Written by 4:53 pm Interviews

แพะ … ตลาดใหญ่ที่ถูกมองข้าม

Patani NOTES ได้พูดคุยกับคุณฟาอิซ อาห์มัด เจ้าของฟาร์ม Ahmad goat farm & Organic garden เกี่ยวกับการทำปศุสัตว์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะว่ามีแนวโน้มตลาดอย่างไร เหมาะกับคนสามจังหวัดภาคใต้หรือไม่ รวมทั้งนโยบายและการสนับจากหน่วยงานภาครัฐว่ามีข้อจำกัดอย่างไร

ฟาอิซเล่าให้ Patani NOTES ว่าเขาไม่ได้เรียนมาทางด้านเกษตรศาสตร์หรือมีความรู้ทางการเกษตรมาก่อน เขาเรียนจบปริญญาทางด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC.) ที่กรุงเทพฯ เมื่อจบการศึกษาก็กลับมาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว จุดเริ่มแรกของการทำฟาร์มแพะเริ่มเมื่อ 13 ปีก่อนจากการที่ลูกจ้างคนหนึ่งขอให้เขาซื้อแพะพื้นเมืองมาเลี้ยงในสวนเพื่อเป็นรายได้พิเศษ ซึ่งเมื่อลูกจ้างเริ่มเลี้ยงแพะก็ประสบกับปัญหาต่างๆในการเลี้ยง ทำให้ฟาอิซต้องสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ ทั้งเรื่องอาหาร โรคและกรรมวิธีในการเลี้ยงที่เหมาะสมทั้งจากตำราที่วางขายตามแผงหนังสือและสอบถามหาความรู้จากคนที่เลี้ยงแพะ จนเขาพบว่าตลาดแพะกว้างกว่าที่เขาเคยรับรู้มาก จากเดิมที่เขาเคยคิดว่าแพะมีการเลี้ยงเฉพาะชาวบ้านมุสลิม นิยมกินในหมู่มุสลิมและเชื่อว่าการเลี้ยงแพะมีในสามจังหวัดภาคใต้มากที่สุดนั้น ข้อมูลที่เขาพบจากการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลกลับพบว่าฟาร์มแพะที่ทำเป็นปศุสัตว์อย่างจริงจังและเป็นระบบกลับอยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งไม่ใช่มุสลิมและไม่นิยมบริโภคแพะ แต่เป็นการทำฟาร์มแพะเพื่อส่งมายังตลาดสามจังหวัดภาคใต้และมาเลเซียเป็นหลัก รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศจีนและเวียตนาม ซึ่งไม่ใช่ตลาดที่เป็นประเทศมุสลิมเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้เขาเกิดความสนใจที่จะลองทำฟาร์มแพะดูบ้าง เพราะประเมินว่าตลาดค้าแพะน่าจะเป็นตลาดที่ไม่มีวันถึงจุดที่อิ่มตัวได้ง่ายเหมือนตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดในหมู่มุสลิมที่มีวัฒนธรรมในการบริโภคแพะ รวมทั้งมีการเชือดแพะในการทำพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เช่นพิธี “อากิกะฮ์ (Aqiqah)” ซึ่งจะต้องเชือดแพะเมื่อมีเด็กเกิดใหม่

“ตลาดแพะในกลุ่มมุสลิมมีตลาดที่ใหญ่มาก งานบุญก็เชือดแพะ เหนียตหรือบนอะไรก็เชือดแพะ ยิ่งความต้องการแพะเพื่อเชือดในพิธีอากิกะฮ์นี่ไม่มีวันหมด มีเด็กเกิดใหม่ทุกวัน วันหนึ่งไม่รู้กี่ราย เอาเฉพาะในสามจังหวัดฯนี่ก็ผลิตป้อนตลาดไม่ทันแล้ว แล้วเป็นตลาดที่ไม่มีวัน Peak ตราบใดที่ยังมีมุสลิมอยู่บนโลกนี้ มีประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลาดนี้ก็โตขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะหาซื้อแพะนี่ไม่ง่ายนักนะ กว่าจะหาซื้อได้สักตัวสองตัวนี่ถามหากันวุ่นว่าใครเลี้ยงแพะ ใครมีแพะขายบ้าง”

เมื่อถามฟาอิซว่า ในเมื่อมีความต้องการบริโภคสูงในหมู่มุสลิมสามจังหวัดฯขนาดนี้ แต่ดูเหมือนว่า Supplier หรือผู้ผลิตในสามจังหวัดภาคใต้กลับมีน้อย และ Supplier รายใหญ่กลับอยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

