Written by 9:27 am Interviews, Patani Notes, Staff's Picks

การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทยเกี่ยวข้องโดยตรงกับสันติภาพปาตานี

สัมภาษณ์พิเศษ ฮากิม พงตีกอ

การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศมีพื้นที่ที่เปิดรับประเด็นจากสามจังหวัดภาคใต้ให้เห็นอย่างชัดเจน ในเวทีชุมนุมในกรุงเทพฯ มีตัวแทนจากพื้นที่ร่วมอภิปรายถึงปัญหาของสามจังหวัดใต้ ซึ่งก็ล้วนได้รับความสนใจจากทั้งผู้ร่วมชุมนุมและสื่อมวลชน

คำถามว่าความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้อยู่ตรงไหนในบริบทการเมืองไทยและการที่คนรุ่นใหม่เข้าร่วมในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยหนนี้ พวกเขาคิดว่าสิ่งที่ไปร่วมขับเคลื่อนจะส่งผลอย่างไรต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ นี่เป็นประเด็นที่ดูจะยังเป็นที่ถกเถียงกันแม้กระทั่งในวันนี้

Patani NOTES สนทนากับฮากิม พงตีกอ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นในการหาหนทางสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วยแนวทางการเมือง ฮากิมมองว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยไทยเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่  เขาเชื่อว่าหากโครงสร้างใหญ่ของประเทศเปิดกว้าง การใช้อาวุธจะไม่ใช่ทางเลือกของการแก้ปัญหาอีกต่อไป ฮากิมเห็นว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพจะเดินหน้าได้ รัฐสภาจะต้องออกกฎหมายเพื่อรับรองให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่

ฮากิมเป็นสมาชิกของเดอะปาตานี (The Patani) ซึ่งในวันนี้อธิบายตัวเองว่า กำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็นPolitical Action Group หรือกลุ่มที่ผลักดันประเด็นทางการเมืองไปสู่กลุ่มที่ขับเคลื่อนงานในระดับมวลชน

ฮากิมเริ่มต้นด้วยการบอกว่าการสร้างสันติภาพปาตานีไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินการผ่านกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเหตุนี้การเคลื่อนไหวที่ยึดโยงการมีรัฐธรรมนูญใหม่จึงสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาในพื้นที่ “การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทยที่เป็นอยู่ก็คือการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปาตานี” เพราะกระบวนการสันติภาพใดๆต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นกฎหมายที่ช่วยจัดวางเงื่อนไขที่สร้าง “ความมั่นคง” ให้กับกระบวนการสร้างสันติภาพ สิ่งหนึ่งที่เขาเสนอคือกระบวนการสันติภาพผ่านการพูดคุยต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับ

ถ้าเราไม่ปรับให้รัฐธรรมนูญป้องกันการรัฐประหารได้ เราไม่ปรับรัฐธรรมนูญให้คนเข้าใจปัญหาเข้าไปบริหารประเทศได้ หรือไม่สามารถปรับรัฐธรรมนูญให้พรบ.สันติภาพมันออกมาจากสภาฯได้ ทุกอย่างก็ไม่มีความมั่นคง กระบวนการสันติภาพมันต้องการความมั่นคง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาที่ไปแบบที่เป็นอยู่ มันก็ไม่มั่นคง กระบวนการสันติภาพมันสามารถคว่ำได้ตลอดเวลา” 

การผลักดันกระบวนการสันติภาพให้ออกมาเป็นกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญน่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากหรือไม่

ระยะสั้นอาจจะยาก แต่ผมไม่ได้หวังระยะสั้น ส่วนตัวมองระยะยาว มูฟเมนท์ที่เป็นอยู่ตอนนี้มันจะเป็นกระบวนการที่ค่อยๆเติบโต มันทำให้เราเห็นว่าในอนาคตสังคมนี้จะเป็นอย่างไร กระแสวันนี้มันก็สร้างให้คนรุ่นหลังได้เติบโตผ่านกรอบคิดแบบเชื่อมั่นในหลักการเสรีภาพ อีกสิบปี ยี่สิบปี ผมคิดว่าคนจะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยทางเลือกเรื่องเอกราช เรื่องเสรีภาพต่างๆ มันจะกลายเป็นเรื่องธรรมดามาก

