Written by 5:55 pm World

สหราชอาณาจักรกับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไป

ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในวงการการเมืองระหว่างประเทศในช่วงปลายปี 2019 ก็คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร มันเป็นการเลือกตั้งที่ตัดสินประเด็นการเมืองทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะสิ่งที่ลังเลกันมานานในเรื่องจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า BREXIT อันเป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าจะพลิกบทบาทของอังกฤษในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง 

และการเลือกตั้งหนที่เพิ่งจะผ่านไปนี้ ยังส่งผลสะเทือนถึงความเป็นสหราชอาณาจักรที่ประกอบไปด้วยอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์เหนืออีกด้วย  

สมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือThaiPBS และอดีตหัวหน้าแผนกวิทยุ BBC ภาคภาษาไทย เป็นบุคคลในวงการสื่อสารที่ติดตามเรื่องนี้มายาวนานจากการที่พำนักอยู่ในอังกฤษ Patani NOTES มีโอกาสได้สนทนากับสมชัยเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องยากเช่นการเมืองเรื่องของ BREXIT

เมื่อเข้าสู่บทสนทนาสมชัยไม่ปฏิเสธว่า BREXIT จะทำให้เกิดความโกลาหลในระยะแรก แต่การจะประเมินว่ามีผลดีหรือผลเสียอย่างไรต่อเศรษฐกิจคงใช้เวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

“อังกฤษอยู่ในอียูมามากกว่าสี่สิบปี ระเบียบกฎเกณฑ์ ความรู้สึก วิถีชีวิตมันผูกพันกันมาสี่สิบปี ยังนึกภาพไม่ออกว่าถ้าออกจากอียูแล้ว จะเกิดปัญหาอะไร มากขนาดไหน แต่หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป คนอังกฤษจะต้องปรับตัวใหม่ คนในยุโรปต้องปรับตัวใหม่เหมือนกัน ความสัมพันธ์ การค้าขาย มาตรการภาษี เรื่องพรมแดน แม้กระทั่งเรื่องจับปลาในทะเลซึ่งก็ยังทะเลาะกันอยู่ว่าตรงไหนคือเส้นเขตแดน เมื่อก่อนมันเป็นอาณาเขตร่วม แต่หลังจากแยกตัวคงต้องมีการแบ่งพื้นที่ อันนี้ก็จะมีอะไรหลายอย่างที่มาทำให้ไม่ค่อยสะดวก ไม่ค่อยสบายเกิดขึ้น”

“ในท้ายที่สุดตามที่มีการประเมินกันโดยนักเศรษฐศาสตร์ ที่คิดว่าถ้าออกจากอียูแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษจะช้าลง ซึ่งเราไม่รู้จนกว่าจะเกิดขึ้นจริง ฝ่ายที่ต้องการออกจากอียูบอกไม่จริง เพราะถ้าออกจากอียูแล้วยิ่งเติบโตมากขึ้น เพราะสามารถจะขายกับประเทศอื่นนอกกรอบ 27 ประเทศอียู เราก็ไม่รู้จริงจนกว่าจะถึงวันนั้น” 

มาถึงวันนี้ ผลของการเลือกตั้งทำให้เห็นชัดว่า อังกฤษจะออกจากอียูแน่นอน เพราะชัยชนะอันท่วมท้นของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ปักธงชัดเจนว่าต้องนำประเทศออกจากอียูให้ได้ แต่เขาเชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษจะทำข้อตกลงที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง แต่เดิมพันหนนี้นั้นถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองสูงเช่นในอดีต ที่ผ่านมาอำนาจการเมืองของอังกฤษฝากไว้กับการจับมือกับอียู เขาเชื่อว่าการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศของอังกฤษจะต้องเปลี่ยนไป

“เวลามีผลกระทบกระเทือนอะไรขึ้นมา เช่นปัญหาสายลับรัสเซียมาฆ่าคนตายที่อังกฤษ 27 ประเทศก็จะเข้าข้างอังกฤษ เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่เมื่ออังกฤษออกมาแล้ว อำนาจการต่อรองก็จะน้อยลง อังกฤษจะหวังอย่างเดียวว่าจะให้อเมริกาช่วย ซึ่งอเมริกาจะช่วยมากน้อยแค่ไหนเราก็ไม่รู้จนกระทั่งถึงเวลานั้น ถ้าเกิดอเมริกาเห็นผลประโยชน์ของเขาที่จะช่วยอังกฤษเขาก็ช่วย แต่ถ้าช่วยอังกฤษแล้วเขาไม่ได้อะไรดีขึ้นอเมริกาอาจจะไม่ช่วย มันจะอ้างเรื่องความสัมพันธ์ที่มีแต่เก่าก่อนที่เคยร่วมรบกันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองในยุคปัจจุบันนี้ได้หรือไม่”

