Written by 4:23 am Memoir

เกิดบนเรือนมลายู 5

แตออ นาซิปาฆี

ทุกเช้าหลังจากที่ละหมาดซูโบะห์(Subhi ซุบฮี) ช่วงที่เรากำลังเรียนอัลกุรอาน แม่จะเข้าครัวเพื่อทำอาหารเช้า สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในมื้อเช้าของบ้านเราคือ “แตออ(ชาร้อน)” ถึงแม้ว่าแตออจะเป็นคำเรียกของคนจีน แต่คนที่นี่ดื่มชาฝรั่ง ไม่ดื่มชาจีน

ใบชาที่มีอยู่ประจำครัวของบ้านเรา แม่จะเลื้อกซื้อตามรสนิยมของพ่อเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นใบชาซีลอน และใบชา Rabia จากอาหรับ แม่จะต้มน้ำในหม้อจนเดือด ในระหว่างต้มน้ำแม่จะล้างใบชา วางจนสะเด็ดน้ำ เมื่อน้ำเดือดได้ที่แม่จึงเอาใบชาที่ล้างน้ำแล้วใส่ในน้ำเดือด รอจนกว่าใบชาลอยขึ้นมากับฟองน้ำที่เดือดพล่านจนเป็นไอร้อน แม่ถึงจะยกชาออกมากรองใบชาออกไป จากนั้นจึงเติมน้ำตาลทราย และเทใส่กาน้ำชา บ้านเรากินชาที่ไม่หวานมากนัก ต่างจากชาที่ขายในร้านน้ำชาที่มักจะหวานจัด ครอบครัวผมจึงไม่มีใครนิยมไปนั่งร้านน้ำชาสักเท่าไหร่

บนโต๊ะอาหารมื้อเช้าจะมีหลากหลายอย่าง โดยแม่จะใช้ให้พี่สาวปั่นจักรยานไปซื้อตามบ้านที่เขาทำอาหารออกมาวางขายหน้าบ้าน บางที่ก็ทำบาซาร์(Basar)ข้างถนน หรือไม่ก็ซื้อตามร้านน้ำชาที่เขาทำมาวางขาย ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวหน้าสังขยา ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง ข้าวเหนียวคลุกน้ำตาลแว่นโรยมะพร้าวขูด นาซิตีเนะห์ ซาเต ขนมตุลบอ(บางที่เรียกขนมฮัลบอ)และซือราแบ(Serabi) บางครั้งก็เป็นขนมครก ทุกอย่างจะห่อด้วยใบตองกลัดก้านมะพร้าว ยกเว้นซือราแบและขนมครกที่จะใส่ในกระทงใบตอง

บาซาร์ขายอาหารเช้า

มี “นาซิดาแฆ (Nasi Dagang)” ของบ้าน “ตูแวญาเราะห์ (Tuan Jarah)” ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านผมนัก ทำอาหารเช้าหลายอย่างมาวางขายหน้าบ้าน แม่และทุกคนในครอบครัวชอบนาซิดาแฆของบ้านนี้มาก ที่จริงไม่ใช่ครอบครัวเราหรอกที่ชอบ ใครๆก็ชอบรสมืออาหารบ้านนี้กันทั้งนั้น จะซื้อนาซิดาแฆของบ้านนี้เราจะต้องไปเช้าๆหน่อย ไปสายจะไม่มีอะไรเหลือเลย ขายดีมาก ไปถึงหน้าบ้านแกจะมีคนมุงรอบโต๊ะใหญ่ที่วางสารพัดอาหารเช้า ลูกค้าแกมีทั้งมลายู จีนอ ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก เสียงสั่งซื้อภาษามลายู ภาษาไทย จ่อกแจ่กไปหมด ลูกสาวแกที่ช่วยขายก็เก่ง จำได้ไม่พลาดเลยว่าใครสั่งอะไรกี่ห่อ

