Written by 6:58 pm Local History

เปิดบันทึกชาวตะวันตกคนแรกที่สำรวจลุ่มน้ำสายบุรี “เฮนรี หลุยส์”

ลุ่มน้ำสายบุรีอาจฟังดูไม่น่าจะเป็นจุดสนใจของคนนอกโดยเฉพาะในยุค 130 ปีที่แล้ว แต่เฮนรี หลุยส์ (Henry Louis) นักสำรวจทรัพยากรและแหล่งแร่ชาวยุโรปเป็น “คนขาว” คนแรกที่เข้าสู่พื้นที่นี้เมื่อปี 1890 เพื่อสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรีขึ้นไปจนถึงเหมืองทองโต๊ะโมะรวมเป็นเวลาทั้งหมดร่วม 7 เดือน เขาได้ทำเป็นแผนที่ระบุพื้นที่ทำเหมืองดีบุก ตะกั่วและทองในเขตสำคัญของนราธิวาสในเวลาต่อมา

บันทึก 25 หน้าดังกล่าวของหลุยส์ได้รับการตีพิมพ์ไว้ในนิตยสารวิชาการ The Geographical Journal ฉบับของเดือนก.ย.ปี 1894 หรือ 2437 นิตยสารนี้ Royal Geographical Society ตีพิมพ์ร่วมกับ Institute of British Geographers เป็นนิตยสารที่รวบรวมงานการค้นพบใหม่ๆที่นำเสนอโดยนักสำรวจในเวลานั้น

บันทึกของเฮนรี หลุยส์ฉบับนี้น่าจะยังไม่ได้รับการเผยแพร่เป็นภาษาไทย Patani NOTES ขอถือโอกาสนี้เก็บความบางส่วนมานำเสนอเพื่อเปิดโลกแห่งอดีตให้กับเราได้รู้จักลุ่มน้ำสายบุรีกับผู้คนในยุคนั้นผ่านสายตานักสำรวจชาวยุโรปรายนี้

ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นเล็กน้อยว่า ช่วงปี 1890 หรือ 2437 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการสำรวจนั้น อังกฤษมีเขตปกครองแค่สิงคโปร์และพื้นที่อีกบางส่วนเช่นมะละกา บางแห่งก็เป็นการเช่าเพื่อทำการค้าเช่นปีนัง พื้นที่เหล่านี้เรียกรวมๆว่า Straits Settlements ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ British East India Company การแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆของอังกฤษดูเหมือนจะมีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นตัวนำดังที่เห็นได้จากที่อินเดียและปีนัง ในขณะที่สยามเวลานั้นปกครองพื้นที่ภาคใต้สุดรวมทั้งถือว่ารัฐมาเลย์หลายรัฐในคาบสมุทรมลายาเป็นรัฐบรรณาการของตน โดยมีสงขลาหรือสิงโกร่าเป็นศูนย์บัญชาการสำคัญ

หลุยส์เองอธิบายสายสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัฐมลายูหรือรัฐมาเลย์ไว้ด้วย เขาบอกว่าสยามนั้นยกทัพไปรบกับบรรดารัฐขนาดเล็กในดินแดนนี้หลายครั้งหลายหน เข้าไปไกลและลึกมาก รัฐมาเลย์แม้พ่ายแพ้แต่ไม่ได้ยอมรับการขึ้นอยู่กับสยามตลอดเวลา ในบรรดารัฐมาเลย์ต่างๆที่มีสุลต่านปกครอง มีสามรัฐที่ถือว่าใหญ่กว่าเพื่อน นั่นคือปาตานี กลันตัน และตรังกานู โดยปาตานีถือว่ามีอิทธิพลมากที่สุด การต่อต้านสยามและสู้รบมีหลายครั้ง เช่นในปี 1775 และล่าสุดสำหรับเขาคือ 1820 ซึ่งหลุยส์เขียนไว้ในบันทึกว่า ทั้งๆที่ชาวสยาม “เสียเปรียบทั้งทางรูปร่าง ความกล้าหาญ ความสามารถในการรบ” แต่กลับสามารถเอาชนะชาวมาเลย์ได้ หนสุดท้ายมีคนจำนวนมากถูกนำตัวไปบางกอก พวกเขาไปตั้งชุมชนใหม่ที่ “คลองขุดใหม่” ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง

