Written by 8:56 am Patani, Staff's Picks

คดีอับดุลเลาะ: ฝากความหวังไว้กับศาล

ทนายชี้เป็นคดีที่เผยจุดอ่อนกระบวนการซักถามของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่คนนอกไม่มีส่วนรับรู้

abdulloh

ทนายความตัวแทนญาติระบุ คดีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ จะแสวงหาความจริงได้หรือไม่แค่ไหนขึ้นอยู่กับทหารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซักถามจะตอบคำถามอย่างไร ชี้คดีอับดุลเลาะเผยให้เห็นจุดอ่อนของกระบวนการซักถามที่ไม่มีคนนอกรับรู้ รังแต่จะสร้างคำถามจากสังคมในยามที่มีปัญหาเช่นนี้ ส่วน “ช่อ” พรรณิการ์ วานิชชี้ จังหวะนี้ทุกกลไกของรัฐควรสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพราะอยู่ในกระบวนการผลักดันกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน

เช้าวันนี้คือ 29 มิ.ย.ที่ศาลสงขลา อัยการ ครอบครัวและทนายที่เป็นตัวแทนครอบครัวนายอับดุลเลาะได้มีนัดตรวจสอบพยานหลักฐานและทำนัดหมายเพื่อไต่สวนในคดีไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อส.ค. 2562  หลังป่วยไม่รู้สึกตัวอยู่หนึ่งเดือนหลังจากที่ไปให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในค่ายอิงคยุทธบริหารเมื่อ 20 ก.ค. 2562 ถือเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากพร้อมข้อสงสัยถึงสาเหตุที่แท้จริงของการตาย

การไต่สวนการตายถือเป็นกระบวนการปกติที่ดำเนินการตามกฎหมายประมวลวิธิพิจารณาความอาญา เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นในกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นของบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ การไต่สวนการตาย ศาลจะมีคำสั่งว่า การตายของบุคคลนั้นๆเกิดจากการกระทำของจนท.หรือจนท.กระทำการณ์เกินเหตุหรือไม่ และหากใช่ คำสั่งนั้นจะนำไปสู่การเริ่มกระบวนการสอบสวนในคดีอาญากับจนท.ที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนต่อไป

นายปรีดา นาคผิว ทนายความตัวแทนของครอบครัวนายอับดุลเลาะเปิดเผยกับ Patani NOTES ว่าวันนี้ศาลได้นัดหมายไต่ส่วนคดี โดยดูจากจำนวนพยานหลักฐาน โดยฝ่ายอัยการนำเสนอพยานไว้  20 ปา่ก และฝ่ายทนายครอบครัวเสนอเพิ่มเติมอีก 10 ปาก ทั้งหมดนี้จะมีการซักถามในชั้นศาลระหว่าง 24-26 พ.ย. และอีกช่วงหนึ่งคือ 15-18 ธ.ค. ส่วนในเรื่องเอกสารนั้น ฝ่ายอัยการนำเสนอประวัติการรักษาของรพ.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่และรพ.ปัตตานี ในส่วนของรพ.ต่ายอิงคยุทธบริหารนั้นทนายยังไม่เห็น แต่ก็เตรียมจะยื่นขอให้นำมาเแสดงด้วย รวมทั้งจะขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารอื่นเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ได้รับคำร้องเรียนจากครอบครัว รวมทั้งเอกสารจากการตรวจสอบของคณะกรรมการคุ้มครองสิททธิมนุษยชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตรวจสอบเรื่องการตายก่อนหน้านั้น พยานกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มเป็นแพทย์ที่ให้การรักษา 

การจะค้นหาความจริงจึงขึ้นอยู่กับพยานบุคคล จนท.ทหาร เหล่านี้ว่าจะให้ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่อย่างไร เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่มีคนนอกเกี่ยวข้องด้วย รายงานการแพทย์เองก็ไม่อาจให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ 

พยานหลักฐานที่สำคัญนั้น ทนายปรีดาระบุว่า คือในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ดำเนินการสอบปากคำนายอับดุลเลาะ ซึ่งอัยการได้เรียกให้ไปให้ปากคำ เริ่มตั้งแต่ชุดที่ไปนำตัวนายอับดุลเลาะไปยังศูนย์ซักถามในค่ายอิงคยุทธ ยังมีจนท.ทหารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวและสอบปากคำ จุดนี้เป็นจุดสำคัญของพยานหลักฐานในคดีนี้  ซึ่งถึงที่สุดแล้วต้องอาศัยปากคำของเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซักถาม เพราะเป็นช่วงที่เกิดก่อนการหมดสติและเสียชีวิตของอับดุลเลาะ การจะค้นหาความจริงจึงขึ้นอยู่กับพยานบุคคล จนท.ทหารเหล่านี้ว่าจะให้ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่อย่างไร เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่มีคนนอกเกี่ยวข้องด้วย รายงานการแพทย์เองก็ไม่อาจให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้  และเรื่องนี้เป็นความกังขาของญาติมาโดยตลอดว่าจะสามารถค้นหาความจริงได้แค่ไหนอย่างไร เป็นเรื่องที่ญาติติดใจเพราะบุคคลคนหนึ่งที่สุขภาพแข็งแรงแต่หลังจากเข้าสู่กระบวนการสอบปากคำกลับหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในขณะที่ศูนย์ซักถามเองก็มีประวัติมีผู้เคยเสียชีวิตมาก่อน ทำให้เกิดความสงสัย แต่การได้หรือไม่ได้ความจริงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่าสิ่งนี้มีผลต่อภาพของการทำงาน