บางวันที่ผมเรียนอัลกุรอานเสร็จเร็ว ก็จะนั่งซ้อนท้ายจักรยานพี่สาวตามไปซื้อ “นาซิปาฆี (อาหารเช้า)” เสมอ เวลาที่ไปซื้อนาซิดาแฆที่บ้านตูแวญาเราะห์ ผมจะแทรกบรรดาลูกค้าตัวโตๆของแกไปยืนข้างหน้าสุดข้างๆหม้อแกงไก่ของนาซิดาแฆ พร้อมสูดกลิ่นแกงที่กำลังส่งไอร้อนกรุ่น กลิ่นหอมฉุย “เจ๊ะ” ก็จะหันไปบอกลูกสาวแกให้ห่อนาซิดาแฆให้ผมก่อน พร้อมกับเนียนๆพูดดังๆให้ลูกค้าคนอื่นได้ยินว่า “เห็นมารอตั้งนานแล้ว ยังไม่ได้สักที” พร้อมกับเจ๊ะจะเอาทัพพีควานหาตับไก่ในหม้อแกงแถมให้ผมทุกครั้ง เจ๊ะแกรู้ว่าผมชอบกินตับไก่ ผมเรียกตูแวญาเร๊าะห์ว่า “เจ๊ะ (ในบริบทนี้ แปลว่าแม่)” ตามที่ลูกๆแกเรียก ลูกสาวแกคนหนึ่งเรียนประถมชั้นเดียวกับผม และเจ๊ะแกก็เป็นญาติกับแม่ผมด้วย

นาซิปาฆีบ้านเราไม่ได้ซื้อเขาทุกวันหรอกครับ บางวันแม่ก็ทำเอง มีบ่อยๆที่ผมหรือพี่ๆบอกแม่ว่าอยากกินอะไรที่ไม่มีขาย หรือถึงมีขายก็ไม่ถูกปากเรา แม่ก็จะทำให้กิน นาซิกราบู(ข้าวยำ)อย่างหนึ่งละที่ผมมักจะขอให้แม่ทำให้กิน คือผมเป็นคนที่ไม่กินน้ำบูดูมาตั้งแต่เด็ก ข้าวยำที่เขาขายจะเป็นข้าวยำใบยอ ซึ่งจะต้องใส่น้ำบูดูกันทั้งนั้น เวลาที่ผมอยากกินนาซิกราบู แม่ก็จะทำนาซิกราบูตูมิฮ์ (Nasi Kerabu Tumis) เป็นข้าวสวยที่โรยมะพร้าวคั่ว ปลาป่น และ “ซามาตูมิฮ์” ที่ใช้ปรุงรสแทนน้ำบูดู

บ่อยครั้งที่แม่จะทำโรตีให้กินเป็นมื้อเช้า แถวบ้านผมสมัยนั้นไม่มีใครขายโรตี แม่มักจะทำโรตีบ่อย ๆ อาจจะเพราะพ่อและอีกหลายๆคนในครอบครัวก็ชอบด้วย การทำโรตีต้องเตรียมนวดแป้งก่อน โดยต้องเตรียมแป้งนวดในตอนกลางคืน เพื่อให้แป้งฟูนุ่มทันทำโรตีตอนเช้า จะผสมแป้งแล้วนวดตอนเช้าไม่ทันกินแน่ ๆ ผมกับน้องชายเป็นมือนวดแป้งประจำบ้าน แม่มักจะใช้ผมหรือน้องนวดแป้งมากกว่าใช้พี่สาว แป้งที่ใช้ทำโรตีเป็นแป้งสาลี ผสมเกลือ ไข่ไก่ ต้องค่อยๆนวดจนกว่าแป้งจะเนียนไม่ติดมือ จากนั้นจะปั้นเป็นก้อนๆขนาดเท่ากำปั้น ทาเนย วางเรียงในหม้อแล้วเอาผ้าขาวบางปิดไว้ ตอนเช้าก็เอาคลี่เป็นแผ่นบาง ๆ ในถาดสังกะสีขนาดใหญ่ แม่เคยสอนผมว่าให้คลี่เหมือนที่เขาทอดแห แป้งแบบนี้เราทำโรตีจานา(Canai) โรตีใส่ไข่หรือมะตะบะ โดยทอดกับน้ำมันซาปี(Sapi)หรือน้ำมันไขวัว(Gee)ในกะทะทองเหลือง บางครั้งแม่ก็ทำโรตีอีกแบบ คือโรตีปาแย คล้ายๆกับนานที่คนอาหรับและอินเดียทำกินกัน แต่หนากว่า นุ่มกว่า การนวดแป้งโรตีปาแยจะต้องใส่ยีสต์หรือผงฟูละลายน้ำลงไปในแป้งด้วยและไม่ใส่ไข่ไก่ โรตีปาแยนวดเร็วว่าแป้งโรตีจานา เมื่อนวดจนได้ที่ ก็พักแป้งในกะละมัง เอาถาดปิดให้แป้งฟู ตอนเช้าก็เอาน้ำมันไขทามือ แล้วหยิบมาทอดในกระทะทองเหลือง พร้อมกดให้มันเป็นแผ่นหนาประมาณหนึ่งข้อนิ้ว เมื่อเหลืองกรอบพอสมควรก็พลิกอีกด้าน เป็นอันได้โรตีปาแยหนึ่งลูก