ต้องผลักดันประชาธิปไตยไทยให้สำเร็จก่อนมาผลักดันประเด็นสันติภาพในจชต.หรือไม่

ผมว่ามันสามารถผลักดันควบคู่กันได้ เราต้องดูว่ามันผลักได้แค่ไหนในรอบนี้ ถ้าผลักได้แค่แก้รัฐธรรมนูญบางส่วนก็ถือว่าผลักดันได้ระดับหนึ่ง การปิดสวิตช์ส.ว.ไม่ให้มาเลือกรัฐบาลจะทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่าเราจะได้รัฐบาลที่มีอิมแพคต่อเราผ่านการเลือกตั้ง (รัฐบาลที่ตอบสนองเสียงคนที่เลือก – Patani NOTES) เราจะสามารถเลือกคนที่เข้าใจปัญหาปาตานีเข้าไปเป็นรัฐบาลได้ และคาดหวังให้คนกลุ่มนี้เข้าไปบริหารจัดการเรื่องเกี่ยวกับทหารในพื้นที่ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ หรือแม้แต่การเปิดให้สภาพูดคุยเรื่องการศึกษากระบวนการสันติภาพเพื่อผลักดันเรื่องให้ออกมาเป็นกฎหมายมันก็ทำได้ หรือแม้แต่จะไปคุยเรื่องหมวดที่เกี่ยวกับการปกครอง ยุติอำนาจรวมศูนย์คืนอำนาจให้ท้องถิ่นทั่วประเทศก็ย่อมทำได้

ผมพูดมาตลอดว่ากระบวนการสันติภาพ ถ้าเราใช้วิธีการเจรจามันต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่เช่นนั้นมันไม่สามารถอ้างเป็นวาระแห่งชาติได้

สันติภาพก็มีพูดถึงในยุทธศาสตร์ชาติ อันนั้นจะถือเป็นวาระแห่งชาติได้หรือไม่

ใช่ ในยุทธศาสตร์ชาติเองก็มีการพูดถึงเรื่องสันติภาพแต่พูดลอยมาก แต่พรบ.สันติภาพที่ผมพูดถึง มันต้องลงรายละเอียดเลยว่าจะมีฝ่ายไหนไปคุยบ้าง คุยแล้วกฎหมายต้องไปรองรับผลการคุยขั้นต้นอย่างไรได้บ้าง เป็นวาระที่อยู่ภายใต้สภาหรืออยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มีตัวแทนจากไหนบ้างไปนั่งอยู่ในกลไกการพูดคุย แล้วต้องให้อำนาจแก่กลไกนี้ไปกำกับนโยบายให้สอดคล้องกับองคาพยพต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพเช่นกอ.รมน.เป็นต้น

รัฐธรรมนูญที่เอื้อให้มีการออกกฎหมายสันติภาพคืออย่างไร

สิ่งที่ผมฝันคืออำนาจสูงสุดจะต้องเป็นของประชาชน คือเราสถาปนารัฐชาติผ่านกรุงเทพฯแล้วกลัวว่าคนอื่นไม่ยอมรับก็สร้างกรอบ อันที่จริงกรอบนี้มันเป็นความกังวลเกินไป มันเป็นเงื่อนไขทำให้คนรู้สึกว่ามันคือกรงขัง แต่ถ้าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มันทลายกรอบที่เรารู้สึกว่ามันเป็นกรงขัง นัยยะของมันไม่ใช่ว่าจะให้เอกราชใคร แต่มันสามารถคิดได้ว่าผู้คนมีเสรีภาพที่จะคิดต่าง จริงๆอยากให้ระบุไปเลยว่าคิดต่างแบบไหนภายใต้รัฐนี้ก็ไม่ผิด หากเป็นแบบนั้นแล้วคนจะใช้อาวุธไปทำไม สิ่งนี้จะไปปลดความรู้สึกของคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่าโดนกดทับ รู้สึกถูกล่าอาณานิคม ไม่มีสิทธิ์เลือก พอไม่มีสิทธิ์เลือกปุ๊บก็ไม่มีวิธีการที่จะสื่อสารอีก มันทำให้คนกลุ่มหนึ่งเลือกใช้อาวุธและมันก็ไม่จบ

นี่ใช่ไหมคือเหตุผลว่าควรสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหนนี้?

นี่คือความเป็นไปได้ และมันเป็นไปได้ในอนาคต อาจจะไม่ใช่ระยะสั้น เราหวังขั้นต่ำว่าอย่างน้อยจะมีพื้นที่ประชาธิปไตยที่มันไม่กดคน มันต้องทำให้คนพูดได้ในระดับหนึ่ง เพราะสิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่เสรี ใครจะคิดต่าง ใครจะพูด บนพื้นที่เสรีคนที่ไม่เห็นด้วยกับเอกราชของปาตานีก็สามารถพูดได้

