กรรมาธิการการกฎหมายฯนำเสนอผลการศึกษาร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สส.ใต้จากทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านต่างร่วมกันสนับสนุนผลักดันร่าง เผยเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิของไทยให้เสมอมาตรฐานสากลและสร้างเครื่องมือให้จนท.ได้ใช้ทำงาน ชี้เป็นการกำจัดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง “เพชรดาว โต๊ะมีนา” ชี้ การทำงานป้องปรามการทรมานต้องไล่ตามพัฒนาการล่าสุด ชี้การซ้อมทรมานแบบใหม่คือ white torture เป็นการทรมานแบบไร้ร่องรอยแต่มีผลต่อจิตใจ อารมณ์ ระบบโสตประสาท
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องความจำเป็นของการที่ไทยต้องมีกฎหมายเพื่อป้องกันการทรมานและอุ้มหายให้กับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมาธิการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นศึกษา และผลของการศึกษาทำให้ได้ร่างกฎหมายของกรรมาธิการที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมด้วย สาระสำคัญของร่างมีทั้งการวางมาตรการป้องกัน ลงโทษและเยียวยา โดยมีกลไกสำคัญระดับชาติที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและทำให้สูญหายเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สส.พรรคพลังประชารัฐ ประธานอนุกรรมาธิการการยุติธรรมที่ศึกษาเรื่องนี้ให้กับกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภา มีสาระโดยสรุปว่า ได้มีการนำร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการอุ้มหายสามฉบับคือฉบับที่เสนอโดยสส.รังสิมันต์ โรม ฉบับร่างที่นำเสนอโดยภาคประชาชนและร่างของกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมาธิการฯได้นำทั้งสามร่างมาศึกษาและเทียบเคียงตลอดจนปรับปรุงแก้ไขออกมาได้เป็นร่างฉบับของกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในขั้นตอนขณะนี้ กรรมาธิการฯได้เชิญชวนให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลและความเห็นต่อร่างกฎหมาย
หลักการสำคัญของการมีกฎหมายนี้ นายอาดิลันกล่าวว่า คือการช่วยให้ไทยได้มีเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้สูญหาย โดยให้ศาลเป็นกลไกในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของจนท. มีการกำหนดฐานความผิด บทลงโทษ มาตรการปราบปราม เพื่อกำจัดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สาระสำคัญคือใช้กำกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่จนท.รัฐสนับสนุนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ
นายอาดิลันรายงานว่า ร่างพรบ.ฉบับนี้กำหนดให้มีการตั้งกลไกทำงานสำคัญคือให้มีคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย กรรมการชุดนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีกรรมการอื่นอีกร่วมสิบคนที่มาจากการสรรหา โดยที่คณะกรรมการสรรหามีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน พรรคการเมือง สื่อ เข้าร่วมโดยมีประธานรัฐสภาเป็นประธาน กรรมการชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับความเป็นธรรม ติดตามผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไปรับโทษ รวมทั้งมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยาและป้องกันมิให้มีการละเมิดซ้ำ กฎหมายมีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยไปรับรองเอาไว้
ให้มีคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย กรรมการชุดนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีกรรมการอื่นอีกร่วมสิบคนที่มาจากการสรรหา
นายอาดิลันกล่าวถึงรายละเอียดหลายประการของร่างกฎหมาย แนวคิด มาตรการ กลไก เช่นมีข้อกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดการคุ้มครองเยียวยา ในด้านการปราบปราม มีการกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี การสมคบคิด มีแม้แต่การกำหนดความผิดของผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย ในเรื่องของการป้องกันการทรมานและการทำให้สูญหาย กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลจะต้องดำเนินการเพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถูกควบคุมตัว และจะต้องแจ้งสิทธิให้รู้ ให้ได้ติดต่อญาติ พบทนายความได้ ได้รับการตรวจร่างกายก่อนเริ่มต้นสอบปากคำ ต้องมีการบันทึกการสอบปากคำ หลังการควบคุมตัวแล้วจะต้องมีมาตรการติดตาม เช่นจนท.ต้องแจ้งต่อนายอำเภอและอัยการในท้องที่เพื่อควบคุมตรวจสอบซึ่งกันและกัน ให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถร้องขอให้มีการเปิดเผยเรื่องการควบคุมตัวได้ ให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของจนท. ให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้ยุติการกระทำนี้ได้ ฯลฯ ที่สำคัญห้ามไม่ให้มีการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำผิดตามร่างพรบ.นี้ในชั้นศาล เพราะในปัจจุบันในประเทศไทยยังคงมีการรับฟังพยานหลักฐานเช่นนี้อยู่ ที่สำคัญอีกประการคืออายุความของคดีนี้ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะติดตามตัวหรือรู้ชะตากรรมของผู้ถูกกระทำ ให้อำนาจในการสอบสวนอยู่กับพนักงานอัยการไม่ใช่ปสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบหรือปปช. และเมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ยังมีขั้นตอนที่สามารถเรียกค่าเสียหายได้รวมทั้งมีกระบวนการเยียวยาชัดเจน
