Written by 12:13 am Featured, Patani, Patani Notes

ตากใบในหลืบซอกของความทรงจำ

“อยากจะให้มีความยุติธรรม ให้เขารู้บ้างว่าต้องทำแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำ ไม่จำ เวลาเกิดเหตุใหม่เขาก็ทำต่อ”

แยน๊ะ สะแลแม

“เราคิดว่า ถ้าเราดื้อแล้วจัด ต่อไปข้างหน้าเขาไม่ให้แน่นอน ถ้าเขาไม่ให้เฉย ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่กลัวเขาออกหมายจับอะไรแบบนี้”  

แยน๊ะ สะแลแม เป็นคนตากใบ ชื่อของเธอแทบว่าจะเคียงคู่มากับคำว่าเหตุการณ์ตากใบก็ว่าได้ เพราะเหตุที่ทำกิจกรรมเรียกร้องการเยียวยาและความเป็นธรรมในกรณีสลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อ 2547 ที่ทำให้มีคนตาย 85 คน เธอจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทุกปี ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงอาหารนักเรียนและละหมาด ในปีนี้มีผู้เสนอให้จัดเวทีเสวนาขึ้น ซึ่งถ้าทำก็จะเป็นครั้งแรก แยน๊ะและชาวบ้านรายอื่นๆต่างเห็นด้วย แต่แล้วพวกเขาก็ตัดสินใจเลิกความคิดจัดเวที เธอบอกว่ามีหลายเสียงจากเจ้าหน้าที่แสดงความไม่เห็นด้วย ในที่สุดก็เห็นว่าที่จะทำได้สะดวกใจก็คือจัดงานแบบเดิม แค่นี้ก็ถือว่าทำได้มากแล้วสำหรับแยน๊ะและเครือญาติของเธอ

หมู่บ้านใกล้เคียงที่แยน๊ะอยู่คือศาลาใหม่ มีผู้ได้รับผลกระทบหลายคน แยน๊ะบอกว่าในจำนวนสามหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตหมู่บ้านละ 4 คน รวม 12 คน ยังมีคนที่เคยติดคดีถูกฟ้องในข้อหาก่อความไม่สงบ ซึ่งในจำนวนที่ถูกฟ้อง 58 คนมีคนที่บ้านศาลาใหม่เกือบ 40 คน แค่คดีดังกล่าวนั้นทางการได้ถอนฟ้องไปแล้ว ส่วนคดีไต่สวนการตายสำหรับผู้คน 76 คนที่เสียชีวิตเพราะต้องนอนทับกันบนรถบรรทุกในระหว่างการขนส่งผู้ถูกจับกุมจากหน้าสภอ.ตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารในคืนวันที่ 25 ต.ค.2547 นั้น ศาลมีคำสั่งเพียงว่า เป็นการตายจากการขาดอากาศหายใจ ครอบครัวได้เงินชดเชยจากรัฐบาลในยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรายละ 7.5 ล้านบาท แต่แยน๊ะยืนยันว่า เงินไม่สามารถทดแทนความเป็นธรรมได้

แยน๊ะบอกว่า หลังจากยกฟ้องแล้วมีบางคนได้รับการเยี่ยมเยือนจากเจ้าหน้าที่ เธอต้องยื่นมือเข้าไปช่วยคลี่คลายปรับความเข้าใจให้ เรื่องนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นหน้าที่ที่แยน๊ะทำเรื่อยมาตลอดเวลาหลายปีกับชาวบ้านไม่ว่าใกล้เคียงหรือห่างไกล คือเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจระหว่างชาวบ้านที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับจนท.รัฐ หลายปีมาแล้วที่แยน๊ะทำหน้าที่เสมือนผู้ประสานงานที่ไม่เป็นทางการ แม้ในช่วงหลังอาจจะสร่างซาลงไปบ้าง แต่ในช่วงปีแรกๆ เธอรับโทรศัพท์แทบไม่ได้หยุดในแต่ละวัน บ้างเดินทางไปหาถึงบ้านเพื่อขอให้ช่วย “เคลียร์” ตัวเองให้ 

