Ruslan Musor

Written by 6:21 am Featured, Interviews, Patani, Patani Notes

วาร์ตานี: สื่อกับปรากฏการณ์ใหม่ในจชต.

คนกล้าคุย มันเริ่มมีเสรีภาพ เกิดปรากฎการณ์ดอกไม้แห่งสันติภาพ

เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อ 3 พ.ค. Patani NOTES คุยกับรุสลาน มูซอ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อ Wartani หรือวาร์ตานี เพื่อบอกเล่ามุมมองและวิธีการทำงานของสื่อที่เกาะติดพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มาเกือบสิบปี และมีบทบาทในการสื่อสารชนิดที่ถือได้ว่า ทำให้การใช้เสรีภาพในการสื่อสารเป็นจริง

“วาร์ตานี” เริ่มต้นเส้นทางเดินระหกระเหินไม่ต่างไปจากสื่อรายอื่นในพื้นที่ซึ่งการทำงานสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องไม่ง่าย สื่อรายเล็กและสื่อทางเลือกในพื้นที่ทุกรายต่างรู้ดีว่าปัญหาที่รอพวกเขาอยู่ มีทั้งเรื่องคนทำงาน ทั้งเรื่องทักษะและการยึดมั่นกับอาชีพ ปัญหาทุนที่แทบหาไม่ได้โดยเฉพาะหากเป็นสื่อที่เสนอข่าวซีกประชาชนเป็นหลักเพราะข่าวความขัดแย้งมักขายไม่ออก และปัญหาใหญ่คือแรงเสียดทานจากผู้ที่เสียประโยขน์จากสิ่งที่สื่อนั้นๆนำเสนอ สื่อหลายรายต้องพับฐานไปหรือไม่ก็ไม่เติบโต แต่วาร์ตานีนับเป็นความแตกต่าง สำนักสื่อ วาร์ตานีล้มลุกคลุกคลานอย่างมากในช่วงหนึ่ง แต่แล้วพวกเขาก็กลับมาเติบโตได้ ทั้งดำรงอยู่ได้ด้วยวิธีการบริหารจัดการด้านเงินที่แตกต่าง รวมทั้งการยืนหยัดรัยมือแรงเสียดทานและแรงกดดันที่มาพร้อมแนวข่าวที่นำเสนอ ในเชิงของการทำงานสื่อ ถือว่าก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญสองอย่างที่ในที่สุดทำให้ทีมงานชุดนี้มีบทบาทช่วยให้คนในพื้นที่ได้สื่อสาร

รุสลาน มูซอ หรือบังเช เป็นบรรณาธิการของสำนักสื่อวาร์ตานีในปัจจุบัน เขาร่วมปลุกปั้นสื่อรายนี้ในจังหวะที่วาร์ตานีเข้าสู่ช่วงลำบากอย่างถึงขีดสุด เส้นทางการทำงานของเขานับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่แค่เฉพาะกับคนทำสื่อ แต่กับคนทั่วไปที่หมายใจจะจัดการองค์กรในลักษณะคล้ายกัน บทสนทนานี้เน้นหนักที่วิธีการจัดการองค์กรสื่อ เพื่อเผยแพร่บทเรียนจากการทำงานของพวกเขา 

รุสลาน เริ่มแรกผมทำสื่อเกี่ยวกับนักศึกษาก่อน  Student Voice และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนนท.จชต.) ตอนนั้นวาร์ตานี ยังไม่เกิด ตอนนั้นมี Insouth Media Southern Peace Media บุหงารายานิวส์ เราก็ไปศึกษา ก็คุยกันในทีมกรรมการสนนท.จชต. ว่าต้องมีสื่อขึ้นมา ผมก็ไม่ได้รู้เรื่องสื่อแต่โดนยัดเยียดให้ทำ 

เราพบว่าความจริงกับสิ่งที่เราบริโภคเป็นข่าวมันต่างกันมาก พอมันต่างกันมากมันทำให้คนในพื้นที่โดนกดเข้าไปอีก คุณต้องอยู่ในกรอบอย่างนี้นะ คุณต้องทำแบบนี้นะ เลยคุยกันว่าเราต้องทำสื่อแล้ว ถ้าไม่ทำคนที่เจ็บตัวมากที่สุดคือประชาชนที่โดนกระทำ

Patani NOTES ทำไมตอนนั้นคิดว่าต้องทำสื่อเอง

รุสลาน สมัยนักศึกษาพอเราลงไปในพื้นที่ พบว่าความจริงกับสิ่งที่เราบริโภคเป็นข่าวมันต่างกันมาก พอมันต่างกันมากมันทำให้คนในพื้นที่โดนกดเข้าไปอีก คุณต้องอยู่ในกรอบอย่างนี้นะ คุณต้องทำแบบนี้นะ เลยคุยกันว่าเราต้องทำสื่อแล้ว ถ้าไม่ทำคนที่เจ็บตัวมากที่สุดคือประชาชนที่โดนกระทำ เราก็เริ่มศึกษาการทำสื่อมาตลอด  ก็ลงไปช่วยทำสื่อในช่วงเป็นนักศึกษาเยอะมาก ตอนนั้นก็มีแต่ peace, peace (สันติภาพ) ทำไป ทำมา หลายปี สื่อรุ่นพี่เริ่มปรับขบวน เพราะมันเกี่ยวกับงบประมาณบ้างอะไรบ้าง ก็เริ่มมาคุยกันใหม่ คุยทิศทางสื่อกันใหม่ วาร์ตานีก็เกิดขึ้นตอนนั้น ก็เพื่อน ๆ ทั้งนั้นที่ไปทำ เขาเปิดอบรมผมก็ไปสมัคร อยากเรียนมากเพราะเรารู้สึกว่าเรายังไม่ได้เก่งเรื่องสื่อ ครั้งแรกเขาบอกผมว่าปีหนึ่งถึงจะจบหลักสูตร แต่มันปาเข้าไปสองปี แล้วมันได้เปิดโลกทัศน์มาก เราได้ฟังจากคนทำสื่อข้างนอก มันทำให้เกิดแรงบันดาลใจ

Patani NOTES แสดงว่าต้องมีความคิดอะไรบางอย่างแล้วว่าการมีสื่อมันคือการเพิ่มพลังให้กับคนใช้สื่อ

รุสลัน ใช่  มีความคิดนี้อยู่ เพราะเราดูการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างแม้กระทั่งพื้นที่ชนกลุ่มน้อย อย่างไทใหญ่ โมโร มินดาเนา อาเจะ อะไรเหล่านี้เขาก็มีสื่อของเขา ที่คอยสื่อสารออกมา ผมรู้จักนักข่าวอาเจะคนหนึ่ง เขาแนะว่าถ้าคุณทำข่าวในพื้นที่บ้านคุณเอง คุณจะกำหนดได้ว่ามันควรเป็นยังไง นั่นคือแรงบันดาลใจหลายอย่าง พอเทคนิคเริ่มเป็นเริ่มได้ประมาณปานกลาง ก็เริ่มทำ ทำไปทำมาเกิดวิกฤติข้างใน เรื่องทุน พอดีช่วงนั้นมีรัฐประหารด้วย วาร์ตานีก็โดนตัดทุน แล้วสมัชชาของวาร์ตานีก็เรียกผอ.(มะมากรี ลาเตะ ผู้อำนวยการสำนักสื่อวาร์ตานี หรือเรียกกันสั้นๆว่าผู้ใหญ่มิ) ขึ้นมาดูแล  ผู้ใหญ่มิก็ใช้อำนาจแต่งตั้งผมโดยที่ไม่ได้ถามอะไรเลย ให้ขึ้นมาเป็นบก.บห. ผมก็ฟอร์มทีมนักศึกษาเก่า คัดสรรมา คนที่พร้อมจะทำงานตอนนั้นมีเจ็ดคนที่เป็นเต็มเวลา ข้อดีอย่างหนึ่งคือผมเคยบริหารนักศึกษา บริหารองค์กรนักศึกษาหลายองค์กร ทำให้ทักษะการบริหารตรงนั้นมันมันได้ใช้จริงกับชีวิตจริง แต่ว่าการทำงานของนักศึกษามันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงิน พอเข้ามาบริหารวาร์ตานีปุ๊บ สิ่งแรกที่ผมเจอคือปัญหาเรื่องเงิน มีหนี้ด้วยซ้ำ เจอไปเจ็ดแสน ผมเปิดบัญชีผม มีสามแสน ผู้ใหญ่มิมีสี่ ก็เอามาจ่ายหมด ถือว่าลงทุนก่อนเพราะเราอยากให้มันอยู่จริง ๆ มันคือปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนสันติภาพที่เรานิยามไว้ ภรรยาผมบอกว่าทำเพื่อคนอื่นเยอะนะ ผมบอกว่าวันนี้เราอาจจะไม่เห็นสันติภาพ แต่ลูกเราอาจจะได้เห็น ทำไปเถอะเงินจำนวนนี้ เดี๋ยวมันก็มา แต่วันนี้ก็ยังไม่ได้มา ตอนนั้นมันดรามามาก คนทำงานนั่งหงอย 

