Written by 5:16 pm Patani

ธงของบีอาร์เอ็นคือเอกราช แต่ข้อยุติอยู่ที่โต๊ะเจรจาและพลังสนับสนุนจากประชาชน

อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ ประธานมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรเป็นคนที่เชื่อกันว่ามีการติดต่ออย่างกว้างขวางกับหลายฝ่ายในพื้นที่และดูดซับข้อมูลองค์ความรู้ไว้หลายด้าน ความเห็นของเขาน่าจะมีความน่าสนใจอย่างสำคัญกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้นPatani NOTES มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับอิสกันดาร์ในเรื่องนี้


“คุยมันดีกว่าไม่คุย การคุยมันคือทางออกที่ดีจากความยืดเยื้อของสถานการณ์” นั่นคือถ้อยคำแรกที่เขาบอก เมื่อถามถึงความเห็นต่อกระบวนการพูดคุยล่าสุดระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นหลังจากผ่านความยืดเยื้อมานานกว่า 16 ปี

อิสกันดาร์ช่วยฉายภาพว่าเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกล่าสุดไม่ได้ปะทุใหม่ตอนปี 2547 แต่มันเกิดก่อนหน้านั้นแล้ว และฝ่ายรัฐเองก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรับสภาพปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับยุทธวิธีการต่อสู้แบบใหม่ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นใช้ แม้จะช้าแต่อิสกันดาร์มองว่าการปรับตัวของรัฐที่มีต้นทุนสูงกว่า ได้บีบให้อีกฝ่ายค่อยๆอ่อนกำลังลง 

แต่เมื่อชวนมองถึงปรากฎการณ์ที่บีอาร์เอ็นเข้าร่วมเวทีพูดคุย อิสกันดาร์กลับเห็นว่าเป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์มากกว่าเรื่องของความอ่อนล้า

“การยอมเข้าร่วมเวทีพูดคุยของบีอาร์เอ็นมันเป็นเรื่องของความจำเป็นมากกว่า มันมีนโยบาย แนวทาง หลักการ การยอมขึ้นโต๊ะไม่ใช่เพราะเหนื่อย แต่เพราะมีความจำเป็นบางอย่าง”

ในสายตาของอิสกันดาร์ดูเหมือนว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นกำลังอยู่ในช่วงของการทบทวนตัวเองจากการต่อสู้อันยืดเยื้อ การเข้าร่วมพูดคุยหนนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าบีอาร์เอ็นกำลังประนีประนอมกับเป้าหมายที่ตัวเองได้ประกาศไว้ ซึ่งอิสกันดาร์ก็ไม่ปฏิเสธว่าการยอมขึ้นโต๊ะพูดคุย มันคือการยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นว่าจะไม่คุยถึงเรื่องเอกราช แต่เขาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถึงกับตายตัว เพราะมันขึ้นอยู่กับแนวทางการพูดคุยและเสียงของประชาชน

“ยอมคุยเท่ากับไม่เอาเอกราช ตรรกะมันเป็นแบบนั้นเพราะเงื่อนไขการขึ้นโต๊ะคือการไม่คุยเรื่องเอกราช แต่ท้ายที่สุดมันอาจไม่ได้ตายตัวแบบนั้น มันขึ้นอยู่กับการคุย”

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ในการเข้าร่วมเวทีพูดคุยของบีอาร์เอ็นคืออะไร แต่อิสกันดาร์ก็ประเมินว่าสภาพของประชาชนและของกองกำลังที่ผ่านสมรภูมิการต่อสู้มาอย่างยืดเยื้อยาวนานน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ “โดยปกติของคนในสังคมมันไม่ทนกับการสู้ยาวๆ และโดยธรรมชาติของกำลังที่ไม่ได้มีทุนสนับสนุนมากมายมันไม่ทนกับการสู้ยาวๆ”

