Written by 3:25 am Featured, Patani Notes, World

20 ปีเหตุการณ์ 9/11

จากเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถึงอัฟกานิสถาน เมื่อโลกเข้าสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ถือว่าครบรอบ 20 ปีในปีนี้ สำหรับเหตุการณ์โจมตีในสหรัฐฯเมื่อ 11 กันยายน 2544 หรือที่มักเรียกกันสั้นๆว่าเหตุการณ์ 9/11

เหตุการณ์ 9/11 ประกอบด้วยเหตุการณ์ย่อยที่เป็นการโจมตีรวมสี่ครั้งเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 หรือ 2001  กลุ่มบุคคลที่ลงมือมีรวมทั้งสิ้น 19 คน เป็นการกระทำที่ผ่านการวางแผนและเตรียมการอย่างยาวนาน พวกเขาแยกกันปฏิบัติการจี้เครื่องบินสี่ลำเพื่อใช้ก่อเหตุ เริ่มจากเวลาเช้าตรู่คือ 8.46 น. หนึ่งในเครื่องบินสี่ลำที่ถูกจี้นั้นบินเข้าชนหนึ่งในอาคารคู่แฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์  และอีกราวสิบเจ็ดนาทีถัดมา เครื่องบินลำที่สองพุ่งเข้าชนอาคารแฝดหลังที่สอง เครื่องบินลำที่สามเข้าชนอาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย  ลำที่สี่เผชิญกับการต่อสู้ของผู้โดยสารทำให้เครื่องบินลำดังกล่าวที่เรียกว่า Flight 93 ไปไม่ถึงที่หมายและตกลงบนที่ว่างในรัฐเพนซิลเวเนีย หากนับเวลาบินก็คือเครื่องบินลำนี้อยู่ห่างจากวอชิงตันดีซีไปราว 20 นาทีเท่านั้น

เหตุการณ์วันนั้นทำให้มีคนตาย 2,977 คน เป็นผู้คนที่มาจากประเทศต่างๆ 93 ประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิตเฉพาะในนิวยอร์คจากเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์คือ 2,753 คน ส่วนที่กระทรวงกลาโหม 184 คน บวกกับบนเที่ยวบิน 93 ที่มีผู้เสียชีวิต 40 คน

แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ในระหว่างที่อาคารหลังแรกของเวิลด์เทรดพังลงมาและการกู้ภัยเริ่มต้นขึ้นนั้น ท่ามกลางความชุลมุนของการรายงานข่าว การถ่ายทอดสด จนถึงเวลานั้นสาธารณชนทั่วไปก็ยังไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการก่อเหตุโดยเจตนา จนกระทั่งมีการนำเครื่องบินลำที่สองเข้าชนอาคารคู่แฝดในอีกสิบเจ็ดหรือสิบแปดนาทีถัดมาจนอาคารทั้งสองหลังพังทลาย เศษจากอิฐหิน ปูนและฝุ่นขาวคลุ้งปลิวว่อนทั่วบริเวณ  นั่นเป็นจุดที่ทำให้ชาวอเมริกันตระหนักในบัดนั้นว่าพวกเขาถูกโจมตีเข้าให้แล้ว

เว็บไซต์ 9/11 Memorial&Museum ให้ข้อมูลว่าผู้ลงมือทั้งหมด 19 คนนั้น 15 คนมาจากซาอุดิอาระเบีย 2 คนมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 คนมาจากเลบานอน และอีกหนึ่งมาจากอียิปต์ ส่วนเวบไซท์ Britannica มีรายงานของปีเตอร์ เบอร์เก้นระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 9/11 ที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุชกับสภาคองเกรสสหรัฐฯตั้งขึ้นสรุปว่า ผู้วางแผนและออกความคิดคือคาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด คนที่ทำให้เป็นจริงคือโอซามา บินลาเดน การโจมตีสหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่กว่าในการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเมืองตะวันออกกลาง พวกเขาพบกันในอัฟกานิสถาน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสรุปว่า 9/11 เป็นผลการลงมือของกลุ่มอัลไคด้า หรืออัลกออิดะห์ ภายใต้การนำของบิน ลาเดน ซึ่งถูกปักธงเป็นกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ สังคมอเมริกันเองต้องใช้เวลาแสวงหาคำอธิบายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำความเข้าใจกับเรื่องนี้อีกเนิ่นนาน จนถึงปัจจุบันก็ยังมีทฤษฏีต่างๆอีกมากมายเกี่ยวกับ 9/11 ที่ตั้งคำถามเรื่องใครเป็นผู้ลงมือกันแน่ แม้กระทั่งเรื่องว่าชาวยิวอยู่เบื้องหลังการโจมตีก็มี

แต่ที่ชัดเจนคือ 9/11 ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวอเมริกันอย่างมากและลึกไปกว่าจำนวนคนเจ็บและตายที่ปรากฎออกมา สำหรับหลายคนมันสั่นสะเทือนความคิดของพวกเขาในเรื่องของชีวิตและความปลอดภัย

