Written by 4:45 pm Patani

ภายในบีอาร์เอ็นต้องคุยกันให้หนัก กับ “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” เรื่องของเอกราช

อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติอันเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่อำนวยการให้กับการพูดคุยของฝ่ายไทย ทุกวันนี้อาทิตย์ยังคงติดตามประเด็นภาคใต้รวมทั้งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่เรื่อยมา เขาจึงมีข้อสังเกตต่อเรื่องของการพูดคุยระหว่างไทยและบีอาร์เอ็นไม่น้อย

อาทิตย์บอกกับ Patani NOTES ว่าหลายฝ่ายใช้ความพยายามให้มีการพูดคุยนับตั้งแต่ปี 2556 แต่เขาเห็นว่าการพูดคุยที่ดำเนินมาตลอดนั้นเรียกได้ว่า “เป็นการพูดคุยระดับบน” นั่นคือระหว่างฝ่ายไทยกับคนที่เชื่อว่าเป็นบุคคลระดับสั่งการ สามารถควบคุมกองกำลังในพื้นที่ได้ นับตั้งแต่อุสตาสฮาซัน ตอยิบ จนถึงองค์กรร่วมอย่างมาราปาตานี และล่าสุดคืออุสตาสฮิพนี มะเร๊ะ

กับการพูดคุยล่าสุด สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในความเห็นของเขาเวลานี้ คือเรื่องการสื่อสารภายในของกลุ่มบีอาร์เอ็น

อาทิตย์เชื่อว่าการเดินหน้าของกระบวนการสันติภาพจะไม่ยั่งยืนหากสมาชิกของบีอาร์เอ็นในระดับพื้นที่หรือชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเแสดงออกซึ่งความต้องการของตัวเองได้อย่างจริงจัง เขาไม่แน่ใจว่า การสื่อสารระหว่างฝ่ายนำของกลุ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมการพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมีมากน้อยแค่ไหน เขาเห็นว่าหากจะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ “มันควรจะต้องมีการพูดคุยในระดับพื้นที่ในระดับล่างอย่างเสรี ปลอดภัย และต้องทำอย่างเข้มข้นกว่าการพูดคุยระดับบน”

อาทิตย์อธิบายว่าความเชื่อสำคัญในหมู่สมาชิกปีกการทหารของหลายกลุ่มขบวนการก็คือ การใช้กำลังเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าได้ทดลองใช้เครื่องมือทางการเมืองมาหมดแล้ว “แต่รัฐไทยไม่เคยยอมรับว่าปาตานีเป็นดินแดนหนึ่งในเอเชีย จึงต้องใช้การติดอาวุธเป็นทางนำ” อาทิตย์บอกว่าหลักดังกล่าวที่ว่านี้ยังคงได้รับการยอมรับเรื่อยมาในหมู่สมาชิกปีกการทหาร และสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะกระทบการสนับสนุนของสมาชิกและผู้สนับสนุนของกลุ่มต่อการพูดคุยของตัวแทนบนโต๊ะพูดคุย

ก่อนอื่นเมื่อเอ่ยถึงกลุ่มผู้ที่มีช่วยสนับสนุนหรือเป็นฐานให้กับขบวนการที่อยู่ในพื้นที่ อาทิตย์อธิบายผ่านงานวิจัยของมาร์ค ตามไทเรื่อง “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง: การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” รวมทั้งงานวิจัย “กำปงดามัย” ของตูแวดานียา ตูแวแมแง และงานวิจัยชื่อ “ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง” ที่ทำร่วมกันระหว่างตูแวดานียา ตูแวแมแง และ อาทิตย์ ทองอินทร์ งานทั้งสามชิ้นมีผลทำให้สามารถมองเห็นและอาจแบ่งปฏิกิริยาผู้คนที่จะมีต่อกระบวนการพูดคุยล่าสุดระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทยได้เป็นสามกลุ่มดังนี้

