Written by 5:34 pm World

คุยกับคนข่าว “บีบีซีไทย” ในกรุงลอนดอน: อิสสริยา พรายทองแย้ม

“มีหลายเรื่องที่อยากทำ แต่พอคิดแล้ว ถ้าทำไปแล้วจะเกิดปัญหาสำหรับทีมในเมืองไทย เราก็ต้องถอยกลับมา”

ชื่อของบีบีซีไทยเป็นเสมือนแบรนด์เนมที่อยู่มาเนิ่นนานเพราะบริการภาควิทยุในอดีตกว่า 60 ปีก่อนจะปิดตัวเองไป แต่ท่ามกลางกระแสการเมืองไทยและโลกที่ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง บีบีซีไทยได้ย้อนกลับมาให้บริการคนเสพข่าวอีกครั้งเมื่อปี 2557 ในรูปของสื่อออนไลน์ โดยเริ่มต้นที่เฟซบุ๊ก ถือเป็นแผนกภาษาต่างประเทศรายแรกของบีบีซีที่นำเสนอเฉพาะบนแพลทฟอร์มเฟซบุ๊ก ความสำเร็จของบีบีซีไทยบนเฟซบุ๊กทำให้วันนี้เราได้เห็นเวบไซท์ข่าวบีบีซีไทยและแพล็ตฟอร์มอื่นๆบนโซเชี่ยลมีเดีย รวมทั้งทีมงานชุดใหม่ที่ผลิตข่าวในเนื้อหาที่บางครั้งแหลมคมจนแทบจะบาดทั้งคนทำและคนแชร์ เนื้อหาบางอย่างทำให้หลายคนเชื่อว่าบีบีซีไทยยังคงอยู่ได้เพราะมี “แบ็คดี”

จริงหรือ

Patani Notes ได้มีโอกาสพูดคุยกับอิสสริยา พรายทองแย้ม บรรณาธิการฝ่ายวางแผนข่าวของบีบีซีไทย ที่สำนักงานใหญ่ของบีบีซีภาคบริการโลกหรือ BBC World Service ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ อิสสริยาอยู่กับบีบีซีไทยในรูปโฉมใหม่มาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับที่เธออยู่กับบีบีซีไทยในแพลทฟอร์มวิทยุจนวันสุดท้าย และมาวันนี้บีบีซีไทยในเฟซบุ๊กมีคนกดติดตามมากกว่า 2.5 ล้านคนนับจากวันเปิดตัว

อิสสริยาบอกกับเราว่า เหตุผลสำคัญที่บีบีซีไทยได้รับความนิยมคือการที่คนไทยนิยมใช้เฟซบุ๊กมาก ด้วยความเป็นแบรนด์บีบีซี และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างเป็นอิสระ สถานะอันนี้มีผลต่อความน่าเชื่อถือของข่าวบีบีซีไทย แต่ชื่ออย่างเดียวยังไม่พอ ข้อมูลที่นำมาเสนอนั้นเธอบอกว่าผ่านการกลั่นกรองเสมอ อิสสริยาชี้ว่า การนำเสนออย่างรอบด้านคือหลักการสำคัญของบีบีซีไทยและบีบีซีมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้ทำให้บีบีซีไทยขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สำคัญ เพราะคนเสพข่าวต้องการข้อเท็จจริงในท่ามกลางกระแสข่าวหลากหลายรวมไปถึง “เฟคนิวส์” ในท่ามกลางปรากฎการณ์งานข่าวมากรูปแบบในปัจจุบัน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับทีมงานที่เป็นหลักการที่ใช้ได้ไม่ว่าในยุคใด ก็คือหลักการยึดความเป็นกลาง

“หนึ่งในไกด์ไลน์ของเราคือต้องมีความเป็นกลาง การเขียนข่าวมันต้องบาลานซ์ สมมุติเราทำเรื่องหนึ่งแล้วต้องการความเห็นฝ่ายรัฐ เราก็ต้องติดต่อ ติดต่อไม่ได้เราก็บอกว่าติดต่อไม่ได้ และในเรื่องที่สำคัญมากๆ เราต้องให้เวลากับเขา”

อิสสริยายอมรับว่า ความเป็นบีบีซีทำให้มีเกราะคุ้มครอง สิ่งนี้ทำให้คนทำงานสามารถคิดเรื่องงานได้อย่างอิสระ และในหลายๆเรื่องคิดในกรอบที่ใหญ่ได้ นับเป็นข้อได้เปรียบในภาวะปัจจุบันที่การนำเสนอข้อมูลถูกตีกรอบจากหลายอย่างทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็นนัก