การเป็นผู้ประสานงานญาติเหยื่อตากใบ การเข้าไปช่วยสื่อสารให้กับชาวบ้าน ทำให้ก๊ะแยนะขัดเกลาทักษะในการติดต่อผู้คนและรวมไปถึงการใช้ภาษาไทย และได้รู้จักเจ้าหน้าที่มากขึ้น เธอกลายเป็นเมือนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ในบางเวลาก็โดนจนท.ตรวจค้นบ้านบ้าง แต่การ “ประสาน” กับจนท.ทำให้เธอเรียนรู้วิถีการอยู่อีกแบบหนึ่ง แบบที่จะต้องต่อรอง ความสัมพันธ์ของแยน๊ะและชาวบ้านกลุ่มตากใบกับเจ้าหน้าที่ จึงไม่ใช่เรื่องขาวกับดำ แยน๊ะรู้ว่า การดำเนินชีวิตของประชาชนญาติพี่น้องรอบตัวเธอนั้นขึ้นอยู่กับการ “ให้ความร่วมมือ” กับจนท.และไม่ปฏิเสธทางการ ด้านหนึ่งพวกเขาพึ่งพิงจนท.และต้องการ “ความเข้าใจที่ดี” จากจนท. พวกเขาจึงต้องถ่วงดุลระหว่างการ “ให้ความร่วมมือ” กับความพยายามที่จะเป็นตัวของตัวเองเท่าที่จะทำได้ ดูเหมือนกรณีตากใบนั้น ผู้หญิงวัย 63 ที่ชื่อแยน๊ะ สะแลแมแทบจะเป็นคนเดียวที่บ่มเพาะความรู้นี้

แยน๊ะจัดงานรำลึกตากใบทุกปี บางครั้งเธอก็รู้สึกเหนื่อย  “ปีนี้ตอนแรกว่าจะไม่จัดแล้ว” เธอบอก แต่แล้วมาวันหนึ่งก็เปลี่ยนใจเพราะคิดว่า หากเธอไม่จัดงานนี้จะไม่มีใครทำอีกต่อไป และกรณีตากใบสำหรับแยน๊ะมันเป็นความทรงจำที่หนักเกินกว่าจะวางลงได้แม้จะเหนื่อยและรู้สึกว่าสวนกระแสก็ตาม 

แยน๊ะเล่าว่า เรื่องตากใบนั้นดูคล้ายกับว่าสำหรับบางคนความทรงจำเริ่มจะจางลง บางคนไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป แต่ปฏิกิริยาเฉยเมยเช่นนี้อาจตีความได้หลายประการ เพราะอีกด้านการจะพูดถึงเรื่องตากใบอย่างตรงไปตามมาตามที่รู้สึกก็ไม่ง่าย แม้ไม่มีใครห้่ามชัด แต่พวกเขาก็ไม่กล้า เธอบอกว่าชาวบ้านจำนวนมากสนับสนุนและอยากจัดงาน แต่พวกเขาไม่กล้าออกหน้าและต้องการให้มีคนนำ ในขณะที่ในส่วนของจนท.ก็มักค้าน “มีจนท.บางคน ชอบโทรมาถามว่าทำไมไม่จบอีก เขาไม่อยากจะให้เราพูดถึง เราก็บอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ เพราะประเทศไทยไม่เคยทำกับมุสลิมแบบนี้” บางคนถามเล่นๆว่ายังไม่ลืมหรือไร “ทุกคนไม่ลืมหรอก เขานึกถึงอยู่ เพราะลูกเขา ถ้าเขาดูรูปก็ยิ่งหนักอีก เขาก็ไม่อยากจะดู” แยน๊ะบอกว่าตัวเธอเองจำได้ไม่ลืมถึงภาพของคนจำนวนมากที่ถูกให้ถอดเสื้อนอนเรียงราย ถูกมัดมือไขว้หลัง ช่วงเวลาที่พวกเขาคืบคลานกับพื้นเพื่อไปขึ้นรถก็ยังถูกกระทำ

