Written by 1:28 pm Interviews, Patani, Patani Notes

แค่สันติภาพยังไม่พอ

Patani Notes ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ที่ร่วมมือกับนักกิจกรรมนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำการศึกษาการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งด้วยโมเดลที่เรียกว่าDDR ซึ่งเคยเกิดขึ้นในพื้นที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียและพื้นที่มินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์รวมทั้งข้อคิดเห็นหากมีการใช้เครื่องมือเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

DDR เป็นตัวย่อมาจากคำว่า “Disarmament, Demobilization, Reintegration” หมายถึงกระบวนการ การวางอาวุธ การปลดประจำการ และการกลับเข้าสู่สังคม เป้าหมายของการใช้ DDR คือการเตรียมการให้กองกำลังติดอาวุธที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ในวันที่ความขัดแย้งยุติลง อาจารย์สุทธิชัยอธิบายว่าศึกษาเรื่อง DDR เพื่อตอบคำถามว่าหากวันหนึ่งสามจังหวัดเกิดสันติภาพเราต้องทำอะไรต่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น โดย DDR เป็นโมเดลที่มักถูกใช้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งด้วยอาวุธทั่วโลก

“เราจะทำยังไงให้สมาชิกขบวนการติดอาวุธที่เคยยกปืนขึ้นสู้ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองสามารถกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับเราได้และเราอยู่ร่วมกับเขาได้ด้วย เพราะถ้าเราแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้สันติภาพที่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดประโยชน์และเราต้องดูแลในฐานะที่เขาไม่ใช่อาชญากรที่ก่อเหตุด้วยเหตุผลส่วนตัวแต่เป็นแรงผลักดันทางการเมือง”

อาจารย์สุทธิชัยอธิบายถึงงานที่พวกเขาศึกษาต่อว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้DDR ในมินดาเนาค่อนข้างประสบความสำเร็จคือคนในสังคมมีความเข้าใจร่วมกันถึงกระบวนการใช้เครื่องมือDDR และโดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการ Reintegration หรือการเตรียมการเพื่อกลับเข้าสู่สังคมของอดีตนักรบ “ในมินดาเนาเราพบว่าภาคประชาสังคมเป็นทั้งคนขับเคลื่อนและให้ความรู้เรื่องDDR พวกเขาเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาล กลุ่มติดอาวุธ และคนในสังคม” อาจารย์สุทธิชัยอธิบาย

“เรื่องการกลับเข้าสู่สังคมของอดีตนักรบมันไม่จบแค่การให้เงินซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลถนัดแต่มันคือการเยียวยาสังคม หลายที่ที่ประสบความสำเร็จได้เพราะมีโครงการที่ช่วยยกระดับสังคมด้วย”

อาจารย์สุทธิชัยบอกว่าโดยปกติแล้วกระบวนการ DDR นั้นมุ่งไปยังอดีตนักรบทำซึ่งมักให้เกิดความรู้สึกตึงเครียดระหว่างผู้คนในสังคมที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นการทำโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกันและสิ่งที่อาจารย์สุทธิชัยพูดย้ำหลายครั้งคือต้องมีการสร้าง “ความไว้วางใจ” ระหว่างผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ผู้ที่ได้รับความเสียหายและอดีตนักรบที่จับอาวุธขึ้นสู้ อาจารย์สุทธิชัยกังวลว่าภาครัฐมักไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันคนที่เป็นเหยื่อหลายคนให้ความสำคัญกับความจริงเป็นลำดับแรกและอยากรู้ว่าใครเป็นคนฆ่าคนในครอบครัวเขา

“สิ่งสำคัญคือความรู้สึกไม่ไว้วางใจอันมีรากเกิดจากจากกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา” อาจารย์สุทธิชัยเผยว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงคนเข้าสู่กลุ่มติดอาวุธคือความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้พวกเขาหมดศรัทธาต่อรัฐและในหลายกรณีพวกเขาหรือญาติพี่น้องของพวกเขาคือเหยื่อของความไม่ยุติธรรม