การสังกัดสำนักข่าวระหว่างประเทศ มีฐานทำงานในลอนดอนน่าจะทำให้มีความห่างไกลทั้งทางกายภาพและด้านกฎหมาย นั่นคงเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอิสระที่ว่านี้ สถานภาพของบีบีซีไทยมิได้เป็นสื่อในประเทศ นับเป็นความแตกต่างอย่างสำคัญที่ทำให้คนทำงานสามารถหยิบยกเรื่องมานำเสนอได้มากกว่า เรียกได้ว่ามีข้อจำกัดน้อยกว่าสื่อไทยทั่วไป อย่างไรก็ตามอิสระอันนี้อาจเป็นเพียงสิ่งลวงตา เพราะถึงที่สุดแล้วบีบีซีไทยยังมีทีมทำงานในประเทศไทย และการนำเสนอก็ยังต้องคำนึงถึงกฎหมายและบริบทไทยเช่นเดียวกัน ทำให้ในการหยิบประเด็นใหญ่หรือร้อนมาเล่น ทีมงานยังต้องคิดถึงสวัสดิภาพของทีมในเมืองไทยด้วย อิสสริยายอมรับว่าที่ผ่านมามีอีกหลายเรื่องที่อยากทำ “แต่พอคิดแล้ว ถ้าทำไปแล้วจะเกิดปัญหาสำหรับทีมในเมืองไทย เราก็ต้องถอยกลับมา” เป็นคำตอบที่บอกเล่าอย่างมากว่า บีบีซีไทยก็มีกรอบบางอย่างเช่นกัน

แน่นอนว่าไม่ว่าพยายามเพียงใดก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในรอบปีที่ผ่านมาการเมืองไทยอยู่ในช่วงเข้มข้นเพราะมีการเลือกตั้งและมีการฟอร์มรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบห้าปี ในบรรดาหลายข่าวที่บีบีซีไทยนำเสนอคือการสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งการติดตามนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่ากับช่วงชีวิตในออสเตรเลีย บีบีซีไทยได้ทั้งดอกไม้และก้อนหินไปพร้อมๆกัน ด้านหนึ่งมีผู้ตำหนิว่าทีมงานเลือกนำเสนอข่าวที่เป็นคุณกับฝ่ายค้านและเป็นผลลบกับรัฐบาล แต่อีกด้านก็ว่ากันว่าทีมงานกล้านำเสนอในสิ่งที่สื่อไทยไม่กล้า

“ทั้งสามเรื่องสื่อไทยสามารถทำได้ทั้งหมด มันไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง กรณีคุณทักษิณ จำได้ว่าวันที่ไปสัมภาษณ์ไม่ได้มีแค่บีบีซีไทยรายเดียว มีสื่อต่างชาติอื่นๆไปด้วย” อิสสริยาบอกว่าไม่แน่ใจว่ามีสื่อไทยพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ทักษิณบ้างไหมแต่เธอเห็นว่าในเวลาเช่นนั้น ประเด็นการได้มาของแคนดิเดทพรรคไทยรักษาชาติเป็นเรื่องของวิถีข่าวล้วนๆ เชื่อว่าคนเสพสื่อและทำสื่อต่างมองเห็นทั้งสิ้น ส่วนในกรณีของร้อยเอกธรรมนัสนั้น อิสสริยาแย้งว่าบีบีซีไทยไม่ได้จ้องจะเล่นงานรัฐบาล แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมกำลังถกเถียงกัน ถือว่าอยู่ในความสนใจของผู้เสพข่าว สิ่งที่บีบีซีไทยทำคือพาไปดูสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเธอน่าจะหมายความถึงการเกาะติดและตามข่าวแบบ “ไปให้สุด”

อย่างไรก็ตามอิสสริยายอมรับว่าในหลายเรื่องก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับสื่อไทยที่อาจทำได้ยาก เพราะการมีข้อกฎหมายกำหนด

