Written by 11:29 am Patani Notes, World

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ซเรเบรนีซา

เดือนกรกฎาคมของทุกปีคือหมุดหมายสำคัญของสันติภาพในคาบสมุทรบอลข่าน เพราะในปี 1995 ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองซเรเบรนีซาในประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่า มันเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามบอสเนีย และเป็นเหตุการณ์ที่อาจถือได้ว่าโหดเหี้ยมที่สุดในแผ่นดินยุโรปนับตั้งแต่โฮโลคอสต์หรือการฆ่าหมู่ชาวยิวที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ว่าได้

ซเรเบรนีซานั้นเป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่า ประเทศที่ผ่านสงครามภายในอันหนักหน่วงระหว่างปี 1992-1995

เหตุการณ์ในซเรเบรนีซาในแง่หนึ่งถือว่าเป็นผลพวงและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่มีมายาวนานในพื้นที่แถบนี้ซึ่งประกอบไปด้วยประชากรที่เป็นทั้งคนเชื้อสายเซิร์บ บอสเนียก โครแอท แม้จะมีรากเดียวกันแต่จุดแตกต่างในหมู่พวกเขาคือศรัทธาที่นับถือ โดยในช่วงระหว่างปี 1945 -1992 บอสเนียและเฮอเซโกวีนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งในปี 1946 ภายใต้การนำของนายพลตีโต้ผู้โด่งดังได้รับการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียที่ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐอันประกอบไปด้วย บอสเนียเฮอเซโกวีนา โครเอเชีย มาเซโดเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบียและสโลเวเนีย

หลังสิ้นนายพลตีโต้ การรวมตัวภายใต้แนวคิดสังคมนิยมจบลง ความคิดชาตินิยมที่ถูกกดทับไว้อย่างยาวนานกลับมามีพลังอีกครั้งในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้ยูโกสลาเวีย เมื่อบวกรวมกับปัญหาการช่วงชิงการนำของบรรดาผู้นำจากกลุ่มต่างๆ และปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความขัดแย้งจนในที่สุดทำให้ยูโกสลาเวียเดินทางสู่การล่มสลายเพราะทุกฝ่ายต้องการแยกตัว ในกรณีของบอสเนียเฮอเซโกวีน่ากว่าจะแยกตัวกันได้ก็ต้องผ่านพ้นกับกระบวนการอันเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ดุเดือดรุนแรงจนกลายเป็นการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน

ปี 1992 บอสเนียเฮอเซโกวีนาซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็น Bosniak หรือบอสเนียกและเป็นมุสลิม ได้ประกาศผลการลงประชามติว่าต้องการแยกตัวเองออกจากยูโกสลาเวีย ตามหลังสโลเวเนียและโครเอเชียที่ประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวียไปก่อนล่วงหน้าแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่แสดงออกชัดเจนถึงความต้องการแยกตัวท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างคนต่างชาติพันธ์จนนำไปสู่สงคราม

จินตนาการอันแตกต่างสุดขั้วระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะเซิร์บและบอสเนียก รวมไปถึงความแตกต่างในด้านอัตลักษณ์ ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ล้วนแต่มีบทบาทอย่างมากจนทำให้เกิดสงคราม บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสุมไฟความขัดแย้งนี้คือสโลโบดาน มิโลเซวิช ซึ่งเป็นผู้นำชาวเซิร์บที่สนับสนุนแนวทางชาตินิยมได้ออกนโยบายกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆซึ่งภายใต้ยูโกสลาเวีย

ในช่วงระหว่างปี 1992-1995 ภายหลังจากเหตุการณ์ลงประชามติ สงครามได้เริ่มต้นขึ้นและลุกลามจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่าแสนคน กว่าครึ่งเป็นพลเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบอสเนียกและมีผู้อพยพจากภัยสงครามอีกนับล้าน อาวุธยุทโธปกรณ์รวมทั้งกองกำลังกึ่งทหารกึ่งพลเรือนในการห้ำหั่นล้วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางของยูโกสลาเวีย โดยมีรูปแบบการโจมตีด้วยการใช้พลสไนเปอร์ซุ่มยิงจากที่สูง สงครามจบลงด้วยการแทรกแซงจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปในนาม NATO โดยการแยกประเทศ

ส่วนเหตุการณ์ฆ่าหมู่อย่างโหดเหี้ยมในเมืองซเรเบรนิซ่าไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่เป็นซีรีส์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของเดือนกรกฎาคม 1995 อันเป็นช่วงเวลาที่กองกำลังของชาวเซิร์บและบอสเนียกกำลังโรมรันพันตู ซเรเบรนีซากลายเป็นสถานที่ที่ชาวบอสเนียกนับหมื่นถูกบีบให้ต้องไปรวมตัวกันเพื่อหลบภัยแห่งสงครามเมื่อกองกำลังชาวเซิร์บบุกเข้าประชิด แม้สหประชาชาติจะประกาศให้เมืองเป็นเขตปลอดภัยแต่ก็ไม่อาจปกป้องชาวเมืองให้รอดพ้นจากการสังหารโหดและการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ ชาวเมืองหลายคนไปร้องขอความคุ้มครองจากทหาร UN ที่นำโดยกองกำลังรักษาสันติภาพชาวดัทช์ แต่ทหาร UN ก็ไม่อาจปกป้องได้จนท้ายที่สุดเมืองเซรเบรนีซ่ากลายเป็นทุ่งสังหาร

ภายหลังสงครามซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 1995 ประจักษ์พยานของความขมขื่นก็คือหลุมฝั่งศพของผู้คนที่ได้รับการขุดขึ้นมาเพื่อฝังให้ถูกต้องตามพิธีกรรมของศาสนา

หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของกองกำลัง UN ที่ไม่เข้าแทรกแซงสงครามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสน โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเมืองซเรเบรนีซ่าที่ทำให้ผู้ชายชาวบอสเนียกกลายเป็นเหยื่อสังหารโหดต่อหน้ากองกำลัง UN ไปมากกว่า 8,000 คน ส่วนคนที่เหลือต้องหนีด้วยการเดินเท้าเปล่ากระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ เหล่านี้คืออีกหนึ่งความทรงจำที่ขมขื่นของทั้งบอสเนียเฮอเซโกวีน่าและของ UN

จนถึงวันนี้บอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่าคือดินแดนที่เพิ่งผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธ์มาเพียงยี่สิบกว่าปี ประเทศที่แหลกสลายอย่างมิอาจพรรณาได้ ร่องรอยของกระสุนปืนและการทำลายล้างในช่วงสงครามยังคงปรากฎอยู่ทุกที่ เป็นประเทศที่จะได้พบหลุมฝังศพในทุกหนทุกแห่ง และเป็นประเทศที่มีความทรงจำอันรวดร้าวเป็นหมุดหมายของชีวิต แม้บรรดาผู้นำกองกำลังเซิร์บหลายคนจะถูกตัดสินในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่นั่นก็ไม่อาจลบเลือนความทรงจำของผู้ที่สูญเสียได้ เพราะรอยร้าวของพวกเขาไม่เคยถูกสมาน และดูเหมือน “สงครามเย็น” ได้ค่อยๆก่อตัวหลังจากที่ “สงครามร้อน” ได้ยุติลง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการแยกหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างชัดเจน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่น้อยลง การปฏิเสธเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในหมู่ชาวเซิร์บ และแนวโน้มของความสุดโต่งในหมู่เยาวชนของแต่ละฝ่ายที่มีมากขึ้น

(Visited 166 times, 1 visits today)
Close