เรื่องเล่าเกิดบนเรือนมลายูที่ผมเขียนขึ้นนี้เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ในวัยเด็กของผมในช่วงประมาณ พ.ศ.2515 – 2523 เป็นเรื่องเล่าที่ตั้งใจเล่าให้เห็นถึงสภาพสังคมและวิถีชีวิตในชุมชนญาบะหรือรือเสาะที่เป็นอำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสในยุคสมัยนั้น ผ่านประสบการณ์ชีวิตในวัยเยาว์ของผม โดยเล่าเป็นตอนๆตามที่จะย้อนความทรงจำได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจสรุปว่าสังคมทั้งหมดเป็นอย่างเรื่องที่ผมเล่า เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆและพื้นฐานของแต่ละครอบครัวที่ต่างกันอันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของสังคม แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่า ผู้อ่านจะสามารถสัมผัสถึงบรรยากาศของสังคมส่วนหนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้เมื่อ 40 กว่าปีก่อนได้บ้าง เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนเป็นธรรมชาติ อย่างที่สังคมปัจจุบันเรียกร้องถึงการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม
ผมเกิดและใช้ชีวิตในวัยเด็กบนเรือน(พื้นถิ่น)มลายูหลายปี เรือนหลังนี้เป็นเรือนที่ย่าสร้างไว้ก่อนผมเกิดหลายสิบปี เป็นเรือนมลายูในตลาดญาบะ(รือเสาะ) เมืองแผ่นดินตอนในที่เกิดเป็นชุมชนเพราะทางรถไฟตัดผ่าน เรือนของครอบครัวผมมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเรือนอื่นๆในละแวกนั้น มีบริเวณที่ดินรอบๆบ้านกว้างขวางมากและมีรั้วกั้นรายรอบอาณาบริเวณ ร่มรื่นไปด้วยสารพัดต้นไม้ประเภทไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน ส้มโอ มะไฟ ลางสาด ลางแข พุทราจีน ขนุน ชมพู่ คีนิน มะพร้าวและต้นหมาก ส่วนพืชประเภทผักสวนครัว ก็มีทั้ง ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ มะนาว มะกรูด และพลูที่ปลูกให้เลื้อยเป็นเถาอยู่ข้างบันไดชานเรือน บริเวณลานด้านนอกครัวจะเรียงรายไปด้วยไหที่ใช้ดองหมาก(ปีแนยือโร๊ะอ์ Pinang Jeruk) หมากที่ดองในไหนี้ก็จะเก็บมาจากผลหมากที่ปลูกอยู่ริมรั้วและสุกจนร่วงลงมา แม่มักจะใช้เด็กๆอย่างผมและน้องๆเก็บผลหมากไปล้าง เอาไปใส่ในไหประมาณค่อนไห แล้วจึงเติมน้ำสะอาดลงไปในไห จากนั้นก็ใช้กะลามะพร้าวครอบปิดฝาไหเอาไว้ เมื่อพ่อมีแขกมาเยี่ยมเรือนอยากจะกินหมากพลูก็จะนำหมากที่ดองไว้ในไหไปปอกเปลือกและนำไปวางไว้ใน “จือรานอ” (Cerana เชี่ยนหมาก) ส่วนพลูก็ใช้เด็ดมาจากต้นพลูที่เลื้อยอยู่ข้างบันไดชานเรือนนั่นเอง
คำว่า “ครัว” ในภาษามลายูเรียกว่า “ดาโป” (Dapur) คำว่าดาโปนี้สามารถแปลว่าเตาก็ได้ โดยส่วนมากแล้วครัวของเรือนมลายูมักจะอยู่ด้านหลังเรือนต่อเชื่อมออกไปจากตัวเรือนหลัก (รูเมาะห์อีบู Rumah Ibu) และระดับของพื้นครัวก็จะต้องต่ำกว่าระดับของพื้นเรือนหลักเสมอ พื้นครัวจะเป็นไม้กระดานที่ปูเว้นช่องให้มีร่องระหว่างไม้ เพื่อที่จะทำความสะอาดได้สะดวก บางครั้งเราก็กวาดเอาเศษอาหารลงไปใต้ถุนเพื่อใช้เป็นอาหารไก่ที่เดินเล่นตามใต้ถุน ครัวของเรือนมลายูมุสลิมทุกหลังจะมีบันไดแยกต่างหากจากบันไดหน้าบ้าน เพื่อความสะดวกและแยกส่วนทางเข้าของสตรีรวมทั้งเด็กไว้ต่างหาก ยามที่มีแขกเหรื่ออยู่ที่โถงหรือชานเรือนหน้าบ้าน