ในอีกฟากหนึ่งของโลก เรามีประชาคมอาเซียนอันเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่แม้จะลุ่มๆดอนๆแต่ยังมีความพยายามจับมือกันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับหลายคนที่พยายามจะรวมตัวกันมากขึ้น สมชัยอธิบายให้เห็นถึงวิธีคิดของคนอังกฤษที่ผลักพวกเขามาถึงจุดนี้ โดยเฉพาะในสองประเด็นคือการที่คนอังกฤษรู้สึกถูกแย่งงาน และการโหมกระพือข่าวของสื่อ

“การอยู่ในอียู มันมีข้อตกลงร่วมกันว่า 27 ประเทศมาเป็นประชาคมเดียวกัน ข้อตกลงคือ การเคลื่อนย้ายของคนกับการเคลื่อนย้ายของแรงงาน อาจมีข้อจำกัดบ้างเพราะเรื่องความมั่นคง เรื่องความปลอดภัย แต่ว่าการเคลื่อนย้ายของแรงงานใน 27 ประเทศต้องดำเนินไปได้อย่างเสรี มันทำให้มีคนต่างชาติหน้าตาแปลก ๆ เข้ามาทำมาหากินในอังกฤษมากขึ้น คนอังกฤษเกิดความรู้สึกว่ามีคนแปลกหน้ามาแย่งงาน เช่นคนซ่อมถนน คนซ่อมท่อประปา คนอังกฤษที่เป็นช่างฝีมือรู้สึกถูกแย่งงานไป เมื่อก่อนคนที่เป็นช่างเหล่านี้เคยสามารถจะหารายได้ดีเพราะว่าการแข่งขันมันน้อย แต่พอมีคนเข้ามาเยอะ ๆมาแย่งงานเขาและลดราคาลงมาด้วย อันนี้อันหนึ่ง”

“อันที่สองมีพวกสื่อเลือกข้างที่กระพือข่าวตลอดเวลาว่าคนเหล่านี้มาแย่งงานคนอังกฤษบ้าง มาก่ออาชญากรรม ค้ายาเสพติด มาแย่งที่อยู่อาศัย แล้วพวกนี้ป่วยไข้ก็ไปใช้บริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลฟรีๆ เท่าเทียมกับคนอังกฤษ ก็ทำให้คนอังกฤษที่เป็นแบบชาตินิยมหน่อย หรือขวาจัด หรือหันไปทางขวาหน่อยรู้สึกว่าถูกรุกรานจากคนต่างชาติ พอมีคนจุดประกายขึ้นมาว่าจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ด้วยการขอถอนตัวจากอียู ทำให้เวลาลงมติก็ชนะไป โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าถ้ามีคนต่างชาติเข้ามาแย่งงานคนอังกฤษ ขณะเดียวกันคนอังกฤษที่เข้าไปแย่งงานประเทศอื่นก็มี”

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การแยกตัวในครั้งนี้ สมชัยอธิบายให้เราฟังว่า มันคือการเดินเกมของพรรคคอนเซอร์เวทีฟหรือพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองเสียงข้างมากในสภาอังกฤษตั้งแต่ปี 2010 นั่นเอง 

สมชัยบอกว่าในช่วงที่เดวิค คาเมรอนของพรรคคอนเซอร์เวทีฟเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคการเมือง UKIP ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ได้จุดประเด็นต่อต้านแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้มีสิทธิออกเสียงที่เป็นฐานคะแนนเดิมของพรรคอนุรักษ์นิยม ขณะเดียวกันกระแสการขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรของสกอตแลนด์ก็ดีดตัวสูงขึ้นมา เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม คาเมรอนจึงยอมให้สกอตแลนด์จัดลงประชามติเรื่องจะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ในปี 2014 แล้วปรากฏว่าฝ่ายที่สนับสนุนให้สกอตแลนด์ยังอยู่ในสหราชอาณาจักรเป็นฝ่ายชนะ สำหรับเขาถือว่าเป็นการเดิมเกมที่ได้ผล