ฟาอิซยอมรับว่าเรื่องนี้จริงอย่างที่เราตั้งข้อสังเกต เขาให้ข้อมูลว่าแหล่งผลิตหรือฟาร์มแพะส่วนใหญ่จะอยู่แถว เพชรบุรี กาญจนบุรีและพื้นที่ของภาคกลางเป็นหลัก ฟาอิซให้ข้อมูลเพิ่มว่า คนมลายูในสามจังหวัดภาคใต้นิยมเลี้ยงแพะเหมือนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากกว่าที่จะทำเป็นฟาร์มหรือปศุสัตว์ ขาดความรู้และไม่เข้าใจกลไกของตลาดสมัยใหม่ ทำให้ไม่สามารถที่จะทำกำไรได้

ฟาอิซอธิบายให้ Patani NOTES ฟังว่า การทำฟาร์มแพะหรือทำธุรกิจใดก็ตาม จำเป็นที่จะต้องควบคุมต้นทุนในการผลิตให้ได้ ในธุรกิจการทำฟาร์มแพะมีปัจจัยสำคัญคือ สภาพแวดล้อมในฟาร์มและอาหารเป็นเรื่องหลัก รองลงมาคือการควบคุมโรค หากสภาพแวดล้อมดี อาหารดี จะทำให้แพะในฟาร์มแข็งแรงและปลอดโรค หรืออย่างน้อยที่สุดก็มี ความต้านทานโรคสูง โรคที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับการเลี้ยงแพะในสามจังหวัดฯคือโรคที่เกิดจากพยาธิในดิน การเลี้ยงในโรงเรือนและไม่ปล่อยให้แพะออกมาเล็มหญ้าหาอาหารในตอนเช้าจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็จะมีปัญหาในเรื่องของ การหาอาหาร สำหรับที่ Ahmad goat farm & Organic garden ฟาอิซแก้ปัญหาเรื่องอาหารสำหรับสัตว์ในฟาร์มโดยทำแปลงปลูกหญ้าและทำอาหารสัตว์เอง ซึ่งฟาอิซบอกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับเกษตกรผู้เลี้ยงรายย่อยและฟาร์มขนาดเล็กเพราะต้องมีที่ดินแปลงใหญ่พอสมควรจึงสามารถทำได้ ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ฟาอิซพูดถึงระบบการเลี้ยงแพะของคนสามจังหวัดภาคใต้ว่าการเลี้ยงแพะตลอดทุกช่วงอายุของแพะ ซึ่งหมายถึงการเลี้ยงตั้งแต่แม่พันธุ์จนได้ลูกแพะและเลี้ยงจนโตเป็นแพะรุ่นหนุ่มสาวแล้วจึงขาย ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและความเสี่ยงอื่น ๆ เขามีความเห็นว่าถ้าเกษตรกรสามารถสร้างเครือข่ายโดยแยกกันผลิตจะส่งผลดีในเรื่องการลดต้นทุนได้มากกว่า เช่น กลุ่มหนึ่งเลี้ยงเฉพาะแพะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อขายลูกแพะให้อีกกลุ่มหนึ่งรับไปขุนหรือเลี้ยงให้โตเพื่อขายเนื้อ น่าจะสามารถ ลดต้นทุนและลดการจัดการได้ดีกว่า

เมื่อถามถึงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะจากหน่วยงานของรัฐที่มีหลายต่อหลายโครงการในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ฟาอิซให้ข้อมูลว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานไม่เชื่อมโยงกัน มีหน่วยงานหลายหน่วยที่ทำโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงแพะ ทั้งหน่วยงานของทหาร หน่วยงานปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่น แต่ต่างคนต่างทำ ไม่มีการร่วมมือกันหรือส่งเสริมซึ่งกันและกัน บางครั้งเจอปัญหาที่มีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทุจริตบ้าง มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกบ้าง เช่น การแจกแพะให้ชาวบ้านเลี้ยง คนที่ได้รับแจกแทนที่จะเป็นคนที่เคยเลี้ยงแพะหรือมีประสบการณ์ มีความรู้ในการเลี้ยงแพะ แต่กลับเป็นญาติมิตรของผู้มีอำนาจในท้องถิ่นซึ่งไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นฐานเรื่องการเลี้ยงแพะ ทำให้แพะที่ได้รับแจกมักจะเกิดโรคและตายในท้ายสุดและเป็นเหตุให้ชาวบ้านขยาดที่จะรับแพะที่แจกโดยภาครัฐ กลัวว่าเอามาเลี้ยงก็ตาย เมื่อได้รับแจกจากโครงการต่างๆแทนที่จะเอามาเลี้ยงตามวัตถุประสงค์ของโครงการก็นำไปขาย เพราะกลัวว่าถ้าเลี้ยงแพะก็คงตาย

