Written by 8:12 am Guest speaker, World

มุสลิม-ผู้คน…และประเทศสิงคโปร์

บางท่านอาจมีมุมมองว่า เรื่องความศรัทธาของศาสนาเป็นเรื่องที่สวนทางกับความเจริญทางวัตถุ อาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าไร ความศรัทธาของศาสนาจะยิ่งลดลง” แต่คำกล่าวนี้ อาจใช้ไม่ได้กับประเทศสิงคโปร์

“Singapore onwards” คือคำขวัญประจำประเทศสิงคโปร์ ที่แปลตามตัวแล้วหมายถึง สิงคโปร์ก้าวหน้า น่าสนใจว่าประเทศสิงคโปร์ก่อร่างสร้างตัวจากเกาะเล็กๆที่แทบจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ผันตัวกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลของโลกได้อย่างไร

จากแนวคิดสำคัญของการสร้างประเทศคือความเชื่อที่ว่าประชากรของตนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้คนมีคุณภาพนั้นคือการศึกษา สิงคโปร์จึงวางแนวทางในการพัฒนาทางด้านการศึกษาอย่างจริงจังจนกลายเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเป็นอันดับต้นๆแห่งหนึ่งของโลก โดยมีระบบการศึกษาที่หลากหลายสาขา เพื่อสร้างคนในสายงานตามความถนัดเพื่อรองรับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาลงทุนและเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าไปสู่ประเทศที่เป็นผู้นำในด้านต่างๆของโลกได้ และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์


ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประชากรสิงคโปร์นั้นมาพร้อมกับความเชื่อทางศาสนาและวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่หลากหลายเช่นกัน สิงคโปร์จึงออกกฏเกณฑ์หรือมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมประชากรไม่ให้ความเชื่อของประชากรกลุ่มหนึ่งไปละเมิดสิทธิของประชากรกลุ่มอื่น หนึ่งในนั้นคือ ความเชื่อเรื่องศาสนา ซึ่งในตอนนี้จะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับมัสยิดในประเทศสิงคโปร์


สิงคโปร์มีมัสยิดทั้งหมด 71 แห่ง อยู่ในการดูแลขององค์กรศาสนา มัสยิดบางแห่งมีขนาดใหญ่มาก บางแห่งสามารถรองรับคนได้ถึงห้าพันคน รูปแบบของมัสยิดที่อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยเป็นอาคารตึกสูงใหญ่ ดูเผินๆอาจคิดว่าเป็นสำนักงานเพราะไม่มีสัญลักษณ์เด่นชัดอย่างโดมที่เราคุ้นชิน แต่เป็นอาคารที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยกเว้นมัสยิดเก่าแก่อย่างมัสยิดสุลต่านในย่านอาหรับสตรีท ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1824 ที่ยังคงรักษารูปแบบของสถาปัตยกรรมตามจารีตแบบเดิม เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของสิงคโปร์ ซึ่งยังคงใช้ปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ รวมทั้งอนุญาตให้สามารถเปิดเครื่องขยายเสียงเวลาอาซานสู่ภายนอกได้

แม้สิงคโปร์จะมีกฎระเบียบเรื่องการควบคุมการเปิดเครื่องขยายเสียง แต่ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ตั้ง การอนุญาตให้เปิดเสียงอาซานออกภายนอกได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า มัสยิดแห่งนั้น อยู่ในเขตที่อยู่อาศัยหรือไม่ เพราะเกรงจะรบกวนคนต่างศาสนิก ประเทศสิงคโปร์ไม่มีศาสนาประจำชาติ ดังนั้นจึงไม่มีการให้อภิสิทธิ์ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ในส่วนของมัสยิดสุลต่านนั้นตั้งอยู่ในย่านการค้าไม่ใช่เขตที่พักอาศัย จึงสามารถเปิดเสียงอาซานสู่ภายนอกได้
ส่วนมัสยิด Darul Ghufran ในย่าน Tempanis ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ถึงแม้จะเป็นมัสยิดขนาดใหญ่ที่มีตัวอาคารจะมีขนาดใหญ่ มีคนมาละหมาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน มัสยิดแห่งนี้จะหนาแน่นไปด้วยพี่น้องมุสลิมที่มาละหมาดมากกว่าพันคนต่อคืน แต่เมื่อมัสยิดอยู่ในเขตที่พักอาศัย ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเสียงอาซานสู่ภายนอกได้

ในด้านการศึกษาศาสนาอิสลามนั้น โรงเรียนที่มีหลักสูตรการเรียนศาสนาอิสลามควบคู่นั้นมีไม่มากและเป็นโรงเรียนที่ได้รับความนิยม พ่อแม่ชาวมุสลิมต้องการส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่ ทำให้แต่ละปีจะต้องมีการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเด็กเข้าศึกษา แม้ว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าโรงเรียนรัฐทั่วไปก็ตาม หลักสูตรของโรงเรียน มีรายวิชาสามัญปกติและเพิ่มการเรียนวิชาศาสนาที่เข้มข้นมาก โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นเหมือนเสาหลักของการเรียนรู้ด้านศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมในสิงคโปร์ ที่ยังคงต้องเชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพด้านศาสนา เด็กหนึ่งคนจะต้องเรียนภาษาอย่างน้อยสองภาษา ภาษาหลักคือ อังกฤษ และอีกภาษาคือภาษาชาติกำเนิด หรือที่เรียกว่าภาษาแม่ หากเด็กคนไหน มีเชื้อจีน ก็สนับสนุนให้เรียนภาษาจีน หากเด็กคนไหนเป็นชาวมลายู ก็สนับสนุนให้เรียนภาษามลายู และเด็กที่เป็นชาวอินเดีย ก็จะสนับสนุนให้เรียนภาษาอูรดู

สำหรับรายได้ขององค์กรศาสนาอิสลามนั้น ได้มาจากการหักเงินภาษีในส่วนของรายได้ของประชากรมุสลิมชาวสิงคโปร์ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไม่อุดหนุนเงินสำหรับการจัดการองค์กร กล่าวคือ องค์กรศาสนาในสิงคโปร์เป็นองค์กรที่ต้องบริหารจัดการตนเอง การเงินที่ใช้บริหารจัดการ คือ เงินของพี่น้องมุสลิมในประเทศเขาเอง นี่คือข้อตกลงร่วมกันภายในรัฐ

ถึงแม้ว่าการบริหารหรือการจัดตั้งองค์กรศาสนาของที่นี่ยังใหม่มากเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียหรือประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ประเทศอื่นๆ แต่ก็อาจพูดได้ว่าประเทศสิงคโปร์สามารถจัดการเรื่องความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันโดยไม่ปล่อยให้ละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้น สิงคโปร์ทำได้ดีทีเดียว


เรามองต้นไม้ใหญ่ ริมถนนย่าน Orchard ที่อายุของมัน น่าจะพอๆกับการสร้างประเทศสิงคโปร์ ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ละต้นถูกจัดสรรและปลูกขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ต้นไม้ใหญ่ ใช้เวลาเติบโตนานนับสิบปีกว่าจะให้ร่มเงาได้อย่างวันนี้ คงไม่มีต้นไม้ต้นไหนที่เสกขึ้นมาได้ หากเรายังไม่เคยลงมือปลูกก็ไม่มีทางที่จะเห็นการเติบโตและได้รับร่มเงา

(Visited 225 times, 1 visits today)
Close