Written by 8:10 pm Activities, Art

แผนที่ร่างกาย ศิลปะจากความเจ็บปวด

“ได้ระบายความรู้สึกผ่านงานศิลปะ เพราะระบายเป็นคำพูดไม่ได้จากประสบการณ์ร้ายที่ได้รับ ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว กลับมาอยู่ในสังคมใหม่ได้”

เจ้าของภาพวาดรายหนึ่งในนิทรรศการ “แผนที่ร่างกาย”(Body Map) เปิดเผยความรู้สึก เขาผู้นี้เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในชายแดนใต้ งานที่จัดแสดงเป็นผลงานของคนที่บอกว่ามีประสบการณ์จริง จัดร่วมกับผลงานของศิลปิน ณ ปาตานี อาร์ตสเปซ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ภาพวาดขนาดเท่าคนจริงวางเรียงกับผนังแกลเลอรี่ คือแผนที่ร่างกายที่ผู้เข้าร่วมวาดโครงร่างตามลักษณะร่างกายจริงของพวกเขา แล้วลงรายละเอียดจากฉากเหตุการณ์ในชีวิตของพวกเขาในอดีต รวมถึงภาพฝันในอนาคต

ภาพวาดเหล่านี้ต่างช่วยรักษาบาดแผลทางจิตใจ

ผู้เข้าร่วมโครงการที่มาจากยะลาบอกว่า เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใดนั้น เป็นความรู้สึกที่ยังหลอกหลอนมาตลอดเวลา ความเจ็บปวดทั้งกายและใจไม่มีทางที่จะสลัดออกไปได้ แม้ความจริงจะพิสูจน์ได้ว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อหาที่ถูกกล่าวร้าย

“มันไม่มีความเป็นธรรมกับเรา เขาทำกับเราเหมือนไม่ใช่คน ทั้งที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับสิ่งที่เขากล่าวหา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลอกหลอนในความรู้สึกอยู่ตลอด อยู่มาโดยไม่มีความสุข ทุกวันนี้แม้จะหลุดพ้นจากการกล่าวหา แต่ยังถูกคุกคาม ทำเหมือนมาเยี่ยมอยู่ตลอด ต้องอยู่ในสายตาของเขา รู้สึกไม่มีอิสระในชีวิตที่จะไปไหนมาไหน ไม่มีความไว้วางใจเรา เหมือนเราเป็นคนร้ายตลอดเวลา”

การได้ทำงานศิลปะด้วยแผนที่ร่างกายจึงเป็นหนทางที่พวกเขาได้ระบายความรู้สึกมากมายผ่านชิ้นงานของแต่ละคน แทนการระบายด้วยคำพูด ทำให้ได้ผ่อนคลาย ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้งและสามารถมีที่ยื่นในสังคมได้เช่นเดิม

ปาตานี อาร์ตสเปซ ซึ่งมี ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ เป็นเจ้าของ/ศิลปินปาตานีที่ร่วมสร้างสรรค์งานในครั้งนี้บอกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงมีมาตั้งแต่อดีตแล้วทั่วโลก ในฐานะศิลปินทำงานศิลปะอยากให้มนุษย์พัฒนาทางปัญญา ทำให้สมองต้องสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ จากสมองคนเรามีสองซีกคือซีกของตรรกะเหตุผล และซีกของจินตนาการ คิดว่าคนทั่วไปเข้าใจเหตุผล แต่จินตนาการต้องดูแต่ละคน หากไปทางเพ้อฝันโลกก็ไม่น่าอยู่และน่ากลัว แต่โลกยังไม่แตกเพราะยังมีคนดีค้ำโลกอยู่ หากวันนึงโลกเต็มไปด้วยความชั่วร้ายก็ต้องแตกแน่นอน

“ผมเกิดและอยู่ในพื้นที่นี้มา 30 กว่าปี อยากเห็นความสงบสุขอีกครั้ง ได้แต่ขอดุอาอฺให้เกิดสันติสุข สงครามเกิดขึ้นทั่วโลก เราจะช่วยกันยับยั้งสงครามกันอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ สงครามและความรุนแรงจะไม่เกิดหากมีความยุติธรรมเกิดบนแผ่นดินนี้”

ผศ.เจ๊ะอับดุลเลาะ ให้กำลังใจกับทุกคนที่สร้างคุณค่าในการสร้างงานศิลปะว่าด้วยความเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องที่มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์เพื่อนำความสุขมาสู่แผ่นดิน

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและบันทึกกรณีการซ้อมทรมานและอื่นๆในประเทศไทยบอกว่า มีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องเล็กๆ ที่ไม่มีใครเข้าไปได้นอกจากเจ้าหน้าที่ เรื่องราวเหล่านั้นจะถูกนำมาเปิดเผยได้น้อยมาก

พรเพ็ญบอกว่า งานนิทรรศการครั้งนี้จึงน่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคน ครอบครัว ชุมชน โดยทำผ่านงานศิลปะ นักจิตวิทยา บุคลากรทางการแพทย์เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้สะท้อนเรื่องของสุขภาพของชุมชน สาธารณะ

“หากเรามีประชากรในพื้นที่ ในประเทศที่มีจิตใจที่แตกสลายจากเหตุการณ์ที่เขาอธิบายและพูดกับใครไม่ได้ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะก้าวไปสู่ความเป็นธรรมและสันติภาพได้อย่างไร ต้องขอโอกาสจากเจ้าหน้าที่และในทางนโยบายว่า เราอยากได้พื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน ให้ความเชื่อมั่นกับคนในชุมชน บุคลากรที่มาช่วยเหลือเยียวยา สร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ให้คนที่ได้รับผลกระทบได้มีพื้นที่ยืนและกลับมาเป็นบุคลากรที่สำคัญในครอบครัว”

(Visited 236 times, 1 visits today)
Close