แล้วจะใช้วิธีการอธิบายอย่างไรให้กับคนที่ไม่เห็นด้วย

ผมเชื่อว่ารัฐไทยคือรัฐชาติหนึ่ง ผมคิดว่ารัฐต้องไม่อุปถัมภ์ใครเป็นพิเศษ รัฐทำหน้าที่อำนวยเสรีภาพให้คน วางกรอบเพื่อให้คนมีความปลอดภัยร่วมกัน ไม่ว่าใครจะเลือกแบบไหน จะมีความเห็นทางการเมืองแบบไหน หรือศรัทธาในอะไร ทุกคนต้องอยู่ได้ และปาตานีจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไรมันก็ควรที่จะต้องทำผ่านกลไกรัฐสภา

การปลดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมันทำให้คนรู้สึกได้ว่าตัวเองก็มีอำนาจอธิปไตย มีส่วนร่วมในการสร้างรัฐชาติโดยที่ไม่ต้องอิงกับอัตลักษณ์อะไร ความเป็นชาตินิยมก็มีที่ทาง หากเขาจะออกแบบสถาบันของตัวเองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญอย่างมีศักดิ์ศรีก็ทำได้ ส่วนพัฒนาการของการออกแบบทางออกทางการเมือง ถ้าพื้นที่มันเปิดเราจะสามารถพัฒนาความรู้และสร้างทางเลือกร่วมกันได้ คือเราต้องเปิดพื้นที่ให้ได้คิดก่อน

ถ้ามีกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ได้อ่าน ผมอยากให้พวกเขาลองทบทวนว่าขบวนการปาตานี ไม่ควรเป็นขบวนการที่สู้แค่ในกรอบของตัวเอง มันต้องขยับไปพูดระดับโครงสร้าง ซึ่งช่วงเวลานี้แหละมันสำคัญ อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงในทันทีแต่เราต้องเริ่มพูดตั้งแต่ตอนนี้ 

ทำไมคนในขบวนประชาธิปไตยจึงสนใจประเด็นปาตานีมากขึ้น

ผมคิดว่าเผด็จการมันทำให้คนฝันถึงเสรีภาพและตั้งคำถามว่าเสรีภาพคืออะไรรวมทั้งใครบ้างที่เป็นเหยื่อของเผด็จการ พอเราเข้าใจว่าใครเป็นเหยื่อของเผด็จการผู้คนก็จะหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่แล้ว ปาตานีเองก็เป็นเหยื่อหนึ่งที่เห็นชัดในสังคมไทย มันเป็นรูปธรรม มีคนตายจริง 

ในอดีตฝ่ายประชาธิปไตยบางคนก็เคยสนับสนุนให้ทหารมาเข้ามาแก้ปัญหาที่ปาตานี พวกเขาเชื่อว่าที่นี่มีโจร มีการทำร้ายคนพุทธ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เห็นว่าทำไมถึงมีคนลุกขึ้นมาจับอาวุธ มันมีปัญหาโครงสร้างอย่างไร โครงสร้างไปกดทับเขาตรงไหน แล้วการที่คุณสนับสนุนกองทัพมันแปลว่าอะไร

เพราะตลอดมากองทัพใช้ปาตานีอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของกองทัพในภาพรวม ไม่ใช่แค่ใช้ประโยชน์จากงบประมาณผ่านพื้นที่ แต่ใช้ประเด็นปาตานีเพื่อสร้างภาวะผู้นำของกองทัพในสังคมไทยว่าเป็นฮีโร่เป็นผู้แก้ไขปัญหา จึงยังมีกองเชียร์ที่ไม่อยากให้มีการปฏิรูปกองทัพเพราะประเด็นปาตานี 

พื้นที่นี้มีปัญหาอีกมากมายที่ซุกซ่อนอยู่เช่นเรื่องรายได้ การศึกษา เป็นต้น ทำไมเรื่องพวกนี้จึงไม่ค่อยมีคนพูดทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง

เราต้องเอาให้ชัดก่อนว่าปัญหาปาตานีคือปัญหาอะไร  ปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องยาเสพติดหรืออะไรพวกนี้มันเกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ ไม่มีการตรวจสอบ ในปาตานีพอมันมีปัญหาความรุนแรงมันทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ ระบบอุปถัมภ์แข็งแรง เห็นได้ชัดว่า ข้าราชการที่ไม่ค่อยดีก็ถูกย้ายมาอยู่ที่นี่ อันนี้คือผลของระบบอุปถัมภ์ และนำไปสู่ปัญหาต่างๆ การศึกษาในพื้นที่ก็เหมือนกันพออยู่ในระบบอุปถัมภ์ เช่นใครเป็นคนของใคร สุดท้ายระบบการศึกษาก็ไม่ตอบโจทย์ การพัฒนาเองก็ไม่ตอบโจทย์ ยาเสพติดก็เยอะ ก็ไม่แปลกถ้าจะมีปัญหา ผมเชื่อว่าถ้าเราคลี่ปัญหาภาพใหญ่ได้ปัญหาเหล่านี้มันจะแก้ได้ 

