Written by 2:00 pm Memoir

เกิดบนเรือนมลายู-10

ฮารีรายอปอซอ

เมื่อถือศีลอดผ่านพ้นไป 20 วันก็จะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่าสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน การเตรียมตัวเพื่อต้อนรับฮารีรายอ(วันตรุษ)อิดิ้ลฟิตรีที่จะมีมาเมื่อเห็นเดือนเสี้ยวแรกหรือขึ้น 1 ค่ำของเดือนซาวาลก็เริ่มคึกคักขึ้น ร้านขายเสื้อผ้าเริ่มวางขายเสื้อผ้า โสร่ง ผ้าถุง หมวกกะปิเยาะห์และซอเกาะอ์ สำหรับสวมใส่ในวันตรุษที่กำลังจะมาถึง เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะตื่นเต้นมากเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะซื้อชุดใหม่ให้เสมอทุกปี ในตลาดนัดเริ่มมีใบกะพ้อมาวางขายเพื่อใช้ห่อหุ้มกะตูป๊ะ(Ketupat)หรือข้าวต้มใบกะพ้อสำหรับทานและแจกจ่ายใน(วัน)ฮารีรายอ

ภาพการแต่งกายแบบมลายูในฮารีรายอสมัยห้าสิบกว่าปีก่อน บนผนังใช้ชอล์กวาดรูปทิวทัศน์และเขียนคำว่า ซือลามัต ฮารีรายา

การห่อข้าวต้มด้วยใบกะพ้อนั้นป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะพอสมควร การเอาใบกะพ้อมาห่อข้าวเหนียวให้เป็นรูปสามเหลี่ยมนั้นไม่ง่ายเลยถ้าไม่รู้วิธี สาว ๆ ที่ห่อกะตูป๊ะไม่เป็นนั้นนับว่าน่าขายหน้าพอสมควร แม่จึงมักจะเรียกลูกสาวทุกคนมาช่วยทำกะตูป๊ะเสมอไม่เว้นแม้แต่ผมและน้องชายที่มักจะมาผสมโรงมาหัดด้วยความสนุกด้วยทุกครั้ง การทำกะตูป๊ะนั้นเริ่มด้วยการเอาใบกะพ้อ(Daun Palas)มาคลี่ทุกใบ เลือกขนาดใบที่ใหญ่พอสมควรมาม้วนรวมกันสักพักใหญ่เพื่อให้ใบกะพ้อกางเป็นแผ่นจนอยู่ตัว บางครั้งอาจวางทิ้งข้ามคืน เมื่อใบกะพ้อกางจนอยู่ตัวจึงนำมาห่อข้าวเหนียวนึ่งที่มูนกับกะทิมาห่อเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมแล้วค่อยนำไปต้มในหม้ออีกทีจึงจะได้กะตูป๊ะที่เสร็จพร้อมกิน กะตุป๊ะที่ต้มเสร็จแล้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน บางบ้านที่ทำอย่างดีจะเก็บได้เกือบสัปดาห์โดยที่ไม่บูด การห่อกะตูป๊ะและต้มมักนิยมทำกันในวันที่ถือศีลอดได้ 29 วัน หรือคืนที่ดูดวงจันทร์นั่นเอง ข้าวเหนียวที่นำมาทำกะตูป๊ะมีอยู่หลายแบบหลายสูตร บางบ้านทำข้าวเหนียวมูนกะทิเปล่า ๆ บางบ้านผสมถั่วไปด้วยหรือบางบ้านก็ใช้ข้าวเหนียวดำมาทำกะตูป๊ะ หลายๆบ้านทำข้าวเหนียวมูนกะทิโดยที่ไม่ใส่น้ำตาล ทำให้มีรสจืด เวลากินก็ใช้จิ้มกับแกง จิ้มน้ำตาล จิ้มนม จิ้มซามา(Sambal)ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งกินกับสะตอดองก็มี เรียกว่าสารพัดจิ้มตามแต่อัธยาศรัยและรสนิยมกันเลย