แทคติกคล้ายกันถูกนำมาใช้ในแคมเปญหาเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมในปี 2015 โดยสัญญาว่าหากพรรคอนุรักษ์นิยมชนะจะจัดให้มีการลงประชามติว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ นัยเพื่อดับกระแสการต่อต้านคนต่างชาติที่กำลังแรงขึ้นมา รวมทั้งรักษาฐานคะแนนของพรรคอนุรักษ์นิยม ที่สำคัญ คาเมรอนยังต้องการจะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเองที่ทำให้สถานะของเขาง่อนแง่นเนื่องจากความพยายามจะเลื่อยขาเก้าอี้ของลูกพรรคกลุ่มอื่นจากประเด็นเดียวกันนี้ เขาดึงกลยุทธการลงประชามติมาใช้ด้วยความคาดหวังว่าจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นที่รู้กันว่า คาเมรอนเชื่อว่าผลการลงประชามติจะออกมาให้ยูเคอยู่กับอียูต่อไป

ปรากฏว่าผิดถนัด การลงประชามติ ในปี 2016 ทำให้ได้ผลว่าผู้คนต้องการออกจากอียู พวกเขาต้องการ BREXIT เดิมพันหนนั้นทำให้คาเมรอนหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ผู้คนทะเลาะกันไม่เลิกราเพราะยังคาใจกับผลการลงประชามติที่เสียงของเขาชนะกันแบบไม่สะเด็ดน้ำ 

จุดยืนของบรรดานักการเมืองอาวุโสในพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเรื่องนี้ส่อเค้าว่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ตัวคาเมรอนกับเทเรซา เมย์ ที่ต่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา สมชัย สุวรรณบรรณชี้ว่า “ในหนังสือของเดวิด คาเมรอน เขาประเมินว่าแม้แต่บอริส จอห์นสัน (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) ก็ไม่ได้อยากออก เพียงแต่ว่าเขาหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการจะล้มเดวิด คาเมรอน แล้วมาเป็นนายกฯ ก็เลยตีความกันว่ามันเป็นเรื่องภายในของกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ในพรรคอนุรักษ์นิยมที่ฟาดฟันกันเอง”

จะฟาดฟันกันอย่างไรก็ตาม ในวันนี้นักการเมืองในพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดยบอริส จอห์นสันก็ได้ภาพว่ารับธงมาจากกลุ่มขวาจัดที่ต้องการแยกออกจากอียูโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบ มาวันนี้นักวิเคราะห์มองว่าฐานเสียงของพรรคเปลี่ยนไป พรรคคอนเซอร์เวทีฟวันนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้คนแนวคิดอนุรักษ์นิยมสายกลางเท่านั้น 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศอังกฤษที่กำลังเป็นที่จับตา ก็คือผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นต่อความเป็นประเทศของสหราชอาณาจักรหรือยูเค กระแสเรียกร้องต้องการการลงประชามติเพื่อจะแยกตัวจากยูเคเกิดขึ้นอีกครั้งหลังผลการเลือกตั้งทั่วไปออกมา หนนี้พรรคที่ชนะที่นั่งข้างมากในสกอตแลนด์คือพรรค Scottish National Party (SNP) หาเสียงชัดเจนว่า หากยูเคจะแยกตัวจากอียู สกอตแลนด์จะต้องได้ลงประชามติว่ายังต้องการจะอยู่กับยูเคหรือไม่ 

“ในการลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรปเมื่อสามปีที่แล้ว คนในสกอตแลนด์มากกว่า 65% โหวตที่จะอยู่กับอียู แต่พอมีการรวมคะแนนเสียงทั่วประเทศ ทุกแคว้นในสหราชอาณาจักร ปรากฎว่ามี 52% จะออก หมายความเสียงส่วนใหญ่จะออก เพราะฉะนั้นการหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้เขาหาเสียงชัดเจน หากว่าเขาได้คะแนนเสียงข้างมากในพื้นที่สกอตแลนด์ เขาจะยื่นขอทำประชามติที่จะออกจากสหราชอาญาจักร”

พรรคเอ็สเอ็นพีได้ชัยชนะในสกอตแลนด์อย่างท่วมท้น คือ 48 จาก 59 ที่นั่งของจำนวนที่นั่งสส.ของสกอตแลนด์ “ถือว่าชนะอย่างถล่มทลาย เมื่อเขาชนะ จากการหาเสียงแบบนี้ ก็หมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ที่เลือกเขาเห็นชอบด้วย ก็นี่เป็นหลักประชาธิปไตย เป็นหลักการความชอบธรรมของเขา ที่เขาจะขอยื่นกฎหมายทำประชามติอีกครั้ง” แต่การจะทำประชามติอีกครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คือต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาของสหราชอาณาจักรที่พรรคอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้ 

ขณะเดียวกันความรู้สึกคล้ายๆกับสกอตแลนด์กำลังก่อตัวขึ้นในไอร์แลนด์เหนือที่เป็นอีกหนึ่งรัฐในสหราชอาณาจักร สมชัยเล่าว่า BREXIT เป็นการสะกิดแผลเก่าในอดีตของคนไอริชที่มีต่อคนอังกฤษ แต่กระแสจะยังไม่สูงเท่ากับสกอตแลนด์ที่เคยผ่านการทำประชามติขอแยกตัวมาแล้ว