ส่วนปาตานีเองถูกแบ่งเป็นพื้นที่ปกครองย่อยๆหลายเมือง ชื่อที่เขาระบุอาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนชื่อที่เรียกกันก็ได้ กล่าวคือ Tojun หรือ Nongcheh (ตุยงหรือโต๊ะยงหรือหนองจิก) Jambu หรือ Jering (ยามูหรือยะหริ่ง) Telubin หรือ Sai (ตาลุบันหรือสายบุรี) Jala (ยะลา) Lege (ระแงะ) ยังมีอีกสองที่ที่เขาไม่แน่ใจว่ารวมอยู่ในพื้นที่ปกครองใหม่หรือไม่ แต่คือ Tiba (เทพา) และ Reman (รามัน) ที่หลังนั้นเขาบอกว่าเป็นอิสระมาก่อน นอกจากนั้นที่น่าสนใจคือหลุยส์บอกว่า พื้นที่ที่อาจจะเรีียกได้ว่าเมืองที่มีสภาพปกครองตนเองด้วยก็คือ Hulu Sai หรือ Tomo (โต๊ะโมะ) อันเป็นพื้นที่ที่คนจีนเข้าไปทำเหมือง เมืองเหล่านี้อยู่ในการดูแลของเจ้าเมืองสิงโกราหรือสงขลาที่เขาเรียกว่า เจ้าคุณสิงโกรา Chakun of Singgora หรือสงขลาที่เขาสะกดภาษาอังกฤษเป็น Songkhra

เฮนรี หลุยส์ได้ข้อมูลตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ว่า ลุ่มน้ำสายบุรีที่เขาสนใจนั้นแทบจะไม่เคยมีใครไปสำรวจ หรือจะพูดว่าไม่เคยมีเลยก็ว่าได้ แม้แต่คนมาเลย์ในพื้นที่ก็ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปในหลายๆจุด ประเด็นว่าพรมแดนของแต่ละเขตเมืองหรือรัฐอยู่ที่ไหนแน่เป็นเรื่องที่บอกไม่ได้ และมันก็ไม่สำคัญด้วย ตราบใดก็ตามที่คนในพื้นที่รู้ว่าพวกเขาต้องเสียค่าบรรณาการให้ราชาองค์ใด

ขณะที่พูดถึงชาวสยามว่าด้อยกว่าชาวมลายูในทางกายภาพ ทักษะในการต่อสู้และความกล้าหาญ อีกด้านเขาก็พูดถึงคนมาเลย์ว่าเป็นคนที่ชอบต่อสู้มาก พอๆกับที่เกลียดการทำงาน

กับความสัมพันธ์และการจ่ายบรรณาการให้กับสยามนั้น หลุยส์บันทึกไว้ตามความเข้าใจของเขาว่า ราชาหรือสุลต่านในรัฐมาเลย์จะต้องเข้าสู่พิธีดื่มน้ำสาบานทุกสองปี และทุกสามปีต้องถวายเครื่องราชบรรณาการที่ประกอบไปด้วยต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ที่จะสูงระหว่าง 1-3 ฟุต ซึ่งหลุยส์บันทึกว่าเขาไม่คิดว่ามีมูลค่าอะไรมากมาย ต้นที่ใหญ่ที่สุดน่าจะหนักประมาณ 20 ออนซ์หรือในราวครึ่งกิโลกรัมเท่านั้น แต่ว่าพวกเขาจะต้องมีสิ่งของอย่างอื่นประกอบไปด้วย เช่นทองคำ ช้าง ควาย และอื่นๆ จะต้องถวายมากเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความสำคัญสถานะของรัฐนั้นๆ มูลค่านั้นหลุยส์คาดว่าอยู่ระหว่าง 5,000 -15,000 ดอลลาร์ โดยส่งไปที่สงขลาเพื่อให้ส่งต่อให้บางกอกอีกทีหนึ่ง

ภาพเหรียญมาจากหนังสือ “เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงก์” ของ นวรัตน์ เลขะกุล