นอกเหนือจากการซื้อเสื้อผ้าใหม่สำหรับใส่ฮารีรายอแล้ว สิ่งที่เด็ก ๆ สนใจอีกอย่างหนึ่งในเวลาที่ตามแม่ไปซื้อเสื้อผ้าในตลาดก็คือ ดอกไม้ไฟที่ร้านคนจีน เด็ก ๆ มักรบเร้าแม่ซื้อมาคนละกำสองกำเพื่อเตรียมจุดในคืนรายอหลังจากที่มัสยิดประกาศการเห็นดวงจันทร์ เด็ก ๆ จะเล่นดอกไม้ไฟตั้งแต่เขาประกาศว่าเห็นดวงจันทร์จนดึกดื่น จนกว่าจะหลับ บางครั้งยังตื่นมาเล่นตอนเช้าก่อนละหมาดที่มัสยิดกันอีกรอบ ส่วนเด็กหนุ่มทะโมนทั้งรุ่นใหญ่รุ่นกระทง ไม่ค่อยเล่นดอกไม้ไฟกัน แต่จะเตรียมหาไม้ไผ่ตงลำใหญ่ ๆ ตัดมาเป็นท่อนยาว 2-3 เมตรมาทำเป็น “บือเดบูโล๊ะห์”หรือปืนใหญ่ไม้ไผ่กัน บือเดบูโล๊ะห์นี้จะใช้ลำไม้ไผ่มาทะลวงปล้องจนทะลุ เก็บปล้องด้านท้ายไว้เพียงปล้องเดียว นำมาเจาะรูบนลำไม้ไผ่เหนือปล้องสุดท้ายเล็กน้อยสำหรับจุดไฟ เวลาเล่นก็เอากระบอกไม่ไผ่บือเดบูโล๊ะห์ที่สมมุติเป็นปืนใหญ่นั้นมาวางเรียงกันหลาย ๆ ลำเท่าที่หมู่บ้านไหนเตรียมทำมา จากนั้นก็ใส่ก้อนแกสในกระบอกไม้ไผ่ เทน้ำตามไปเล็กน้อย ซึ่งน้ำจะทำปฎิกริยากับก้อนแกสก็จะกลายเป็นแกสอัดแน่นอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อจุดไฟที่รูเจาะบนกระบอกไม้ไผ่ก็จะเกิดเสียงระเบิดดัง “บึ้ม” ขึ้นมา ก้อนแกสเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำให้เกิดเสียงระเบิด หาซื้อได้ไม่ยาก ร้านคนจีนในตลาดแทบทุกร้านจะมีขายกันทั้งนั้น เพราะโดยปกติแล้วเขามักใช้เป็นแหล่งกับกำเนิดแกสเพื่อจุดตะเกียงสำหรับไปกรีดยางในยามค่ำคืน มีราคาที่ไม่แพง ซื้อมาสักครึ่งกิโลกรัมก็แจกจ่ายกันยิงบือเดบูโล๊ะห์ได้ทั้งคืน การที่กลุ่มวัยรุ่นทะโมนรวมตัวมาจุดบือเดบูโล๊ะห์หลาย ๆ กระบอกและผลัดกันจุดคนละกระบอกนั้น ทำให้เกิดเสียง “บึ้ม บึ้ม บึ้ม” ติดต่อกันตลอดเวลา ยิ่งหมู่บ้านที่อยู่ไม่ห่างกันนักจุดบือเดบูโล๊ะห์ประชันกันแล้ว เสียงที่ได้ยินในยามค่ำคืนฮารีรายอนั้นดังเหมือนเกิดสงครามย่อย ๆ กันเลย เป็นที่รำคาญและชวนเอ็ดตะโรของพวกผู้ใหญ่กันมาก เพราะเสียงรบกวนบรรดาผู้ใหญ่ที่รวมตัวกันกล่าว “ตัสเบี๊ยะห์” หรือสวดต้อนรับฮารีรายอที่มัสยิดกัน

ในขณะที่กลุ่มทะโมนเพลิดเพลินกับการยิงบือเดบูโล๊ะห์ประชันข้ามหมู่บ้าน ก็จะมีกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวอีกกลุ่มที่จะมาช่วยกันตกแต่งประดับประดามัสยิด บ้างประดับด้วยริบบิ้นและธงราวหลากสี บางกลุ่มก็ร่วมมือกันสร้างปินตูกรือบังหรือซุ้มประตูทางเข้ามัสยิดโดยใช้วัสดุง่าย ๆ ในท้องถิ่นมาออกแบบสร้างสรรค์ให้สวยงาม บางคนก็ออกเรี่ยไรหาทุนสมทบเพื่อจัดการละเล่นและซื้อของขวัญให้เด็กตาดีกา รวมทั้งเป็นทุนในการจัดแสดงการละเล่นต่าง ๆ รวมทั้งการประกวดร้องเพลงอนาซีด(Lagu Anasyid)ของเด็กในยามค่ำคืนหลังฮารีรายอด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจับจ่ายซื้อหาก่อนฮารีรายอคือ การซื้อทองรูปพรรณ ก่อนฮารีรายอสัก 4-5 วันร้านทองจะเนืองแน่นไปด้วยบรรดาสาว ๆ ตั้งแต่รุ่นเล็กจนถึงรุ่นยายที่ไปออกันแน่นร้านทองแทบทุกร้าน บ้างเอาทองเก่ามาเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับทองรุ่นใหม่ ลายใหม่ บางคนก็ซื้อเครื่องประดับใหม่เพิ่มทั้ง กำไล ต่างหูและสร้อยคอ ตามแต่กำลังทรัพย์และกิเลสของแต่ละคน ทำให้ร้านทองคึกคักและรับทรัพย์กันไม่หวาดไม่ไหวกันทีเดียว ฮารีรายอสาว ๆ ทุกคนจะใส่เครื่องประดับมาประชันแบบไม่มียั้งจนดูละลานตาไปหมด ทำให้บรรยากาศในฮารีรายอนั้นเต็มไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่ ใช้เครื่องหอม ประดับประดาตกแต่งร่างกายและบ้านเรือนกันอย่างสวยงาม