“กระแสมันก็เริ่มมีการจุดประกายขึ้นมาแล้ว เพราะว่าถอยหลังไปดั้งเดิม แผ่นดินเป็นของไอร์แลนด์ ไม่ใช่ของอังกฤษ อังกฤษอพยพคนไปอยู่ทางภาคเหนือของไอร์แลนด์ แล้วยึดเป็นพื้นที่ตัวเอง คืออพยพคนอังกฤษไปอยู่ในนั้น เพราะเมื่อก่อนทั้งไอร์แลนด์ ทั้งเกาะมันเป็นเมืองขึ้น อังกฤษอพยพคนไปตั้งถิ่นฐานแล้วบอกว่านี่เป็นของอังกฤษ แต่พอมีการทำข้อตกลงยกเลิกอาณานิคมไอร์แลนด์ อังกฤษเลยบอกว่าเฉพาะจังหวัดนี้ (ไอร์แลนด์เหนือ)จะต้องเป็นของอังกฤษ ส่วนที่เหลือให้เอกราชเป็นสาธารณรัฐไอร์แลนด์ไป” ซึ่งสมชัยระบุว่า มันทำให้เกิดกระบวนการต่อสู้เพื่อจะรวมไอร์แลนด์เข้าไว้ด้วยกัน ในขณะที่คนอีกกลุ่มไม่ต้องการกลับไปอยู่กับไอร์แลนด์ แต่ต้องการอยู่กับอังกฤษ ความต้องการอยู่กับใครของชาวไอร์แลนด์เหนือยังเป็นเรื่องของศาสนาอีกด้วย การต่อสู้ของคนที่ต้องการอยู่กับต้องการแยกเป็นที่รู้กันเพราะข่าวการใช้ความรุนแรงโดยขบวนการไอ์อาร์เอ Irish Republican Army 

“การต่อสู้เรียกร้องนี้ ต่อสู้กันมาหลายสิบปี แล้วก็มีการคุยกันจนทำสัญญาสงบศึกกันได้” กลุ่มที่ต่อสู้กันต่างยอมวางอาวุธ ไอร์แลนด์เหนือได้อำนาจปกครองตนเองระดับหนึ่ง และกลุ่มที่ต่อสู้กันกลายเป็นกลุ่มที่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองนี้ร่วมกัน ไอร์แลนด์เหนือมีสภาของตัวเอง มีการบริหารเหมือนกับสกอตแลนด์ เป็นไปตามข้อตกลง Good Friday Agreement สิ่งหนึ่งที่ได้จากการทำข้อตกลงนี้คือการกำหนดพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์เสมือนว่าไม่มีพรมแดน ทั้งนี้เพื่อลบความรู้สึกอยู่กันคนละประเทศ อันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เนื่องจากทุกฝ่ายล้วนเป็นสมาชิกอียูทั้งสิ้น มาตรการด้านภาษีและคนเข้าเมืองของพวกเขาจึงเป็นหนึ่งเดียวกันหมด “เป็นเหมือนกับพรมแดนที่ไม่มีพรมแดน และคนสองฝั่งนี้ไปมาหาสู่กัน ทำมาหากินค้าขายกัน แล้วก็เนื่องจากเป็นสมาชิกอียูด้วยกัน ก็ไม่ต้องเก็บภาษีกัน แล้วก็ไม่ต้องมาตรวจพาสปอร์ตกัน” 

เมื่อมาถึงจุดที่อังกฤษกำลังจะถอนตัวออกจากอียู สมชัยบอกว่าประเด็นที่เคยเป็นแผลเก่านี้มีแนวโน้มจะกลับมาใหม่ เพราะเมื่อยูเคไม่ได้เป็นสมาชิกอียูแล้ว การติดต่อค้าขายและเส้นพรมแดนกับประเทศที่ยังเป็นสมาชิกของอียูก็จะต้องเปลี่ยนไป จะต้องมีการตั้งด่านพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จะกลายเป็นการปะทุความรู้สึกของการถูกแบ่งแยกขึ้นมาใหม่ ปัญหาไอร์แลนด์เหนือจึงเป็นอีกเรื่องที่กำลังตามมาติดๆ จนกลายเป็นเรื่องที่มีคนพูดแบบตลกร้ายว่า ในอนาคต สหราชอาณาจักรอาจไม่มีอนาคตอีกต่อไป

(Visited 18 times, 1 visits today)
Close