Written by 9:00 am Memoir

เกิดบนเรือนมลายู 9

เฝ้าดุซง

ช่วงหน้าผลไม้ของทุกปี ผมมักจะตามพี่ชายไปนอนที่ดุซงอยู่เสมอ ดุซงเรียกในภาษาไทยว่า สวนสมรม คือสวนผลไม้ที่ปลูกสารพัดอย่างในสวนเดียวกัน เราแทบจะหาพืชผักผลไม้ทุกอย่างได้ในดุซง นอกเหนือจากการที่มีทุกอย่างในดุซงแล้ว ดุซงยังมีลักษณะแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ดุซงเป็นสวนผลไม้ที่ถึงแม้เราจะเป็นเจ้าของสวน แต่ก็เป็นสวนที่เรียกได้ว่าเกือบจะเป็นของสาธารณะโดยเฉพาะในหมู่ญาติและหมู่คนใกล้เคียงกับสวนดุซง ด้วยความที่ดุซงไม่ได้ปลูกแบบสวนเชิงเดี่ยว ไม่ได้มีการดูแลรักษาสวนอะไรมากนัก เมื่อถึงช่วงฤดูกาลผลไม้ออกผล ใครๆก็ไปเก็บกินกันได้ตามสมควรเท่าที่อยากกิน ไม่มีใครเขาหวงกัน ดุซงหลายๆแห่งอาจจะผลัดเปลี่ยนเวียนตารางกันบ้านละวันสองวันหมุนเวียนกันจนครบทุกบ้านในหมู่ญาติสหายสนิทเพื่อเก็บผลไม้กัน ใครได้มากได้น้อยก็ตามดวงตามโชคที่ผลไม้ชนิดใดจะเก็บเกี่ยวได้ตอนไหน บางครั้งอาจจะมีทะเลาะเบาะแว้งถกเถียงกันบ้างในกรณีที่บางคนเบียดบังไปมากกว่าปกติ จนคนอื่นรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวก็จะเป็นคนไกล่เกลี่ยและมีบารมีมากพอที่จะทำให้เกิดปรองดองในหมู่ญาติได้ดังเดิม

ดุซงของครอบครัวผมจะอยู่ริมลำธารสามเส้นที่มาสบกันก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำสายบุรี ผมชอบมาที่นี่มาก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูผลไม้ก็ตาม ด้วยความที่ลำธารบริเวณนี้มีน้ำมาก มีแก่งก้อนหินใหญ่คล้ายน้ำตก ผมชอบมาเล่นน้ำและนอนเล่นที่นี่ บ่อยครั้งที่พ่อจะชวนแม่และครอบครัวเรามาปิกนิคกันที่นี่ แม่จะเตรียมหุงข้าวใส่กระติกน้ำแข็งมาจากบ้าน ทำกับข้าวง่ายๆสองสามอย่าง บางครั้งก็ซื้อปลากระป๋องเชือดไก่จากที่บ้านมาด้วยเพื่อให้ลูกๆของแม่ที่เลือกกินและกินอะไรยากได้มีกับข้าวที่ถูกปากกิน ส่วนกับข้าวของพ่อแทบไม่ต้องเตรียมอะไรเลย พ่อจะเดินเก็บยอดผักกูด หน่ออ่อนต้นกระวานและหวายมาเผากิน จิ้มกับบูดูหรือไม่ก็น้ำพริกที่แม่ทำ กินกับข้าวสวยร้อนๆที่แม่ใส่ในกระติกน้ำแข็ง แค่นี้พ่อก็เจริญอาหารกินได้อย่างมีความสุขแล้ว ต่างจากผม น้องชายและพี่สาวอีกคนที่กินยากและเลือกกิน ไม่ชอบกินผักและบูดู แม่ก็จะเปิดปลากระป๋องปรุงรสเสียใหม่ ย่างไก่ที่เตรียมมาคลุกกับขมิ้นและเกลือ เราแค่ช่วยแม่ในการก่อไฟ ทำไม้เสียบไก่ เวลากินก็ตัดใบบอนขนาดพอเหมาะที่ขึ้นแถวๆลำธารมาแทนจาน ตักข้าวสวยใส่กับไปนั่งกินในลำธารเย็นๆ บางครั้งถ้ามีแตงโมเราก็จะเอาแตงโมหรือเครื่องดื่มที่เราต้องการแช่เย็นไปแช่ในลำธารตั้งแต่ตอนที่เรามาถึง จนได้เวลาทานมื้อเที่ยงเราก็จะได้กินของแช่เย็นอร่อยสมใจ และลงไปเล่นน้ำในลำธารที่เย็นสบายอย่างสนุกสนาน