ถึงเดือนรอมฎอนผมย้ายออฟฟิศ เพราะไม่มีตังค์จ่ายเดือนละห้าพัน ย้ายมาอยู่ที่ใหม่เดือนละสองพัน มานั่งรวมกัน นอนกันใต้โต๊ะ เละเทะ รับแขกไม่ได้วาร์ตานีตอนนั้น  มานั่งคุยกันทั้งหมดเจ็ดคน พวกเขาไม่กลับบ้าน กลับไม่ได้เพราะไม่มีเงิน เพราะบอกภรรยาว่าไปทำงาน ผู้ใหญ่มิก็นั่งคิด เงินเดือนผู้ใหญ่บ้านออกพอดีหมื่นหนึ่ง ผมไปยืมเพื่อนมาอีกสองสามหมื่นก็จ่ายคนละสี่พัน  แล้วไล่กลับบ้าน ส่วนผมกับผู้ใหญ่มิไม่กลับเพราะเงินหมด  แบ ซาฮารี รู้ดี ทุกเดือนเขาจะเอาข้าวสารมาให้ ผู้ใหญ่มิเป็นคนเอาปลากระป๋องมาให้ รุ่นพี่ที่เคยอยู่วาร์ตานีจะรู้ชะตากรรมว่าเราเป็นอย่างไร แต่เขาช่วยเท่าที่ช่วยได้ ชาวบ้านก็เก็บผักเก็บอะไรมาให้ อยู่อย่างนี้มาหนึ่งปี ระหว่างนั้นทำข่าวไปด้วย 

มันเป็นความเศร้า ผมกับผู้ใหญ่มิร้องให้กันตลอด พอเราดูเราหมดตังค์แต่เขาไม่มีกิน  เจ้าหน้าที่เราไม่มีกิน เรารู้สึกผิด วันหนึ่งมีลูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไม่สบายไม่มีเงินพาไปโรงพยาบาล มันรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว เราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ เราต้องเปลี่ยน ไม่งั้นเราจะร้องให้กันทุกวัน เราเปลี่ยนจากน้ำตาให้เป็นพลัง ทำยังไงก็ได้ให้ขาตัวเองเดินให้ได้ แต่ก่อนเราบอกว่าแค่พอเก็บได้ เดี๋ยวนี้เขาต้องเก็บเพื่ออนาคตของลูกได้ แล้วเรานิยามเสมอว่าน้องที่จะมาแทนที่เราห้ามเหนื่อย ให้เหนื่อยรุ่นเราพอ แต่น้องต้องรู้ว่าที่มา ที่ไปของวาร์ตานีเป็นยังไง กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ มันแตกกี่ครั้งแล้ว มันล้มกี่ครั้งแล้ว มันมาด้วยความเหนื่อยตั้งแต่รุ่นแรก ถึงเขาจะทะเลาะอะไรยังไง แต่มันก็เป็นตัวเราในปัจจุบันนี้ ดีที่เขาทำให้เราเดินมาได้

บางทีมีองค์กรอื่นที่ไม่ได้ทำงานสื่อมาบอกว่าองค์กรอื่นยังอยู่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศ บางทีเขาบอกสื่อเป็นแค่เครื่องมือไม่ได้สำคัญ ผมบอกไม่ใช่ สื่อมีพลังมากกว่านั้น แล้วจะเอาโมเดลบริหารองค์กรคุณมาทำองค์กรผมไม่ได้ มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

วาร์ตานีมี18 คน ผมขายทุกอย่างแล้วก็ระดมทุนด้วย 18 คนขอคนละพัน ได้หมื่นแปดมาทำฟาร์ม ตอนนั้นเราไม่เป็นเรื่องมาร์เก็ตติ้งเลย เราก็เอาทักษะของเราไปทำงานกับชาวบ้าน เราคิดว่าไข่ร้อยนึง เราก็ได้แล้วร้อยบาท ขอแค่ใบละบาท ชาวบ้านก็โอเค เราลงทุนให้พวกเขาปลูกทุกอย่างที่ได้เงิน มีคนให้ที่ดินบอกว่าวาร์ตานีอยากทำอะไรก็ทำ เราก็เอานักข่าวเราทั้งหมดไปไถที่ ไม่รู้จะเริ่มจากใครก็ต้องเริ่มจากเราก่อน ผมเองเคยทำ แต่มีบางคนไม่เคยทำก็ต้องเริ่มทำ เพราะผมบอกเลยว่าสองปีเราต้องบริหารกันเองได้และเราจะไม่พึ่งแหล่งทุน เพราะเราถอดบทเรียนจากหลายองค์กรพบว่า ถ้าเราพึ่ง เราจะอยู่ไม่ได้ เราต้องทำให้ขาเราแข็งแรงก่อน ก็ปลุกใจเจ้าหน้าที่เราอย่างเดียว ว่าให้สู้เพื่อพวกเรา 