สำนักข่าวเอบีซียกคำพูดของอัลเบอร์โต กอนซาเลซ คณบดีของวิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยเบลม้อนท์สรุปได้อย่างสั้นๆว่า เหตุการณ์โจมตีหนนั้นทำให้สังคมอเมริกันตระหนักว่า ตนเองกำลังเผชิญภัยจากภายนอก ภัยที่มองไม่เห็นแต่มาจากกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับวิถีและคุณค่าของพวกเขา   9/11 ทำให้คนอเมริกันรู้สึกว่าพวกเขาเผชิญกับโลกที่น่าสะพรึงกลัว  9/11 ทำให้สหรัฐฯมองโลกด้วยแว่นตาอันใหม่ และชาวอเมริกันต่างเห็นว่า การปกป้องตนเองจากภัยจากภายนอกเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกของประเทศ รัฐบาลอเมริกันในยุคหลังเหตุการณ์นี้ต่างถือว่า การปกป้องคนอเมริกันจากภัยของ “การก่อการร้าย” เป็นงานอันดับแรกของรัฐบาลและผู้นำทุกคน นโยบายดังกล่าวซึ่งกลายมาเป็น “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนอเมริกันอย่างท่วมท้นโดยเฉพาะในช่วงต้นหลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ความน่าสะพรึงกลัวของภาพจากเหตุการณ์ และความเป็นมหาอำนาจที่มีพันธมิตรทั่วโลกของสหรัฐฯ ทำให้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้รับการสนับสนุนจากมิตรของสหรัฐฯโดยทั่วไปในการไล่ล่าผู้ที่เกี่ยวข้อง

บทความในเว็บไซต์ Pew Research Center เขียนถึงเรื่องผลสะเทือนของเหตุการณ์ 9/11 ต่อสหรัฐฯโดยให้ตัวเลขสถิติไว้หลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างแรกก็คือ เหตุการณ์หนนั้นทำให้คนอเมริกันมีเอกภาพกันอย่างมากเพราะความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่มันก็ทำให้พวกเขาตั้งคำถามถึงสถานะของตนในโลกและเวทีระหว่างประเทศ บทความของเว็บไซต์สรุปสั้นๆมาสี่คำคือ ช็อค เศร้า กลัวและโกรธ ความกลัวนั้นรวมไปถึงกลัวว่าจะเกิดขึ้นอีกโดยเฉพาะกับคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ ไม่น่าแปลกใจที่ในเดือนกันยายนหลังเกิดเหตุการณ์ ชาวอเมริกัน 77% สนับสนุนให้รัฐบาลส่งทหารไปอัฟกานิสถานเพื่อจัดการกับอัลไคด้า ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งเห็นว่า การรับมือภัยก่อการร้ายที่ดีที่สุดคือการออกไปจัดการกับสิ่งที่ถือว่าเป็นภัยขณะที่ยังอยู่ภายนอก แทนที่จะตั้งรับอยู่ในประเทศเท่านั้น

สหรัฐฯส่งทหารเข้าปฏิบัติการในอัฟกานิสถานโดยตรงเพื่อทำลายแหล่งที่ซ่อนของสมาชิกระดับนำของกลุ่มอัลไคด้า หลังจากที่การต่อรองกับกลุ่มตาลีบันที่ในตอนนั้นอยู่ในอำนาจเพื่อให้ส่งมอบตัวผู้ต้องสงสัยแต่ไม่เป็นผล นอกจากในอัฟกานิสถาน ในห้วงเวลายาวนานของการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐฯยังดำเนินการติดตามหาตัวผู้ที่เชื่อว่ามีส่วนในเรื่องนี้ในอีกหลายประเทศ รวมไปถึงในประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม การ “เข้าสู่” อัฟกานิสถานไม่ได้จบลงที่ตาลีบันหลุดจากอำนาจ แต่กลายเป็นงานระยะยาวเพราะต้องสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานเรื่อยมาเพื่อหล่อเลี้ยง “พื้นที่ปลอดภัย”  มีข้อมูลว่าโดยรวมแล้วสหรัฐฯสูญเสียทหารไปทั้งหมดราว 2,400 นายและงบประมาณอีกจำนวนมาก อัลจาซีราประเมินว่าสหรัฐฯใช้งบประมาณในอัฟกานิสถานไปกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะกับปฏิบัติการในอัฟกานิสถานเท่านั้น

