Written by 2:57 pm Featured, World

จาตุรนต์ ฉายแสง: ต้องยึดโยงกับประชาชน

บทสนทนาว่าด้วยประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ในประเด็น ทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวเดินหน้าและไม่โดดเดี่ยว

chaturon

จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นที่รู้จักกันดีในความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ทั้งในยุคสมัยที่เขาเป็นอดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองจนมาถึงชีวิตในฐานะนักการเมืองกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วันนี้จาตุรนต์ได้ไปร่วมเสวนาในงาน “ก้าวต่อไปของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน” ที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองกับคนรุ่นใหม่ในสภาวะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยกำลังเข้าสู่จุดพลิกผันอย่างสำคัญอีกครั้ง

Patani NOTES หยิบคำอภิปรายของจาตุรนต์มาถ่ายทอดต่อเพราะเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ในฐานะหนึ่งในบทสนทนาของนักเคลื่อนไหวจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่ประเทศเผชิญการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนทางการเมือง จาตุรนต์บอกเล่าและเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวในสมัย 14 ตุลา และพัฒนาการที่ลุ่มๆดอนๆของการเมืองไทย และด้วยประเด็นสำคัญแก่นกลางของการสนทนา คือเหตุใดการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจึงไม่ยั่งยืน

รายงานชิ้นนี้เป็นการถอดความกึ่งสรุปความที่อาจมีสาระตกหล่นไปบ้างเพราะเสียงถ่ายทอดที่ไม่ชัดนัก หากมีข้อผิดพลาดประการใด ทีมงานขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

14 ตุลา กับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

“ผมเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้วต้องออกจากมหาลัยเพราะเหตุการณ์  6 ตุลา หลังจากนั้นก็ผ่านอะไรมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาเป็นนักการเมืองตั้งแต่ปี 2529 แล้วก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทางการเมืองไปตามความเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศนี้  จะดึงประเด็นบางประเด็นมาพูด โดยเฉพาะว่ามันมีการต่อสู้ทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมือง มีเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง เช่น 14 ตุลา  6 ตุลา พฤษภา 35  แล้วก็การเคลื่อนไหวหลังจากนั้นหลายเหตุการณ์ รวมทั้งการที่ระบบรัฐสภา ระบบการเมืองมีพัฒนาการของมันมาเป็นลำดับ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ 

มีเหตุปัจจัย หรือว่าเงื่อนไขอะไรทำให้เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ประสบความสำเร็จ หรือนักศึกษา ประชาชนได้ชัยชนะ หรือมีเหตุอะไรที่ทำให้กลายเป็นความล้มเหลว ถูกทำร้าย ทำลาย  หรือตั้งคำถามอีกแบบหนึ่งคือว่าทำไมสู้กันมาหลายรอบ บางครั้งชนะก็มี ได้ประชาธิปไตย  แล้วทำไมประชาธิปไตยประเทศไทยไม่ยั่งยืน เราจะทำอย่างไรให้ได้ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

เหตุการณ์ 14 ต.ค. มันเกิดในขณะที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมานานมาก สิบกว่าปี มันมีเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นประชาธิปไตยเลย  แล้วก็มีเลือกตั้งคั่นอยู่นิดหนึ่ง เสร็จแล้วก็มีการยึดอำนาจตัวเอง ผู้ยึดอำนาจตัวเองกลับมาปกครองแบบเผด็จการ “ 

“ปัญหาของระบอบเผด็จการมีเต็มไปหมด  คนเห็นการคอร์รัปชั่น การลุแก่อำนาจ การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เศรษฐกิจไม่ดี อำนาจผูกขาดอยู่ในหมู่ผู้มีอำนาจ ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายในสังคมไม่เห็นด้วย เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจากประเด็นเล็ก ๆ สู่ประเด็นที่ใหญ่ขึ้น ประสบความสำเร็จมาเป็นขั้นเป็นตอน  จนมาถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ผู้เรียกร้องกลายเป็นผู้ถูกจับเป็นกบฏ  เกิดความไม่พอใจมากขึ้น มีการชุมนุม เสร็จแล้วการชุมนุมใหญ่มันอยู่ไม่กี่วัน ก็กลายเป็นการเปลี่ยนแปลง