อิสกันดาร์มองว่าเป้าหมายขององค์กรปฏิวัติอย่างบีอาร์เอ็นยังคงเป็นเรื่องของเอกราชอย่างแน่นอน แต่ความคิดเห็นของประชาชนต่อจินตนาการทางการเมืองในวันข้างหน้านั้นสำคัญอย่างยิ่ง

“มันต้องดูว่ามวลชนเห็นความจำเป็นไหม โดยพื้นฐานของประชาชน ความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตมันสำคัญ การจะพาเขาไปถึงหมุดหมายสูงสุดได้ต้องพาไปทีละขั้น ถ้าประชาชนเห็นภาพว่าชีวิตจะดีขึ้น เขาจะสนับสนุน มันเหมือนกับการเลือกรัฐบาล คนจะเลือกรัฐบาลที่มีความหวังเข้ามาบริหารประเทศ”

ประสบการณ์การพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธนั้นบอกว่ามักใช้เวลาที่ยาวนาน มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เต็มไปด้วยเทคนิคและแทคติกในการต่อรอง อิสกันดาร์ยืนยันว่าเสียงของประชาชนในพื้นที่จะเป็นตัวแปรสำคัญและเป็นตัวบอกถึงอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย

อิสกันดาร์ย้ำว่าผลลัพธ์จากการพูดคุยต้องไม่ทำให้ประชาชนไม่มั่นคงและต้องทำให้ประชาชนคาดหวังได้ว่าพวกเขาจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม “ถ้าคุณพิสูจน์ได้ว่ามวลชนเอาด้วย มันจะทำให้อำนาจต่อรองคุณมากขึ้น ถ้ามวลชนเอาด้วยกับคุณ คุณแปลงมันเป็นอำนาจต่อรองได้”

ในเชิงของการต่อรอง อิสกันดาร์ย้ำหลักการอันหนึ่งของความเป็นรัฐว่า รัฐจะไม่ยอมให้มีการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือต่อรอง เพราะจะทำให้มีกลุ่มอื่นๆใช้วิธีการเดียวกันด้วย และที่สำคัญรัฐเองก็ต้องตระหนักถึงท่าทีของคนทั้งประเทศด้วยว่าข้อตกลงต่างๆที่มาจากการพูดคุยนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขารับได้ “รัฐหนึ่งรัฐ เขาไม่ยอมให้มีการใช้อาวุธเพื่อสร้างข้อต่อรอง และรัฐก็ต้องพิจารณาด้วยว่าคนในภูมิภาคอื่นก็ต้องรับได้”

ต่อคำถามถึงเอกภาพในหมู่สมาชิกของบีอาร์เอ็นในการขึ้นเวทีพูดคุยนั้น อิสกันดาร์ยืนยันว่าองค์กรแบบบีอาร์เอ็นซึ่งยืนหยัดอยู่มาหลายสิบปีย่อมไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคิดคนละทาง “ผมเชื่อว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนมาหลายสิบปีมันย่อมมีเอกภาพ คนระดับล่างระดับบน มันคิดร่วมกัน มันฟังกระแสร่วมกัน เสียงของคนระดับล่างมันก็ถูกรับฟัง รสนิยมของปัจเจกในขบวนการอาจต่างกัน แต่คนในองค์กรเชื่อมั่นในองค์กรนำ มันไม่มีการขัดแย้งระหว่างสมาชิกกับองค์กรนำ”

อิสกันดาร์ชวนให้เห็นถึงข้อสังเกตสำคัญว่าขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างบีอาร์เอ็นไม่เคยปฏิเสธการพูดคุยแต่วางเงื่อนไขที่จะเข้าร่วม “ผมไม่เคยเห็นบีอาร์เอ็นปฏิเสธการพูดคุยแม้แต่ในขบวนมารา เขาก็รับรู้มาตลอด เขาไม่ปฏิเสธ แต่เขามีเงื่อนไข” 

ด้วย “สถานการณ์” ที่เปลี่ยนไป ด้วย “ความจำเป็น” ที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ฝั่งไทยและมาเลเซียต่างยอมลดเงื่อนไขและลดเพดาน โดยเฉพาะการที่ให้มีคนเข้าร่วมสังเกตการณ์ จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การขึ้นโต๊ะพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา 