เรื่องการไปปิกนิคจะต่างกับการไปเฝ้าดุซง คือการไปปิกนิคเราจะไปกันทั้งครอบครัวในเวลากลางวัน ส่วนการเฝ้าดุซงจะเป็นเรื่องของพี่ชายและบรรดาหนุ่มทะโมนเพื่อนพี่เท่านั้น พ่อ แม่และพี่สาวจะไม่ไปด้วยเพราะต้องนอนที่ดุซงในเวลากลางคืน ความเป็นอยู่ค่อนไปทางขลุกขลักและลำบากไม่เหมาะกับสาวๆแม่ศรีเรือนอย่างบรรดาพี่สาวผม ผมจะอ้อนแม่ทุกครั้งเพื่อกล่อมพ่อให้ยอมอนุญาติผมไปกับพวกพี่ชาย การได้ไปนอนที่ดุซงในช่วงหน้าทุเรียนตอนกลางคืนนั้นผมรู้สึกเหมือนกับการได้ผจญภัย สนุกและตื่นเต้น แม่มักจะบ่นทุกครั้งที่ผมขอไปนอนที่ดุซง เพราะผมกินอะไรยากและไม่กินทุเรียน แม่เลยบ่นว่าผมจะไปทำไมให้ลำบาก

ก่อนจะไปนอนเฝ้าดุซง พี่ชายและพรรคพวกเขาจะเขาไปถางพื้นที่ในดุซงให้เตียนเสียก่อนเพื่อความสะดวกในการเก็บลูกทุเรียน ทุเรียนในดุซงเป็นทุเรียนบ้าน เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ยังไม่แพร่หลายนัก ไม่เห็นมีใครปลูกกัน มีแต่ทุเรียนบ้านหรือทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง เราเรียกกันว่า “ดีแย กาปง(Durian Kampong)” ส่วนทุเรียนพันธุ์จำพวกหมอนทอง ก้านยาว ชะนี เราเรียกว่า “ดีแย บาเกาะ (Durian Bangkok)” เพราะมาจากกรุงเทพฯและเมืองนนท์เป็นหลัก

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเตรียมการเพื่อนอนเฝ้าดุซงคือ การทำบาซาร์(Basar)หรือเพิงที่พัก เราจะใช้ไม้รวก ไม้ไผ่ที่หาเอามาจากในดุซงมาทำเป็นที่พักอย่างง่ายๆสำหรับนอนได้ 4-5 คน ยกพื้นสูงประมาณเอว มุงหลังคาด้วยทางมะพร้าวเพื่อกันแดดและน้ำค้างในตอนกลางคืน สภาพก็ไม่ต่างอะไรกับ “ฮายะอ์(Haya’)”หรือทับที่พักของโอรังอัสลีสักเท่าไรนัก สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่พ่อและพี่ชายย้ำอยู่เสมอในการไปนอนที่ดุซงหรือเข้าป่าก็คือ ต้องพกมีดพร้าและเอาผ้าเลอปัส(Kain Lepas)ไปด้วยทุกครั้ง อย่างอื่นลืมได้ แต่สองอย่างนี้ห้ามลืมเด็ดขาด มีดพร้าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเดินป่า ส่วนผ้าเลอปัสเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ใช้โพกหัวกันร้อน ไล่แมลง ซับเหงื่อ นุ่งอาบน้ำในลำธาร ห่อสัมภาระอื่น ฯลฯ เหมือนผ้าขะม้านั่นละครับ