สามทรราช ผู้มีอำนาจขณะนั้นต้องออกจากประเทศไทยไป ก็ได้มีรัฐธรรมนูญ มันเหมือนกับว่า ทำไมง่ายจัง การต่อสู้ของขบวนนักศึกษาไม่ได้ใช้เวลานาน ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมาก มันเกิดขึ้นมาเพราะว่าหลายฝ่ายเห็นไปทางเดียวกัน ไม่พอใจกับการปกครองแบบเผด็จการ หลายฝ่ายเดือดร้อน หลายฝ่ายเสียหาย ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ชนชั้นนำในขณะนั้นแตกแยกกัน แล้วชนชั้นหลายส่วนก็ไม่พอใจผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากพลังประชาชนล้วน ๆ พลังประชาชนมีไหม มีจริง มีความเข้มแข็งไหม เข้มแข็งจริง หมายความว่าเป็นพลังที่มีนัยยะ มีความหมายในทางการเมือง มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำที่แตกแยกกันก็ทำให้เป็นเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

ประเด็นที่เคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ  เป็นเรื่องระหว่างการที่ไม่มีรัฐธรรมนูญและจะให้มีรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ซับซ้อนอย่างทุกวันนี้ที่นักศึกษามีความเข้าใจต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญ ประชาชนเข้าใจต่อปัญหารัฐธรรมนูญ การเป็นรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร สารพัดเต็มไปหมด สมัยนั้นมันแค่จากไม่มีรัฐธรรมนูญ ให้มีรัฐธรรมนูญ เท่านั้นเอง”

พัฒนาการทางความคิดกลับไม่เกิด 

“ทีนี้พอได้ประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญขึ้น มีการเลือกตั้ง อะไรๆเพิ่งเริ่ม ยังอ่อนแอมากถ้าในแง่จะพูดถึงพลัง พรรคการเมืองมีมาแป๊ปเดียวก่อนหน้านั้น ถูกยุบไป ไม่ให้มีพรรคการเมืองเลย เพราะฉะนั้นสหภาพ สหพันธ์ชาวนา สหภาพแรงงาน ไม่มีมาก่อน องค์กรเอ็นจีโอก็เกือบจะไม่มี  องค์กรภาคประชาชนมีน้อยมาก มันเป็นการเพิ่งเริ่มของขบวนการประชาธิปไตย ที่ยังไม่ได้มีความเข้มแข็ง พรรคการเมืองที่เพิ่งขึ้นมาก็ไม่ได้ยึดโยงพลังของประชาชน ไม่ได้โยงกับพลังประชาธิปไตย  

การสร้างพัฒนาอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดขึ้น ในมหาวิทยาลัยก็มีไม่มาก พอต่อมามีกระแสความคิด กระบวนการสังคมนิยมเข้ามาในสังคมไทย อาจารย์มหาลัยที่จะพูดเรื่องประชาธิปไตยเสรีประชาธิปไตย ก็ถูกมองว่าเป็นฝ่ายขวาหรือเปล่า เผด็จการก็เพ่งเล็งอีก จำกัดไม่ให้มีบทบาท  การพัฒนาอุดมการณ์ความคิด แนวความคิดความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตย  มันไม่เกิดขึ้นในสามปีหลังเกิดสิบสี่ตุลา แต่ว่ามันก็มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ของประชาชน นักศึกษาที่ไปเรียนรู้ปัญหาสังคม ไปร่วมกับกรรมกร ร่วมกับชาวนาเคลื่อนไหวมากมาย แต่ว่าต่อมาการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยวตัวเอง ออกจากสังคม ออกจากคนส่วนใหญ่ ชนชั้นปกครอง ชนชั้นนำไม่พอใจ ยอมรับไม่ได้กับการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพกันมาก ๆ ก็วางแผนดึงประเทศกลับสู่ระบอบเผด็จการ แล้วมันก็เกิดการวางแผนใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษา จนเกินจริงไปเยอะแยะ จนกระทั่งไปเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการสังหารหมู่

เนื่องจากไม่ยอมแก้ปัญหาความเห็นต่างในสังคมด้วยกระบวนการพูดคุยกัน หารือกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม นักศึกษาและประชาชนไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความเห็นต่าง ๆ แต่กลับถูกใช้ความรุนแรง กระทำต่อนักศึกษา ประชาชน กลายเป็นอยู่กันไม่ได้ ต้องเข้าป่า ไปต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธ กลายเป็นคนไทยฆ่ากันเองเป็นร้อย ๆ พัน ๆ คน นี่คือความเสียหายที่เกิดจากการที่ผู้ปกครองประเทศ ชนชั้นนำเลือกใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นความคิดเผด็จการแบบอำนาจนิยม ทำให้เกิดความเสียหาย 

อุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีประชาธิปไตย ก็ยิ่งหยุดชะงักไปอีกในช่วงนั้น พูดในมหาลัยก็ไม่ได้ ยิ่งเข้มงวด ใครจะมาคุยความเห็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องยากไปหมด  จนต่อมาสังคมนิยมล่มสลาย  โซเวียตล่มสลาย ประเทศสังคมนิยมล่มสลาย ความคิดสังคมนิยมถูกพิสูจน์ว่านำไปใช้ในหลายประเทศแล้วไม่ได้ผล นักศึกษาเห็นว่าการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาของประเทศ การไปใช้ความคิดของคอมมิวนิสต์จีน สมัย 40 ปีก่อน หมายถึงก่อนวันนั้น ไม่ใช่ก่อนวันนี้ มาวิเคราะห์สังคมไทยแบบเดียวกันให้กลายเป็นเหมือนกับว่าสังคมไทยก็เหมือนกับสังคมจีน กลายเป็นการค่อย ๆ ยุติหรือล่มสลายลงของพรรคคอมมิวนิสต์ มีปัจจัยอื่นด้วย เรื่องสงครามเย็น

ที่พูดมานี้จากแค่ช่วง 14 ตุลามาถึงหลัง 6 ตุลาจนมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ สังคมไทยไม่ได้พัฒนาอุดมการณ์แนวคิด ความเชื่อ ในเรื่องเสรีประชาธิปไตย ซึ่งจะหมายถึงเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ เรื่องการถ่วงดุลกันของรัฐ ระบบการปกครองที่มีการถ่วงดุล ประชาชนตรวจสอบได้ เราไม่ได้พัฒนาเรื่องเหล่านี้  ก็ค่อย ๆ พัฒนาเองบ้างในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ ต่อมาพอเริ่มพัฒนาบ้าง เมื่อมีรัฐบาลจากเลือกตั้ง แต่ก็มีการยึดอำนาจอีกในปี 2535 อยู่ได้ปีหนึ่งจะสืบทอดอำนาจแต่ประชาชนหลายฝ่ายไม่ยอม บอกว่า รสช.ที่ยึดอำนาจนั้น บอกว่ารุ่น สำคัญกว่าชาติ คือรุ่นเขาสำคัญกว่าใครทั้งหมด เป็นการโดดเดี่ยวตัวเองจากชนชั้นนำด้วยกัน  นักธุรกิจ และประชาชน สื่อมวลชน เกิดเป็นการชุมนุมแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอีก”

สกัดการเติบโตของประชาชน

“หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา พัฒนาขึ้นเช่นกัน  พรรคการเมืองเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เริ่มทำประโยชน์ให้คนได้เห็นมากขึ้น มีการปฏิรูปการเมือง นำไปสู่การเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เกิดพัฒนาการทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน คือมีระบบพรรคการเมืองที่ต้องตอบสนองประชาชน ประชาชนเลือกพรรคการเมือง เลือกที่นโยบายพรรคการเมือง จากการที่รัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบเอาไว้ เลยทำให้มีการพัฒนาระบบพรรคการเมือง และระบบรัฐสภามากเป็นพิเศษในช่วงนั้น ในขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่มีพัฒนาการในเรื่องเหล่านี้

พัฒนาการแบบนี้มีปัญหาในตัวของมันไหม มี  คอร์รัปชั่นมีไหม ก็มี ผลประโยชน์เข้าบางกลุ่มมากไปไหม มีไหม ก็มี แต่มันก็เป็นปัญหาของระบบหนึ่ง ๆ ที่จะต้องมี  แต่ที่มันดีและมีประโยชน์ คือมันตอบสนองความต้องการของประชาชน มันทำให้ประชาชนกำหนดทิศทาง กำหนดนโยบายของรัฐบาล กำหนดอนาคตของประเทศได้  ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำไทยไม่ยอมอีก  แล้วก็จัดการให้มีรัฐประหารอีกในปี 2549  รัฐประหารปี 49 ทำเพื่อจะป้องกันไม่ให้ประชาชนกำหนดอะไรได้นั่นเอง วางแผนให้พรรคการเมืองที่คุยกันรู้เรื่องได้บริหารประเทศ แล้วก็ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญจัดการกับทุกอย่างที่ขวางหน้า ด้วยวิวัฒนาการตุลาการภิวัฒน์ เสร็จแล้วเขาได้ข้อสรุปว่ารัฐประหารปี 49 มันเสียของ จึงมีรัฐประหารปี 2557 คราวนี้ต้องทำไม่ให้เสียของ และการทำไม่ให้เสียของ ก็คือระดมทุกอย่างที่คิดได้ กลไกทั้งหมด ระบบทั้งหมด วางแผนให้แยบยลที่สุด รัดกุม มั่นคงที่สุด ที่จะเอาอำนาจไว้อยู่ในมือของผู้ที่ยึดอำนาจและพวก ซึ่งก็หาพวกมาได้มากพอสมควร เพียงแต่ว่าพวกของผู้ที่ยึดอำนาจจะมามากแค่ไหน ก็แค่นิดเดียวของประเทศ 