Ruslan Musor
รุสลัน มูซอ บรรณาธิการบริหาร สำนักสื่อวาร์ตานี

Patani NOTES แปลว่าเคยมีแหล่งทุนให้ แล้วมีปัญหา

รุสลัน มีคนให้ทุนา เขากำหนดกรอบ พอดีตอนนั้นโดนกอ.รมน.คุมด้วย เขาบอกว่าถ้าให้วาร์ตานีก็จะต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้ ประเด็นอ่อนไหวเขาไม่ให้ แต่เขาบอกว่าให้ทุนเรื่องการทำข่าว ผมก็บอกว่านี่เป็นข่าว เขาบอกว่าไม่ได้ แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้ปฏิเสธนะ ตอนนี้เราก็รับอยู่เสมอ ใครอยากเสนอเรารับหมด 

สามปีแรกเราเริ่มไปจับงานเครือข่าย คือถ้าเรานำเสนอคนเดียวเราจะเป็นผู้โดดเดี่ยว เราเลยปรับ จะทำอย่างไรที่ให้พื้นที่กล้าแสดงออก กล้าที่จะส่งเสียงได้ เพราะเขาต้องกำหนดชะตากรรมของเขาเอง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครที่มากำหนด นั่นแหละเป็นนโยบายการไปทำเรื่องสร้างนักข่าวในพื้นที่ ไปสร้างพื้นที่ให้เขากล้าสื่อสาร

Patani NOTES   แล้วการสร้างพื้นที่ตรงนี้ มันบ่งบอกอะไรเราบ้าง

รุสลัน ถ้าเรามองการสื่อสารในพื้นที่ คนสื่อสารตลอด แต่สื่อสารแค่เรื่องของเขาไม่ได้สื่อสารว่าสังคมเป็นยังไง คนรอบข้างเป็นยังไง ในการอบรมเราแค่ไปสอนเขาเรื่องประเด็นที่เขาอยากสื่อสาร ไม่ใช่แค่ประเด็นส่วนตัวเขาอย่างเดียว ประเด็นของสังคมมันต้องออกมาด้วย คือคนเดี๋ยวนี้เป็นนักสื่อสารกันหมดแล้ว แต่จะสื่อสารอย่างไรให้มันได้ประโยชน์กับสังคมมากที่สุด และพยายามสื่อสารเสียงที่มันเล็กที่สุดให้ออกมาข้างนอกให้ได้ จะทำยังไงแบบไหน เราพยายามผลักดันในเรื่องนี้ 

Patani NOTES คนเข้าใจไหม

รุสลัน เข้าใจ ยิ่งคนยุคนี้ ไม่ใช่ยุคเราที่ต้องมานั่งอธิบายสองชั่วโมง สามชั่วโมง คนเดี๋ยวนี้อธิบายปุ๊บทำทันที มันเร็วมาก ผมอบรมรุ่นผมเมื่อก่อนสองปี ผมเอาหลักสูตรสองปีมาอบรมแค่สามวัน ทำได้หมด วิดีโอ งานเขียน กราฟฟิก แล้วทำกับมือถือด้วย แต่ก่อนพวกเราอบรมต้องมีกล้อง โน้ตบุ๊ก เด็กเดี๋ยวนี้ทำได้หมด แต่ผมก็บอกกับทุกคนว่าเราอย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว ยิ่งเราเป็นนักสื่อสารห้ามเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะการสื่อสารมันมาตลอด ประเด็นมันมาตลอด ทุกอย่างเปลี่ยนตลอด ถ้าเรารู้สึกว่าเต็มแก้วเมื่อไหร่ เราจะปิดกั้น แล้วเราจะไม่เปิดให้คนอื่น นี่คือจุดอ่อนของหลาย ๆ คน

Patani NOTES คนที่เราอบรมไป พวกเขาไปทำงานด้านการสื่อสารใช่ไหม

รุสลัน เขาทำ ส่วนมากจะเป็นเยาวชนที่สนใจด้านสื่อ แล้วก็ชาวบ้าน ชาวบ้านทั่วไปที่เขาอยากทำสื่อมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีใครไปสอนเขา คนแก่ก็มี แล้วเขารู้สึกภาคภูมิใจมากเมื่อไหร่ที่เขาได้เขียนแล้วก็ส่งให้วาร์ตานี วาร์ตานีก็กรองแล้วเอาขึ้น ก็เหมือนสมัยเราที่เราเขียนแล้วให้สื่อโพสต์ในเพจของเขา ผลงานเราได้ขึ้นแล้ว คือพื้นที่แบบนี้ควรมี เพราะคนอยากสื่อสาร ถ้าเราเป็นพื้นที่ตรงนี้ได้ เปิดให้ ใครอยากสื่อสารก็มา หลังจากนั้นเขาจะไปสื่อสารกับใครก็ได้ แล้วเราอย่าไปตั้งกรอบให้เขาว่าคุณต้องส่งให้เรานะ 

