Written by 9:00 am Memoir

เกิดบนเรือนมลายู 4

เรียนอัลกุรอาน

สมัยนั้นเด็กมลายู(มุสลิม)แถวบ้านผมทุกคนต้องเรียนอัลกุรอาน ถือเป็นภาคบังคับกันเลยทีเดียว น่าจะเป็นการเรียนเรื่องแรกๆในชีวิตของเราที่เป็นเด็กมลายู เราต้องเรียนอัลกุรอานก่อนที่จะเรียน “ซือกอเลาะฮ์มลายู” และ “โรงเรียนซีแย” เสียด้วยซ้ำ อัลกุรอาน(Al-Quran)หรือที่เราออกเสียงในสำเนียงมลายูถิ่นว่า “เกราะแอ” เป็นคัมภีร์ที่สำคัญของศาสนาอิสลามที่เราเชื่อว่าเป็นโองการของพระเจ้า(อัลลอฮ์) ในคัมภีร์อัลกุรอานมีเรื่องราวเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของมุสลิมในทุกๆด้าน มีเรื่องราวการบอกถึงคุณลักษณะของอัลลอฮ์ ปรัชญาในการรู้จักอัลลอฮ์และเรื่องอื่นๆอีกมากมายแม้กระทั่งเรื่องที่ดูจะเป็นวิทยาสตร์ แต่เกินกว่าครึ่งเป็นเรื่องราวที่ยกเหตุการณ์ในยุคสมัยต่างๆตั้งแต่ก่อนการสร้างโลกสร้างจักรวาล มาเป็นคำสอนให้ยำเกรงพระเจ้าและอยู่ในกรอบของศาสนา คล้ายๆกับคัมภีร์ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์และคัมภีร์โตราห์ของศาสนายูดาย(ยิว)

ผมก็เรียกเสียเกินจริงว่าเราเรียนอัลกุรอาน ที่จริงตอนอายุ 3-4 ขวบที่เล่าว่าเราเริ่มเรียนอัลกุรอานนั้น เป็นการเรียนเพื่อรู้จักพยัญชนะ, สระและการสะกดอ่านภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้เขียนอัลกุรอานเสียมากกว่า เหมือนเป็นชั้นอนุบาลสำหรับการเรียนอัลกุรอาน หลายๆครอบครัว พ่อ แม่หรือพี่ จะเป็นคนสอนให้เด็กๆท่องและรู้จักพยัญชนะก่อนที่จะส่งไปเรียนกับครูสอนอัลกุรอาน และหลายๆครอบครัวที่ไม่มีเวลาก็อาจจะฝากลูกให้ไปเริ่มหัดที่บ้านครูสอนอัลกุรอานเลย

การเรียนอัลกุรอานของเด็กในสังคมมลายูแถวบ้านผมในสมัยนั้น ไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันที่สอนอัลกุรอานเป็นการเฉพาะ ทุกคนจะเรียนกันที่บ้านในตอนเช้าตรู่หรือตอนค่ำ อาจจะเรียนที่บ้านตัวเองกับคนในครอบครัวหรือไปขอร่วมเรียนกับบ้านอื่น ให้ครอบครัวของเพื่อนบ้านที่มีความรู้มากกว่าเป็นผู้สอน ซึ่งครูสอนอัลกุรอานบ้านไหนๆก็ไม่มีใครเรียกร้องค่าตอบแทน อาจจะต้องเลี้ยงขนมเลี้ยงน้ำหวานให้เด็กๆเสียด้วยซ้ำ คนมลายูมุสลิมเชื่อว่าการที่มีเสียงอ่านอัลกุรอานในบ้านเรือนถือเป็นศิริมงคล ครูที่สอนอัลกุรอานก็จะถือว่าการสอนเป็นการทำทาน เป็นวิทยาทาน ได้รับผลบุญเป็นการตอบแทนอยู่แล้ว จึงไม่ปรากฎว่ามีใครเรียกร้องอามิสสินจ้างในการสอนอัลกุรอาน