โรตีปาแย ถ้าจะแปลจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยแบบตรง ๆ ก็แปลว่า “โรตีโอ่ง” อาหารเมนูนี้คนมลายูคงจำมาจาก “นาน” ที่เป็นอาหารของชาวอาหรับและอินเดีย ซึ่งเขาอบในเตาอบร้อนๆที่ทำจากดิน หน้าตาคล้ายโอ่งขนาดใหญ่บ้านเรา คนมลายูคงจำสูตรมาทำ หาเตาอบไม่ได้ ก็เลยใช้ทอดบนกะะทะเสียเลย

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับพ่อในวันที่แม่ทำโรตีปาแยคือ ซุปเนื้อหรือซุปกระดูก แม่จะอุ่นซุปที่กินตอนมื้อค่ำเมื่อวาน ตักซุปร้อน ๆ ใส่ชามให้พ่อ และพ่อก็จะหยิบโรตีปาแยมาบิเป็นชิ้นๆใส่ลงไปในถ้วยซุป พ่อเรียกเมนูนี้เป็นภาษาอาหรับว่า “ซุรบะห์ (Surbah)” ทุกครั้งพ่อจะชักชวนให้ใครต่อใครที่ร่วมโต๊ะมาลองกิน “ซุรบะห์”อย่างที่พ่อกิน พ่อบอกว่า “กินโรตีปาแยต้องกินแบบนี้ถึงจะอร่อย” พร้อมตักน้ำซุปที่มีบิโรตีปาแยชิ้นเล็กๆใส่ซดอย่างเอร็ดอร่อย เรื่องซุรบะห์นี้ไม่มีใครในบ้านนิยมกินแบบพ่อเลย ทุกคนหันไปบิโรตีปาแยจิ้มนมข้นหวานหรือไม่ก็จิ้มแกงเนื้อเสียมากกว่า

นานๆครั้งแม่ก็จะทำ “ละแซ” ให้กิน ละแซจะเป็นแป้งนึ่งเป็นแผ่น จากนั้นเอาแป้งที่นึ่งมาม้วน แล้วตัดเป็นท่อนเล็ก ราดด้วยน้ำกะทิผสมเนื้อปลา กินคล้ายๆขนมจีน เวลาที่แม่ทำละแซหรือขนมครก แม่จะใช้ให้ผมกับน้องชายโม่แป้ง แม่จะเอาข้าวสารที่แช่น้ำมากรอกในรูบนโม่หิน ผมกับน้องจะผลัดกันหมุนโม่ เสียงหินแกรนิตบดข้าวสารดัง กรึก ๆ เราจะเอาชามสังกะสีมารองตรงรางของโม่หิน น้ำแป้งก็จะไหลลงไปในชาม เพื่อทำละแซหรือเอาไปผสมเป็นแป้งทำขนมครก แม่ไม่ได้อ่อนแอถึงขนาดโม่แป้งไม่ไหวหรอกครับ แต่โม่หินคือของเล่นอย่างหนึ่งของผมกับน้องชาย โม่ให้มันหมุนๆ พร้อมมีเสียง กรึก ๆ ๆ สนุกดีครับ