สิ่งหนึ่งที่อาจ “ได้ใจ” บางคนในพื้นที่คืออานิสงค์ของความรุนแรง Patani NOTES ถามไปว่าความรุนแรงที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนคิดว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในพื้นที่ อิสกันดาร์บอกว่าเรื่องนี้ไม่อาจอ้างได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าการใช้ความรุนแรงทำให้คนในพื้นที่มีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า เพราะพลวัตทางสังคมเองก็เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “สิ่งที่ได้ทุกวันนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรุนแรงอย่างเดียว มันมีพลวัตของการเปลี่ยนแปลง มันอ้างร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอก การเคลมแบบนั้นมันมีปัญหา คนมาเป็นครูมาเป็นพยาบาล มาเป็นหมอ ส่วนหนึ่งเพราะคุณสอบเข้าได้ ไม่ใช่ว่าได้เพราะคุณใช้อาวุธ แม้สถานการณ์จะมีส่วนผลักดันอยู่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”

หลังจากความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทสูงขึ้นต่อความเป็นไปและสถานการณ์ของการสร้างสันติภาพ แต่ในสถานการณ์ที่แหลมคมเช่นนี้อิสกันดาร์เสนอว่าองค์กรภาคประชาสังคมหรือซีเอสโอควรทำหน้าที่ร่วมกันหาและนำเสนอทางออกจากความขัดแย้งโดยคำนึงถึงข้อจำกัดทางการเมืองของไทย

“บทบาทขององค์กรซีเอสโอ ไม่ควรมานั่งวิเคราะห์เรื่องใครคือตัวจริงหรือไม่จริง ตอนนี้ควรจะวิเคราะห์ว่าอะไรจะเป็นทางออกของความขัดแย้ง บางครั้งเราคิดเรื่องที่ไกลตัวเกินไปและละเลยข้อจำกัดทางการเมืองของไทย”

หนึ่งในความเคลื่อนไหวล่าสุดในภาคนิติบัญญัติอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่คือการที่แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา จากพรรคภูมิใจไทยรวมทั้งนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติได้ยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งกรรมาธิการศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพ อิสกันดาร์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสภานั้น make sense คือสมเหตุสมผลมาก

“ส.ส. โดยตรรกะมันมีความเป็นตัวแทนอยู่ แม้แต่ ส.ส. ที่สอบตกอย่างน้อยก็มีคนเลือกเขาเป็นตัวแทน ข้อเสนอของหมอเพชรดาวและกมลศักดิ์นั้นผมว่าดีเพราะพูดในสิ่งที่เป็นจริงได้ สภาเป็นแหล่งรวมของเสียงประชาชนในแต่ละแห่ง ถ้ามีส.ส.เอาปัญหาคนที่นี่ไปพูดคุย มันจะเป็นประตูชนและเมกเซนส์มากเพราะเป็นหน้าที่ของส.ส.อยู่แล้ว”

อิสกันดาร์ปิดท้ายบทสนทนาด้วยการยืนยันว่าตัวเขานั้นสนับสนุนให้มีการพูดคุยระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธมาโดยตลอดและย้ำว่าเขาตระหนักดีว่าเป้าหมายของขบวนการติดอาวุธในพื้นที่ยังคงเป็นเอกราช แต่เชื่อว่าเส้นทางของมันจะจบลงบนโต๊ะพูดคุยและการสนับสนุนของประชาชน

“ธงของบีอาร์เอ็นคือเอกราช แต่มันจะจบบนโต๊ะพูดคุย ตลอดเวลาเขาพูดเช่นนี้เสมอ ส่วนจะจบแบบไหนจะได้อะไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรอง เทคนิคในการพูดคุย และการสนับสนุนของประชาชน”

#PeaceProcess
#PataniNotes

(Visited 70 times, 1 visits today)
Close