หลังรอยอปอซอหรือวันตรุษอิดิลฟิตรีผ่านพ้นไป 70 วัน ก็จะถึงวันตรุษใหญ่อีกวันหนึ่งของมุสลิม นั่นคือวันรายอฮายีหรือตรุษอิดิลอัฎฮา ซึ่งเป็นวันตรุษเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกับผู้ที่ไปทำพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะฮ์
เมื่อก่อนคนที่จะไปเมกกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจย์นั้นไม่สะดวกรวดเร็วเท่าปัจจุบัน คนที่จะไปทำฮัจย์จะเก็บรวบรวมเงิน ชำระล้างหนี้สินจนหมด เมื่อเจอผู้คนก็จะขอขมาลาโทษ เรียกว่าชำระจนไม่มีการติดค้างใครๆทั้งในเรื่องหนี้สินและการกระทำที่เคยผิดพ้องหมองใจ เป็นการชำระตนให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะไปแสวงบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งเดียวในชีวิต หลายคนกังวลว่าการเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญอาจเสียชีวิต ไม่มีโอกาสที่จะเจอกันอีก จึงควรที่จะสะสางและชำระเรื่องที่ติดค้างกันให้หมดสิ้น
การเดินทางในสมัยเมื่อสัก 60-70 ปีก่อนนั้นเดินทางด้วยเรือเดินสมุทร บางคนขึ้นเรือโดยสารที่สงขลา ปัตตานี นราธิวาสหรือแม้กระทั่งท่าเรือที่ปีนังและสิงคโปร์ ใช้ระยะเวลาเดินทางกลางทะเลเกือบหนึ่งเดือนกว่าจะถึงเมืองท่าเจดดาห์ รอเวลาในการทำพิธีฮัจย์จนกว่าจะเสร็จและเดินทางกลับ ทั้งหมดนั้นใช้เวลาหลายเดือน การเตรียมการก่อนการเดินทางไปฮัจย์จึงมีเรื่องที่ต้องจัดการมากมาย และการไปส่งคนไปฮัจย์ที่ท่าเรือก็จะเต็มไปด้วยญาติพี่น้องแทบทั้งหมู่บ้านไปร่ำลาส่งคนไปฮัจย์อย่างวุ่นวายโกลาหลกันพอตัว
ก่อนหน้าที่จะโดยสารด้วยเรือเดินสมุทร พ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่าทวดเดินทางไปทำฮัจย์โดยเรือสำเภา ใช้เวลานานหลายเดือนในการเดินทางไปถึงเพราะต้องรอลมมรสุมประจำฤดูกาล เมื่อไปถึงเมืองเมกกะฮ์บางครั้งก็อีกหลายเดือนกว่าจะถึงช่วงที่ทำพิธีฮัจย์ ก็ต้องอาศัยญาติหรือคนรู้จักเพื่ออาศัยพักรอการทำฮัจย์ กว่าจะเดินทางกลับมาได้ก็ต้องรอลมอีกเช่นกัน ทำให้ต้องใช้เวลาร่วม 2-3 ปี ปัญหาความไม่สะดวกเรื่องที่พักทำให้ทวดขนเหรียญเงินที่เก็บสะสมไปเมืองเมกกะฮ์มากพอสมควร ทวดคิดการไกลถึงขนาดวางแผนซื้อบ้านที่นั่นเลยทีเดียว โดยขนเหรียญเงินสปันยอ(สเปน)ใส่กระบอกไม้ไผ่ไปหลายกระบอก พ่อก็ไม่รู้ว่าเท่าไหร่เพราะฟังจากย่าเล่ามาอีกที ผมรู้ว่ามากกว่า 3,000 เหรียญเงิน เพราะดูจากหนังสือสัญญาที่ทวดซื้อบ้านระบุราคาซื้อขายในราคา 3,000 เหรียญเงิน ตอนนั้นเมืองเมกกะฮ์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมาน ยังไม่เป็นประเทศซาอุดิอารเบีย