การใช้พื้นที่ครัวของเรือนมลายูเป็นไปอย่างเรียบง่าย แม้กระทั่งเรือนของครอบครัวเราซึ่งเป็นเรือนขนาดใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ในครัวมลายูจะมีเครื่องครัวไม่มากนัก จำได้ว่าในสมัยนั้นเครื่องครัวประเภทหม้อและกระทะที่ทำจากเหล็กแทบจะไม่มีให้เห็นเลย เครื่องครัวในครัวบ้านเราจะเป็นเครื่องครัวที่ทำมากจากทองเหลืองเสียมากกว่า มีหม้อดินไว้สำหรับหุงข้าวและมีหม้อดินที่เรียกว่าเฆอโล๊ะ(Gelok)ไว้ใส่น้ำดื่ม ส่วนตะหลิวและทัพพีถ้าไม่ทำจากทองเหลืองก็ทำจากไม้หรือกะลา เครื่องครัวเหล่านี้มักจะวางคว่ำอยู่บนพื้นเรือนครัวและแขวนเรียงรายตามผนังครัวที่สามารถจะหยิบฉวยได้อย่างสะดวกมือ มากกว่าที่จะเก็บในตู้อย่างเรียบร้อยเป็นสัดส่วนเหมือนครัวในสมัยปัจจุบัน
ครัวที่บ้านเราเป็นครัวไฟ คือเป็นครัวที่ใช้กระบะไม้ขนาดประมาณ 70 * 150 เซนติเมตร ใส่ดินอัดจนแน่น และต่อขาเพื่อยกระดับสูงประมาณ 60 เซนติเมตร บนกระบะไม้ที่อัดดินจนแน่นนี้ จะมีเตาซิเมนต์โค้งๆที่ซื้อมาจากร้านจีนในตลาดวางอยู่ด้วย ในบางครั้งเมื่อเตาซิเมนต์นี้แตกหรือหัก แม่ก็จะใช้ก้อนหินมาวางเป็นสามเส้าแทนเตาซิเมนต์ ในครัวมีเตาอั้งโล่อยู่ด้วย แต่ปกติแล้วแม่มักใช้ไม้ฟืนก่อไฟในเตาซิเมนต์ที่วางบนกระบะดินมากกว่า ส่วนเตาอั้งโล่จะใช้กับถ่าน และที่เรือนของครอบครัวมีไม้ฟืนที่ผ่าเก็บไว้แล้วมากพอที่จะไม่ต้องซื้อถ่าน จึงมักจะใช้ไม้ฟืนก่อไฟในเตาซิเมนต์มากกว่าเตาอั้งโล่ ยกเว้นตอนที่จะย่างเนื้อหรือปลาที่แม่จะใช้เผาถ่านในเตาอั้งโล่ เพราะการใช้ถ่านจะไม่มีควันมากจนทำให้เนื้อหรือปลาที่ย่างติดกลิ่นควันไฟไปด้วย ในการก่อไฟไม่ว่าจะก่อด้วยไม้ฟืนหรือถ่าน จะมีการใช้อุปกรณ์อย่างหนึ่งเรียกว่า “ตือรอปอง” (Teropong) โดยการตัดไม้ไผ่เป็นท่อนพอประมาณ ใช้สำหรับเป่าไฟเพื่อให้ไฟติดง่ายและลุกโชน ซึ่งเวลาเป่า”ตือรอปอง”นี้ ต้องระวังขี้เถ้าที่อยู่ในเตาที่จะฟุ้งออกมาด้วย
ครัวที่บ้านเรามีสิ่งแปลกปลอมอยู่อย่างหนึ่ง คือตู้เย็น เป็นตู้เย็นสองประตูสีขาวขนาดใหญ่เทอะทะ จำไม่ได้ว่าเป็นตู้เย็นจากยุโรปสัญชาติใดระหว่างสวีเดนกับฟินแลนด์ พ่อคงจะซื้อจากบริษัทพิธานพาณิชย์ ซึ่งเป็นตัวแทนที่ขายสินค้าหลายๆอย่างจากต่างประเทศ สมัยนั้นแถวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างแพร่หลายและสะดวกเหมือนทุกวันนี้ ตอนนั้นเรายังใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดและตะเกียงเจ้าพายุเป็นหลัก ที่ว่ายังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างแพร่หลายและสะดวกนั้นก็เพราะว่า มีโรงไฟฟ้าของเอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐอยู่ข้างบ้าน เป็นโรงไฟฟ้าเล็กที่ผมจำรายละเอียดได้ไม่มากนัก จำได้ว่ามี Boiler และบ่อซิเมนต์สำหรับเก็บน้ำร้อนจากเครื่องปั่นไฟเท่านั้นเอง โรงไฟฟ้านี้ไม่ได้จ่ายไฟตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละวันจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อกระแสไฟฟ้ามาใช้ก็เป็นหน่วยงานต่างๆของรัฐเป็นหลัก
