Written by 7:12 am Local History, Stories

ปฎิทินตารางละหมาดตลอดชีพของฮัจญีสุหลง โต๊ะมีนา

ฮัจญีสุหลง โต๊ะมีนา เป็นที่รู้จักดีในฐานะที่เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองของสามจังหวัดภาคใต้จากการยื่นข้อเสนอ 7 ข้อเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อรัฐบาลไทยเมื่อปี พ.ศ. 2490 ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อของฮัจญีสุหลงถูกเพ็งเล็งว่าเป็นกบฏกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือนและเมื่อพ้นโทษฮัจญีสุหลงยังคงถูกคุกคาม จนกระทั่งวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ฮัจญีสุหลงและพวกถูกทำให้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

สำเนาภาพ : Soray Deng

บทความนี้จะไม่พูดถึงปัญหาทางการเมืองหรือข้อเสนอ 7 ข้อและการถูกทำให้สาปสูญของฮัจญีสุหลงและผู้ติดตามอีก แต่จะพูดถึงแง่มุมอื่นของฮัจญีสุหลงในฐานะที่เป็นปราชญ์ทางศาสนาอิสลามท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญในศาสตร์หลายด้าน โดยเฉพาะศาสตร์ทางด้านวิชาคำนวนทางดาราศาสตร์ผ่านปฎิทินตารางเวลาละหมาดฉบับนี้

ปฎิทินตารางเวลาละหมาดฉบับนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีการช่าง สี่แยกแม้นศรี พระนคร โดยนายมุ่ย กรีมหาเป็นผู้พิมพ์โฆษณา เมื่อ พ.ศ.2496 (ไม่ทราบจำนวนพิมพ์)
ภาพปฎิทินตารางเวลาละหมาดฉบับนี้ถ่ายจากต้นฉบับจริงที่พิมพ์ครั้งแรกและถูกแจกจ่ายใน ปี 2496 โดย Patani NOTES ได้รับอนุเคราะห์จากมูลนิธิอาจารย์ฮัจญีสุหลง อับดลกอเดร์ โต๊ะมีนา ในการทำสำเนาภาพ

บนหัวกระดาษปฎิทินอธิบายถึงวิธีการใช้ปฎิทิน เขียนในภาษามลายูอักษรญาวี โดยที่มีการใช้คำศัพท์ภาษาอาหรับและภาษาไทยผสมกับภาษามลายูในบางคำ มีรูปสัญลักษณ์ที่เหมือนเข็มทิศในการบอกทิศทางและองศาของการหาทิศทางในการละหมาด(กิบลัต Qiblat) ด้านบนปฎิทินมีข้อความภาษามลายูอักษรญาวีที่ถอดความเป็นอักษรรูมีโดยผู้เขียนว่า

Ini jadual bagi waktu sembahyang yang dipakai selama umur pada ardhi negeri Fotoni Jala Bangnara Satul Singgora Hadyai Chanak Tipa dan tempat2 yang berhipiran dengan negeri2 itu mengikut Jam kerajaan Thai,, Maka kenalah membetulkan dengan jarum Jam radiu yang di istiharkan tiap2 hari pada jam pukul 8.00 pagi. Atau membetulkan dengang jam kereta api dimana2 stesyen. Atau Rumpak(Polis stesyen),, Dikurangkan (2) minit di Bangnara Tanjungmas di Jabat dan (3) M. di Sungngai Golok,, dan di tambahkan (2)M. Di Jala Di Hadyai di Singgora dan (1)M. di Chanak di Tepa dan (4)M. Di Satul,,

นี่เป็นตารางเวลาละหมาดที่ใช้ได้ตลอดชีพสำหรับเผยแพร่ที่เมืองฟาตอนี(ปัตตานี) ยะลา บางนรา สตูล หาดใหญ่ จะนะ เทพาและที่ใกล้เคียงสถานที่เหล่านั้น ตารางนี้อิงตามเวลาของรัฐบาลไทย โดยให้ตั้งนาฬิกาเทียบกับเวลาตามสถานีวิทยุที่ประกาศเทียบเวลาทุกวันในเวลา 8.00 น. หรือเทียบกับนาฬิกาตามสถานีรถไฟที่ใดก็ได้ หรือเทียบกับเวลาของโรงพัก(สถานีตำรวจ) ลบ (2)นาทีที่บางนรา ตันหยงมัสและยาบะ(รือเสาะ) และลบ(3)นาทีที่สุไหงโกลก และเพิ่ม(2) นาที ที่ยะลา ที่สงขลา และ(1) นาทีที่ จะนะ ที่เทพา และ(4)นาทีที่สตูล

Ini jalan bagi mengtahuikan Qiblat “Yaitu kena letak pada papan yang betul pada tempat yang rata, Adalah jarumnya itu menuju kapada qiblat Utara iyalah sebelah hilir pangilan ahli Fatoni, dan sebelah lagi menuju kepada qiblat selatan iyalah sebelah hulu pangilan ahli Fatoni dan garisan yang melintang jarum itu iyalah garisan menuju kepada timur tempat (tempat terbit matahari) dan menuju kepada barat tempat (tempat tergelam matahari) maka dimulai bilang darjat itu dari pada titik barat tempat pergi keutara (kehilir) hingga cukub bilangan darjat negeri2 yang di bitangkan.(bintangkan?)