กฏหมายและกฏระเบียบบางเรื่องก็สร้างปัญหาและมีความยุ่งยากในการเลี้ยงแพะ เช่น พรบ.โรคระบาดสัตว์ ที่กำหนดให้พื้นที่ภาคใต้ (เขต 8 และเขต 9) 12 จังหวัดประกอบไปด้วย สุราษฎร์ธานี, พังง, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, ภูเก็ต, พัทลุง, สงขลา, สตูล, ปัตตานี, ยะลาและนราธิวาส เป็นเขตพื้นที่ปลอดโรคระบาดปากเท้าเปื่อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบางครั้งก็มีโรคระบาดเกิดขึ้นในเขตที่ถูกประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาด เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นแล้วผู้ที่ทำปศุสัตว์ไม่สามารถขอวัคซีนหรือยาจากหน่วยงานรัฐได้ เพราะไม่มียาเหล่านี้เก็บสต๊อคในเขตปลอดโรค เป็นต้น ทำให้การจัดการรักษาแพะในยามที่เกิดโรคมักไม่ทันท่วงที การขออนุญาติสร้างโรงเชือดก็มีความยุ่งยากและล่าช้า ไม่สามารถขออนุญาติได้ง่ายนัก ส่งผลให้ผู้เลี้ยงแพะในสามจังหวัดฯไม่สามารถที่จะต่อยอดธุรกิจไปสู่เนื้อแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูป หรือทำให้มีต้นทุนที่สูงเกินขีดความสามารถของวิสาหกิจขยาดย่อยจะทำได้

ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆที่กล่าวมา ฟาอิซแก้ปัญหาในการเลี้ยงแพะของ Ahmad goat farm & Organic garden ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสโดยการเชื่อมเครือข่ายกับเพื่อนที่ทำฟาร์มแพะในจังหวัดยะลาและปัตตานี เพื่อความสะดวกและเปิดตลาดในการจัดจำหน่ายในสามจังหวัดภาคใต้ได้ โดยออกเคมเปญโฆษณาขายแพะราคาเริ่มต้นที่ 3,400 บาท ติดประกาศทั่วสามจังหวัดฯและใช้หมายเลขโทรศัพท์สำหรับการรับ Order ร่วมกันเพียงเบอร์เดียว หากมีลูกค้าในพื้นที่จังหวัดใดต้องการซื้อแพะ ก็จะให้ฟาร์มแพะเครือข่ายในจังหวัดนั้นเป็นจัดผู้ส่งแพะให้ลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้สะดวกต่อการจัดส่งทั้งเรื่องความประหยัดและความรวดเร็ว และจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ ทำให้ Ahmad goat farm & Organic garden สามารถแตกแขนงธุรกิจไปสู่การทำธุรกิจผักแบบเกษตรอินทรีย์และปลอดสารเคมีอีกแขนงหนึ่ง โดยการใช้มูลสัตว์จากการทำปศุสัตว์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องหาซื้อและใช้พื้นที่ว่างภายในฟาร์มมาสร้างโรงเรือนแบบกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลง ทำให้ Ahmad goat farm & Organic garden ผลิตผักปลอดสารเคมีป้อนตลาด รวมทั้งการปลูกผลไม้ที่มีราคาสูง เช่น แก้วมังกร กาแฟ และอื่นๆเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

“ตลาดแพะยังโตได้เรื่อยๆ นอกจากบริโภคในพื้นที่สามจังหวัดฯแล้ว มีแพะถูกส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียไม่น้อยกว่า 3,000 ตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นเป็นแพะที่มาจากนอกพื้นที่สามจังหวัดฯทั้งนั้น คนสามจังหวัดฯมีความสามารถในการใช้ภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาเดียวกันกับคนมาเลเซีย เป็นมุสลิมและมลายูเหมือนคนมาเลเซีย หลายๆคนมีญาติพี่น้องในประเทศมาเลเซีย แต่น่าแปลกใจที่คนสามจังหวัดภาคใต้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพและต้นทุนที่มีในการทำธุรกิจนี้ได้”

ฟาอิซกล่าวทิ้งท้ายเมื่อจบบทสนทนากับ Patani NOTES อย่างน่าสนใจ

(Visited 142 times, 1 visits today)
Close