“รัฐต้องยอมรับว่าทำไม่ถูก ผมว่าเราพูดได้เต็มปากว่าการซ้อมทรมานมีอยู่จริง กระบวนการยุติธรรมทั้งหลายไม่สามารถให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาอย่างได้อย่างแท้จริง การลงโทษคนที่ผิดจริงไม่สร้างปัญหามากแต่ในกรณีลงโทษผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ต่อทั้งสังคม ผมคิดว่าเราต้องยอมรับความจริงกันก่อน”

ในกรณีของมินดาเนาอาจารย์สุทธิชัยอธิบายว่าก่อนที่จะมีการประกาศนิรโทษกรรมแก่เหล่าสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธนั้นได้มีการทำความเข้าใจในหมู่ผู้เสียหายและสังคมเพื่อทำให้ทุกคนยอมรับ และในส่วนของขั้นตอนการวางอาวุธนั้นก็มีกระบวนการวางอาวุธแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเป็นการทดสอบระบบและความไว้วางใจที่ขบวนการมีต่อรัฐทำให้กระบวนการสันติภาพค่อยๆก่อร่างและเกิดขึ้นอย่างมั่นคง

ซึ่งแตกต่างจากกรณีของอาเจะห์ที่มีการประกาศนิรโทษกรรมและวางอาวุธของกลุ่มติดอาวุธอย่างเร่งรีบเพราะเกิดจากเงื่อนไขสำคัญคือเหตุการณ์สึนามิ หลายประเทศได้กดดันให้รัฐบาลอินโดนีเซียและกลุ่มติดอาวุธในอาเจะห์ให้เร่งรีบคลี่คลายความขัดแย้งมิเช่นนั้นจะไม่บริจาคเงินช่วยเหลือและนั่นเป็นผลให้ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและกลุ่มติดอาวุธไม่มีเวลาเตรียมการกับผู้คนในสังคมและสร้างปัญหาต่อเนื่องมากมายตามมา

เมื่อพูดถึงกรณีของประเทศไทย อาจารย์สุทธิชัยพูดถึงกรณีการวางอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ผ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23ซึ่งถูกมองว่าประสบความสำเร็จและมีความพยายามจะนำมาใช้กับสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัด อาจารย์สุทธิชัยย้ำว่ามันดูเหมือนสำเร็จเพราะ “ในความเป็นจริงพคท.แพ้ไปแล้ว มันไม่เหลืออะไรแล้วยังไงก็ต้องวางปืนและรัฐก็ช่วยหาบันไดทางลง” ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของการวางอาวุธคือการที่ต้องยอมรับว่าหลงผิดตามพรบ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

แต่กรณีของความขัดแย้งในสามจังหวัดนั้นแตกต่างกันออกไป อาจารย์สุทธิชัยบอกว่าการจะให้บีอาร์เอ็นมาบอกรัฐว่าหลงผิดนั้นยากมาก ขณะที่กลไกทางกฎหมายผ่านมาตรา21 ของพรบ.ความมั่นคงก็ใช้ลำบากเพราะมีการประกาศใช้เพียง 5อำเภอ และโครงการพาคนกลับบ้านก็ใช้ได้เฉพาะกับคนที่ไม่มีหมายจับส่วนคนที่มีหมายจับและเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านนั้นอาจารย์สุทธิชัยบอกว่าหลายคนถูกใช้เพื่อรีดข้อมูลซึ่งสร้างปัญหาต่อความไว้วางใจระหว่างฝ่ายรัฐและบีอาร์เอ็นเป็นอย่างมาก

“จากการสัมภาษณ์พวกเขา (สมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น) พูดชัดเจนว่าถ้าจะเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านมีเงื่อนไขสำคัญคือ หนึ่งไม่หาประโยชน์จากคนที่เข้าโครงการ สองต้องทำอย่างลับๆไม่เปิดเผยตัวว่าใครบ้างที่เข้าร่วมซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเพราะกลุ่มคนที่กลับบ้านเป็นกลุ่มที่ไม่ปลอดภัยที่สุดเพราะกลายเป็นเป้าหมายทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและจากทั้งขบวนการเอง”

อาจารย์สุทธิชัยยอมรับว่า “โครงการพาคนกลับบ้าน” ในทางวิชาการแล้วคือหนึ่งในกระบวนการ DDR ซึ่งควรใช้หลังการลงนามสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธแล้ว แต่หากถูกใช้ในระหว่างทางมันจะต้องมีความไว้วางใจกันของฝ่ายคู่ขัดแย้งคือรัฐกับกลุ่มติดอาวุธเป็นอย่างมากไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายความไว้วางใจระหว่างรัฐและกลุ่มติดอาวุธไปโดยสิ้นเชิง