สำหรับเรื่องตู้เย็นนั้น จำได้ว่าตู้เย็นของพ่อต้องใช้น้ำมันก๊าดเติมในถังที่อยู่ข้างใต้ตู้เย็น เพื่อปั่นกระแสไฟฟ้า ตอนที่เริ่มสตาร์ทเครื่องจะมีเสียงที่ดังจากเครื่องปั่นไฟที่อยู่ตรงส่วนฐานของตู้เย็น และกว่าจะเย็นจนกินน้ำเย็นได้ก็ใช้เวลานานโขทีเดียว บางครั้งบางคราวมันเกิดไม่เย็นก็ต้องช่วยกันตะแคงตู้เย็นเพื่อให้น้ำยามันเดินไปทั่วถึง ลำบากเอาเรื่องกว่าจะได้กินน้ำเย็น เรื่องตู้เย็นนี้ เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าพ่อซื้อมันมาทำไม ด้วยที่ประโยชน์ของมันมีน้อย คือทำได้แค่การแช่น้ำให้เย็นและทำน้ำแข็งก้อนได้บ้างนิดหน่อย ที่จริงในสมัยนั้นเราดื่มน้ำเย็นที่แช่เก็บไว้ในเฆอโละ(หม้อดิน) หรือถ้าอยากได้แบบเย็นจัดก็ซื้อน้ำแข็งจากร้านคนจีนที่ขาย “น้ำแข็งมือ” โดยเป็นน้ำแข็งที่คนขายใช้เลื่อยตัดแบ่งจากน้ำแข็งก้อนใหญ่ที่หมกในแกลบหรือขี้เลื่อย ราคาก็ไม่กี่สลึง
ตู้เย็นเครื่องนั้นผมจำได้แม่นทีเดียวว่า เราไม่เคยใช้เพื่อเก็บถนอมอาหารเลยสักอย่าง ไม่ว่า เนื้อสัตว์ ปลาหรือผัก เพราะอาหารทุกอย่างเราสามารถซื้อมาสดๆได้ ใกล้ๆบ้านมีแผงขายเนื้อสดของคนกาโบ(ปาทาน) ผักสดต่างๆก็ไม่ค่อยได้ซื้อเพราะหาเก็บได้ทั่วๆไป เคยเห็นแม่ซื้อเฉพาะถั่วฝักยาวกับแตงกวาเท่านั้น ส่วนปลาก็จะมีรถเข็นของป้าเอี่ยมมาเร่ขายถึงหน้าบ้านในช่วงเวลาประมาณบ่ายสามหรือไม่เกินสี่โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ทุกๆบ้านจะเตรียมทำอาหารค่ำกัน
ป้าเอี่ยมที่มาเร่ขายปลานั้นเป็นคนซีแย(สยาม) น่าจะไม่ใช่คนดั้งเดิมที่นี่ เพราะไม่เห็นแกมีสมบัติพัสถานอะไรมาก บ้านที่แกอยู่ก็เป็นห้องแถวเรือนไม้ที่เช่าเขาอยู่ สามีแกทำงานเป็นลูกจ้างของสถานีรถไฟ บางวันลูกสาวป้าเอี่ยมชื่อ “แต๋ว” ก็จะมาช่วยแม่ขายปลาด้วยบ่อยๆ เวลามาถึงหน้ารั้วบ้านผม ก็จะตะโกนเรียกแม่ผมว่า “กะนิ๊ อีแก … กะนิ๊ อีแก” เสียงลั่นทีเดียว สองแม่ลูกป้าเอี่ยมกับพี่แต๋วจะพูดภาษามลายูได้บ้างนิดหน่อย ต่างจากคนจีนที่อยู่ที่นี่ที่อยู่ไม่นานเท่าไหร่ก็พูดภาษามลายูกันคล่อง สื่อสารกับคนมลายูอย่างสนุกปาก ผมจำชื่อพี่แต๋วได้เพราะว่าเคยร้องเพลง “แต๋วจ๋า” ของสาริกา กิ่งทอง เย้าพี่แกอยู่บ่อยๆเวลาที่แกเข็นรถผ่านรั้วบ้านตามแรงยุของพี่สาวซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเรียนโรงเรียนมัธยมที่เดียวกันกับพี่แต๋ว แต่การจะร้องเพลง “แต๋วจ๋า” ได้นั้น ผมกับพี่สาวต้องดูให้แน่ใจก่อนว่า ทั้งแม่และป้าเอี่ยมไม่ได้อยู่แถวนั้น