การจัดงานยังมีปัญหาอีกอย่างคือเรื่องทุน แยน๊ะบอกว่า เมื่อตัดสินใจจะจัดงานเธอยังไม่มีเงินอยู่ในมือเลยแต่ได้บอกกล่าวผู้คนไปแล้วว่าจะจัด เธอทำใจป้ำสั่งขนมจีนโดยที่ยังไม่มีเงินอยู่ในมือเลยสักบาท เมื่อปรึกษาเพื่อนๆก็สรุปกันว่าจะขอเรี่ยไร เธอได้เงินจากเพื่อนๆที่สมทบให้ แต่ขนมจีนนั้นได้สปอนเซอร์มาจากการโทรไปแจ้ง “ผู้ใหญ่” รายหนึ่งในพื้นที่เพื่อเป็นการ “รายงานและขออนุญาต” กลายๆ ผู้ใหญ่รายนั้นสมทบเงินค่าขนมจีน ทำให้เธอใจชื้นว่าเขาไม่ห้ามการที่ขชาวบ้านจะจัดงาน แต่ผู้ใหญ่รายนี้นั่นเองก็แจ้งความประสงค์ไม่อยากให้จัดเวทีพูดคุย เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆคนที่เมื่อรู้เรื่องก็แสดงออกเช่นนั้น แยน๊ะบอกตรงๆว่า เธอเกรงว่าหากดื้อจัดเวทีเสวนา ปีหน้าอาจจะไม่สามารถจัดอะไรได้เลย เธอเชื่อว่าความวิตกนี้ “เขาบอกว่าเหมือนจะรื้อฟื้น ยิ่งเราบอกว่าคนเยอะ เขาก็ไม่อยากจะให้จัด เขาไม่ให้ ที่นี่ไม่เคยจัดเวทีคุย” 

“เขาบอกว่าเหมือนจะรื้อฟื้น ยิ่งเราบอกว่าคนเยอะ เขาก็ไม่อยากจะให้จัด เขาไม่ให้ ที่นี่ไม่เคยจัดเวทีคุย” 

งานปีนี้จึงคงรูปแบบเลี้ยงอาหารและละหมาด จะมีการรวมญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการจากเหตุการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบกันสม่ำเสมอในช่วงที่เรียกร้องความเป็นธรรมและมีกิจกรรมพบปะตัวแทนและองค์กรของรัฐเรื่อยๆ เมื่อกิจกรรมพบปะทวงความเป็นธรรมและการเยียวยาหมดไป ข่าวเรื่องตากใบเริ่มหายไป ยกเว้นงานรำลึกปีละครั้ง ปีนี้ซึ่งวันที่ 25 ตค.ตรงกับวันจันทร์เช่นเดียวกันกับวันเกิดเหตุ จึงจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่พวกเขาได้กลับมาพบกัน รูปแบบจัดงานอาจไม่ถึงระดับที่พอใจ แต่แยน๊ะเห็นว่ายังต้องพยายามจัดงานเช่นนี้ต่อไป เธออยากให้ประเด็นตากใบยังอยู่ในความทรงจำ เพราะถือว่าเรื่องตากใบนั้นกระทบไกลมากกว่าคนตายคนเจ็บที่เกิดจากเหตุการณ์โดยตรง

“อยากจะให้องค์กรมองเราจัด อยากจะให้มีความยุติธรรม ให้เขารู้บ้างว่าต้องทำแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำ ไม่จำ เวลาเกิดเหตุใหม่เขาก็ทำต่อ ถ้าเราจัดไปเรื่อย ๆ ความยุติธรรมก็ต้องมา เขาต้องคิดว่าทำไม่ได้นะ มีคนต่อสู้อยู่อะไรแบบนี้  คือก็ให้ระมัดระวังหน่อย อย่าทำเกินไป  วันนั้นถ้าเขาไม่ได้มัดมือโยนบนรถเป็นชั้น ๆ คนที่ทำผิดก็อาจจะว่าไปตามผิด อันนี้ทำเกินเหตุ”

การจัดการกับความทรงจำตากใบสำหรับก๊ะแยน๊ะจึงดูจะกลายเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในตัวของมันเอง เธอยอมรับว่าทุกวันนี้ปัญหาความไม่เป็นธรรมอาจจะลดลงบ้าง “แต่ถ้าเราไม่ได้ต่อสู้ตรงนี้อาจจะไม่ลดลงเลย”

(Visited 431 times, 1 visits today)
Close