Written by 9:00 am Memoir

เกิดบนเรือนมลายู 8

โต๊ะหะยีใหม่

หลังจากตรุษอีดิลอัฎฮาที่คนมลายูมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย บรรดาคนที่ไปทำพิธีฮัจย์ก่อนหน้านี้ก็เริ่มทยอยกันกลับภูมิลำเนา เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมากว่าจะได้เจอคนที่เดินทางไกลจากบ้าน 2-3 เดือนอีกครั้ง

การที่จะรู้ว่าคนที่ไปประกอบพิธีฮัจย์จะกลับมาถึงบ้านเมื่อไรนั้น ต้องอาศัยการคาดคะเน เดาและรอคอย ด้วยไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่สะดวก ราคาไม่แพงเหมือนอย่างสมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะมีโทรศัพท์บ้านใช้กันบ้างแล้ว แต่ก็ไม่แพร่หลาย มีใช้ในเมืองใหญ่และไม่มีทุกบ้าน การโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงปัญหาที่จะต้องโทรไปยังบ้านที่มีโทรศัพท์ใช้และไหว้วานให้เขาช่วยไปแจ้งข่าว ซึ่งขลุกขลักอยู่ไม่น้อย จึงไม่มีใครนิยมแจ้งข่าวว่าจะกลับจากเมืองเมกกะฮ์วันไหน ถึงกรุงเทพฯเมื่อไร อีกกี่วันถึงจะออกจากกรุงเทพฯและมาถึงบ้าน
เรามักจะรู้ข่าวว่าครอบครัวนั้น บ้านนี้ กลับจากไปฮัจย์ก็ต่อเมื่อเขามาถึงบ้านไปแล้วสักวันหรือสองวันให้หลัง จากการ บอกข่าวต่อๆกันระหว่างญาติและเพื่อนบ้าน

เมื่อรู้ว่ามีคนในหมู่บ้านกลับจากฮัจย์ เรามักจะไปเยี่ยมเยือน “โต๊ะหะยี” ใหม่ที่บ้านของเขา พวกผู้ใหญ่จะไปเยี่ยมเพื่อสลามกับโต๊ะหะยีใหม่และดื่มน้ำซัมซัมที่เขาเอามาจากเมกกะฮ์เพื่อเป็นศิริมงคล(บารอกะฮ์)

น้ำซัมซัมที่ว่านี้เป็นน้ำที่เกิดจากตาน้ำหรือบ่อที่อยู่ใกล้กับวิหารกะอ์บะห์ไม่ไกลนัก ว่ากันว่าเป็นตาน้ำที่พบใกล้กับฝ่าเท้าของนบี(ศาสดา)อิสมาอีลบุตรของนบีอิบรอฮีม(คนเดียวกับอับราฮัมในศาสนายิวและคริสต์)ในขณะที่มารดาของอิสมาอีลกำลังหาน้ำดื่มเพื่อประทังความกระหาย คนมลายูมุสลิมเชื่อว่าน้ำซัมซัมนี้เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่มีศิริมงคลสูง ทุกคนที่ไปถึงวิหารกะอ์บะห์หรือมัสยิดฮารอมที่เมืองเมกกะฮ์จะนำกลับมาด้วยเสมอ ผมมักจะถูกแม่บังคับให้ดื่มน้ำซัมซัมทุกครั้งที่มีโอกาส แม่บอกว่าจะช่วยให้ผมท่องจำอัลกุรอานและเรียนหนังสือได้ดีขึ้น ผมก็ดื่มอย่างเสียไม่ได้ทุกครั้งเพราะรสชาติมันก็เหมือนน้ำเปล่าธรรมดา ๆ นี่เอง ที่จริงผมว่าน้ำบ่อยังมีรสหวานชื่นใจกว่า แต่ก็นั่นละครับ น้ำศักดิ์สิทธิ์ หายาก ผมก็ดื่มด้วยความเชื่อเต็มเปี่ยมว่าผมจะเรียนเก่งขึ้นและอ่านคัมภีร์อัลกุรอานได้ดีกว่าเดิม

ถึงแม้ว่าผมจะไม่มีความสนใจในน้ำซัมซัมมากนัก แต่ทุกครั้งที่ทราบข่าวว่ามีคนกลับจากเมกกะฮ์ ผมก็จะไปเยี่ยมเขาเสมอ รวมทั้งเด็กๆคนอื่นๆด้วย สิ่งที่พวกเรารอคอยและหวังว่าจะได้รับแจกจากคนที่กลับจากเมกกะฮ์ก็คือ ลูกเกตุและน้ำตาลก้อนครับ

อาจฟังดูเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องที่เราตื่นเต้นกับน้ำตาลก้อนและลูกเกตุ แต่ในสมัยสี่สิบกว่าปีก่อน ขนมนมเนยหรือลูกกวาดเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีแพร่หลายและหาซื้อได้ง่ายนัก ยิ่งลูกเกตุแล้วไม่เห็นมีใครขายกันสักเท่าไร เป็นของฟุ่มเฟือยที่นานปีทีหนกว่าเราจะได้กิน ไม่มีวิธีการกินลูกเกตุที่ง่ายและฟรีได้เท่ากับการไปเยี่ยมๆมองๆในกองของฝากของคนที่กลับจากเมกกะฮ์ ยิ่งน้ำตาลก้อนแล้วเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมีขายที่ไหนเลย เจ้าน้ำตาลก้อนนี่ไม่ใช่สิ่งประหลาดพิศดารอะไรหรอกครับ มันคือน้ำตาลทรายที่เขาอัดก้อนสี่เหลี่ยมสำหรับกินกับน้ำชา เราจะหยิบใส่ปากแล้วรอให้มันละลายในปากอย่างช้าๆ ไม่กล้าเคี้ยวหรือขยับเคลื่อนลิ้นแรงๆ กลัวน้ำตาลจะหมดไว ตอนที่พ่อกับแม่ผมกลับจากเมกกะฮ์ผมมักจะมองแม่แบบเคืองอยู่บ้างเวลาที่แม่แบ่งน้ำตาลก้อนให้เด็กบ้านอื่นมากเกินไป ด้วยความที่ผมหวงอยากจะเก็บไว้กินเองนานๆตามประสาเด็ก

บางคนซื้อที่สำหรับดูฟิล์มภาพถ่ายพร้อมกับฟิล์มที่ถ่ายสภาพเมืองเมกกะฮ์ มัสยิดอัลฮะรอม บรรยากาศช่วงการทำพิธีฮัจย์ เป็นฟิล์มที่ติดบนกระดาษแข็งแผ่นกลม เวลาจะดูก็สอดในร่องของเครื่องดูฟิล์ม กดก้านโยกเพื่อเลื่อนฟิล์มไปเรื่อยๆจนครบรอบก็เปลี่ยนแผ่นใหม่ สนุกดีครับ เปิดโลกทรรศ์เห็นอะไรๆที่แปลกตาไปจากที่คุ้นชิน

เรื่องน้ำตาลก้อน ลูกเกตุและกล่องดูฟิล์มเป็นของฝากสำหรับเด็กๆ ของฝากสำหรับผู้ใหญ่นั้นก็มีเช่นกัน แต่จะเป็นพวกหมวกกะปิเยาะห์ ผ้าสาระบั่นโพกหัว ผ้าคลุมและเครื่องประดับประเภทเครื่องทองและหินหลากสีเพื่อมาทำหัวแหวน คนมลายูสมัยนั้นเชื่อเรื่องสิริมงคลจากหินอัญมณีที่มาจากดินแดนบริสุทธิ์(Holy Land) เชื่อว่าหากนำก้อนหินเหล่านั้นมาประดับเรือนแหวนเพื่อสวมใส่จะเป็นมงคล คนที่กลับจากพิธีฮัจย์ในสมัยนั้นจะซื้อหินสีอัญมณีราคาถูกเหล่านี้มาเป็นกำเป็นกระป๋องทีเดียวเพื่อแจกจ่ายเป็นของฝากแก่ญาติมิตรอย่างถ้วนหน้า

มีสิ่งที่เป็นข้อถือสาหรือเป็นธรรมเนียมของคนที่กลับจากพิธีฮัจย์หรือ “โต๊ะหะยี” ใหม่ในสมัยนั้นว่า เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วจะไม่ลงจากเรือนไปไหนเป็นเวลา 40 วัน ที่จริงไม่ถึงขนาดไม่ลงจากเรือนหรอกครับ เป็นแต่เพียงไม่เดินทางไปไหนหรือออกนอกเขตบ้านเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อที่คนที่มาเยี่ยมจะมีโอกาสได้พบตัวและโต๊ะหะยีใหม่จะยังคงไม่แปดเปื้อนโลกียวิสัยทางโลกเร็วเกินไปนัก คนที่มาเยี่ยมโต๊ะหะยีใหม่ก็จะสลามกับโต๊ะหะยีเมื่อแรกพบ จะได้สัมผัสกับสิริมงคล(บารอกะฮ์)ที่มากับโต๊ะหะยีใหม่ติดตัวไปด้วย หลายคนแอบตั้งความหวังว่าจะได้มีโอกาสไปเมกกะฮ์และเป็นโต๊ะหะยีบ้างเช่นกัน

ภาพชาวมลายูสวมกะปิเยาะห์, ซอเก๊าะอ์และโพกหัวด้วยผ้าเลอปัส(ผ้าขะม้า)


อยากจะเล่าถึงการโพกสาระบั่นในสมัยนั้นว่า โดยทั่วไปแล้วคนที่ยังไม่เคยทำพิธีฮัจย์จะไม่โพกสาระบั่นหรือสวมหมวกกะปิเยาะห์ มียกเว้นอยู่บ้างเรื่องการสวมหมวกกะปิเยาะห์สำหรับ “โต๊ะปาเก” หรือเด็กปอเนาะที่เรียนศาสนา แต่ไม่มีใครโพกผ้าสาระบั่นเด็ดขาดหากยังไม่ผ่านพิธีฮัจย์มาก่อน ทำให้สังเกตได้ง่ายมากว่าใครเป็นโต๊ะครู เป็นโต๊ะหะยีหรือไม่ได้เป็น ต่างกับปัจจุบันที่ใครๆก็โพกหรือใช้ผ้าสาระบั่นกันเกร่อจนกลายเป็นแฟชั่นไป ทั้งนี้เป็นเพราะความที่สังคมมลายูสมัยนั้นให้ความเคารพโต๊ะครูและโต๊ะหะยีมากเป็นพิเศษ จึงเป็นข้อถือสาที่ไม่แต่งกายเหมือนโต๊ะหะยีด้วยความเคารพและให้เกียรตินั่นเอง

(Visited 175 times, 1 visits today)
Close