าวเอาไว้และมีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ 

ด้านพล.อ.ชาติชายถูกควบคุมตัวร่วมสองสัปดาห์ หลังจากได้รับการปล่อยตัวก็เดินทางไปต่างประเทศ ส่วนไกรศักดิ์หนีจากกรุงเทพฯไปหลบซ่อนตัวอยู่กับครอบครัวชาวบ้านมุสลิมในสุไหงโกลกก่อนที่จะมีนายตำรวจไปพบหลบหนีออกไปทางมาเลเซียเพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ หนังสือบอกว่าเขามอบเงินหมื่นกว่าบาทที่มีติดตัวให้กับครอบครัวนั้นทั้งหมดเพื่อเป็นสินน้ำใจที่ดูแลเขา

หลังมรสุมการเมืองผ่านพ้น ไกรศักดิ์ยังทำงานอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเขาได้เป็นที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานครนายพิจิตต รัตตกุล และได้เป็นวุฒิสมาชิกจากการเลือกตั้งเมื่อมี.ค. 2543 โดยได้เสียงอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งของจังหวัดนครราชสีมา เหตุผลที่ลงสมัคร หนังสือบอกว่า ไกรศักดิ์เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีหนทางเพิ่มอำนาจต่อรอง และการเป็นวุฒิสมาชิกจะทำให้ได้อำนาจต่อรองมากกว่าการเป็นนักวิชาการหรือเอ็นจีโอ “เรารู้ว่าทางราชการเขาจะไม่เคารพประชาชนธรรมดา ถ้าไม่มีอำนาจนิติบัญญัติ ก็รู้สึกว่าการเป็นวุฒิสมาชิกจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะมาทำงานการเมือง” เป็นหนทางที่พล.เอกชาติชายก็เห็นด้วยและผลักดันเพื่อให้เสียงของเขามีคนฟัง 

ในการทำหน้าที่วุฒิสมาชิก ไกรศักดิ์จับงานที่เขาถนัดสองเรื่องหลัก หนึ่งคือด้านการต่างประเทศ และอีกหนึ่งคือเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาทำงานกับกลุ่มวุฒิสมาชิกอีกร่วม 20 คนที่หนังสือเรียกพวกเขาว่าเป็น วุฒิสมาชิกสายเอ็นจีโอ เช่นเตือนใจ ดีเทศน์ นพ.นิรันดร์ พิทักษฺวัชระ ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ในห้วงเวลานั้นสิ่งสำคัญสำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชนหนีไม่พ้นเรื่องการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวิตรที่ไกรศักดิ์รวบรวมข้อมูลและเชื่อว่าทำให้มีคนถูกสังหารไปจำนวนมาก สำหรับเขา นั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของเมืองไทย

สิทธิมนุษยชนและการสร้างสันติภาพในจชต.

เรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของไกรศักดิ์ หนังสือบอกเราว่า ในวัยเด็กในฐานะลูกนายทหาร เขารู้สึกอึดอัดอย่างยิ่งที่ได้เห็นการปฏิบัติต่อทหารรับใช้ในบ้าน โตขึ้นมาเขาได้เห็นและเข้าร่วมการต่อสู้ในหลายแห่ง เข้าไปรณรงค์ช่วยเหลือนักโทษการเมืองในยุค 6 ตุลา เมื่อเป็นนักวิชาการก็เข้าไปสนับสนุนการต่อสู้ของคนชายชอบในภาคอีสานและภาคเหนือ ทั้งเรื่องของสิทธิทางการเมือง สิทธิในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ไกรศักดิ์เข้าร่วมและสนับสนุนหลายงานด้วยกัน 

ในยุคสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไกรศักดิ์รณรงค์ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่เขาเห็นว่าถูกละเมิดอย่างหนักจากนโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติด ไกรศักดิ์เป็นหนึ่งในกรรมการอิสระตรวจสอบเรื่องนี้ที่มีคณิต ณ นครเป็นประธาน คณะกรรมการพบว่ามีคนเสียชีวิตไปอันเป็นผลจากการใช้นโยบายนี้ร่วม 2,500 คนระหว่างปี 2546-2547 เป็นเพราะการดำเนินนโยบายอย่างเร่งรัด ความไม่พร้อมของฝ่ายปฏิบัติ การสั่งการที่ไม่ชัดเจนจากส่วนกลาง และคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่เหมือนให้ท้ายการใช้ความรุนแรง ทั้งหมดประกอบกันขึ้นมาทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างหนัก แต่สิ่งที่ไกรศักดิ์แปลกใจคือ คนไทยกลับรับได้และรัฐบาลยังคงได้รับคะแนนนิยมอย่างมากจนเขาได้ข้อสรุปว่า นี่สะท้อนถึงความนิยมความรุนแรงในสังคมไทย “เมืองไทยไม่ให้ความสำคัญกับความตายของชาวบ้าน คนยากคนจน ชีวิตของคนเหล่านี้เกือบจะไม่มีค่าเลย”  การตั้งคำถามในสภาไม่ได้ผลเพราะเสียงส่วนใหญ่ในสภาก็สนับสนุนรัฐบาล เขาสรุปว่า เท่ากับเสียงส่วนมากในรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ปัญหาการละเมิดสิทธิที่รุนแรงหนักหน่วงด้วยในสายตาของไกรศักดิ์คือในสามจังหวัดภาคใต้  เขามีความเห็นว่าความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในปี 2547 ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของการละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากการปราบปรามเรื่องยาเสพติดที่ไกรศักดิ์บอกว่าทำให้มีคนตายเป็นร้อย ตัวเลขนี้หนังสือไม่ได้บอกเราถึงที่มา แต่ไกรศักดิ์ก็บอกด้วยว่า รากเหง้าปัญหาความไม่พอใจในจชต.มาจากเรื่องราวของประวัติศาสตร์ และการถูกกดขี่ข่มเหงปฏิบัติต่ออย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ การที่ความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้นต้นปี 2547 ด้วยการปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนาหรือค่ายปิเหล็งที่นราธิวาส เขาเชื่อว่า่เป็นผลพวงของการละเมิดสิทธิโดยจนท.ทหารและตำรวจ และอาจมีอย่างอื่นด้วยที่ “เราไม่รู้เบื้องลึก”

หนังสือเล่มนี้บอกเราว่าไกรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายต่อสู้รัฐบาลและการสังหารผู้บริสุทธิ์ เขาเชื่อด้วยว่า คนในพื้นที่ที่สนับสนุนขบวนการก็น่าจะมีไม่ถึง 10% หรือไม่ก็น้อยกว่านั้น แต่ปฏิบัติการของรัฐกลับไปละเมิดสิทธิประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่มีส่วนร่วมกับขบวนการ 

ไกรศักดิ์บอกว่า หลังเหตุการณ์ปล้นปืน ได้มีผู้ร้องเรียนกับสภาเป็นจำนวนมากเรื่องว่ามีการจับกุมผู้คนและมีคนถูกซ้อมทรมาน เขาในฐานะวุฒิสมาชิก ได้เดินทางไปภาคใต้เพื่อตรวจสอบ ได้รับฟังเรื่องราวจากผู้เสียหายเรื่องการซ้อมทรมานในรูปแบบต่างๆ เช่นใช้ไฟฟ้าช็อตที่อัณฑะ  ตีด้วยท่อนไม้ติดตะปู หลายคนยอมสารภาพหรือให้การซัดทอดเพราะทนไม่ไหว หนังสือบอกว่า หลังจากที่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้มากขึ้นก็มีการตั้งกรรรมการสอบ แต่ผลการสอบมักออกมาตรงข้ามกับข้อมูลที่วุฒิสมาชิกได้รับเสมอ เช่นผลการตรวจสอบของพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์  และเขาเห็นว่า “คนส่วนใหญ่เชื่อหมอพรทิพย์ด้วยความที่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ” 

เขาบอกว่า ความรุนแรงที่ยืดเยื้อร่วมสิบห้าปีอาจเป็นที่พึงใจคนที่นิยมความรุนแรง ขณะที่กองทัพได้งบประมาณไม่ต่ำกว่าสามแสนล้านบาทโดยไม่มีการตรวจสอบ ไกรศักดิ์สรุปว่าที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนตรวจสอบงบภาคใต้ของกองทัพ

เหตุการณ์ละเมิดสิทธิอีกสองเหตุการณ์ที่หนังสือเล่าก็คือเรื่องเหตุการณ์กรือเซะและเหตุการณ์ตากใบ ในเหตุการณ์กรือเซะซึ่งเป็นเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มบุคคลต่างๆ เกิดขึ้นกระจายกันออกไป 11 จุด บางจุดเช่นที่สะบ้าย้อย เป็นกลุ่มเด็กหนุ่ม แต่โดยรวมคนเหล่านั้นมีอาวุธที่ด้อยกว่ามาก แม้จะมีปืนแต่น้อยและบางกลุ่มมีมีดพร้าเป็นส่วนใหญ่ ไกรศักดิ์ระบุในหนังสือตั้งข้อสงสัยกับลักษณะการถูกยิงของกลุ่มวัยรุ่นทีมฟุตบอลที่สะบ้าย้อย ส่วนที่กรือเซะ เขาได้รับรู้เหตุการณ์ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ล้อมมัสยิดกรือเซะแล้วและพยายามโทรหาทุกคนที่รู้จักตั้งแต่ผบ.ทบ. ผู้บัญการตำรวจภูธรภาค 9 และคนอื่นๆที่รู้จักจำนวนมากเพื่อขอให้จับกุมด้วยสันติไม่ให้ใช้กำลัง แต่ไม่ได้ผลดังที่เป็นที่รู้กัน

ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบที่มีผู้เสียชีวิตทั้งในที่ชุมนุมและระหว่างทางจากการขนผู้ถูกจับในลักษณะให้นอนทับกันไปในรถ เฉพาะอย่างหลังก็มีคนเสียชีวิต 78 คน ไกรศักดิ์กับเพื่อนวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งเดินทางลงใต้เพื่อสอบสวนกรณีนี้ แม่ทัพภาค 4 ขณะนั้นคือพล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรีบอกพวกเขาว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ  หนังสือบอกเราว่ากลุ่มวุฒิสมาชิกสงสัยในความข้อนี้ ส่วนพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ วุฒิสมาชิกอีกรายที่ร่วมทางไปด้วยได้ข้อมูลจากตำรวจว่ามีการสร้างหลักฐานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยการเอาปืนและระเบิดทิ้งลงในแม่น้ำตากใบ หลังจากนั้นก็งมอาวุธเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อประกอบข้ออ้างว่าผู้ชุมนุมโยนอาวุธลงในแม่น้ำ 

ในกรณีตากใบ ไกรศักดิ์พบภาพศพผู้ตายในค่ายอิงคยุทธฯ เห็นศพที่ถูกนำไปกองรวมกัน มีแมลงวันตอมส่งกลิ่นติดจมูก นับเป็นภาพอันน่าเศร้า บรรดาวุฒิสมาชิกได้คุยกับเด็กหนุ่มที่ถูกจับกุม พบว่าบางจุดของการคุมตัวนั้นอยู่กันอย่างแออัด พวกเขาพบคนเหล่านั้นในสภาพที่ยังไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย “กลิ่นศพ กลิ่นอุจจาระ ปัสสาวะ คราบเลือดก็ยังติดตัวมา พวกเขารีบขอยืมโทรศัพท์มือถือของเราติดต่อญาติ เพราะทางบ้านไม่รู้เลยว่าถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน” คนเหล่านั้นแสดงท่าทางให้ไกรศักดิ์และเพื่อนวุฒิสมาชิกดูว่าพวกเขาถูกขนส่งอย่างไร เขาบอกว่า กรณีตากใบ “ผมคิดว่ามันเป็นความโหดเหี้ยมที่สุดของกองทัพไทย”

ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ช่วงปี 2551-2554 ไกรศักดิ์ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ นี่เป็นงานที่เขาบอกว่า “ภูมิใจมากที่สุดในชีวิตทางการเมือง” นอกเหนือไปจากการมีบทบาทผลักดันการเจรจาสันติภาพในกัมพูชา 

ไกรศักดิ์กล่าวถึงเรื่องกระบวนการสันติภาพโดยใช้คำว่า “การเจรจา” กับกลุ่มติดอาวุธที่เขาเรียกว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวปาตานี” ว่าเริ่มตั้งแต่สมัยที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเป็นผบ.ทบ.ในปี 2530 ในขณะนั้นกองทัพภาคที่ 4 ได้เริ่มเจรจาให้สมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนรวมทั้งแกนนำของกลุ่มพูโลและบีอาร์เอ็นให้เข้ามาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”  ตัดมาถึงสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ช่วงมค. 2549 – มค. 2551 พล.อ.สุรยุทธ์ได้ไปกล่าวคำขอโทษแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้สำหรับเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ  และมีการตั้งคณะกรรมการพูดคุยสันติภาพขึ้นมาดำเนินการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในกระบวนการที่เรียกว่า Geneva Process ที่มีองค์กรเอ็นจีโอยุโรปคือ Centre for Humanitarian Dialogue หรือ HD ช่วยประสานงาน ในช่วงนั้น ผู้แทนไทยและขบวนการพบกันที่บาห์เรนช่วงปลายปี 2550 กรรมการชุดนี้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

ปลายปี 2551 กลุ่ม HD เข้าพบนายอภิสิทธิ์ที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นและเสนอให้สานต่อการพูดคุยในกระบวนการ Geneva Process อภิสิทธิ์ได้ให้สภาความมั่นคงแห่งชา่ติหรือสมช.ตั้งคณะกรรมการพูดคุยเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ มีมารค ตามไทเป็นประธาน ตามข้อเสนอของ HD กระบวนการอันนี้ต้องมีการแสดงเจตนารมย์จากฝ่ายรัฐบาลด้วยการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการยุติความรุนแรง เจ้าหน้าที่ต้องยุติการใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย การซ้อมทรมานและการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม 