การเดินทางไปฮัจย์โดยเรือเดินสมุทรนั้นผมไม่มีรายละเอียด ไม่มีความทรงจำ นอกจากฟังจากพ่อเล่าอีกที และยิ่งห่างไกลกับการเดินทางโดยเรือสำเภา เพราะไม่เกิดทัน จะขอเล่าเรื่องการไปฮัจย์ในช่วงที่ผมทันกับเหตุการณ์จะดีกว่า นั่นคือการเดินทางโดยเครื่องบินเมื่อ 40 กว่าปีก่อน
ปี 2514 แม่เพิ่งคลอดน้องชายสัก 8-9 เดือน พ่อก็จะเดินทางไปเมกกะฮ์เพื่อจัดการธุรกรรมเรื่องบ้านที่ทวดซื้อและจะถือโอกาสทำพิธีฮัจย์ในปีนั้นด้วย ครั้งนี้พ่อจะเดินทางโดยเครื่องบิน แม่ก็ขอไปด้วย แม่คงอยากจะลองนั่งเครื่องบินโดยสาร เพราะไปฮัจย์ครั้งก่อนแม่ไปกับเรือเดินสมุทร แต่ติดขัดตรงน้องชายยังไม่หย่านม พ่อวางเงื่อนไขให้แม่ว่าถ้าน้องชายหย่านมและไม่มีปัญหาในการฝากคนอื่นเลี้ยงก็จะยอมให้แม่ไปด้วย ไม่รู้ว่าแม่ใช้กลเม็ดอะไร น้องชายที่กินนมแม่มาตลอดกลับยอมกินนมผงจากขวดนม จำได้ว่าเป็นนมวัวผงตราหมีบรรจุในกระป๋องอลูมิเนียมทรงกระบอก แม่สั่งซื้อมาตุนที่บ้านไว้หลายกระป๋อง ผมและพี่ๆล้อน้องชายว่าเป็นลูกวัวเพราะกินนมวัว ส่วนพวกเราถือดีที่กินนมแม่อย่างเดียว เมื่อแม่จัดการเรื่องนมได้สำเร็จจึงไปขอร้องยายที่ปัตตานีให้มาอยู่ที่บ้านเราหลายๆเดือนเพื่อช่วยเลี้ยงน้องและดูแลบ้านแทนแม่ แม่จึงได้นั่งเครื่องบินสมใจหวัง
ก่อนที่จะไปฮัจย์สักร่วมเดือน นอกจากการจัดการเรื่องราวในบ้านที่จะเป็นภาระให้ยายดูแลแทนแล้ว ยังต้องจัดเตรียมอาหารแห้ง เสื้อผ้าและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆเพื่อใช้ในระหว่างที่ไปทำพิธีฮัจย์ เป็นสัมภาระที่ถูกบรรจุหีบห่อและมัดด้วยเชือกไนล่อนอย่างแน่นหนา เขียนชื่อที่อยู่บนป้ายผ้าไปผูกติดกับสัมภาระทุกชิ้น แต่ละชิ้นหนักหลายสิบกิโลฯ อันที่จริงสัมภาระของแม่ในการไปฮัจย์ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัมภาระของคนอื่น ทั้งนี้เพราะพ่อคุ้นเคยกับเมืองเมกกะฮ์ดีจากการไปเรียนศาสนาที่นั่นตั้งแต่อายุ 13 ปี ส่วนแม่ก็เคยไปทำฮัจย์ก่อนหน้านั้นมาแล้ว 2 ครั้ง
ผมเคยสำรวจสัมภาระของญาติคนอื่นที่ไปทำพิธีฮัจย์มีมากมายสารพัดสิ่งอย่างเหลือเชื่อ เสื้อผ้า กาน้ำ เข็มเย็บผ้า กระดุม รองเท้าแตะ สบู่อาบน้ำ แชมพู กรรไกร ยาสามัญประจำบ้าน ข้าวสาร เครื่องข้าวยำ น้ำพริก อาหารแห้ง จิปาถะ สิ่งสำคัญที่เกือบทุกคนจะขาดไม่ได้ คือ น้ำบูดูและสะตอดอง ซึ่งสะตอดองนี้บางคนเตรียมการเอาสะตอสดมาดองกับน้ำเกลือก่อนหลายเดือน บางคนที่ไม่ทันดองเก็บไว้ก็จะไปขอปันจากบ้านญาติๆ เพื่อเอาไปกินที่เมืองเมกกะฮ์ คงเพราะกังวลว่าอาหารการกินแบบอาหรับจะไม่ถูกปากถูกลิ้นและอาจทำให้ป่วยจนเสียกำลังหรือไรก็ไม่อาจทราบได้