Patani NOTES สิ่งที่มันได้ประโยชน์กับพื้นที่หลังจากที่ได้สื่อสารแล้ว ได้รับเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง

รุสลัน มันเป็นการเปิดพื้นที่พูดคุยมากขึ้น การคุยระหว่างคนมากขึ้น คนกล้าที่จะคุยมากขึ้น สมัยก่อนคนไม่กล้า แค่จะถ่ายรูปเขายังไม่กล้าแต่วันนี้เขากล้าที่จะเขียน กล้าที่จะถ่ายรูป เขากล้าที่จะคุยกันแล้ว มันเกิดพื้นที่การพูดคุยโดยธรรมชาติ ตรงนี้ผมเคยฟังนอร์เบิร์ต (นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิชาการที่ไปทำงานเผยแพร่เรื่องการสร้างสันติภาพในจชต.) อธิบายเรื่องการสร้างสันติภาพระหว่างแทร็กสอง แทร็กสาม (track หรือแทร็กในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่ถูกจัดในนิยามการคลี่คลายความขัดแย้ง เช่นแทร็ก 1 คือคู่ความขัดแย้งโดยตรง ในกรณีนี้คือระหว่างรัฐและขบวนการฯ) ผมนิยามแทร็กสามมันคืออะไร ต้องเป็นยังไง พอไปทำ มันเกิดพื้นที่จริง ๆ คนมันกล้าคุย กล้าคุยเรื่องการปกครองตนเอง มันต้องใช้ระบบอย่างไร ประชาธิปไตยอย่างไร มันเริ่มมีเสรีภาพในการพูดคุยมากขึ้น มันเกิดปรากฏการณ์ดอกไม้แห่งสันติภาพ มันผุดขึ้นมา นี่คือแทร็กสามที่คนทำสื่อนิยาม และไม่ใช่ที่เดียว หลาย ๆ พื้นที่เริ่มคุยกัน มันไม่ใช่ประเด็นที่คนไปยัดเยียดว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีแดง มันเป็นประเด็นที่หลากหลายขึ้นมา การแก้ปัญหาที่หลากหลายมันเกิดขึ้นมา 

คนกล้าจะคุยมากขึ้น เมื่อก่อนแค่จะถ่ายรูปยังไม่กล้า คนมันกล้าคุย มันเริ่มมีเสรีภาพในการพูดคุยมากขึ้น กล้าคุยเรื่องการปกครองตนเอง มันต้องมีระบบอย่างไร ประชาธิปไตยอย่างไร มันเกิดปรากฎการณ์ดอกไม้แห่งสันติภาพ

Patani NOTES แสดงว่าพื้นที่จะเปิดขึ้นได้ ถ้าเรามีความกล้าใช่ไหม

รุสลัน ใช่ ตรงนั้นสำคัญ วาร์ตานีถ้าไม่กล้าแม้กระทั่งกับบี (บีอาร์เอ็น) กับรัฐ วาร์ตานีก็เป็นอย่างนั้น แบบเดิม ถ้าวาร์ตานีกล้าเมื่อไหร่ เรากล้าแสดงออก กล้าที่จะนำเสนอ ชาวบ้านเองเขาก็กล้าที่จะนำเสนอ เพราะเขาเองก็ดูเราอยู่ แค่เรื่องแบบนี้ถ้าเราไม่กล้า ชาวบ้านก็คงไม่กล้าที่จะคุยเหมือนกัน 

Patani NOTES เรื่องคนมาเยี่ยม โดนทุกวันไหม

รุสลัน น่าเป็นไปได้ ตอนนี้เขามาเยี่ยมแบบกินกาแฟ พูดคุย ไม่ได้มาแบบชุดใหญ่ ก็มาเยี่ยมทุกวัน แต่ก่อนคุยกันไม่รู้เรื่อง ตอนนี้เริ่มรู้เรื่อง เขาเริ่มฟังบ้าง คุยกันได้บ้าง แลกเปลี่ยนกันได้บ้าง 