หนังสือระบุว่า อภิสิทธิ์ได้เรียกผบ.ทบ. คือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณไปประชุมและย้ำว่า “ห้ามมีการซ้อมทรมานและการอุ้มฆ่าโดยเด็ดขาด และคดีไหนที่ผู้ต้องหาถูกทรมานให้รับสารภาพต้องไปทำคดีใหม่ ต้องให้ความยุติธรรมกับประชาชน”  ด้านไกรศักดิ์เสนอให้ปล่อยตัวนักโทษคนสำคัญของขบวนการพูโลคือหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ และหะยีบือโด เบตง

กระบวนการพูดคุยในยุคอภิสิทธิ์เป็นการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ข้อมูลในหนังสือจากไกรศักดิ์ระบุว่าเขามีส่วนในกระบวนการพูดคุยสันติภาพร่วมสองปี ได้พบปะกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเรื่อยๆ บางครั้งอยู่ด้วยกันตลอดสองวันสองคืน ความรู้สึกของไกรศักดิ์คือ “ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยอมรับผมพอสมควร เพราะเขารู้ว่าผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมานาน” การพบปะกันมักจะจัดขึ้นที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย หรือกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย ไกรศักดิ์ได้ทำงานกับพล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มาเป็นผบ.ทบ.ต่อมาจากพล.อ.อนุพงษ์ ไกรศักดิ์แสดงความชื่นชมนายอภิสิทธิ์เป็นพิเศษว่าเข้าใจกระบวนการและหลักการการเจรจาดีมากว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเขามีเจตนาที่จะยุติความรุนแรงจริงๆ  แต่ข้อมูลที่เปิดให้เห็นความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายรัฐบาลก็คือ ในระหว่างที่มีการพูดคุย คณะผูัแทนไทยเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตัวแทนฝ่ายขบวนการที่ไปเจรจาเพราะเกรงปัญหาการวิสามัญ “ตำรวจบางคนที่อยู่ในพื้นที่มานานขึ้นชื่อเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม” พวกเขาไม่จัดให้มีการพบปะในเมืองไทย ในส่วนคนที่มีบทบาทสำคัญในสายตาไกรศักดิ์คือนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช.และนายสมเกียรติ บุญชู เจ้าหน้าที่สมช.ที่เป็นคนที่เขาเห็นว่าขบวนการไว้วางใจมากที่สุด เข้าใจปัญหาลึกซึ้งและยืนหยัดรักษาผลประโยชน์ของชาติ เขาเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารสมช.ควรจะเป็น คือคนที่ยึดหลักสันติวิธี ทำงานเชิงลึกเก่ง ทำงานเงียบๆ เสนอทางเลือกที่เหมาะสมต่อรัฐบาลได้  

พวกเขาทำพื้นที่นำร่องที่ฝ่ายขบวนการยุติปฏิบัติการฝ่ายเดียวหนึ่งเดือนเต็มระหว่าง มิ.ย.ถึงกค. 2553 ในพื้นที่นำร่องของสามอำเภอในนราธิวาสคือระแงะ ยี่งอ และเจาะไอร้อง ในช่วงนี้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งเดือนเต็มๆ ไกรศักดิ์แสดงความเชื่อมั่นว่า หากสานต่อกระบวนการจะได้เห็นผลชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในสมัยรัฐบาลใหม่คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไทยได้ไปขอให้มาเลเซียมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไกรศักดิ์ยกคำถามสำคัญที่ถามกันมากในเวลานั้น นั่นคือฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็นถูกตั้งคำถามว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ประเด็นนี้เขาเชื่อว่ามีผลต่อความรุนแรแรงที่ยังคงเกิดต่อเนื่องในช่วงนั้น นอกจากนี้เขายังเปิดเผยด้วยว่า ช่วงนั้นมาเลเซียติดต่อเด่น โต๊ะมีนาให้ไปเป็นตัวแทนพูดคุยให้กับฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งสำหรับเขาถือว่าเป็นเรื่องตลกมาก เพราะเด่นมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับบีอาร์เอ็น แม้แต่การมีมาราปาตานี ไกรศักดิ์ก็เห็นว่าเป็นองค์กรที่มาเลเซียสถาปนาขึ้นเอง  เขาแสดงความเห็นว่า การพูดคุยตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์ เรื่อยมาจนถึงภายใต้นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ที่หวนกลับสู่อำนาจและมีการตั้งราฮิม นอร์ที่เคยทำร้ายอันวาร์ อิบราฮิมเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้นน่าจะยากที่จะนำไปสู่สันติภาพได้

ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างที่ไกรศักดิ์ทำ ไปสอดคล้องกลายเป็นการปลดเปลื้องภาระทางจิตใจกับการกระทำในอดีตของคนในตระกูลของเขา ในฐานะทายาทชุณหวัณ เขาได้เอ่ยขอโทษทายาทหะยีสุหลง สำหรับการหายตัวที่เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพลป พิบูลสงครามเข้าสู่อำนาจจากการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลผิณ ชุณหะวัณ โดยมีพ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลุงเขยของไกรศักดิ์เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ช่วงนั้นไม่เพียงหะยีสุหลง แต่ยังมีคนที่มีบทบาทอีกหลายคนหายหรือตายไป กรณีหะยีสุหลง  “ผมก็เชื่อว่าลุงเขยของผมเป็นคนออกคำสั่ง” เขาว่า ไกรศักดิ์ได้กล่าวขอโทษต่อหน้าสมาชิกครอบครัวโต๊ะมีนาร่วมแปดสิบคน  เขาเชื่อว่าจะทำให้คนในครอบครัวสบายใจขึ้น ตนเองก็สบายใจขึ้นเช่นกัน และในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ก็มีข้อเขียนของพญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ในฐานะตัวแทนครอบครัวที่กล่าวถึงการขอโทษดังกล่าวและระบุว่า คนในครอบครัวโต๊ะมีนา “ยังถือว่าอาจารย์เป็นมิตรสหายของครอบครัวโดยไม่มองถึงประวัติศาสตร์บาดแผลที่กระทำต่อครอบครัวเลยแม้แต่น้อย”  การขอโทษของไกรศักดื์ เป็นการปลดเปลื้องความทุกข์ในใจของแต่ละฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายที่สูญเสีย บทความหมอเพชรดาวว่าเช่นนั้น ไกรศักดิ์บอกครอบครัวนี้ว่าชีวิตของเขาคงเดินหน้าช่วยคลี่คลายปัญหาภาคใต้เรื่อยไปเพราะสิ่งที่เกิดในอดีต 

ไกรศักดิ์พูดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เขาเห็นว่าการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นมักเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ มีตัวอย่างมากมาย เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 และอื่นๆ ความรุนแรงต่อประชาชนเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย ต่างใช้ความรุนแรงโดยไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย  เขาชี้ว่าส่วนหนึ่งเพราะตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ ในขณะที่สังคมไทยยอมรับความรุนแรงอันนี้ บางครั้งเพราะไม่อยากพูดถึง “เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่เคยใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างเช่นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เคยมีประวัติวิสามัญฆาตกรรมมาอย่างโชกโชนก็ยังมีบทบาทในสังคม ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี เป็นวีรบุรุษ” เขาเชื่อว่าลุงของเขาคือพล.ต.อ.เผ่าอยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ ทำให้ตำรวจคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงมาจนทุกวันนี้  สถานะส่วนตัวทำให้บางครั้งไกรศักดิ์น่าจะอึดอัดใจ เขาระบุว่ามีจนท.ทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนมีส่วนซ้อมทรมานผู้ต้องขังในภาคใต้ แต่กับไกรศักดิ์ “เขาดีกับผมมาก ดีเสียจนเราไม่คิดว่าเขาจะไปทำไม่ดีกับคนอื่นได้” ถึงที่สุดเขาเชื่อว่าการละเมิดสิทธิมาจากความยะโสเหยียดคนอื่น และสังคมไทยป่วยที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไกรศักดิ์เห็นว่ายุคที่สังคมไทยดูแลเรื่องสิทธิได้ดีกว่าช่วงอื่นคือภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกนั่นเอง

หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงงานของไกรศักดิ์ในด้านอื่นๆ เช่นการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม การผลิตสารคดีและหนัง งานด้านส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม และที่สำคัญ บทบาทในการเข้าร่วมกับกลุ่มกปปส.และการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ เขาได้เห็นความรุนแรงหลายอย่างที่เกิดขึ้นที่ทำให้เขาบอกว่าถอยตัวเองออกจากกลุ่ม และยังมีแนวคิดเรื่องการปรองดองที่สรุปว่า การปรองดองทางการเมืองต้องเริ่มต้นที่การยอมรับความจริง ยอมรับการกระทำที่ทำให้มีหลายคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทั้งสองฝ่าย

(Visited 954 times, 1 visits today)
Close