เขาพูดถึงการค้าในยุคนั้นว่า ใช้เหรียญเก่าของสเปนและเม็กซิโกซึ่งคนจีนนำเข้าไปใช้ และยังมีการใช้เหรียญเล็กๆที่เรียกว่า pitis ที่พวกราชาใช้ เหรียญทำจากดีบุกผสมตะกั่ว มูลค่าประมาณ 960-1,280 เหรียญต่อหนึ่งดอลลาร์ ส่วนตัวเขาเองพยายามจะใช้เงินของ Straits Settlements และเงินเยนของญี่ปุ่น แต่คนไม่ค่อยรับ
.
pitis หรือ ปีติส ที่ว่านี้ ณายิบ อาแวบือซา นักวิจัยในพื้นที่อธิบายว่าน่าจะเป็นภาษามลายูที่หมายความว่าเงินตรา เป็นคำที่ยังใช้กันอยู่ในหมู่ชาวกลันตัน ในขณะที่คนในสามจังหวัดใช้คำว่า ดูวิอ์ แทน

กลับไปที่บันทึกของเฮนรี หลุยส์ที่ลงพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี กับสาเหตุว่าทำไมหลุยส์จึงเลือกเข้าไปสำรวจลุ่มน้ำสายบุรี เขาชี้ว่ามีข้อมูลว่าพื้นที่นี้มีการทำเหมืองทองและตะกั่วหลายแห่ง นอกจากนั้นในส่วนอื่นของพื้นที่โดยเฉพาะที่เรียกว่าหุบเขาปาตานี Patani Valley หรือแอ่งปาตานีได้รับการสำรวจแล้วค่อนข้างมาก เนื่องจากเคยมีคนเข้าไปทำเหมืองมาแล้ว เขาอ้างถึงบริษัทอังกฤษที่เข้าไปทำเหมืองเงินและตะกั่วในปาตานีในช่วงสิบกว่าปีก่อนหน้าที่เขาจะเข้าไป การที่มีผู้สนใจทำเหมืองแร่ก็เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้มีการเข้าไปสำรวจและทำแผนที่ ในเมื่อหุบหรือแอ่งปาตานีมีคนทำไว้ค่อนข้างมาก เขาจึงหันไปหาลุ่มน้ำสายบุรีแทน ตัวเขาเองก็เคยจับมือเพื่อนนักสำรวจด้วยกันชื่อ H.M. Becher เขียนถึงปาตานีมาแล้วเช่นกัน เพื่อนของหลุยส์คนนี้ จากการค้นคว้าข้อมูลต่อมาพบว่าเป็นคนที่หลุยส์จับมือตั้งบริษัททำเหมืองด้วยกันในชื่อ Becher, Louis & Co แต่เขาเสียชีวิตต่อมาในระหว่างการออกทำงานสำรวจ ซึ่งหากพิจารณาจากการเดินทางของพวกเขาก็จะพบว่าเสี่ยงอันตรายไม่น้อยจึงไม่น่าแปลกใจที่นักสำรวจจะเสียชีวิตในการทำงาน

บันทึกของหลุยส์ฉบับนี้เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันในหมู่ชาวตะวันตกนั่นเอง เขาไม่ได้เข้าสู่พื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรีเพียงคนเดียว แต่นำผู้ช่วยชาวยุโรปไปด้วยสองคน หนึ่งในนั้นเป็นนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องโลกมาเลย์ พูดภาษามลายูได้ และยังมีผู้ช่วยทั่วไปชาวจีนอีกสองคน คณะของเขาออกจากเดินทางจากสิงคโปร์เมื่อ 16 ส.ค. 1890 เริ่มต้นด้วยการนั่งเรือไปสงขลาใช้เวลาสองวันก่อนจะนั่งเรือต่อไปสายบุรี

ที่สงขลาเขาบรรยายสภาพบ้านเมืองไว้เช่นกันแม้ว่าจะไม่มาก หลุยส์กล่าวถึงวัดบนเขาที่เห็นได้แต่ไกลจากในเรือ เขาที่วัดตั้งอยู่เขาเขียนว่า Tan Kwan และเล่าอีกว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่บนแผ่นดินที่ยื่นออกไปในอ่าวที่เหลือทางออกทะเลไว้เพียงช่องเดียวที่แคบและตื้นจนไม่คิดว่าเรือใหญ่จะเข้าไปได้ แม้แต่เรือเล็กที่เขาเรียกว่า “ท้องกาง” ก็ยังลำบาก