หนังสืออัลกุรอานสำหรับเด็ก ๆ เริ่มต้นเรียน


ผมเริ่มเรียนพยัญชนะและการสะกดคำที่บ้านในตอนเช้าตรู่(ประมาณสักหกโมงเช้า)หลังละหมาด “ซูโบ๊ะห์” (หรือซุบฮี Subhi) ทุกเช้ายกเว้นเช้าวันศุกร์ พ่อจะสอนกุรอานให้ลูกๆตรงชานหน้าบ้าน บางครั้งก็มีลูกของเพื่อนบ้านมาเรียนด้วย พ่อจะสอนพี่ๆให้อ่านและท่องจำโองการในอัลกุรอาน โดยเน้นให้ท่องจำ “ซูเราะห์” (โองการ) ในญุซที่(บท) 30 เพราะเป็นซูเราะห์สั้น จำง่าย สำหรับให้อ่านซูเราะห์เหล่านี้ในการละหมาด การเรียนแบบนี้ พี่ๆผมต้องอ่านซูเราะห์ต่างๆตามแต่ว่าใครจะท่องถึงโองการไหน และต้องไปอ่านออกเสียงให้พ่อฟังเพื่อที่พ่อจะชี้แนะและแก้ไขจุดที่อ่านผิด ทั้งการสะกด ไวยากรณ์และการออกเสียง ส่วนผมและน้องๆที่เรียนพยัญชนะและการสะกด ก็จะมีพี่ๆที่กำลังรอเวลาที่จะเข้าไปอ่านให้พ่อฟังมาช่วยสอน

อุปกรณ์ประกอบการเรียนอัลกุรอานที่ทุกคนต้องเตรียมคือ ทุกคนต้องมีคัมภีร์อัลกุรอานของตัวเอง แล้วแต่ใครจะเรียนถึงเล่มไหน ต้องมี “ฆาฮา (Gaha) เป็นแผ่นไม้ที่สามารถเปิดได้ ทำหน้าที่คล้ายโต๊ะเตี้ยๆเพื่อวางคัมภีร์อัลกุรอานให้พ้นสูงกว่าขาเวลาที่เรานั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิ และ “นูโย๊ะอฺ Menunjuk” เป็นไม้สำหรับชี้เวลาที่เราหัดอ่านอัลกุรอาน นูโย๊ะอฺนี้มีหลากหลายแล้วแต่ใครจะประดิษฐ์และสรรหา บางคนใช้ก้านมะพร้าว ของบางคนเป็นขนเม่น บางคนเป็นดินสอ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือ เอากระดาษมาพับเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมแบนๆปลายแหลม ยาวประมาณหนึ่งคืบ มาใช้เป็นนูโย๊ะอฺ เพราะมันสะดวก ทำง่ายและใช้เป็นที่คั่นหน้าอัลกุรอานได้ด้วย สะดวกต่อการเรียนในเช้าวันรุ่งขึ้นว่าเราอ่านถึงหน้าไหนแล้ว

อักษรอาหรับ


“อาเละห์ ดะอ์ตะห์ อา, อาเละห์ บอเวาะห์ อี, อาเละ ดะอฺแป อน, อ้า อี้ อน” เสียงท่องการสะกดพยัญชนะอาหรับที่ท่องคล้ายๆกับอานขยานดังขรมแทบจะกลบเสียงการอ่านกุรอานของพี่ๆ พวกเด็กๆท่องอ่านคำสะกดแข็งขันกันอย่างเมามันด้วยความสนุก ต่างกับพี่ๆที่ท่องอ่านอัลกุรอานอย่างสำรวม