“คดีนี้สังคมให้ความสนใจ อย่างน้อยเรื่องนี้อาจจะทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องคิดมากขึ้นถึงกระบวนการการสอบปากคำ เนื่องจากทุกอย่างทำกันเองโดยไม่มีบุคคลภายนอกร่วมรับรู้ เวลาเกิดอะไรขึ้นมีคำถามที่ไม่มีใครตอบให้ได้  ดังนั้นกระบวนการนี้มันควรทำให้โปร่งใสกว่านี้หรือไม่ รวมทั้งน่าจะสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่แรก เช่นเมื่อเข้าสู่ศูนย์ ต้องเปิดโอกาสให้พบทนาย พบญาติมากขึ้น อาจต้องคิดถึงการมีแพทย์อื่นที่ไม่ใช่ของค่ายมาตรวจสอบ หรืออื่นๆจากที่เวลานี้ที่ทุกอย่างทำกันเป็นการภายในทั้งหมด” 

ทนายความปรีดากล่าวด้วยว่า เนื่องจากในวันนี้ห้องพิจารณาคดีค่อนข้างเล็ก การจัดห้องให้นั่งห่างตามมาตรการรับมือการระบาดของโควิด-19 ทำให้ยิ่งมีคนเข้าฟังได้น้อยมาก สื่อ ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้า ทนายความจึงได้ร้องขอต่อศาลว่า เพราะคดีได้รับความสนใจ จึงเสนอให้ในการไต่สวนศาลจัดห้องให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้รับคนได้มากขึ้นราว 50 คน และศาลรับฟังพร้อมกับบันทึกสั่งการแล้ว เชื่อว่าหนต่อไปบุคคลทั่วไปและสื่อจะเข้าฟังการไต่สวนได้ นอกจากนี้ทนายความเปิดเผยด้วยว่า กลไกต่างๆที่ครอบครัวงไปร้องเรียนมาในเวลานี้เชื่อว่าทุกส่วนรอฟังผลการไต่สวนการตาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตำรวจหรืออื่นๆ 

ด้านนส.พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สมาชิกคณะอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์แทบจะรายเดียวที่ได้เข้าไปนั่งสังเกตกระบวนการในเช้าวันนี้บอกกับ Patani NOTES ว่าเชื่อว่าต่อไปกระบวนการพิจารณาจะได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เป็นการเปิดกว้างและโปร่งใส  การไต่สวนคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่หลายฝ่ายกำลังมีการผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน  ในส่วนของรัฐบาลเองก็เตรียมจะนำเสนอร่างของตนเองเข้าสู่สภาเช่นกัน ขณะที่คดีอับดุลเลาะ อีซอมูซอนั้นข้อสงสัยของสาธารณะคือมีการซ้อมทรมานหรือไม่  เพื่อแสดงความจริงใจว่ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการป้องกันในเรื่องนี้ หน่วยงานรัฐทุกส่วนควรจะสนับสนุนให้มีการดำเนินการที่เปิดกว้างให้สาธารณะได้รับรู้

นส.พรรณิการณ์แสดงความคาดหวังว่า ในชั้นศาลเป็นที่พึ่งในการค้นหาความจริงได้ เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องจะไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับศาล  เพราะในช่วงที่กรรมาธิการเคยเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆไปชี้แจงในเรื่องนายอับดุลเลาะ ทุกหน่วยงานส่งตัวแทนไปชี้แจงยกเว้นหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้อง ส่วนในส่วนของพยานหลักฐานนั้น เท่าที่ทราบมีประวัติการรักษาพยาบาลของรพ.สลานครินทร์ หาดใหญ่ และโรงพยาบาลปัตตานี คดีนี้ตนเห็นว่า ใจความสำคัญของเรื่องคือสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นายอับดุลเลาะอยู่ในความควบคุมตัวและต่อมาต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่หลักฐานจากค่ายอิงคยุทธในช่วงต้น นอกจากนั้นนส.พรรณิการะบุว่า คดีนี้เชื่อว่ากรรมาธิการฯจะตามต่อไป ในส่วนของตนเองก็สนใจในคดีนี้ทั้งในฐานะที่ปรึกษาของกรรมาธิการและโดยส่วนตัว

(Visited 294 times, 1 visits today)
Close