และการที่เขาทำไม่ให้เสียของนี้ กลับกำลังกลายเป็นจุดอ่อนของเขาเอง  ระบบที่เขาสร้างไว้เพื่อจะกุมทุกอย่างให้ได้  กำลังกลายเป็นจุดอ่อน คือทำให้ประเทศไม่สามารถปรับตัว  มันไม่มีทางที่จะได้รัฐบาลที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน มันติดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มันก็เลยเป็นที่มาสู่การที่ ความรู้สึกของคนจำนวนมาก เริ่มจากนักศึกษาที่พูดว่าประเทศไม่มีอนาคต 

อุดมการณ์ แนวคิด ของระบบประชาธิปไตยยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง และฝ่ายเผด็จการก็มีทั้งจัดการด้วยความรุนแรง มีทั้งใช้รัฐประหาร มีการปรับตัว มีการวางแผนเป็นระบบเพื่อจัดการ เพื่อรักษาอำนาจ 

สภาพอย่างนี้จะอยู่ไปได้นานแค่ไหน มันก็มาเจอกับสภาพของประเทศในเวลานี้ ซึ่งมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เรื่องที่เป็นปัญหามากคือการศึกษา  วิกฤตินี้มันเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วมันเกิดขึ้นในขณะที่การเมืองกลายเป็นตัวปัญหา  และไม่เปิดโอกาสให้ประเทศนี้ปรับตัว ก็เลยมาสู่จุดที่มันก็คงจะอยู่ไปอย่างนี้ไม่ได้

ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าเราจะทำให้เป็นประชาธิปไตย  ถ้าศึกษาจากอดีต ต้องมีหลายฝ่ายเข้าร่วม ต้องมีหลายฝ่ายเห็นปัญหา ต้องมีหลายฝ่ายเห็นว่ามันควรจะต้องเปลี่ยนแปลง มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ปัญหาที่ยากขึ้นไปกว่านั้นอีกหน่อยคือถ้าเปลี่ยนแปลงแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์มากได้อย่างไร  นักศึกษาสมัย 14 ตุลา เคลื่อนไหวเสร็จ มีการเลือกตั้งกันขึ้นมา พรรคการเมืองก็ไปบริหารประเทศกัน ไม่เกี่ยวอะไรกับพลังนักศึกษาและประชาชน และอีกข้อหนึ่งคือว่า ทำอย่างไรถ้าจะเปลี่ยนแปลงแล้วให้มันเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ยั่งยืนก็ต้องหมายถึงมีข้อเรียกร้อง มีข้อเสนอที่ดี ตรงกับปัญหา มีคนเข้าใจ มีคนเข้าร่วม เห็นด้วยแล้วก็ต้องพัฒนาต่อไป”

