Written by 6:46 am Stories

กอแร มุง Kore Mung

หากได้ยินชาวมลายูปตานีเอื้อนเอ่ยคำว่า “กอแร (Kore,Kukuran)” ซึ่งแปลว่ากระต่ายขูดมะพร้าวหรือที่ชาวใต้เรียก “เหล็กขูด” ใส่หน้าแล้วออกอาการสีหน้าแบบยิ้ม ๆ ขำ ๆ ก็อย่าได้เข้าใจว่าเขากำลังถามหากระต่ายขูดมะพร้าวเพื่อจะคั้นกะทิไปทำแกงอะไรที่ไหน แต่เขากำลังหยอกแรง ๆ ฉันท์มิตรสนิทที่ให้ความหมายว่า ปัญญาอ่อนหรือไม่มีสมองเสียมากกว่า

หากจะพูดถึงคำด่าหรือคำเสียดสีในหมู่ญาติมิตรที่สนิทกันแล้ว ชาวมลายูมักใช้คำที่อ้อมค้อมหรือคำเปรียบเทียบมาใช้ในการลดทอนความรุนแรงของคำ เพื่อที่ยังจะสามารถถนอมน้ำใจและคบหากันได้ต่อไป มากกว่าที่จะใช้คำแรง ๆ ตรง ๆ เหมือนกับการบริภาษในยามโกรธเคือง

จะเล่าให้ฟังว่าทำไมคนมลายูถึงใช้ “กอแร” หรือกระต่ายขูดมะพร้าวแทนคำด่าว่าปัญญาอ่อนหรือไร้สมอง

ลักษณะของ “กอแร” ในวัฒนธรรมชาวมลายู ไม่นิยมทำเป็นรูปกระต่ายแล้วเสียบเหล็กขูดแบบภาคกลางหรือทำในรูปทรงหลากหลายแบบภาคใต้ตอนบน แต่กอแรของชาวมลายูจะนิยมทำเป็นรูปคล้ายสัตว์สี่เท้าที่มีคอยื่นยาวไปข้างหน้า และใช้เหล็กขูดเสียบตรงส่วนคอของกอแรเลยโดยที่ไม่มีหัวสัตว์ อาจจะเพราะต้องการลดทอนไม่ให้เป็นรูปสัตว์ที่สมบูรณ์ตามคติความเชื่อของมุสลิมที่ไม่ทำรูปแกะสลักมนุษย์หรือสัตว์ จึงทำให้ถึงแม้กอแรจะมีส่วนลำตัวสัตว์สำหรับเป็นที่นั่ง มีส่วนเท้าทั้งสี่เท้า มีหาง มีคอ แต่ไม่มีส่วนที่เป็นหัวหรือศีรษะ

ตรงนี้คือจุดสำคัญที่คนมลายูปตานีใช้คำว่า “กอแร” เป็นคำเสียดสีว่าปัญญาอ่อนหรือโง่ เพราะกอแรมีทุกส่วนยกเว้นหัว ซึ่งหมายถึงการไม่มีสมองไว้คิดนั่นเอง

หากมีโอกาสได้รับคำว่า “กอแร มุง” ก็ยิ้มรับและแสดงภูมิปัญญาให้เขาเห็นว่ามีศีรษะ มีสมองไว้คิดเรื่องราว ไม่ได้เป็น “กอแร” อย่างที่เขาปรามาส ก็น่าจะจบเรื่องอย่างชื่นมื่นได้ครับ

(Visited 249 times, 1 visits today)
Close