ตามที่ได้เล่าไปแล้วว่า เครื่องครัวของบ้านเราไม่มีหม้อและกระทะที่ทำด้วยเหล็ก สมัยนั้นเมนูอาหารของทุกๆบ้านล้วนแต่เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านแบบมลายูแทบทั้งสิ้น ซึ่งนอกเหนือจากแกงแล้วมักจะเป็นอาหารประเภท ลวก ต้ม นึ่งและย่าง แทบจะไม่มีอาหารประเภทที่ต้องทอดหรือผัดที่ต้องใช้น้ำมัน จึงไม่จำเป็นต้องใช้กระทะเหล็ก
จนผมอายุ 10 กว่าขวบ แม่ถึงได้ซื้อกระทะเหล็กมาใช้สำหรับปรุงอาหารประเภททอด ซึ่งก็ทำอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ปลาทูทอดขมิ้น น้ำมันที่ใช้ทอดก็ใช้น้ำมันรำข้าว ยี่ห้อ “ทิพย์” บรรจุในกระป๋องสังกะสี สี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัด ต่อมาก็เริ่มทำไข่เจียว โดยซอยหอมแดงหรือบางครั้งก็เป็นมะพร้าวขูดใส่ในไข่เจียวลงไปด้วย มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในช่วงที่ผมยังเด็กมากๆนั้น คนมลายูในแถบนี้น่าจะยังไม่รู้จัก ไข่ดาว เพราะเมนูอาหารประเภทไข่ที่แม่ทำให้กินตอนวัยเด็ก ถ้าไม่ใช่แกงเหลืองไข่เป็ด ก็ต้องเป็นไข่ต้มเท่านั้นเอง ส่วนไข่ดาวนั้นผมได้ทานก็ตอนโต ตอนที่มีการใช้กระทะเหล็กอย่างแพร่หลายแล้ว
พูดถึงเรื่องน้ำมัน ในยุคนั้นยังไม่มีน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง หรือสารพัดน้ำมันเหมือนตอนนี้ นอกเหนือจากน้ำมันรำข้าวที่ต้องซื้อหาจากร้านคนจีนแล้ว จะมีก็แต่น้ำมันมะพร้าวเท่านั้นที่คนมลายูใช้บริโภค ซึ่งน้ำมันมะพร้าวนี้หลายๆครอบครัวจะผลิตขึ้นมาเอง ผมยังพอที่จะจำได้ว่า เวลาที่มีมะพร้าวที่เหลือกิน (ปรุงอาหาร เช่น แกงและขนม) ก็จะเก็บรวบรวมไว้ใต้ถุนเรือน เมื่อ “โต๊ะเจ๊ะ”(ยาย)ซึ่งเป็นคนปัตตานีมาเยี่ยมแม่ (ยายจะมาพักกับครอบครัวเราเพื่อมาเยี่ยมแม่และพวกเราคราวละ 7 – 10วัน) วันไหนที่โต๊ะเจ๊ะเห็นว่ามีมะพร้าวกองสุมที่ใต้ถุนเรือนมากพอ ก็จะกะเกณฑ์คนในเรือนให้ช่วยกันปอกเปลือกมะพร้าว เอาไปคั้นเป็นกะทิเคี่ยวใน “กาเวาะห์” (Kawah กระทะใบบัว) เพื่อทำน้ำมัน เคี่ยวจนได้น้ำมันมะพร้าวและมี “คือเราะอ์” หรือตะกอนขี้น้ำมันสีน้ำตาลไหม้ ซึ่งโต๊ะเจ๊ะก็จะเก็บไว้เพื่อโรยหน้าบนขนม “กอและห์” เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆจนได้น้ำมันมะพร้าวแล้ว ก็จะนำไปบรรจุขวดเพื่อเก็บไว้ใช้ต่อไป
อีกยี่สิบกว่าปีต่อมา ที่นครมักกะฮ์ (Mecca, Saudi Arabia) วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งข้างหน้าต่างในห้องโถงของบ้านญาติซึ่งอยู่ในย่านชาวมลายู ได้ยินเสียงพ่อค้าชาวฮินดีเทินถาดร้องขายปลาว่า “อีแกเกอมง อีแกกูนิง อีแกสลาแย” เป็นภาษามลายูในสำเนียงแบบฮินดี … ผมกลับนึกถึงแต๋วจ๋าขึ้นมาเสียดื้อๆ
- บทความที่เกี่ยวข้อง
- เกิดบนเรือนมลายู 2 บนโต๊ะกินข้าว
- เกิดบนเรือนมลายู 3 นิทานก่อนนอน
- เกิดบนเรือนมลายู 4 เรียนอัลกุรอาน
- เกิดบนเรือนมลายู 5 แตออ นาซิปาฆี
- เกิดบนเรือนมลายู 6 ออแรจีนอ
- เกิดบนเรือนมลายู 7 ฆีฮายี (ไปฮัจย์)
- เกิดบนเรือนมลายู 8 โต๊ะหะยีใหม่
- เกิดบนเรือนมลายู 9 เฝ้าดุซง
- เกิดบนเรือนมลายู 10 ฮารีรายอปอซอ