คนมลายูสมัยก่อนจะถือฤกษ์ให้ลูกเริ่มเรียนอัลกุรอานหรือส่งไปเรียนปอเนาะในวันพุธ เพราะเชื่อว่าอัลลอฮ์สร้างแสงในวันพุธ การเริ่มเรียนในวันพุธซึ่งเป็นวันเดียวกับที่อัลลอฮ์สร้างแสงนั้น น่าจะเป็นฤกษ์ที่ช่วยให้ได้รับความรู้อย่างเจิดจ้าประดุจแสงสว่าง ไม่ทำอะไรในเรื่องมงคลในวันอังคารเพราะความเชื่อที่ว่าอัลลอฮ์สร้างสิ่งมักโร๊ะฮฺ(สิ่งที่ไม่งาม)ในวันนั้น ความเชื่อเหล่านี้มาจากความเชื่อเรื่องการสร้างโลกของพระเจ้าของชาวมลายูมุสลิม ความเชื่อนี้จะมีที่มาหรืออ้างอิงจากไหนนั้น ผมไม่ทราบจริงๆ รู้แต่ว่าเขาเชื่อกันมาอย่างนี้ เป็นความเชื่อของมลายูท้องถิ่นที่เชื่อว่าอัลลอฮ์เริ่มสร้างโลกในวันเสาร์โดยสร้างดินขึ้นมาก่อน สร้างภูเขาในวันอาทิตย์ สร้างพืชพรรณในวันจันทร์ ซึ่งชาวนาชาวสวนก็จะถือเคล็ดในการเริ่มเพาะปลูกในวันจันทร์ด้วย สร้างบรรดาสัตว์ต่างๆในวันพฤหัส และมีเพียงวันศุกร์ที่พระเจ้าไม่ได้รังสรรค์สิ่งใด นอกจากกำหนดให้เป็นวันกิยามะฮ์(Hari Kiamat วันสิ้นโลก)

การฝากเรียนหรือเริ่มต้นเรียนอัลกุรอาน ไม่มีพิธีกรรมอะไรนอกจากบอกกล่าวกับครูผู้สอนว่าจะฝากลูกมาเรียนด้วย แต่ในการเรียนอัลกุรอานจบกลับมีพิธีกรรมอยู่บ้างคือ เมื่อเด็กๆเรียนหนังสือพยัญชนะและการสะกดจบเล่ม จะมีการทำข้าวเหนียวและไก่ย่างเลี้ยงเด็ก เหมือนเป็นของขวัญ เป็นรางวัลสำหรับการเลื่อนชั้น จนเมื่อสามารถเรียนและท่องจำซูเราะห์(โองการ)ในญุซ(บท) 30 ก็จะมีการทำข้าวเหนียวและไก่ย่างทำขวัญให้เด็กอีกครั้ง และครั้งสุดท้ายที่ทำกันอย่างจริงจังเป็นพิธีการมากที่สุดคือ เมื่อเรียนอัลกุรอานจนจบทั้งเล่ม ซึ่งมีทั้งหมด 30 ญุซ โดยที่เราเริ่มเรียนญุซที่ 30 ก่อน แล้วจึงต่อด้วยญุซที่ 1 จนถึง 29 แล้วอ่านทวนญุซที่ 30 ก็ถือว่าเรียนจนจบเล

ต่อมาเราเริ่มเรียน “ซือกอเลาะห์มลายู” ซึ่งเป็นที่ที่เราเรียนวิชาพื้นฐานของศาสนาอิสลามทั่วไป เรียนหลักปฎิบัติ เรียนรู้วิธีการละหมาด เรียนการอ่านเขียนภาษามลายูทั้งอักษรรูมีและญาวี ซือกอเลาะห์มลายูส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณมัสยิด มีพี่ๆที่กำลังเรียนชั้นสูงๆในปอเนาะอุทิศตนมาช่วยสอนเด็กๆ ภายใต้การดูแลของมัสยิดและชุมชนที่ช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายให้ซือกอเลาะห์มลายู ส่วนตำราเรียนและหลักสูตรการสอนจะใช้ตำราที่โต๊ะครูและปราชญ์ผู้รู้ในพื้นที่แต่งตำราพิมพ์ออกมาวางขาย บางวิชา โดยเฉพาะตำราภาษามลายูอักษรรูมีก็ใช้ตำราของมาเลเซีย