Patani NOTES เวลาเขามาเยี่ยม มาคุยอะไร

รุสลัน ถามว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้  ทำไมต้องประเด็นนี้ แล้วมันก็จะมีการต่อรอง  ด้านหนึ่งมันก็มี เรานำเสนอรัฐไม่มาหาเรา แต่จะไปหาแหล่งข่าวของเรา ชาวบ้านที่ให้ข้อมูล เช่น บอกว่าที่ไม่ปล่อยเพราะคุณออกสื่อ มันเลยทำให้เรารู้สึกผิด เราเลยบอกว่าหลังจากนี้คุณต้องกล้า ถ้าคุณไม่กล้าเราไม่ก็นำเสนอ กับชาวบ้านเราก็คุยแบบนี้ ถ้าตัวคุณยังไม่กล้าผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าคุณกล้า ผมก็กล้า เพราะผมไม่มีอะไรจะเสีย ผมเคยเสนอเขาว่า ถ้าพี่อยากให้วาร์ตานีออกข่าวพี่ก็เชิญมาผมจะได้ไปทำ เขาก็ไม่เชิญ พอเขาไม่เชิญเราก็ไม่ทำ เพราะชาวบ้านที่ออกข่าวกับเราเป็นเพราะเขาขอร้องให้เราไปทำ วาร์ตานีลงมาหน่อย รู้สึกอึดอัดจังเลย ถูกปิดล้อมอะไรอย่างนี้ เราก็ลงไปทำ เพราะเราไม่ใช่นักข่าวที่มีเงินตามประเด็นทุกอย่าง

Patani NOTES ที่เขาตั้งคำถามว่า ทำไมเล่นประเด็นนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร

รุสลัน ส่วนมากเป็นการบังคับใช้กฎหมายของเขา แค่เขียนว่าไม่รู้ชะตากรรม เขาก็ทำเป็นประเด็น ทำไมต้องเขียนแบบนี้ เราก็บอกว่าก็เมียเขาไม่รู้จริง ๆว่าสามีเขาอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าชะตากรรมสามีเขาเป็นอย่างไร บางทีถึงกับฟ้องหมิ่นประมาท นักข่าววาร์ตานีมีโดนฟ้องแล้วคนหนึ่ง ผมคุยกับผู้ใหญ่ว่าถ้าเราจะทำสื่อจริง ขาข้างหนึ่งต้องอยู่ในคุก คือเราสองคนก็รับได้ อย่าให้เจ้าหน้าที่เราโดน 

นักข่าวผมคนหนึ่งพี่ชายเขาโดนจับ เขาก็เขียนข่าวว่าพี่ชายเขาโดนจับ แล้วก็ไม่รู้ชะตากรรม ก็เขาไม่รู้ชะตากรรมจริง ๆ ว่าพี่เขาอยู่ข้างในนั้นเป็นยังไง เขาก็เขียนออกมา แล้วก็ส่งมาให้กอง บก. กองบก.เอาลง ผมดูแล้ว ให้ทนายดูด้วย จะฟ้องข้อไหน ฟ้องว่าไม่รู้ชะตากรรม จะกลายเป็นหมิ่นประมาทเขาไหม ผมก็ไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่ได้ระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่คนนี้ไปจับกุม ไม่มี เราเขียนว่าหน่วยนี้ แต่เขาไปฟ้องในนามบุคคล 

Patani NOTES ที่หนักที่สุดคืออะไร

รุสลัน ปิดล้อมร้านน้ำชา กำลังคุยกับกองบก. กำลังจะทำประเด็นลำพะยา (เหตุการณ์ลำพะยา) มันเป็นร้านกาแฟ เราไม่รู้ว่ามีใครบ้างอยู่ในร้านกาแฟ เราก็นั่งคุยหน้าร้านกาแฟตามปกติของเรา กำลังคุยอยู่ดี ๆ เขาก็มากันเต็ม ผมก็บอกว่าผมเป็นนักข่าว โชว์บัตรวาร์ตานีให้ดู เขาบอกไม่สน จะเอาไปอย่างเดียว จะใหญ่มาจากไหนไม่รู้ ไปก็ไป ไปทั้งคณะกอง บก. เหลือคนหนึ่งที่ไปประชุมช้า ผมก็ติดต่อใครไม่ได้ เพราะโทรศัพท์โดนยึด แต่เขามาทีหลังและเป็นคนที่เห็นผมขึ้นรถ ก็เลยเขียนข่าว กระแสก็มาเลย ผมก็บอกแล้วว่าอยากคุยอะไรก็คุย แต่เชิญตัวไปแบบนี้คนจะเข้าใจผิด 

Patani NOTES แล้วที่ผ่านมาเคยได้รับสัญญาณจากฝ่ายขบวนการบ้างไหมว่าบางสิ่งที่เราทำเขาไม่ชอบ

รุสลัน มี ประเด็นที่พลาดของเขา ประเด็นที่มันเตือนสติขบวนการ เขาก็จะมา แต่มันจะไม่เหมือนกัน คือเขาไม่บอกตรง ๆ กว่าจะแปลได้ก็ใช้เวลาพอสมควร  วิธีการต่างอาจต่างแต่ผลเหมือนกัน อย่างฝ่ายรัฐที่มาเยี่ยมเราก็บอกว่าไม่เป็นการข่มขู่ บอกว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ก็เหมือนกันกับบีอาร์เอ็น  