แรงสนับสนุนการส่งทหารไปอัฟกานิสถานนี้ดำเนินต่อเนื่องหลายปี  แต่เริ่มลดลงเรื่อยๆในเวลาต่อมา ที่ปรากฎชัดเจนคือในปีแรกของการทำงานของอดีตประธานาธิบดีโอบามา เมื่อผู้คน 38% ของการสำรวจเห็นว่า สหรัฐฯควรถอนตัวจากอัฟกานิสถาน สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนคือเหตุการณ์โจมตีที่ทำให้บิน ลาเดนเสียชีวิตเมื่อปี 2011 หรือกว่าสิบปีให้หลังเหตุการณ์  บทความในเว็บไซต์ Pew Research Institute ระบุว่า ความรู้สึกของชาวอเมริกันที่มีต่อข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องของการฉลอง แต่เป็นความโล่งใจมากกว่าอย่างอื่น หลังจากนั้นเสียงสนับสนุนให้ถอนทหารจากอัฟกานิสถานก็เพิ่มมากขึ้นจนเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกสอบถาม ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นที่วิ่งคู่ขนานกันไปก็คือการทำสงครามในอิรัก ซึ่งผู้เขียนบทความบอกว่า ชาวอเมริกันเข้าใจว่ารัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนเกี่ยวพันโดยตรงกับการโจมตี 9/11 และสนับสนุนการทำสงครามในอิรักในตอนแรก  ก็จบลงด้วยความรู้สึกว่าสหรัฐฯล้มเหลวไม่ต่างกันกับกรณีอัฟกานิสถาน มันทำให้หลายคนรู้สึกว่าอเมริกาไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ด้านนอกได้

ในระยะหลัง ความรู้สึกของคนอเมริกันต่อเรื่องภัยเริ่มเปลี่ยน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระยะห่างจากเหตุการณ์และการที่มีปัญหาอื่นๆที่สดใหม่กว่าผ่านเข้ามา ในช่วงแรกทั้งประชาชนและนักการเมืองเห็นว่าภารกิจหลักอันดับแรกของประเทศคือป้องกันภัยจากการก่อการร้าย แต่ไม่กี่ปีมานี้ นักการเมืองเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ และในปัจจุบันคือปัญหาการระบาดของโควิด ปีที่แล้ว ในบรรดาผู้คนที่ถูกสอบถามความเห็น มีแค่หนึ่งในสี่ที่เห็นว่า การก่อการร้ายยังเป็นปัญหาหลัก ในส่วนที่เกี่ยวกับภัยของการก่อการร้าย คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า ที่คุกคามมากกว่าภัยจากภายนอก ก็คือภัยจากภายใน แต่นักวิเคราะห์ก็เห็นว่าความคิดเห็นของสาธารณะเช่นนี้อาจจะเปลี่ยนอีกจากสถานการณ์ในอัฟกานิสถานที่กำลังเข้าสู่ช่วงการปกครองภายใต้ตาลีบันครั้งใหม่ หลายฝ่ายในสหรัฐฯยังคงมองว่า การที่ตาลีบันขึ้นสู่อำนาจจะมีผลต่อการทำให้มีพื้นที่บ่มเพาะของความคิดรุนแรงและกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงก่อเหตุ เหตุการณ์ในอนาคตจะส่งผลต่อวิธีคิดของสาธารณะในเรื่องภัยดังกล่าวอย่างแน่นอน

ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างการสนับสนุนมาตรการเข้มงวดเพื่อดูแลความปลอดภัยจนถึงกับยินยอมให้มีการละเมิดสิทธิ ผู้เขียนบทความในเว็บ Pew Research Institute บอกว่า หลัง 9/11 คนจำนวนมากต้องการความปลอดภัยถึงขั้นยอมรับมาตรการที่ไปไกลเช่นการติดตามไล่ล่าเป้าหมายในต่างประเทศ แต่พวกเขาไม่ต้องการให้ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวเช่นการล้วงข้อมูลการสื่อสารส่วนบุคคล การทำค่ายกักตัวผู้หนีภัยที่มาจากประเทศที่เห็นกันว่าไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯก็ถือเป็นมาตรการที่มีคนไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วย เสียงสนับสนุนมาตรการที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวลดลงเรื่อยๆจากที่มีผู้สนับสนุนอย่างมากในปีแรก  แต่สำหรับมาตรการที่ละเมิดสิทธิอันสำคัญประการหนึ่งที่ชัดเจนว่ามาพร้อมๆกับการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ก็คือการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยนั้น บทความของ Pew Research Institute อ้างว่า สหรัฐฯเป็นหนึ่งใน 12 ประเทศที่ไม่คัดค้านการทรมานนักโทษคดีก่อการร้ายเพื่อจะรีดข้อมูลเพื่อไปใช้ป้องกันการโจมตีในอนาคต  โดยบอกว่าเป็นผลสำรวจความเห็นของสาธารณะใน 40 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2558  แต่อีกด้านก็มีหลักฐานเช่นกันว่า สังคมอเมริกันส่วนหนึ่งรวมไปถึงนักการเมืองในสภาที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับในเรื่องนี้ ปัญหาดูเหมือนจะอยู่ที่ว่าเสียงของใครจะดังกว่ากันและผู้คนจะเลือกฟังใคร

(Visited 52 times, 1 visits today)
Close