ซือกอเลาะห์มลายูแปลว่าโรงเรียนภาษามลายู เราเรียกโรงเรียนประถมว่า “ซือกอเลาะห์ซีแย” หรือแปลว่าโรงเรียนภาษาไทยนั่นเอง เรียกตามความเข้าใจของเรา ตามความสะดวกปาก เพราะซือกอเลาะห์มลายูใช้ภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาแรกของเราในการเรียนการสอน ส่วนซือกอเลาะห์ซีแยใช้ภาษาไทยในการสอน ทั้งซือกอเลาะห์มลายูและซือกอเลาะห์ซีแย เป็นโรงเรียนที่เราเริ่มเรียนในช่วงวัยเดียวกันคือราวๆ 4-5 ขวบ โดยเรียนซือกอเลาะห์ซีแยในวันจันทร์ถึงศุกร์ และเรียนซือกอเลาะห์มลายูตอนเย็นหลังเลิกเรียนซือกอเลาะห์ซีแย บางแห่งก็เรียนซือกอเลาะห์มลายูในวันเสาร์อาทิตย์ โดยหยุดเรียนในวันศุกร์

ซือกอเลาะห์มลายูจะแบ่งเป็น 4 ชั้นเรียน คือ กือละห์ซาตู (Kelas Satu) กือละห์ดูวอ(Kelas Dua) กือละตีฆอ(Kelas Tiga) และกือละห์ปะอฺ(Kelas Empat) ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด เมื่อจบจากกือละห์ปะอฺก็สามารถเรียนต่อในโรงเรียนปอเนาะหรือต่อชั้นเรียนทางศาสนาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในชั้นที่สูงกว่าได้ ส่วนโรงเรียนซีแย เราเริ่มเรียน ป.เตรียมก่อนหนึ่งปี ซึ่ง ป.เตรียมจะทำหน้าที่เตรียมความพร้อมของเด็ก คล้ายๆชั้นอนุบาล ต่อมาจึงเรียนในชั้นประถมอีก 6-7 ปี สมัยนั้นการศึกษาภาคบังคับ กำหนดแค่ชั้นประถมปีที่ 4 หลายๆคนมักจะออกไปเรียนปอเนาะและช่วยพ่อแม่ทำงานไปด้วย

ปัจจุบันไม่มีใครเรียกหรือรู้จักซือกอเลาะห์มลายูแล้ว เปลี่ยนมาเรียกโรงเรียนตาดีกาแทน คำว่า “ตาดีกา” เป็นคำย่อในภาษามลายู จากคำว่า ตามัน ดีดิกกัน กานักกานัก (Taman Didikan Kanakkanak) โดยเอาพยางค์แรกมาต่อกันเป็น “ตาดีกา” แปลว่า สถานที่อบรมเยาวชน ส่วนใหญ่แล้วหลักสูตรและตำราของโรงเรียนตาดีกาจะใช้หลักสูตรของประเทศมาเลเซียเป็นหลัก ซึ่งเน้นการใช้อักษรรูมีมากกว่าอักษรญาวี

เด็ก ๆ เรียนศาสนาเบื้องต้นที่ซือกอเลาะห์มลายู


เช่นเดียวกับการสอนอัลกุรอานตามบ้านแบบสมัยก่อนก็แทบจะไม่มีให้เห็น การสอนอัลกุรอานให้เด็กๆในสมัยนี้จะเป็นการสอนอย่างเป็นระบบเรียกว่า การเรียน “กีรออาตี” เป็นการสอนในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนโรงเรียนประถม เพราะตอนช่วงหลังมานี้ โรงเรียนตาดีกาจะสอนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ได้สอนตอนเย็นแบบซือกอเลาะห์มลายูเหมือนเมื่อก่อน การสอนอัลกุรอานแบบกีรออาตีจะเป็นการสอนสะกด ไม่เน้นการท่องจำ เรียนเป็นชั้นๆอย่างเป็นระบบ สามารถอ่านอัลกุรอานได้เร็ว แต่ก็ไม่สามารถท่องจำอัลกุรอานได้แบบสมัยก่อน และสิ่งที่ผมสังเกตเห็นอีกอย่างก็คือ ทั้งโรงเรียนตาดีกาและโรงเรียนกีรออาตี ต่างเก็บค่าเรียนจากเด็ก ครูผู้สอนมีค่าตอบแทนให้พอสมควร … ไม่มีใครสอนเพื่อเป็นวิทยาทานกันอีกเลย

(Visited 396 times, 1 visits today)
Close