กลุ่มแรกอาทิตย์มองว่ามีกลุ่มคนที่เชื่อว่าเอกราชนั้นคือ “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” ของพวกเขา ซึ่ง “ไม่ใช่แปลว่าจะยอมไม่ได้ แต่เพียงแค่แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของไม่ได้” การยอมของฝ่ายหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการที่อีกฝ่ายหนึ่งยอมถอยในสิ่งที่ถือเป็น “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” ของตัวเองด้วย หรือไม่ ก็ยอมถอยเพื่อที่จะรับคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตรงข้าม ในกลุ่มนี้มีทั้งคนที่เขาเห็นว่าได้ผ่านการ “ปรับตัว” มาบ้างแล้ว กับมีคนที่ยัง “ยืนอยู่ที่เดิม”

จากงานศึกษาในหัวข้อ “ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง” พบว่า ผู้คนในพื้นที่ต่างปรับตัวตามสภาวะความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ เพราะพวกเขาต้องเดินหน้าใช้ชีวิตในโครงสร้างสังคมที่มีข้อจำกัดและมีการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้โดยยอมรับสิ่งที่เป็นความต้องการของอีกฝ่าย ซึ่งเขาใช้ศัพท์สั้นๆแทนว่ามันเป็นการ “ยอมถอย” อาทิตย์ยกตัวอย่างว่า แม้บางคนจะเป็นข้าราชการจากส่วนกลางหรือไม่ใช่มลายูมุสลิม แต่กลับทำงานให้กับคนมลายูได้ดี เช่นนายพลากร สุวรรณรัตน์ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นผู้อำนวยการศอ.บต. หรือนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาที่มาจากการเลือกตั้ง อาทิตย์เห็นว่าสิ่งนี้คือ “การถอย” ในเชิงอัตลักษณ์ของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่เป็นการให้เกียรติอัตลักษณ์ “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” ความเป็นมลายูปาตานีในระดับหนึ่ง สิ่งนี้นำไปสู่การที่มีคนจำนวนหนึ่งคิดว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน คนมลายูปาตานียังไม่พร้อมจะดูแลตัวเองจึงถอยมาเพื่อสร้างคนให้พร้อมสำหรับคนรุ่นถัดไป

กลุ่มที่สอง อาทิตย์อธิบายว่ายังมีคนที่อยู่ในโครงสร้างของบีอาร์เอ็นในระดับหมู่บ้านที่ยังคงเชื่อว่าเอกราชคือคุณค่าศักดิ์สิทธิ์และกระบวนการพูดคุยไม่ใช่เส้นทางที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ได้ เพราะบทเรียนที่ได้อันเป็นผลมาจากการกระทำของฝ่ายปฏิบัติการของรัฐในพื้นที่นั้นสวนทางกับสิ่งที่บอกเล่าในระดับนโยบาย ตัวอย่างปรากฎให้เห็นไม่ว่าจะเป็นกรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็งซึ่งถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต กรณีกราดยิงในมัสยิดอัลฟูรกอนที่ไอร์ปาแย หรือวิธีการหาข่าวของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ซึ่งทำให้คนสองฝ่ายไม่มีความไว้วางใจกันอย่างสิ้นเชิงในระดับชุมชน แม้แต่กรณีการสูญหายของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้คนในชุมชนก็เห็นว่า นั่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่ชนชั้นนำของพวกเขาถูกกระทำ ทำให้เห็นชัดว่าขนาดระดับชนชั้นนำยังพบสภาพเช่นนั้น คนธรรมดายิ่งไม่ต้องพูดถึง

อาทิตย์เห็นว่า ผู้คนกลุ่มนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านที่เฝ้ามองดูปรากฎการณ์ กองเชียร์และปีกที่ถืออาวุธซึ่งทั้งหมดอาศัยอยู่ในชุมชน ก็คือกลุ่มคนที่จะตั้งคำถามอย่างเงียบๆกับการกระโดดเข้าร่วมเวทีพูดคุยของบีอาร์เอ็น

กลุ่มที่สามที่อาทิตย์เชื่อว่าจะเป็นผู้ตั้งคำถามในเชิงอุดมการณ์ก็คือปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพราะชุดความคิดหรืออุดมการณ์ของบีอาร์เอ็นถูกสร้างมาจากแนวคิดการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน และเมื่อบีอาร์เอ็นขึ้นเวทีพูดคุยโดยไม่มีคำว่าเอกราชให้ได้ยิน จึงถือได้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นประนีประนอมกับรัฐไทย อาทิตย์มองว่าสิ่งนี้ทำให้หลายคนผิดหวังและอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดการแยกตัวของกลุ่มเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่ม MILF หรือเอ็มไอแอลเอฟในมินดาเนาฟิลิปปินส์ มาแล้ว ในกลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟ มีผู้แยกตัวออกมาเป็นกลุ่ม เอ็มไอแอลเอฟ เพราะการที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุย

อาทิตย์มองว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่น่าจะในกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง “ผู้คนกลุ่มแรกที่ปรับตัวเพราะเห็นว่ารัฐได้ถอยในบางเรื่องแล้ว ตัวเองก็ถอยบ้าง และปรับตัวเพื่อจะมีชีวิตอยู่ เขาอาจจะคิดถูกกว่าใครก็ได้ เพราะเขาคือคนกระโดดเข้าสู่กติกาใหม่ได้ก่อน”

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ยอมรับว่าเรื่องของเอกราชเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในยุคสมัยปัจจุบัน

“เป็นไปได้ยากอย่างมากในการที่จะทำให้เกิดฉันทามติในเวทีระหว่างประเทศ การเกิดรัฐใหม่เป็นอาการของโรคที่บอกว่าระบบรัฐสมัยใหม่มันไม่ทำงาน ดังนั้นต้องเป็นเคสที่พีคมากจริงๆมีผลประโยชน์ในการที่จะแลกเปลี่ยนจึงจะทำให้ตัวแสดงที่เป็นรัฐก็ดี ไอเอ็นจีโอ หรือองค์การระหว่างประเทศพร้อมจะไปยืนอยู่ข้างของกลุ่มที่เรียกร้องเอกราช ไม่ใช่ไม่มีความหวังเลยแต่มันต้องใช้พลังค่อนข้างมาก” คำว่าเคสที่พีคมาก ที่เขาพูดถึง ย่อมหมายถึงกรณีที่พิเศษและมีพลังส่งมากจริงๆ เขาตั้งคำถามว่าในกรณีนี้บีอาร์เอ็นมีเครือข่ายระหว่างประเทศบีอาร์เอ็นที่เข้มแข็งพอหรือไม่

เขาชี้ว่าสิ่งที่น่าคิดคือเนื้อหาที่เป็นความปรารถนาทางการเมืองของคนมลายูปาตานีอาจจะ “หดลง” เรื่อยๆ แม้แต่สิ่งที่ถือว่าเป็น “ออโตโนมี” เพราะไม่มีอำนาจต่อรองในชุมชนระหว่างประเทศเป็นของตัวเอง ดังนั้นเขาเชื่อว่า หากคนในพื้นที่จะพอได้อะไรจากกระบวนการพูดคุยบ้าง เขามองว่าคือการนำเสนอความต้องการของคนในระดับพื้นที่ออกมาชนิดที่อาทิตย์เรียกว่า “ให้ชาวบ้านคุยกันเอง” และเตรียมคนสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งเพื่อทำให้ผู้คนมีพลังหนักแน่นพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองในอนาคต

หันกลับไปดูในแง่ของกระบวนการพูดคุยเวลานี้ สิ่งหนึ่งที่หลายคนถือว่าน่าสนใจสำหรับกระบวนการพูดคุยรอบล่าสุดคือการที่มีผู้สังเกตุการณ์เข้าร่วมเวที แต่อาทิตย์บอกว่า “ผู้สังเกตการณ์” กับ “คนกลาง” มีความหมายไม่เท่ากัน เขาชี้ว่า “คนกลาง” คือคนที่ไม่มีส่วนได้เสียใดๆกับผลลัพธ์ของการพูดคุย ในขณะที่เวลานี้กระบวนการพูดคุยมีมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกซึ่งอาทิตย์มองว่ามาเลเซียมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากกับกระบวนการพูดคุยรอบนี้ และผู้สังเกตการณ์ที่เข้าร่วมเวทีก็ไม่ได้อยู่ในสถานะคนกลางซึ่งมีบทบาทในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

#พูดคุยสันติภาพ #พูดคุยสันติสุข
#กระบวนการสันติภาพ

(Visited 168 times, 1 visits today)
Close