ผมคิดว่าปาตานีมีโอกาสเยอะในทางพัฒนา ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเราจะเห็นเม็ดเงินลงมาในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาเยอะมาก แต่มันไม่ได้ลงมาสู่พื้นที่ในความหมายของท้องถิ่น มันลงผ่านระบบภูมิภาคแล้วมันก็คืนกลับไปในระบบบริหารราชการแบบภูมิภาค

ถ้าองค์การบริหารท้องถิ่นเข้มแข็งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พอจะคลี่คลายปัญหาได้บ้างหรือไม่

หากไม่แก้กลไกบริหารราชการมันก็ยาก ถ้าเราพยายามทำให้ท้องถิ่นมีคุณภาพแล้วโครงสร้างราชการยังเข้มแข็งแบบนี้ท้องถิ่นก็ต้องอิงกับราชการ ต้องไปให้ราชการมาเปิดทาง สุดท้ายก็เป็นเครื่องมือของระบบราชการ ดังนั้นต้องไปแก้ทั้งระบบและปฏิรูประบบราชการด้วย ผมเองก็นั่งคิดว่ามันจะมีโอกาสไหมที่จะผันเงินมากมายที่ลงมาในพื้นที่ มาทำกิจกรรม มาทำสวนสนุกให้เด็กในพื้นที่ได้ใช้บริการเป็นต้น

อะไรที่ทำให้คิดแบบนี้

เวลาเราพูดถึงความฝันของเรา เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยหรือปาตานีในความหมายที่มีเสรีภาพ เรากำลังมองถึงคน คนต้องมีกิน เราไม่แยก ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องสันติภาพมันมีคุณค่าในตัวมัน มีเรื่องงานพัฒนา เรื่องศักดิ์ศรี มันไม่ได้โดดๆ มันมีเนื้อหามาตลอด ที่ผ่านมาอาจมีนักเคลื่อนไหวหลายคนที่สู้เรื่องถ่านหินแล้วไม่สู้เรื่องประชาธิปไตย เราเข้าใจว่าเรื่องเฉพาะหน้ามันสำคัญแต่ว่ามันไม่แตะโครงสร้างไม่ได้ มันเชื่อมกัน เราเห็นว่าทุกอย่างมันพันกันหมด แม้แต่เรื่องโควิด-19

เพราะโควิดเองก็สร้างปัญหาให้ปาตานีเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาแรงงานที่ตกงานเป็นแสนคน แล้วเราจะแก้ยังไง ถ้าเราจะแก้แบบเยียวยาก็ไม่จบ เราต้องมีอำนาจที่จะสร้างงานให้ เราต้องมีอำนาจทางคลังที่จะใช้งบของตัวเองเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีต่างๆที่เป็นจุดแข็งในพื้นที่ พอเราไม่มีอำนาจกำหนดการคลัง มันถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คนที่กรุงเทพ เงินก็มาไม่ถึง มันก็ไม่สร้างงานและเลือกสนับสนุนให้เฉพาะทุนใหญ่ เราต้องมีอำนาจที่จะคิดและออกแบบเองได้

นักการเมืองหยิบยกปัญหาในพื้นที่มาพูดในสภามากขึ้น พอใจหรือไม่

เบื้องต้นผมพอใจเพราะว่ามันพัฒนาจากเดิมเยอะ เราเข้าใจบทบาทของนักการเมืองหลายคนเป็นฝ่ายค้าน และเราเข้าใจว่าโครงสร้างภาพรวมมันไม่เอื้อ ก็พูดได้แค่นั้น แต่ถ้ามันเปิดมากกว่านี้และคุยไปไกลกว่านี้ ผมว่าเขาจะพูดได้หลายเรื่องมากกว่านี้ เรื่องการผลักดันพรบ.สันติภาพ การแก้กฎหมายพิเศษ ผมพูดเรื่องการแก้กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่เพราะการถอนการใช้กฎหมายพิเศษเฉพาะในพื้นที่ในขณะที่ยังไม่ถูกแก้มีความเสี่ยง ดังนั้นมันจึงต้องแก้กฎหมายให้มีความร่วมสมัย มีกระบวนการประกาศการใช้กฎหมายพิเศษที่มากกว่านี้เช่นผ่านสภา ถ้าจะยกเลิกต้องยกเลิกไม่ให้มีการใช้กฎหมายพิเศษทั้งหมดในประเทศ และถ้าสามารถแก้โครงสร้างทางทหารโดยให้อำนาจแก่พลเรือนมันก็จะดี เราหวังว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะมีพลังมากกว่านี้

(Visited 1,008 times, 1 visits today)
Close