หลุยส์บรรยายสภาพตัวเมืองสงขลาว่ามีการทำกำแพงล้อมพื้นที่ส่วนใหญ่เอาไว้ ตัวกำแพงซึ่งสูงราว 15 ฟุตถูกเจาะช่องเป็นประตูหลายประตู ประตูใหญ่สุดหันหน้าเข้าหาตัวทะเลสาบทำไว้ค่อนข้างสูงถึง 25 ฟุต ตัวประตูทำจากไม้สวยงามเป็นที่ประทับใจของหลุยส์ทีเดียว ด้านหน้ากำแพงส่วนหนึ่งมีตั้งปืนไว้จำนวนหนึ่ง เป็นปืนที่หลุยส์ให้ความเห็นว่าเก่าจนไม่น่าจะใช้การได้ ส่วนที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครที่เขาเรียกว่า เจ้าคุณสิงโกราหรือเจ้าคุณสงขลานั้นอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ มีรั้วกั้นแยกไปต่างหากแต่ยังอยู่ในเขตกำแพงเมือง ด้านหน้ามีศาล และมีสถานีตำรวจที่ยังมุงหลังคาด้วยจากหรือหญ้าแห้ง ตัวเมืองสงขลาในสายตาของหลุยส์มีหน้าตาเป็นสไตล์สยามแต่มีอิทธิพลจีนอย่างเห็นได้ชัด เขายังทันได้เห็นการนำนักโทษที่ล่ามโซ่ตรวนไปทำงานสร้างตลาดใหม่ ส่วนถนนหลักเป็นถนนที่เลียบกำแพงเมือง เป็นดินลาดทับด้วยซีเมนต์ เขากล่าวถึงตัวเมืองว่ามีบ้านเรือน ร้านรวงทำจากอิฐ คงมีเพียงทางตอนใต้ของเมืองที่มีบ้านบางหลังทำจากดินหลังคามุงจากหรือใบปาล์มในสไตล์มาเลย์ ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นของชาวสยามและคนจีน คนสยามใส่ผ้าไหมมีสีสัน คนจีนใส่เสื้อผ้าตามแบบของพวกเขา มีชาวมลายูน้อยและเขาบอกว่าส่วนใหญ่เป็น “ลูกผสม”

สินค้าที่ขายในเมืองเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เสื้อผ้า รวมถึงอาหาร ข้าว ปลาแห้ง รังนก เรซิ่นหรือขี้ชัน ของพื้นเมืองอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นของจากจีนและยุโรป สิงโกราหรือสงขลาเป็นจุดส่งผ่านสินค้าระหว่างผลิตภัณฑ์ของสยามและรัฐมาเลย์ สงขลาเองแทบไม่ได้ผลิตอะไรเอง ยกเว้นช่างทองและเงินชาวจีน ในช่วงนั้นมีเรือ “ท้องกาง” วิ่งระหว่างสงขลากับปาตานี กลันตันและตรังกานู

คนส่วนใหญ่ในเมืองคือชาวสยามและคนจีนที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ส่วนการใช้ภาษามาเลย์มีน้อยมาก สินค้าส่วนใหญ่เอามาจากบางกอก สงขลาถือว่าเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนส่งผ่านสินค้าไปยังที่อื่นๆ มีการผลิตสินค้าเองน้อยมาก หากจะมีการผลิตเองก็เป็นช่างทองและเงินชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในเมืองสงขลาสำหรับเฮนรี หลุยส์ คือตลาดที่มีผู้คนขวักไขว่รวมไปถึงพระ แต่ละคนตะโกนโหวกเหวกขอทางกันให้สนั่นไปหมด คนในตลาดมีทั้งคนทั้งสยาม จีน หรือแม้แต่ Kling ซึ่งเขาบอกว่าคือคนอาหรับ ซึ่งอันที่จริงแล้วจากการค้นข้อมูลพบว่า คำคำนี้คือ Keling เป็นคำที่ใช้เรียกชาวอินเดียตอนใต้ แม้ว่าในระยะหนึ่งจะมีคนนำไปเรียกชาวเปอร์เชียหรืออาหรับก็ตาม สงขลาทั้งเมือง หลุยส์คาดว่ามีประชากรประมาณ 5,000 คน นอกกำแพงเมืองมีบ้านเรือนผู้คนอยู่ริมทะเลสาบ และช่วงที่เป็นช่องทางเปิดออกสู่ทะเลด้านหนึ่งมีสิ่งปลูกสร้างคล้ายป้อมแต่ไม่เห็นอาวุธ

(Visited 132 times, 1 visits today)
Close