เราบอกเรานิยามตัวเองเป็นพื้นที่กลาง เราก็ต้องรับให้ได้ทั้งสองด้าน คนที่มาจากบีอาร์เอ็นอยากคุย เราก็ยอมรับ มาจากรัฐอยากแลกเปลี่ยนกับเราก็มา มานั่งคุยกัน ในการคุยของเขาอาจจะมีแข็งกร้าว การคุกคามเราอาจจะคือการไปคุกคามเจ้าหน้าที่เรา ไปคุกคามที่บ้านเขา ไปเก็บดีเอ็นเอ ผู้ใหญ่นิก็โดนไปสองครั้งแล้ว นักข่าวเราหลายคนก็โดนเก็บดีเอ็นเอ 

มันมีคำถามหนึ่งที่พี่นวลน้อยเคยบอกผมว่าคนทำสื่อไม่รวย ผมคิดนานมากถึงสองปี ผมคิดกับผู้ใหญ่นิ ทำยังไง คนทำสื่อไม่รวย ทำสื่อให้รวยต้องทำยังไง เพราะถ้าเรารวยเราอยู่ได้ทั้งหมด แต่มันเป็นการบริหารจัดการ ถ้าเราเอาคนทั้งหมดไปทำเรื่องการทำเงินมันไม่ได้ แต่ถ้าเราจัดสรรดี บริหารดีมันอาจอยู่ได้ ที่ผมเจอก็คือท้องก็หิว อุดมการณ์ งานก็อยากทำ  ผมก็ถามเหมือนพี่ว่าเราจะเลือกอะไรก่อน แล้วมันตกผลึกร่วมกันว่าต้องทำทั้งสองอย่าง แต่เราทำเหนื่อยกว่าคนอื่นนิดนึง ปี สองปีแรก เรายอมเหนื่อย มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ตอนนี้เราไม่ได้ยุ่งเลยเรื่องนักข่าวเราทั้ง 18 คน มันเป็นกลไกที่เราไปสร้างไว้

คือมันต้องลองพิสูจน์ ผมเชื่อเสมอว่า ทฤษฎีบางทีมันไม่ตายตัว ผมก็ทำอย่างนี้มาตลอดปรับทฤษฎีให้เข้ากับทุกคน ให้ไปด้วยกันได้  ทักษะแต่ละคนไม่เหมือนกันแล้วทุกคนมาเสนออยากทำโน่นทำนี่ ข่าวก็อยากทำ เราก็ปรับเปลี่ยนลองทำดู ทำได้ไหม ทำสามเดือนไม่ได้ ก็ทำใหม่ ทำไปเรื่อย ๆ จนมันมีซักอย่างหนึ่งที่สำเร็จ พอมันสำเร็จปุ๊บมันจะต่อยอดทันที  เพราะเรานิยามตัวเองว่าน้ำไม่เต็มแก้ว เราใส่ตลอด

Patani NOTES ทีมงานเปลี่ยนหน้ากันบ้างไหม

รุสลัน มี ชุดนี้ที่ผมบอกมีสามสิบคน คือชุดใหม่ น้อง ๆ ที่จบม. 6 ที่อยากทำงานสื่อ ก็โอเคมาอยู่ด้วยกัน ทีมรุ่นผมจะขึ้นเป็นบอร์ดบริหาร พยายามสร้างพื้นที่ให้น้องขึ้นมา อยากทำอะไร อย่างรายการหลายรายการไม่ใช่ความคิดพวกผม เป็นความคิดน้อง ๆ ที่เขาอยากทำ  เราคิดไม่ทัน ตอนนั้นขอแค่ความมั่นคงภายในให้คนวาร์ตานีอยู่รอด เราคิดได้แค่นี้ แต่พอน้องมา เราเปิดพื้นที่ให้น้อง มันคือการต่อยอด วาร์ตานีเกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะ แม้กระทั่งเพจภาษาอังกฤษก็เริ่มมา ถามว่า 18 คน บอร์ดบริหารใครบ้างเก่งภาษาอังกฤษ ไม่มี อ่านภาษาไทยยังตกเลย 

เราดูว่าคนที่มาดูเราวันนี้ชัดเจนว่าคือคนในพื้นที่ เราพยายามสื่อสารเรื่องการเมืองข้างบนให้คนในพื้นที่ ทำไมเราต้องสื่อสารภาษาไทย ทำไมเราไม่สื่อสารภาษามลายูให้มันเข้ากับคนพื้นที่ การสื่อสารข้างนอกบางทีมีองค์กรอื่นมาช่วยสื่อสาร แต่บางทีคนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจประเด็นนี้ เราต้องทำให้คนข้างในเข้าใจ 