กับเรื่องสถานการณ์ในภาคใต้ บีบีซีไทยถือได้ว่าเป็นสื่อไม่กี่รายที่สามารถสัมภาษณ์สมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ อิสสริยาเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะชื่อเสียงขององค์กรที่เปิดช่องทางให้กับทีมงาน และอาจรวมถึงความเป็นบีบีซีที่ทำให้สื่ออื่นนำไปขยายต่อได้ แต่แม้ว่าจะทำสื่อระดับโลกแต่บีบีซีไทยก็มีพลาดได้เหมือนกัน เพราะในกรณีของการสัมภาษณ์บีอาร์เอ็น อิสสริยาบอกว่าน่าเสียดายอย่างยิ่งเนื่องจากทีมงานได้ภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอด้วย แต่มีเหตุขัดข้องทางเทคนิคทำให้ไม่สามารถนำเสนอได้

ในช่วงที่เรากำลังสัมภาษณ์อยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่สังคมอังกฤษผ่านการถกเถียงกันอย่างหนักโดยเฉพาะในเรื่องที่สหราชอาณาจักรกำลังจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า BREXIT ก่อนที่การเลือกตั้งหนหลังสุดจะมอบฉันทานุมัตให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งประกาศเดินหน้าเต็มสูบเรื่องนี้ อังกฤษดูเหมือนอยู่ในสภาพโกลาหลในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เป็นสภาพที่อิสสริยาสะท้อนว่าส่งผลต่อสังคมไม่น้อย แต่ดีที่ผู้คนยังมีสปิริตบางประการ

“คนที่นี่ทะเลาะกันเพราะการเมืองก็มี ตัดญาติขาดมิตรกันก็มี เพียงแต่ว่าพอมันออกมาเป็นมติ ตามกระบวนการแนวทางประชาธิปไตยชัดเจนแล้ว ทุกคนเคารพ”

เธอบอกว่า แม้จะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อมีฉันทานุมัติที่เกิดจากประชาชน ทุกคนพร้อมที่จะยอมรับผลที่ออกมาเพราะตั้งอยู่บนกระบวนการที่ทุกฝ่ายสามารถรณรงค์สิ่งที่ตัวเองเชื่อได้อย่างเต็มที่ เปิดกว้าง เมื่อได้ผลออกมาเช่นไร ผู้คนจึงต้องยอมรับ

“สังคมที่นี่มีกฎระเบียบ มันมีเส้นแบ่ง เวลาเขาทำประชามติมันเป็นประชามติที่ทำอย่างแท้จริง มันเปิดกว้าง ดำเนินการอย่างถูกต้อง คุณก็รณรงค์สิ่งที่คุณเชื่อ คุณสามารถบอกคนอื่นว่าฝ่ายคุณจะเอาแบบไหน ของคุณมันดียังไง มันไม่ใช่ประชามติที่ไม่เต็ม”

อิสสริยาย้ำว่า สังคมการเมืองของอังกฤษไม่มีบางกลุ่มหรือบางองค์กรที่มีบทบาทเหนือกว่าหรือว่ากดคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้เป็นสังคมที่ผู้คนแสดงความคิดออกมาแล้วต้องระวังว่าต้องถูกลงโทษ เอาคืน หรือว่าแก้แค้น

ในส่วนประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงว่าอังกฤษกำลังเข้าสู่ภาวะเกลียดกลัวคนต่างชาติเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆในยุโรปหรือไม่นั้น อิสริยาบอกกับเราว่าการอยู่ในกรุงลอนดอนที่เป็นแหล่งรวมของคนทุกเชื้อชาติอาจเหมือนอยู่ในฟองสบู่ เพราะสภาพในเมืองใหญ่แตกต่างจากสังคมรากฐาน หากเดินทางไปในเขตชนบทที่มีแต่คนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ ก็จะมีเค้าลางภาวะดังกล่าวปรากฎให้เห็น และมีแนวโน้มสูงขึ้นมากหลังจากมีเรื่อง BREXIT ออกมา คนต่างชาติ โดยเฉพาะมุสลิมมีโอกาสพบสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรเธอเห็นว่าสถานการณ์ในอังกฤษยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่เกิดขึ้นในอเมริกา

“จากข่าวมีคนมุสลิมไปอยู่บางหมู่บ้านที่มีแต่ผิวขาว ก็ถูกกลั่นแกล้ง บางคนถึงขั้นว่าจะต้องย้ายออกจากหมู่บ้านนั้นไปอยู่เมืองอื่น มันก็มี แต่ว่าจะถึงขั้นว่าแรงเหมือนอเมริกาไหม คิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น”

(Visited 187 times, 1 visits today)
Close