กรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเตรียมนำเสนอร่างใหม่ที่ได้จากการปรับปรุงร่างฉบับของประชาชน เผยมีสส.ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่าร้อย กลุ่มสิทธิฯแสดงความพอใจ เผยกลไกกำกับครบถ้วนเพื่อลบวัฒนธรรมลอยนวลไม่ต้องรับผิดในหมู่เจ้าหน้าที่
หลังจากที่ล่าช้าไปหลายปี ในที่สุดประเทศไทยก็มีร่างกฎหมายที่มีสาระป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างน้อยสี่ฉบับด้วยกันที่รอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คือร่างของรัฐบาลและของกรรมาธิการการกฎหมาย ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กับของพรรคการเมืองอีกสองพรรคคือประชาธิปัตย์และพรรคประชาชาติ
สำหรับร่างล่าสุด มาจากการแถลงข่าวในวันนี้คือ 8 ก.ค. ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่เตรียมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของกรรมาธิการ คือร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ร่างกฎหมายฉบับนี้ กรรมาธิการฯปรับปรุงมาจากร่างที่ภาคประชาชนยื่นเข้าไปให้พิจารณาเมื่อ 20 กพ. ที่ผ่านมาซึ่งในขณะนั้นกรรมาธิการฯชุดนี้มีนายปิยบุตร แสงกนกกุลจากอดีตพรรคอนาคตใหม่เป็นประธาน
รังสิมันต์ โรม โฆษกของกรรมาธิการกล่าวไว้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลและขณะนี้มีผู้แทนร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 100 ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความสำคัญทั้งต่อภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยภายในประเทศนั้น แม้แต่พรรคการเมืองจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่กับเรื่องการแก้ปัญหาซ้อมทรมานและอุ้มหายนั้นทุกฝ่ายกลับเห็นพ้องต้องกัน นี่จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่อาจนำเราไปสู่แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการแก้ปัญหาดังกล่าวได้”
ส่วนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้นำเสนอร่างกล่าวชื่นชมกรรมาธิการในแถลงการณ์ที่ออกวันนี้ว่า การทำงานของกรรมาธิการฯแสดงให้เห็นว่าผู้แทนราษฎรตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากการละเมิดสิทธิของประชาชน ความคืบหน้านี้ถือเป็นผลของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเคารพเสียงและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธะที่ไทยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อผูกพันที่ไปให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี 2550 กับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัตหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าอนุสัญญา CAT และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หรือ ICPPED ที่ลงนามไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ร่างกฎหมายฉบับนี้รวมเอาเรื่องของการป้องกันทั้งการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหายเข้าไว้ด้วยกัน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ติดตามและผลักดันเนื้อหาร่างกฎหมายผ่านกรรมาธิการชี้ว่า จะมีข้อกำหนดชัดเจนให้การทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม ซึ่งการกำหนดเช่นนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในกฎหมายของไทย นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีกลไกป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย มีกลไกตรวจสอบเพื่อให้มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือกรรมการที่เป็นอิสระ พบและปรึกษาทนายความ มีบันทึกสถานที่และสภาพร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว มีกลไกการร้องเรียนในกรณีที่ถูกทรมาน ให้มีการชดเชยเยียวยาเมื่อได้รับความเสียหาย ร่างกฎหมายให้นิยามคำว่าผู้เสียหายกว้างขวางขึ้นโดยให้รวมไปถึงคู่สมรส ทายาท บุพการี ทำให้สามารถฟ้องร้องคดีแทนเหยื่อได้ และกำหนดอายุความของคดีไว้นานขึ้น กล่าวคือให้เริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำ พลเมืองหรือผู้แจ้งหรือร้องเรียนกรณีซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหายที่กระทำโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งหมดนี้เพื่อลบล้างวัฒนธรรมปล่อยให้คนผิดลอยนวลหรือที่เรียกกันว่า impunity
ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหายฉบับของกรรมาธิการฯนี้ เป็นหนึ่งในสี่ร่างที่จะมีการนำเสนอต่อรัฐสภา โดยอีกสามร่างนั้นมีของรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่านร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเมื่อ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายคุ้มครองบุคคลจากการถูกทรมานและทำให้สูยหาย มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันที่นำเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ขณะนี้ร่างนี้ล่าสุดถูกส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ส่วนอีกสองร่าง หนึ่งในนั้นคือของพรรคประชาชาติ และอีกหนึ่งคือของพรรคประชาธิปัตย์
การผลักดันกฎหมายดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างคึกคักภายใต้ความเคลื่อนไหวและความสนใจในเรื่องของการบังคับให้สูญหายอันเนื่องมาจากกรณีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อกันว่าถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชาเมื่อ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งอีกหลายกรณีก่อนหน้านั้นสำหรับคนไทยที่หนีภัยไปต่างแดน รวมทั้งกรณีความเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่อธิบายไม่ได้อย่างชัดเจนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ เช่นกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วหลังจากป่วยด้วยอาการสมองตายหลังเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นกรณีที่รอการไต่สวนการตายในชั้นศาลในช่วงปลายปีนี้
Patani NOTES ขอขอบคุณภาพหลักที่มาจากการแถลงข่าว ซึ่งนำมาจากเฟซบุ้กเพจของรังสิมันต์ โรม โฆษกกรรมาธิการฯ