นี่เป็นวิธีในการหาทิศทาง นั่นคือต้องวางบนแผ่นไม้ที่ตรงและวางบนพื้นที่เรียบ โดยให้เข็มชี้ไปทางอุตาราหรือด้านฮิเลร์(ทิศเหนือ)ในภาษาเรียกของคนฟาตอนี ปลายเข็มอีกด้านจะชี้ไปทางสลาตันหรือด้านทิศฮูลู(ทิศใต้)ในภาษาเรียกของคนฟาตอนี และเข็มที่ขีดขวางเข็มนั้นคือเส้นที่ชี้ไปทางติมูร์(ทิศที่ตะวันขึ้น) และอีกปลายชี้ไปทางบารัต(ทิศที่ตะวันลับ) โดยเริ่มต้นนับตำแหน่งจากทิศบารัตไปทางทิศเหนือจนครบรอบตำแหน่งเมืองต่างๆในรูปสัญลักษณ์ดวงตราดาว(น่าจะเป็นวงกลมรูปสัญลักษณ์ดาวแฉกกลางปฎิทิน)

ในรูปตราสัญลักษณ์ดาวแฉกกลางปฎิทินนั้น ด้านบนสุดเขียนว่า มัฆริบ(Maghrib) ในภาษาอาหรับแปลว่าทิศตะวันตก โดยที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูว่า บารัต เช่นเดียวกับด้านใต้สัญลักษณ์ดาวแฉกที่ใช้คำว่า Mushriq ในภาษาอาหรับแปลว่าทิศตะวันออก แต่ตำแหน่งทิศด้านขวาใช้คำว่า อุตารา และด้านซ้ายใช้คำว่า สลาตัน ที่เป็นคำเรียกทิศเหนือ-ใต้ ในภาษามลายู มีการชี้ตำแหน่งกิบลัต(Qiblat ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มุสลิมกำหนดทิศทางในการละหมาด) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างตำแหน่งเมืองปัตตานีและสงขลา

ตำแหน่งที่กล่าวถึงบนตราสัญลักษณ์ดาวแฉกที่ให้เริ่มต้นนับตำแหน่งจากทิศบารัต(ตะวันตก)ไปทางทิศเหนือนั้น ปรากฏชื่อเมืองตามลำดับตำแหน่ง โดยเริ่มจาก ฟาตอนีหรือปัตตานี(20.39) สงขลา(20.33) บางกอก(17.07) เปอร์ลิส(20.58) เกอดาห์(21.08) ปูเลาปีนัง(21.31) เปรัก(21.47) กัวลาลัมเปอร์(22.28) ยะโฮร์(23.01) สิงคโปร์(23.01) มะละกา(22.53) มัวร์(2.54) เซอเรมบัน(22.27) ปาหัง(22.06) ตรังกานู(21.16) กลันตัน(20.57) ตัวเลขที่ระบุพร้อมกับตำแหน่งเมืองต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ ด้วยไม่มีความรู้ในด้านนี้ หวังเพียงจะมีผู้ที่ทราบจะสามารถเพิ่มเติมข้อมูลหรือสืบค้นให้กระจ่างได้ต่อไป

ในตารางที่คำนวนเวลาละหมาด จะระบุเดือนต่างๆทั้ง 12 เดือน ไม่ใช้ชื่อเดือนแบบอาหรับ แต่ใช้ชื่อเดือนทั้งแบบอังกฤษและไทยโดยใช้อักษรญาวีเขียน คือ January มกราคม จนถึง December ธันวาคม ช่องวันที่ระบุทุกช่วงเวลาห่างกัน 5 วัน และมีการแบ่งช่องตามเวลาละหมาด 5 เวลาและเวลาแสงแรกอีก 2 เวลา คือ มักริบ อีซา อิมซาค(เวลาแสงแรกก่อนรุ่งอรุณ) ซุบฮี เวลาตะวันพ้นขอบฟ้า ดุฮ์รี อัซรี โดยแบ่งเป็นช่องบอกเวลาเป็นชั่วโมงและนาที
.จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากเรื่องการสอนศาสนา เรื่องการเมือง การเป็นผู้นำชุมชน ฮัจญีสุหลงยังมีความรอบรู้ในด้านอื่นๆ เช่น วิชาดาราศาสตร์ วิชาแพทย์แผนโบราณและอื่นๆ ที่นับสัพพัญญูผู้หนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ในสมัยนั้น

ปฎิทินตารางเวลาละหมาดของฮัจญีสุหลงฉบับบนี้คงจะถูกแจกจ่ายอย่างแพร่หลายตามปอเนาะและมัสยิดต่างๆในพื้นที่สามจังหวัด ปัจจุบันยังคงมีหลงเหลือร่องรอยในปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาบางแห่ง โดยถูกใส่กรอบแขวนไว้ตามผนังภายในบาลัยที่ละหมาด แต่ส่วนใหญ่แล้วคงผุพังสูญสลายตามกาลเวลา ที่ยังคงเหลือปฎิทินตารางเวลาละหมาดที่มีสภาพดีไม่มากนัก

ต่อมาปฎิทินตารางเวลาละหมาดของฮัจญีสุหลงได้ถูกพิมพ์อีกครั้งโดยสำเนาจากต้นฉบับเดิม เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2 จำนวน 300 ฉบับเพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานคืนความทรงจำ : Tuan Guru Haji Sulong ในวาระครบรอบ 61 ปีที่ฮัจญีสุหลงถูกทำให้สูญหาย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

(Visited 621 times, 1 visits today)
Close