Patani NOTES สิ่งที่ภูมิใจสำหรับวาร์ตานีคืออะไร

รุสลัน เรามองความสำเร็จคือ ประชาชนกล้าที่จะสื่อสาร  วันนี้คนกล้าพูด กล้าคุย คำว่า การกำหนดชะตากรรมตัวเองมันเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ คนกล้าคุย นี่คือความสำเร็จที่เราพยายามทำมาสิบปี มันไม่ได้สูญเปล่า

Patani NOTES ก่อนหน้านั้นที่คนไม่กล้า เพราะอะไร

รุสลัน ความกลัว กลัวหลาย ๆ อย่าง เหมือนที่เราโดน ถ้าชาวบ้านโดนเขาจะกลัวสิบเท่า แม้กระทั่งกลัวขบวนการ กลัวทั้งรัฐ กลัวทั้งสองด้าน มันอยู่กับความกลัวนั้นโดยที่ไม่ทะลุออกมา วาร์ตานีก็พยายามปรับเปลี่ยน สองปีข้างหน้าจะทำให้เป็นสมาคมแล้วดึงนักสื่อสารรุ่นใหม่ เราจะคุยเรื่องการปกป้องสิทธิของนักสื่อสาร ยิ่งกับรัฐบาลชุดนี้ มีโดนคุกคามเยอะ แล้วก็โดนปิดกั้นไม่ให้คุยอะไรหลาย ๆ อย่าง  นักสื่อสารก็อย่าไปยอมกับรัฐต้องกล้าแสดงออก แล้วบางทีความเป็นอินดี้ของนักสื่อสารคือการไม่อยากอยู่ในขบวน เราก็ไม่ได้บังคับว่าคุณต้องมาอยู่ในสมาคม แต่เราจะปกป้องพวกเราด้วยกันเอง เพราะถ้าเราไม่ปกป้องพวกเรา นักสื่อสารด้วยกัน เราก็จะถูกกระทำ

Patani NOTES คือสรุปว่าคนทำงานแบบนี้ต้องมีความสามารถในการสร้างคอนเน็คชั่นกับชาวบ้าน  ความสามารถในงานข่าว และต้องมีความสามารถในการบริหารด้วย 

รุสลัน ตั้งแต่เป็นนักศึกษาผมบอกว่าต้องพัฒนาพวกเราให้เป็นผู้นำ  พอผู้นำเยอะเราแตก  เราไม่ได้สร้างคนให้เป็นนักบริหาร ตอนผมทำงานภาคประชาสังคมก่อนจะมาทำสื่อ ก็ทำองค์กรในชุมชน คำว่าผู้นำ ผมเน้น แต่ต้องบริหารให้ได้ พอมาทำงานวาร์ตานีเราก็ต้องบริหารให้ได้ พอมีการบริหาร การจัดการที่ดีงานมันจะเดินไปได้ แต่ถ้าไม่มีการบริหารจัดการมันจะมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ามา เพราะทุกคนเป็นผู้นำ เอาแต่นำไม่ได้บริหาร และความท้าทายของการบริหารคือ เราต้องบริหารทั้งความคิดและจิตใจเขา แบกความทุกข์ของเขาไว้ ผมเข้ารพ. ผมเครียด ไปคุยกับหมอ หมอบอกหน้าแบบนี้เครียด เป็นซึมเศร้า แต่ผมหายก็เพราะคนในที่ทำงาน วาร์ตานีเริ่มคุยงานข่าวแบบไม่เครียด เริ่มคุยแบบสนุก เปลี่ยนความเครียดให้เป็นความสนุก เปลี่ยนทัศนะความคิดมุมมองตลอด แล้วเราก็ไม่ซีเรียสเรื่องโครงสร้างอะไร ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องเป๊ะ  การบริหารองค์กรมันต้องปรับเปลี่ยน พออยู่แบบนี้มาได้ก็เริ่มสนุก แล้วเราก็อยู่เป็นครอบครัวด้วย ปีหนึ่งเรานัดคุยกับทุกคนทั้งลูกเมียเขาด้วย   

Patani NOTES งานข่าวดูแลกันอย่างไร

รุสลัน งานข่าวเป็นทีมบรรณาธิการดูแล พวกเราจะไม่มีเป๊ะว่าคนนี้คือ บก.จะเป็นบอร์ดบรรณาธิการ เวียนกัน เราสร้างระบบ เราไม่ได้สร้างบุคคลมันเลยไปด้วยกันได้ 

(Visited 513 times, 1 visits today)
Close