เมื่อถึง(วัน)ฮารีรายอ ทุกคนจะตื่นกันตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงกล่าว “Allahu Akbar, Allahu Akbar, Allahu Akbar, wa lillahilham อัลลอฮูอักบัร อัลลอฮูอักบัร อัลลอฮูอักบัร วาลิลลาห์ฮิลฮัม” ดังกระหึ่มจากมัสยิดตั้งแต่เช้ามืด สาว ๆ สุภาพสตรีแต่ละบ้านจะตื่นขึ้นมาเตรียมอาหารการกิน จัดเตรียมเปิดบ้านต้อนรับผู้คนที่จะมาเยี่ยมเยือนใน(วัน)ฮารีรายอ ก่อนจะถึงเวลาละหมาดอิดิ้ลฟิตรีที่มัสยิดนั้น เด็ก ๆ จะชักชวนกันตระเวณไปเยี่ยมเยียนตามบ้านของเพื่อนบ้านไปพบเจอผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะส่วนใหญ่จะแจกเงินให้เด็กๆมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ฐานะ จำได้ว่าสมัยนั้นแจกคนละห้าสิบสตางค์หรือสองสลึง บางบ้านก็แจกหนึ่งบาท และถ้าบ้านไหนแจกเป็นธนบัตรหนึ่งบาทแทนเหรียญบาทก็จะมีเด็ก ๆ รุมออไปเยี่ยมเยียนมากเป็นพิเศษ เงินที่ได้รับแจกใน(วัน)ฮารีรายอนี้ เรามักจะเก็บไว้ ไม่ค่อยใช้จับจ่ายหรอกครับ ด้วยที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเหรียญหรือธนบัตรใหม่ บอกตรง ๆ ว่าเสียดายที่จะใช้ไป ตามประสาเด็กละครับ ส่วนบรรดาหนุ่ม ๆ สุภาพบุรุษก็จะไปที่มัสยิดเพื่อร่วมสวดกล่าวตัสเบี๊ยะห์และร่วมละหมาดอิดิ้ลฟิตรี บางคนอาจถือโอกาสก่อนที่จะละหมาดอิดิ้ลฟิตรีซึ่งจะละหมาดราว ๆ แปดโมงเช้านั้นไปเยี่ยมเยียนกุโบร์(สุสาน)เพื่ออ่านดุอาร์(บทขอพร)ให้กับบรรพบุรุษญาติสหายที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนที่ยังไม่จ่ายซะกาตฟิตเราะห์ก็จะจัดการจ่ายให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดอิดิ้ลฟิตรี การจ่ายซะกาตฟิตเราะห์นั้นเป็นการจ่ายทานให้แก่ผู้ยากไร้ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามโดยจ่ายเป็นข้าวสารคนละ 4 ทะนานหรือประมาณ 2.5 กิโลกรัม หรือบางคนอาจบริจาคเป็นเงินโดยคิดตามราคาข้าวสารในท้องถิ่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วมัสยิดจะจัดการรับซะกาตและแจกจ่ายให้คนยากไร้ในหมู่บ้าน โดยเปิดรับซะกาตประมาณ 3 วันก่อนที่จะถึง(วัน)ฮารีรายอ บางคนก็อาจนำซะกาตของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวไปแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ด้วยตนเองก็แล้วแต่ใครจะสะดวกอย่างใด