“โครงการพาคนกลับบ้านมีเป้าหมายทางทหารชัดเจนว่ามุ่งทำให้บีอาร์เอ็นอ่อนกำลังลงมันจึงไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ทางทหารมันถูกแต่ถ้ามองในแง่ของกระบวนการสันติภาพมันผิดเพราะมันไม่สามารถจะนำไปสู่จุดที่คุณสร้างสันติภาพได้”

ดูเหมือนว่าองคาพยพของรัฐจากฝ่ายพลเรือนและการทหารนั้นเดินแตกต่างกัน อาจารย์สุทธิชัยยอมรับว่าเป็นปัญหาโดยเฉพาะในระดับปฏิบัติซึ่งแตกต่างอย่างมากกับกรณีฟิลิปปินส์ อาจารย์สุทธิชัยบอกว่า “บุคลากรทางการทหารของฟิลิปปินส์พูดชัดเจนว่าสุดท้ายมันต้องจบบนโต๊ะเจรจา มันจึงยุติได้ด้วยข้อตกลงสันติภาพ” ขณะเดียวกันจากการสัมภาษณ์กลุ่มบีอาร์เอ็นอาจารย์สุทธิชัยได้เผยว่าบีอาร์เอ็นตั้งคำถามสำคัญต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพคือ “บีอาร์เอ็นพร้อมแต่รัฐไทยพร้อมหรือเปล่า”
.

เมื่อถามถึงในฐานะของอาจารย์สอนกฎหมายและการเกิดรัฐใหม่ในยุคปัจจุบัน อาจารย์สุทธิชัยตอบกลับมาอย่างทันทีว่ามีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายแต่เป็นไปได้ยากในความเป็นจริงเพราะรัฐบาลไทยไม่มีทางยอมให้เกิดขึ้น และหากมีรัฐใหม่เกิดขึ้นมาอาจารย์สุทธิชัยยอมรับว่านึกภาพไม่ออกว่าจะเติบโตและอยู่รอดด้วยตนเองได้อย่างไร

อาจารย์สุทธิชัยขยายความโดยย้อนไปเมื่อครั้งเดินทางไปสัมภาษณ์กลุ่ม MILF ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธหลักในมินดาเนาของฟิลิปปินส์ว่าพวกเขามีภาพชัดเจนว่าหลังจากเจรจาสันติภาพพวกเขาจะปกครองแบบไหน แต่เมื่อไปถามบีอาร์เอ็นในคำถามเดียวกันอาจารย์สุทธิชัยเล่าพวกเขาไม่สามารถอธิบายให้ชัดเจนได้ที่ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาคิดเรื่องนี้มากแค่ไหน นอกจากนี้อาจารย์สุทธิชัยยังอธิบายว่าเรื่องกระบวนการสันติภาพและเรื่องการปกครองเป็นเรื่องเดียวกันก่อนเข้าสู่กระบวนการพูดคุยแต่ละฝ่ายจะต้องมีจินตนาการที่ชัดเจนว่าหลังกระบวนการสันติภาพแล้วจะปกครองแบบไหนภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่

“ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทยตอนนี้จะเป็นสหพันธรัฐไม่ได้ การเลือกผู้ว่าเองอาจเป็นสิ่งที่ถูกเสนอขึ้นมา ผมว่าเป็นไปได้ที่จะอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เกือบจะเป็นสหพันธ์แต่ยังไม่เป็นถึงขั้นนั้น ยกตัวอย่างเช่น มีอำนาจนิติบัญญัติในบางเรื่อง มีทีมบริหารของตัวเองแต่ยังอยู่ใต้คณะรัฐมนตรีจากส่วนกลาง ผมว่ามันออกแบบได้หลากหลายรูปแบบแต่ต้องไปไกลกว่ารูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ ซึ่งหากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะมีการถกเถียงในประเด็นการปกครองของสามจังหวัดด้วย”
.

#DDR

#peaceprocess

(Visited 1,008 times, 1 visits today)
Close