แรงต้านประชาธิปไตยมีอยู่เสมอ

“ประสบการณ์ในฐานะนักการเมืองของผม ผมก็สวมหมวกสองใบอยู่เรื่อยระหว่างเป็นนักการเมือง กับเป็นผู้ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย  มีบางช่วงที่หลายฝ่ายรู้สึกว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย คือช่วงปี 2535 – 2548 พอปี 49 ก็ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาพื้นฐานของประเทศนี้ยังคงเป็นเรื่อง ความไม่เป็นประชาธิปไตย ความพยายามที่จะดึงประเทศกลับไปเป็นเผด็จการ  ไม่ว่าจะเมื่อเราได้ประชาธิปไตย รู้สึกว่าเริ่มได้ประชาธิปไตย หรือว่าได้ประชาธิปไตยมาแล้ว จะต้องไม่ลืมว่ายังมีความพยายามที่จะดึงประเทศกลับไปเป็นเผด็จการ ยังจะต้องช่วยกันสร้างประชาธิปไตย และนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า พรรคการเมือง นักการเมืองในยี่สิบ สามสิบปีมานี้ขาดไป คือไม่ได้ร่วมกับประชาชนคิดว่าจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งหนึ่งเมื่อรวมกับพลังนักศึกษาแล้วต้องคิดที่จะให้ได้ประชาธิปไตยมา และคิดไปด้วยกันพร้อมกันด้วยเลยว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยที่ได้มานั้น เป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ของสังคมไทย คืออยู่ในวิกฤติ อยู่บนทางสองแพร่ง ว่าจะอยู่กับระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และทำให้ประเทศล้าหลัง ไม่สามารถปรับตัว ไม่สามารถพัฒนา หรือว่าจะให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย ให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมกันแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ คือไม่ให้การเมืองมาเป็นอุปสรรคมาเป็นตัวขวางการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ 

หลังรัฐประหารได้สักปีหรือสองปี มีคนถามผมว่าแล้วมันเป็นเผด็จการแบบนี้แล้วจะไปต่อยังไง จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ยังไง เป็นไปได้ไหมที่พลังทางสังคมที่เคยต่อสู้มา จะมาต่อสู้กันเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ผมก็บอกว่ายังไม่เห็นว่าพลังที่สู้ทางการเมืองกันมาก่อนหน้านี้ ก่อนรัฐประหาร จะมีศักยภาพ รวมทั้งบ้านเมืองก็วุ่นวาย คนมีความรู้สึกว่าบ้านเมืองวุ่นวาย พลังทางการเมืองก่อนหน้านั้นก็อยู่ในภาพที่ไม่มีศักยภาพ ผมก็บอกว่า แต่ปัญหามันจะสับสนจากระบอบเผด็จการ จากกติกาที่สร้างขึ้นมา รัฐบาลไม่แก้ปัญหาประเทศ มันจะมีปัญหาสะสมมากขึ้น คนจะเดือดร้อนมากขึ้น แล้วมันก็คงจะมีพลังใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาซึ่งนึกไม่ออก” 

พลังคนรุ่นใหม่กับคำถามจะก้าวต่อไปอย่างไร

“วันนี้กลายเป็นว่าที่นึกไม่ออกตอนนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว คือพลังของนักเรียน นักศึกษา แล้วก็รวมถึงประชาชนอีกหลาย ๆ ฝ่ายก็มีความเดือดร้อน ต้องการให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ก็เลยดูพลังของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ ไม่เหมือนกับในอดีตด้วย ในหลายสิบปีไม่มีแบบนี้ แม้จะเปรียบเทียบกับอดีตก็ไม่เหมือนกัน  นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันมีความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ในเรื่องประวัติศาสตร์ ในเรื่องระบบ ในเรื่องความคิดทางการเมือง ถือว่ามาก เพราะว่าอยู่กับโลกแห่งการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ไม่จำกัด 

ปรากฎการณ์นี้มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีความหมายอย่างมากทางการเมือง หรือมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ถ้าเราย้อนไปดูสั้นๆ ตอนเกิดแฟลชม็อบ เราจะเห็นว่า คนมีความรู้สึก นักเรียน นักศึกษามีความรู้สึกว่า นอกจากเห็นปัญหาในระบบการศึกษาแล้ว ประเทศมีปัญหา รัฐบาลมีปัญหา มีการทุจริต มีความพิกลพิการของการเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขารู้สึกว่ารัฐบาลแบบนี้ไม่ได้ ระบบแบบนี้ก็ไม่ได้อีก เพราะว่ามีรัฐธรรมนูญอยู่แบบนี้ จะเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนไม่ได้  ต่อมาหลังโควิด มีพัฒนาการมาเป็นข้อเสนอ ข้อเสนอนี้ความจริงมันบอกว่า รัฐบาลนี้ไม่ควรบริหารประเทศต่อไป กติการัฐธรรมนูญแบบนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็มีว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้หยุดคุกคามประชาชน จนถึงขณะนี้ก็ยังเรียกร้องต่อ เพราะยังมีการคุกคามอยู่ 

ผมคิดว่าจริง ๆ ข้อเรียกร้องมันเป็นผนึกของการที่เห็นว่าประเทศมีปัญหา รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ กติกาก็ไม่ดี ยิ่งหลังโควิด และจากนี้ไป มันยิ่งมีปัญหามาก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม คนเดือดร้อนจะมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งที่หนุนหลังความเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็คืออันนี้ คือสภาพความเดือดร้อนของประชาชน ความล้าหลัง ความเสียหายของประเทศ 

เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษา สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และประชาชนมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ประเทศไม่มีอนาคตของนักเรียน นักศึกษา ก็คือประเทศไม่มีอนาคตของประชาชนทั้งประเทศ มันจึงจะเป็นพลังที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น การร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ ผมคิดว่านักการเมืองเขาอาจจะระวัง เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง หรือเบื้องหน้าก็ตาม แล้วทำให้พลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษามันลดลง 

แต่จริง ๆ อย่างปี 2535 การเคลื่อนไหวมันนำโดยพรรคการเมือง แล้วนักศึกษาก็เข้าร่วม ประชาชนฝ่ายต่าง ๆ ก็เข้าร่วมทั้งหมด เพราะทุกฝ่ายเห็นว่าการสืบทอดอำนาจเผด็จการมันเป็นปัญหา อันนั้นเป็นสภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งมันไม่ตายตัว 

ผมไม่มีอะไรจะแนะนำนักศึกษา มันใหม่มากสำหรับคนรุ่นผม แต่ทำอย่างไรจึงจะรักษาการเคลื่อนไหว การเรียกร้องที่เป็นสันติวิธีแบบนี้ต่อไป มันจะเป็นจุดแข็ง เพราะคนกลัวเรื่องความรุนแรง การไปยึดทำเนียบรัฐบาล การไปยึดสนามบิน อะไรแบบนี้มันเป็นเรื่องไม่ดี ผมก็เห็นมาแล้วว่ามันเสียหาย ซึ่งนักศึกษาไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย เรื่องที่โต้แย้งกันมากที่สุด คือเรื่องเอาสีไปสาดตำรวจ ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับในอดีต เพราะฉะนั้นถ้ารักษาการเคลื่อนไหวที่เป็นสันติวิธี ยึดโยงกับประชาชน อันนี้ก็จะเป็นจุดแข็ง 

ผมมองว่าความขัดแย้งในสังคม ในทางการเมืองในขณะนี้ คงไม่จบเร็วแบบวันนี้หรือพรุ่งนี้  มันจะต้องใช้เวลา จะคิดเผื่อเรื่องเวลาอย่างไร  แล้วก็มีการพูดกันในบางวง ตั้งคำถามเหมือนกับว่า เราทำอย่างไรจะให้ความขัดแย้งนี้ยุติไป ในความหมายว่าไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวอะไรของใครอีก ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ในความเห็นของผม การเคลื่อนไหวของประชาชน รวมถึงนักศึกษาด้วย มันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องคิดให้ยาว ยาวแค่ไหน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตอนนี้ข้อเรียกร้องไปขมวดอยู่ที่การให้มี สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องอื่น ๆ ใส่เข้าไปในช่วงนั้น มีสสร. มีลงประชามติ กระบวนการแบบนี้ใช้เวลา 

ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีกระบวนการที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี มีประชามติต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายรณรงค์ได้อย่างเสรีโดยการร่วมมือสนับสนุนจากกลไกของรัฐ มันจึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตย 

ถ้าจะป้องกันความรุนแรง  ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบหลายสิบปีมานี้ ไม่เกิดจากนักศึกษา มันเกิดจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายที่ต้องการทำลายผู้เห็นต่าง รัฐบาลก็ต้องหลีกเลี่ยง หยุดคุกคาม หยุดการสร้างเฮทสปีด หยุดการสร้างความเกลียดชัง ต้องช่วยกันหยุดสื่อบางสื่อที่สร้างความเกลียดชัง แล้วก็เปิดโอกาสให้มันมีทางออก คือถ้าต้องแก้กฎหมาย ก็แก้กฎหมาย ถ้าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ก็แก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร.ก็ตั้ง  มันเกิดขึ้นได้  ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิด หรือไม่เกิด ก็คือว่าพล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) อาจจะอยู่ไม่ได้ รัฐบาลอาจจะล้มไป แล้วมันอาจจะมีการเลือกตั้งขึ้นมาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะเสร็จ และถ้ามันเกิดขึ้นโดยที่ สว.ยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี มันก็จะเป็นสภาพที่ไม่มีทางแก้วิกฤติได้” 

(Visited 219 times, 1 visits today)
Close