Written by 1:47 pm Patani

การเข้าสู่เวทีพูดคุยของบีอาร์เอ็นเท่ากับยอมรับว่าไม่เอาเอกราชแล้ว และจำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชน

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก มองประเด็นการสื่อสารภายในของบีอาร์เอ็นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการปรับเปลี่ยนจุดยืนของการต่อสู้หนนี้ พร้อมชี้ว่า การปรับเป้าหมายการต่อสู้ที่ชูมาเนิ่นนานจำเป็นต้องคุยกันวงกว้าง หากไม่ทำ การหาทางออกทางการเมืองในเวทีพูดคุยจะไม่ยั่งยืน ในขณะเดียวกัน กระบวนการทางการเมืองภายในของไทยจะมีผลอย่างสำคัญเพราะปัญหาในจชต.จะจบอย่างไร สังคมไทยต้องมีส่วนร่วม

การเปิดตัวเข้าร่วมเวทีพูดคุยสันติภาพครั้งล่าสุดกับรัฐบาลไทยของกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นสัญญาณให้อ่านปรากฏการณ์สำคัญ อาเต็ฟ โซ๊ะโก รักษาการประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ The Patani ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Political Action Group หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกำหนดอนาคตทางการเมืองของตัวเอง ได้ตั้งข้อสังเกตถึงจุดยืนที่เปลี่ยนไปของบีอาร์เอ็น

“พวกเขาคือตัวจริง แม้ไม่พูดว่าไม่เอาเอกราชแล้ว แต่การขึ้นเวทีนี้ก็คือการยอมรับกลายๆ” อาเต็ฟกล่าวกับ Patani NOTES

อาเต็ฟเชื่อว่าสมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ขึ้นโต๊ะเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลไทยที่เปิดตัวล่าสุดนำโดย อานัส อับดุลเราะห์มานหรือชื่อจริงว่าอุสต๊าสฮิฟนีนั้นเป็นตัวจริง เป็นคนที่มีพื้นที่รับผิดชอบในขบวนการ

สิ่งสำคัญในเวลานี้ เขาชี้ว่าหลังจาก 16 ปีของความขัดแย้งในพื้นที่ บีอาร์เอ็น หรือ Barisan Revolusi Nasional ในฐานะองค์กรที่หลายฝ่ายเชื่อว่ากุมสภาพนักรบในพื้นที่นั้นได้เปลี่ยนเป้าหมายของตัวเองไปแล้วจากการเข้าสู่เวทีพูดคุยหนนี้ อาเต็ฟตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แนวทางการก่อเหตุในพื้นที่ ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นได้เปลี่ยนเป้าหมายการต่อสู้ด้วย

เขาชี้ว่าในอดีตกลุ่มบีอาร์เอ็นเคยตั้งคำถามกับกลุ่มที่ลดเป้าหมายการต่อสู้ลงเหลือเป็นความต้องการ Autonomy และที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นก็ได้เคยตั้งเงื่อนไขเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพไว้สูง ขณะนี้เขาบอกว่าสภาพการณ์ดูจะยังไม่ชัดเจนนักว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นตระหนักถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ในเวลานี้หรือไม่ เขาเรียกร้องให้บีอาร์เอ็นหารือภายในกลุ่มและสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้

“มันควรจะมีการชี้แจงจากบีอาร์เอ็นระดับหนึ่งว่า นี่คือการกำหนดเป้าหมายใหม่ของพวกเขาใช่หรือเปล่า บีอาร์เอ็นควรจะชัดเจนว่าการต่อสู้ของพวกเขาคือสิ่งใด พวกเขาควรจัดการภายในแล้วออกมาสื่อสาร”

ในเชิงการพูดคุย อาเต็ฟมองว่าองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บีอาร์เอ็นยืนหยัดการต่อสู้มาได้อย่างยาวนานก็ด้วยความเป็นองค์กรลับ การเข้าสู่เวทีพูดคุยย่อมเป็นเสมือนหนึ่งการเปิดตัว ซึ่งนั่นจะหมายถึงเป็นการสูญเสียอำนาจต่อรองของพวกเขาเองหรือไม่ อาเต็ฟตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้บีอาร์เอ็นจะใช้อะไรในการต่อรอง และพวกเขาจะสามารถลดทอนอำนาจต่อรองของรัฐไทยลงเพื่อให้อยู่ในระดับสมดุลกันได้หรือไม่

เขาเห็นว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นควรทำบนโต๊ะการพูดคุย คือต้องให้รัฐบาลไทยยอมรับหลักการที่ว่า คนปาตานีจะต้องเป็นคนกำหนดชะตากรรมของตัวเอง อาเต็ฟยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมจับตากระบวนการพูดคุยครั้งนี้อย่างใกล้ชิด.ซึ่งอนาคตทางการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด ถือเป็นจุดยืนของกลุ่ม The Patani

อาเต็ฟเชื่อว่า การจะทำให้การพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกต่อสถานการณ์ในพื้นที่เป็นการหาทางออกที่เป็นจริงและยั่งยืนได้ ถึงที่สุดจะต้องนำเอาเรื่องความต้องการเอกราชไปคุยด้วย รวมถึงเรื่องที่ว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ เขาเชื่อว่ามันเป็นคุณค่า “ศักดิ์สิทธิ์” สำหรับประชาชนจำนวนไม่น้อย การปิดหนทางไม่ให้ผู้คนพูดถึงเรื่องนี้จะสร้างปัญหาในระยะยาว ไม่ส่งเสริมการแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน

เมื่อมองถึงท่าทีของรัฐบาลไทย เขาเชื่อว่า ฝ่ายรัฐบาลเองก็น่าจะรู้ตัวว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันเขายังไม่แน่ใจเช่นกันว่ารัฐบาลยังมองกระบวนการพูดคุยเป็นเพียงยุทธวีธีในการปราบปรามหรือไม่ อาเต็ฟมองว่าความเห็นต่างในหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลไทยเป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่ากระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นได้รับการเห็นชอบจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อาเต็ฟมองว่าการประเมินท่าทีของรัฐไทยนั้นต้องดูอย่างรอบด้านเพราะรัฐไทยนั้นซับซ้อนและลุ่มลึก ทั้งยังมีประสบการณ์รับมือกับขบวนการฝ่ายซ้ายในอดีตได้เป็นอย่างดี การวิเคราะห์ท่าทีของรัฐบาลต้องมองหลายด้าน เช่นในเรื่องการเดินทางของผู้บัญชาการทหารบกไปยังเมืองอาเจ๊ะห์ ประเทศอินโดนีเซีย อาเต็ฟบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนการสื่อสารกับคนภายในประเทศว่าต่อให้รัฐบาลขยับหรือเปลี่ยนท่าทีหันมาพูดคุยกับบีอาร์เอ็นแต่รัฐบาลก็จะ “ไม่ยอม”

กับบทบาทของกลุ่ม HD หรือ The center for Humanitarian Dialogue ซึ่งมีฐานทำงานอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น อาเต็ฟย้อนความว่า รัฐบาลในสมัยอนุรักษ์นิยมนับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ จนกระทั่งถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ใช้บริการกลุ่ม HD ตลอดมา เขาเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและหากจะมีชาวต่างชาติกลุ่มใดที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ได้ ต้องเป็นชาวต่างชาติที่รัฐบาลสามารถไว้ใจได้ และแม้การเข้ามีบทบาทของกลุ่ม HD ได้นำไปสู่การทำช่องทางหลังบ้านหรือ Back Channel ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นจนทำให้เกิดภาวะตึงเครียดขึ้นระหว่าง HD และประเทศมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุย แต่ความตึงเครียดดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการพูดคุยอีกต่อไปเพราะขณะนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นจะต้องพูดคุยกันให้รู้เรื่อง

“ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายยังคุยกันไม่เสร็จ ถ้ามันเริ่มมีความรู้สึกต้องสูญเสียในการต่อรอง มันจะดึงดันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุดกระบวนการ ตอนนี้ปัจจัยมาเลเซียไม่สำคัญแล้ว ตอนนี้เป็นเรื่องของฝ่ายเจรจาทั้งคู่แล้ว”.หนึ่งในความเคลื่อนไหวล่าสุดอันเกี่ยวเนื่องมาถึงกระบวนการพูดคุยคือการที่แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ได้ลงชื่อพร้อม สส. อีก 20 คนเพื่อเสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาตั้งกรรมาธิการศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพ อาเต็ฟมองว่าเป็นสิ่งที่ดี ความเป็นตัวแทนของ สส. เป็นสิ่งที่ชอบธรรม

“กลไกสภาก็คล้ายๆกับกระบวนการสันติภาพเพียงแต่รูปแบบมันแตกต่างกัน ผมคิดว่ามันมีคุณค่า เป็นสิ่งที่ดี และน่าสนใจ คุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่การดึงให้คนหมู่มากมาเกี่ยวข้องมันดี”

อย่างไรก็ตามอาเต็ฟมองว่ากระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องระยะยาว กระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นในเวลาที่การเมืองไทยถูกแยกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนทำให้คุณค่าหรือสาระสำคัญของกระบวนการพูดคุยอาจถูกลดทอนลงไป.“ผมเสียดายที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยแตกเป็นสองฝ่าย มันทำให้สาระสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกพูดถึง มันถูกตั้งแง่ในทันที เกรงว่าพอเปลี่ยนรัฐบาล กลุ่มคนที่ไม่เอารัฐบาลนี้หรืออะไรก็ตามที่เป็นการริเริ่มจากรัฐบาลนี้ จะไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งในเชิงกระบวนการแบบประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเกิดขึ้นก็จะน่าเสียดาย”

มีผู้ชี้ว่า ตลอด 16 ปีของความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี และดูเหมือนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ต่อเนื่อง และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่อาเต็ฟกลับคิดต่างออกไป ทั้งยังมองว่าสังคมไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่

“รัฐอำนาจนิยมดูเหมือนเป็นรัฐที่มีเอกภาพ เป็นรัฐที่ควรจะพูดคุยเจรจาด้วย แต่ผมคิดว่ามันเปราะบางมาก พร้อมที่จะแตกตลอดเวลา ผมคิดว่าสังคมไทยต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ปาตานี ถ้าสังคมไทยไม่มาเกี่ยวข้องกับปาตานี ผมว่าเรื่องที่นี่ก็จะไม่จบ”

(Visited 81 times, 1 visits today)
Close