เด็กรอรับเงินของขวัญที่ผู้ใหญ่แจกในเช้าฮารีรายอ

หลังจากร่วมละหมาดอิดิ้ลฟิตรีที่มัสยิดเสร็จสิ้นแล้ว เรามักจะตระเวณไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และผลัดเปลี่ยนกันรอต้อนรับคนอื่นที่มาเยี่ยมบ้านเราด้วย อาหารการกินที่เราต้องเจอแทบทุกบ้านก็คือ กะตูป๊ะหรือข้าวต้มใบกะพ้อนั่นละครับ ทั้งกินทั้งฝากกลับบ้าน แม้กระทั่งคนจีนในตลาดหรือใคร ๆ ที่ไม่ได้ร่วมละหมาดกับเราหรือไม่ใช่มุสลิมต่างก็ได้รับกะตูป๊ะในวันนี้ด้วยเช่นกัน พอ ๆ กับที่เราได้รับขนมเข่งตอนตรุษจีนอย่างไรอย่างนั้นแหละครับ อันที่จริงนอกเหนือจากข้ามต้มใบกะพ้อที่ทำกันทุกบ้านแล้ว บางบ้านอาจทำขนมจีน ข้าวแกง โรตีหรือนาซิดาแฆ(ข้าวมันแกงไก่)ไว้ต้อนรับคนที่มาเยี่ยมบ้านด้วย เมื่อมาถึงตอนเย็ย ๆ ที่แดดไม่อ่อนแรงแล้ว บริเวณลานมัสยิดก็จะมีการจัดแข่งขันการละเล่นต่าง ๆ ประเภทติดตาตีหม้อ วิ่งเปี้ยว แข่งขันตอบปัญหา โดยมีรางวัลที่ห่อกระดาษของขวัญสวยงามเป็นของล่อใจให้เด็ก ๆ มาร่วมกันเล่นและแข่งขัน งานจะมีเรื่อยไปจนถึงกลางคืน โดยหยุดพักช่วงค่ำในเวลาละหมาด หลังจากนั้นก็จะมีการแสดง การแข่งขัน การละเล่นต่างๆ ทั้งการประกวดร้องเพลงอนาซีด การแข่งอ่านอัลกุรอาน หรือการแสดงซันดีวารอ(ละครสด)ไปจนถึงเกือบ ๆ เที่ยงคืนกว่าจะเลิกลากันไป

สมัยที่ผมยังเด็กนั้นเราจะถือว่า(วัน)ฮารีรายอมีถึง 3 วัน วันแรกเป็นวันที่ต้องทำพิธีกรรมทางศาสนาที่มัสยิดเป็นหลัก ส่วนวันถัดไปคือวันที่สองและสามนั้น จะเป็นวันที่เราไปเยี่ยมญาติที่อยู่ต่างหมู่บ้านหรือต่างจังหวัดกัน บางคนก็ถือโอกาสพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนตามชายทะเลและน้ำตก ช่วงฮารีรายอนี้สถานที่ท่องเที่ยวจะหนาแน่นคลาคล่ำไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะชายหาดจะแน่นไปแทบทุกหาด ช่วงนี้โรงหนังทุกโรงก็จะถือโอกาสฉายหนังยอดนิยมโดยเฉพาะอินเดียนั้นจะมีคนเข้าไปดูจนโรงหนังแทบแตก ไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นหนังอินเดีย บางที่ก็จะมีการจัดงานเทศกาลที่คล้าย ๆ งานวัด ซึ่งอาจจัดโดยหน่วยงานของอำเภอหรือจังหวัดในนาม “เทศกาลวันฮารีรายอ” ออกร้านรวงขายสินค้า มีเครื่องเล่นและหนังกลางแปลง บางแห่งจัดถึง 7 วัน 7 คืนก็มี นับเป็นคืนวันที่บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกรื่นเริงต่างกับปัจจุบันอยู่มาก

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ฮารีรายอในวัยเด็กของผมและคนในชุมชุนอำเภอที่ผมอยู่มีบรรยากาศที่เงียบเหงา สมัยนั้นการรับรู้ข่าวสารไม่สะดวกและรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน การที่จะรู้ว่ามีการเห็นเดือนเสี้ยวแรกของเดือนซาวาล(เดือนตามปฎิทินอาหรับ)เพื่อกำหนด(วัน)ฮารีรายอนั้น ต้องฟังจากการประกาศทางวิทยุเท่านั้น ซึ่งวิทยุก็ไม่ได้มีกันทุกบ้าน จำได้ว่าปีนั้นละแวกชุมชนบ้านผมไม่มีใครทราบข่าวการเห็นดวงจันทร์ เราจึงถือศีลอดในวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 30 ประมาณสัก 9 โมงจึงมีคนที่มาจากต่างอำเภอมาบอกว่าที่อื่นเขาเป็น(วัน)ฮารีรายอกันแล้ว ชุมชนเราจึงจัดเตรียมการละหมาดอิดิ้ลฟิตรีและเตรียมฉลองกันอย่างฉุกละหุก สำหรับพวกผู้ใหญ่นั้นคงแค่เหนื่อยและฉุกละหุก แต่สำหรับเด็กๆแล้ว การไม่ได้เล่นดอกไม้ไฟ บือเดบูโล๊ะห์และอดได้เงินที่พวกญาติผู้ใหญ่แจกกันตอนเช้าตรู่นั้น แทบทุกคนรู้สึกเหมือนไม่ได้ฉลองฮารีรายอกันเลย

(Visited 538 times, 1 visits today)
Close