Written by 12:44 am Architecture

มัสยิดกือดัยมูลงกลันตัน จากตำหนักท้องพระโรงสู่มัสยิด

การสร้างมัสยิดในวัฒนธรรมมลายูโดยรวมแล้วเป็นการสร้างโดยความร่วมมือของคนในชุมชนทั้งในการระดมเงินทุนและการร่วมลงแรงในการก่อสร้าง กรณีของ “มัสยิดกือดามูลง”รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นกรณีที่ต่างออกไปจนเรียกได้ว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะเกิดจากการที่ชาวบ้านในชุมชนกือดามูลงที่ต้องการมีมัสยิดในชุมชนสักหลังหนึ่งได้ขอบริจาคอาคารไม้เก่าแก่หลังนี้จากเชื้อสายเจ้าเมืองกลันตันมาเป็นอาคารมัสยิดโดยที่ชาวบ้านที่เป็นแกนนำในชุมชนได้บริจาคที่ดินอุทิศให้เป็นทรัพย์สินของมัสยิดหลังนี้

Masjid kedai Mulong Kelantan

อาคารไม้หลังนี้เดิมเป็น Balairung(บาไลรง) หรือตำหนักท้องพระโรงของ Tengku Zainal Abidin หรือเป็นที่รู้จักในนาม Raja Dewa ผู้ซึ่งเป็นอนุชาของ Sultan Muhammad IV เจ้าเมืองกลันตันที่ปกครองกลันตันในช่วงปี ค.ศ.1900-1920 และดำรงตำแหน่งราญามุดา(อุปราช)ในสมัยการปกครองของ Sultan Muhammad IV ด้วย Sultan Muhammad IV เป็นสุลต่านที่ปกครองเมืองกลันตันในช่วงที่มีการทำสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ทำให้สยามต้องยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและเปอร์ลิสรวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ

อาคารไม้หลังนี้เดิมตั้งอยู่บริเวณพระราชวังเก่าของเมืองโกตาบารู(กลันตัน) ไม่ห่างจาก Istana Jahar ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกลันตันในปัจจุบันมากนัก ในขณะที่ทำการเคลื่อนย้ายตำหนักหลังนี้มาเป็นมัสยิดที่กือดามูลงนั้น ตัวตำหนักอยู่ในสภาพที่ผนังและพื้นเสียหายไม่สมบูรณ์แล้ว และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านมรดกแห่งชาติภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย Jabatan Warisan Negara, Kementerian Pelancongan, Seni dan Budaya Malaysia เข้ามาบูรณะและจดทะเบียนอนุรักษ์ในปี ค.ศ.2009

อาคารหลังนี้มีลักษณะเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่วซ้อนกันสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ผนังเป็นผนังไม้แบบฝาปะกนตามแบบสกุลช่างกลันตันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะคือการทำลูกฟักแนวนอนแทรกในลูกฟักแนวตั้งเป็นระยะ มีช่องลมฉลุลายโดยรอบอาคาร ภายในอาคารส่วนที่เป็นผนังเดิมยังปรากฏร่องรอยการลงสีเขียนลวดลายประดับที่หลงเหลือจากตำหนักท้องพระโรงเก่าอยู่บ้าง แต่ก็เลือนลางไปมาก ผนังสกัดด้านตะวันตกที่ปกติในมัสยิดทั่วไปจะสร้างเป็นมุขมิฮ์รอบ(Mihrab)สำหรับอีหม่ามนำละหมาดนั้นไม่ปรากฏในมัสยิดหลังนี้เนื่องด้วยการสร้างอาคารหลังนี้ในครั้งแรกนั้นถูกสร้างเพื่อเป็นท้องพระโรงนั่นเอง ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าอาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อใด มีข้อมูลแต่เพียงว่าเคยเป็นตำหนักท้องพระโรงของราญาเดวาราญามุดาเมืองกลันตันซึ่งตรงกับช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 ของสยามเท่านั้น

อาคารหลังนี้มีคุณค่าในการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายูกลันตัน-ปตานี โดยเฉพาะตำหนักท้องพระโรง ซึ่งมีตัวอย่างให้ศึกษาไม่มากนัก ปัจจุบันถูกบูรณะและใช้งานเป็นมัสยิดชื่อ มัสยิดอัรเราะห์มาน กือดามูลง เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

(Visited 344 times, 1 visits today)
Close