การเข้าไปที่ดุซงซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเส้นทางลำบากไกลและพอสมควร เราใช้มอเตอไซด์ 2-3 คันขับเข้าไป คนหนึ่งก็ซ้อนท้ายและบรรทุกสัมภาระคนละเล็กน้อยเข้าไป เตรียมกระสอบป่านไปด้วยหลายๆใบเพื่อใส่ทุเรียนบรรทุกกลับออกมา ขับมอเตอร์ไซด์ผสมกับเดินเข็นบ้างบางช่วง บางวันที่พ่ออนุญาติให้พี่ชายเอารถ Jeep มาใช้ เราก็จะสะดวกและสบายมากขึ้น เพราะรถ Jeep ลุยได้ทุกที่ไม่ว่าเส้นทางจะโหดแค่ไหน ขับข้ามน้ำได้แม้ว่าน้ำจะท่วมรถทั้งคันเครื่องยนต์ก็ไม่ดับ แค่ต่อท่อไอเสียให้พ้นจากระดับน้ำเท่านั้น ไม่กลัวติดหล่มเพราะมีเกียร์ 4W Drive และมีรอกสลิงติดที่หน้ารถ ขนสัมภาระและทุเรียนได้ครั้งมากๆ ไม่ต้องทะยอยขนใส่ท้ายมอเตอร์ไซด์ แต่ก็ไม่ทุกครั้งหรอกครับที่พ่อจะยอมให้พี่ชายใช้รถ Jeep ขับเข้าป่า พี่ชายผมขับรถ Jeep เหมือนขี่ช้าง ทั้งเบียดต้นไม้ ปีนโหดหิน ลุยแม่น้ำ ไม่มีถนอมกันเลย พ่อต้องซ่อมรถแทบทุกคร้ังที่พี่ใช้รถ

รถ Jeep สำหรับขนสัมภาระต่างๆ


การเก็บทุเรียนบ้านจะไม่เหมือนทุเรียนพันธุ์ที่จะปีนขึ้นไปตัดจากบนต้น การเก็บทุเรียนบ้านเราจะรอให้มันสุกและร่วงลงมาจากต้น ไม่มีใครขึ้นไปตัดบนต้นหรอกครับ ทุเรียนบ้านต้นใหญ่หลายคนโอบและและสูงลิบลิ่ว ยามดึกเวลาที่เรานอนที่บาซาร์ อากาศจะเย็นมาก น้ำค้างลงเม็ดตลอดเวลาโดยเฉพาะยามก่อนรุ่ง เราไม่ค่อยเอาผ้าห่มผ้าผวยไปสักเท่าไหร่หรอกครับ หนาวขึ้นมาพี่ชายและเพื่อนๆเขาก็แกะทุเรียนกิน ความร้อนจากทุเรียนช่วยได้ครับ ผมนี่แย่หน่อยตรงที่ไม่กินทุเรียน ต้องทนหนาวทนกลิ่นทุเรียน ถ้าทนไม่ไหวผมก็หลบตามซอกมุมที่ห่างจากวงทุเรียนแล้วเอากระสอบป่านหลายๆใบห่มเอา ก็พอแก้หนาวได้ครับ และในตอนดึกๆที่เรานอนในบาซาร์อยู่นั้น ก็จะได้ยินเสียงทุเรียนหล่น ตุ๊บ ๆ ๆ เป็นระยะๆ เราจะจำว่าเสียงมาจากทิศไหนที่มีเสียงทุเรียนหล่นถี่ที่สุด รุ่งเช้าเราก็เดินหาทางด้านนั้นก็จะเจอทุเรียนที่หล่นอยู่บนพื้นเต็มไปหมด มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ว่าวันนั้นทุกเรียนในดุซงจะสุกมากแค่ไหน ทุกคนแยกย้ายกันเก็บทุเรียนแข่งกันว่าใครเก็บได้มากกว่ากัน เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง

เช้าวันหนึ่งขณะที่ผมเดินเก็บทุเรียนอยู่นั้น ผมเจอกองเปลือกทุเรียนกองใหญ่ถูกสุมรวมกัน ข้างๆมีกองเม็ดทุเรียนกองโต ผมกู่ตะโกนเรียกพี่ๆมาดู พร้อมสัณนิษฐานว่าเมื่อคืนคงมีนักเลงดีมาแอบขโมยกินทุเรียนแน่ๆ พร้อมกับสบถแช่งไปด้วยว่า นิสัยเสีย อยากกินทำไมไม่ขอ แอบขโมยแบบนี้บาป ต้องตกนรก … พี่ๆผมหัวเราะ บอกผมว่ารายนี้ไม่มาขอน่ะดีแล้ว อยากกินเท่าไรก็กินไปไม่ต้องมาขอ เพราะที่กินแล้วกองเรียบร้อยแบบนี้ไม่ใช่คนกิน แต่เป็นหมีที่มากินทุเรียนเมื่อคืน คนกินจะเขวี้ยงเปลือกเขวี้ยงเม็ดไปทั่ว แต่หมีจะขนเอาทุเรียนมานั่งกินแล้วกองไว้แบบนี้ ผมเลยได้ความรู้ใหม่ว่าหมีกินทุเรียนได้เรียบร้อยกว่าคน เรียบร้อยกว่าพี่ๆผมเยอะเลย

สมัยเมื่อสัก 40 กว่าปีก่อนนั้น สัตว์ป่ายังชุกชุมอยู่ การที่จะมีหมีมากินผลไม้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ผมเคยฟังพวกพี่ๆเล่าให้ฟังว่า ลูกจ้างกรีดยางคนหนึ่งในสวน ขับมอตอร์ไซด์ Honda 50 cc. กลับจากดูหนังตะลุงในตอนดึก ตอนที่ขับลงลาดเชิงเขา แกก็กดเกียร์ฟรีลงเขา ทำให้ไม่มีเสียงเครื่องยนต์และไฟหน้ามอเตอร์ไซด์ก็ริบหรี่ไม่ค่อยมีแสง ลงเขาด้วยความเร็วไปชนโครมเข้ากับอะไรบ้างอย่าง เสียงโครมกับเสียง “โฮกก” แทบจะดังพร้อมกัน แกขวัญเสียลุกขึ้นได้ก็วิ่งหนีสุดชีวิตเพราะเดาได้ว่าขับมอเตอร์ไซด์ชนเสือเข้าเสียแล้ว ส่วนเสือก็วิ่งลากขาหลังหนีเข้าป่าเพราะตกใจ คนกรีดยางหนีไปบอกคนในหมู่บ้านว่าขับมอเตอร์ไซด์ชนกับเสือ รุ่งขึ้นชาวบ้านเลยพากันไปดูและแกะรอย เห็นรอยเสือที่หนีไปว่าขาหลังหัก เดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้านที่จะต้องล่าเสือลำบาก ก็สองสามวันละครับกว่าจะยิงเสือได้ ออกจะน่าสงสารเสือที่ต้องมาตายเพราะความประมาทของคน ถ้าเสือได้ยินเสียงมอเตอร์ไซด์ มันคงจะระวังตัวตอนข้ามถนน

ทุเรียนบ้านที่เก็บมาจากดุซงแต่ละวันจะมีปริมาณที่มากพอสมควร สมัยนั้นขายไม่ค่อยได้หรอกครับ ใครๆส่วนใหญ่ก็มีดุซง มีต้นทุเรียนกันทั้งนั้น ส่วนมากเราแจกให้คนอื่นที่ไม่ได้ไปเก็บทุเรียนกินเสียมากกว่า ที่เหลือก็เอามากวนเป็นทุเรียนกวนเก็บไว้ ทุเรียนกวนก็เอาไว้แจกอีกนั่นแหละครับ ไม่ได้เอาไปขายที่ไหน อาจพูดได้ว่าผลผลิตจากดุซงไม่มีมูลค่าเป็นเงินเป็นทอง แต่มีคุณค่าในเรื่องความสัมพันธ์เสียมากกว่า ปัจจุบันสวนดุซงแทบไม่มีให้เห็นแล้ว ที่ดินที่มีมูลค่า การทำสวนผลไม้เชิงเดี่ยวให้ผลตอบแทนที่เป็นทรัพย์สินเงินทองมากกว่าสวนดุซง แต่ก็ลดทอนน้ำใจและความแนบแน่นในสายสัมพันธ์เช่นกัน

(Visited 136 times, 1 visits today)
Close