อาหารหลายๆอย่างของคนมลายู แทบจะเรียกว่าส่วนใหญ่ก็ว่าได้ จะต้องมีกะทิเป็นส่วนผสมอยู่เสมอ ผมมักจะอาสาแม่ผ่าลูกมะพร้าวอยู่เสมอ ถ้าพี่ๆกำลังผ่าลูกมะพร้าวอยู่แล้ว ผมก็มักจะไปยืนรออยู่ใกล้ๆ ผมรอ “ตูมงญอ” หรือจาวมะพร้าวครับ แคะจาวมะพร้าวมาโรยน้ำตาลทรายแบ่งกินกับน้อง … อร่อยดี

การที่ชอบกินจาวมะพร้าวก็เลยหนีไม่พ้นที่จะโดนแม่ใช้ให้ขูดมะพร้าวและคั้นกะทิไปด้วย เราเรียกที่ขูดมะพร้าวในภาษามลายูว่า “กอแฆ” เป็นเหล็กแบนๆมีฟันแหลมๆซี่เล็กๆเรียงอยู่ด้านหน้า เสียบกับไม้ที่ทำเป็นรูปทรงคล้ายสัตว์ มีคอ มีตัว มีขา มีหาง ไม่นิยมแกะเป็นกระต่ายเหมือนภาคกลางหรอกครับ แต่จะดูคล้ายสิงห์ในวรรณคดีเสียมากกว่า บางตัวก็เรียบๆธรรมดา บางตัวก็แกะสลักเสียสวยงามทีเดียว การขูดมะพร้าวโดยใช้กอแฆนั้น จะต้องเอากาละมังไปรองใต้เหล็กขูด แล้วนั่งบนหลังกอแฆ ใช้สองมือจับกะลามะพร้าว แล้วค่อยๆขูดจากริมกะลาเข้าหาด้านในจนหมด คนที่ขูดมะพร้าวเก่งๆเขาจะขูดเนื้อมะพร้าวโดยที่ไม่กินเนื้อกะลาเลย เห็นเนื้อมะพร้าวขูดในกาลามังขาวสวย ไม่มีสีน้ำตาลของกะลาปนเลย การนั่งบนกอแรมีข้อถือสาอยู่บ้าง ผมเป็นเด็กผู้ชายนั่งคร่อมบนหลังกอแฆขูดมะพร้าวได้เลย แม่ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าพี่สาวผมนั่งคร่อมแบบนี้ แม่จะเอ็ดทุกครั้ง ต้องนั่งพับเพียบอย่างเดียวครับ

ส่วนการคั้นน้ำกะทิ เราต้องเอามะพร้าวขูดใส่กาลังแล้วนวดเนื้อมะพร้าวขูดเปล่าๆเสียก่อน เพื่อให้มันแตกกะทิ จากนั้นจึงเติมน้ำสะอาดพอประมาณ แล้วนวดเนื้อมะพร้าวกับน้ำที่เติมอีกครั้ง จึงจะคั้นกะทิโดยการกำเนื้อมะพร้าวที่อมน้ำ แล้วใช้แรงบีบลงในกระชอนเพื่อกรองกากมะพร้าวในหม้อหรือกาละมังอีกใบ ต้องคั้นโดยการคว่ำให้หัวแม่โป้งชี้ลงไปด้านล่าง น้ำกะทิจะไหลจากกำมือไหลตามหัวแม่โป้งลงสู่กระชอนโดยที่ไม่กระเซ็นออกนอกกาละมัง

คำว่า “กอแฆ” นอกจากใช้เรียกที่ขูดมะพร้าวแล้ว ยังเป็นคำด่าในภาษามลายูด้วย เป็นคำแสลงที่หมายถึง คนไม่มีหัวคิด ไม่มีสมอง เรื่องของเรื่องมันมาจากรูปทรงของกอแฆที่ทำเป็นรูปคล้ายๆสัตว์นั่นแหละครับ มีคอ มีตัว มีขา มีหาง เกือบครบตัว ไม่มีอย่างเดียวคือไม่มีหัว เวลาที่โดนใครด่าใส่หน้าว่า “กอแฆ มุง” แบบเน้นเสียงหนักๆนี่ … มันเจ็บจี๊ดเลยทีเดียว

(Visited 159 times, 1 visits today)
Close