ในสิ่งของที่จะนำไปเมกกะฮ์ด้วยอย่างหนึ่งที่ออกจะที่สนุกและออกจะน่าขัดเขินเล็กน้อยสำหรับผมก็คือ เทปคาสเซ็ต ครอบครัวเรามีญาติที่อยู่ในเมืองเมกกะฮ์หลายคน เจ้าตลับเทปคาสเซ็ตนี้คือเครื่องมือสื่อสารที่ส่งข่าวคราวสารทุกข์สุขดิบแก่กันแทนการเขียนจดหมายครับ ทุกคนจะพูดอัดเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองและถามข่าวคราวของคนที่อยู่เมกกะฮ์ไล่เรียงกันทีละคนจนกว่าจะครบหมดทั้งครอบครัว แล้วการที่ต้องพูดเรื่องส่วนตัว การบอกความในใจต่อหน้าคนหมู่มากที่ถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ขัดเขินสำหรับผมในวัยเด็กอยู่ไม่น้อย
ก่อนจบตอนนี้ก็ขอเล่าถึงบรรยากาศการไปส่งคนไปฮัจย์ในสมัยนั้นอีกสักหน่อยเพื่อให้หมดกระบวนการเรื่องการไปฮัจย์เท่าที่จำได้
ถึงแม้ว่าการไปฮัจย์ครั้งนั้น พ่อกับแม่จะไปโดยเครื่องบิน แต่ก็ต้องเดินทางจากที่บ้านไปขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพ การเดินทางไปกรุงเทพนั้นใช้การเดินทางโดยรถไฟจากสถานีรถไฟรือเสาะไปยังสถานีบางกอกน้อย สมัยนั้นรถไฟสายใต้จะเข้าเทียบที่สถานีบางกอกน้อย ไม่ใช่สถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง)อย่างปัจจุบัน นั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าเรือบางกอกน้อยมายังท่าพระจันทร์ แล้วจึงนั่งแท๊กซี่ไปยังโรงแรมที่พัก รอวันเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง
บรรยากาศการส่งคนไปฮัจย์ที่สถานีรถไฟนั้นสนุกพลุกพล่านมากครับ ไม่ว่าใครจะไปฮัจย์ นอกเหนือจากการสลามร่ำลากันที่บ้านแล้ว ก็มีการไปรอร่ำลาที่มัสยิด คนที่จะไปฮัจย์ในสมัยนั้นนิยมที่จะตั้งต้นการเดินทางประกอบพิธีฮัจย์ที่มัสยิด คนที่บ้านอยู่ห่างจากมัสยิดก็จะมาพักรอที่มัสยิดก่อนออกเดินทาง ส่วนบ้านผมอยู่หน้ามัสยิดเลยไม่มีธรรมเนียมนี้ หลังจากที่ร่ำลาที่บ้านและมัสยิดแล้วทุกคนจะไปส่งที่สถานีรถไฟด้วย บรรยากาศบนชานชาลาสถานีรถไฟช่วงส่งคนไปฮัจย์จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจนเต็มชานชาลาทีเดียว กว่าผู้คนที่มาส่งจะแยกย้ายไปก็หลังจากขบวนรถไฟหายลับไปจากสายตานั่นละครับ
- บทความที่เกี่ยวข้อง
- เกิดบนเรือนมลายู 1 ริมครัวมลายู
- เกิดบนเรือนมลายู 2 บนโต๊ะกินข้าว
- เกิดบนเรือนมลายู 3 นิทานก่อนนอน
- เกิดบนเรือนมลายู 4 เรียนอัลกุรอาน
- เกิดบนเรือนมลายู 5 แตออ นาซิปาฆี
- เกิดบนเรือนมลายู 6 ออแรจีนอ
- เกิดบนเรือนมลายู 8 โต๊ะหะยีใหม่
- เกิดบนเรือนมลายู 9 เฝ้าดุซง
- เกิดบนเรือนมลายู 10 ฮารีรายอปอซอ