ด้านสส.พรรคภูมิใจไทย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายของกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในเวลานี้ที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขป้องปรามปัญหาการทรมานและบังคับให้คนสูญหายที่เกิดมานานแล้ว เธอระบุว่า ในฐานะที่มาจากครอบครัวของผู้เสียหาย มีประสบการณ์ตรง กล่าวคือเมื่อ 66 ปีที่แล้ว มีปู่และลุงถูกบังคับให้สูญหาย คือหะยีสุหลง โต๊ะมีนา กับนายอะหมัด โต๊ะมีนา และบุคคลอีกสองคน รวมทั้งหมดสี่คนหายไปหลังจากไปรายงานตัวต่อตำรวจสงขลาเมื่อปี 2497 กระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นอ้างว่า คนทั้งสี่ลงชื่อได้รับการปล่อยตัวและอาจอยู่นอกประเทศ แต่ในปี 2500 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชย์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการรื้อฟื้นคดี ได้มีการรับสารภาพว่าได้มีการสังหารคนทั้งสี่ในบังกาโลริมทะเลสาบสงขลา และนำศพไปทิ้งใกล้เกาะหนูเกาะแมว ภายหลังมีการส่งนักประดาน้ำไปงมศพ แต่เนื่องจากเวลาผ่านไปแล้วสามปี ทำให้ไม่พบศพแต่อย่างใด พญ.เพชรดาวระบุว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ยังมีผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีกหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรในปี 2547 นายสุรชัย แซ่ด่าน หรือล่าสุด คือกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ล้วนแต่เป็นตัวอย่างปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหายที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ส่วนในเรื่องการทรมานนั้น พญ.เพชรดาวชี้ว่าระยะหลังมีการทำร้ายร่างกายชนิดที่ยากจะหาพยานหลักฐานมายืนยันได้ พร้อมกับระบุว่า ในช่วงแรกที่รับรู้เรื่องการซ้อมทรมานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตนมีฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่จชต. กรมได้รับหนังสือว่ามีกรณีที่ต้องติดตาม 34 คำร้องหรือ 47 กรณี ในระหว่างปี 2550 – 2553 เพื่อให้ไปประเมินสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ แต่สามารถดำเนินการคือไปเยี่ยมได้เพียง 20 ราย พบว่าต่างได้รับผลกระทบมีสภาพจิตใจที่มีภาวะกดดัน ซึมเศร้า วิตกกังวล มีโรคเครียด “สิ่งที่เขาขอคือความปลอดภัย ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม และให้ชื่อออกจากบัฯญชีดำ”
“ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลามีการจับกุมเรารู้ว่ามีส่วนที่ทำผิดจริง และมีส่วนที่เป็นการจับแพะ จึงมีการใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้ข้อมูล การซ้อมทรมานแบบสมัยใหม่ คือการทรมานสีขาวหรือ white torture เป็นวิธีการทรมานที่เลวร้ายที่สุด คือทรมานทางจิตใจ อารมณ์ โสตประสาทและความรู้สึกทั้งหมด เมื่อรอดชีวิต จะไม่มีบาดแผลทางกาย มีแต่ทางใจ ต้องได้รับการดูแลบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ”
พญ.เพชรดาวระบุว่า เพราะประสบการณ์ทั้งส่วนตัวและจากปัญหาที่เห็นภาพรวมทำให้เห็นความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีกฎหมายบังคับใช้กับความผิดนี้โดยเฉพาะ กฎหมายไม่เพียงแต่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไทย แต่จะยกระดับการคุ้มครองสิทธิของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
การซ้อมทรมานแบบสมัยใหม่ คือการทรมานสีขาวหรือ white torture เป็นวิธีการทรมานที่เลวร้ายที่สุด คือทรมานทางจิตใจ อารมณ์ โสตประสาทและความรู้สึกทั้งหมด
นอกจากนั้นยังมีสส.จากพรรคก้าวไกลนายณัฐวุฒิ บัวประทุมและนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติที่อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ นายกมลศักดิ์กล่าวว่า การมีกฎหมายป้องกันการทรมานและการบังคับบุคลลาให้สูญหายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดเงื่อนไขความขัดแย้ง เป็นการจัดการปัญหาการลอยนวลพ้นผิดโดยเฉพาะในหมู่เจ้าหน้าที่ นายกมลศักดิ์ชี้ถึงสภาพของปัญหาว่าค่อนข้างหนัก ยกตัวอย่างว่า ในช่วงปี 1534-2563 ไทยมีตัวเลขคนหาย 111 คน จาก 77 กรณีและหนึ่งในนั้นก็คือหะยีสุหลงและทนายสมชาย นีละไพจิตร ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีมาตรการหลายอย่างที่ป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สูญหายและการทรมาน เช่นในการควบคุมตัวบุคคล ร่างกฎหมายนี้จะทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิที่ควรจะมีในฐานะที่ถูกควบคุมตัว เช่นพบทนายหรือญาติได้ เขาแสดงความคาดหวังว่าอย่างน้อยร่างพรบ.นี้จะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาในการประชุมสมัยหน้า
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้คาดว่าเป็นหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ผลักดันเรื่องให้เดินต่อไปด้วยการนำเสนอร่างฉบับนี้ให้กับรัฐบาล ในขณะที่อีกด้าน ก็มีร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลเองที่นำเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ผ่านการเห็นชอบของครม.ไปแล้วก่อนหน้าและอยู่ระหว่างการทบทวนพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา