Written by 8:23 am Featured, Patani

จดทะเบียนซิมจชต.เลือกปฏิบัติหรือไม่

เปิดข้อมูลจากกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าและกสทช. การออกประกาศใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน จนท.ความมั่นคงยอมรับมาตรการต่างจากที่อื่นแต่เพื่อเหตุผลความมั่นคงและปลอดภัย กรรมาธิการฯเตือนมาตรกการต้องตอบโจทย์และรักษาสมดุลได้สัดส่วนระหว่างความจำเป็นกับการละเมิดสิทธิประชาชน เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเป็นเจ้าภาพรับอาสาสมัครจดทะเบียน ยืนยันส่งต่อข้อมูลให้บริษัทมือถือ ไม่มีเก็บไว้

meeting

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เผยแพร่เนื้อหาจากการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จากการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่เป็นการเปิดรับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการให้ประชาชนจดทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของสงขลา เนื้อหาจากการประชุมมีทั้งหมดมีกว่า 40 หน้า ส่วนการถ่ายทอดเสียงการประชุมยังคงรับฟังได้จากลิงค์ในเฟสบุ้กของคณะกรรมาธิการ 

Patani NOTES เห็นว่าข้อมูลจากการชี้แจงดังกล่าวยังเป็นที่น่าสนใจและมีข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยในการทำความเข้าใจมาตรการนี้ในจชต. รวมทั้งอาจตอบคำถามบางส่วนที่ว่า มาตรการนี้ละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่อย่างไร จึงได้สรุปข้อความบางส่วนให้กับผู้สนใจว่า สังคมได้ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างไรบ้างจากการประชุมดังกล่าว

1 โจทย์สำคัญ มาตรการจดซิมทุกคนใช้เฉพาะในพื้นที่จชต.และ 4 อำเภอสงขลา ละเมิดสิทธิและผิดกฎหมายหรือไม่

การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการร้องเรียนของสส.ซูการ์โน มะทา พรรคประชาชาติ ซึ่งระบุว่าก่อนหน้านั้นได้ร้องเรียนกับหลายฝ่ายในเรื่องนี้  โจทย์ของคณะกรรมาธิการคือ การกำหนดให้ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่จชต.และ 4 อำเภอของสงขลาไปจดทะเบียนซิมทุกราย เป็นมาตรการที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่  

ซูการ์โน มะทา “การจะบังคับใช้กฎหมาย เหมือนใช้รธน. ต้องใช้ให้เหมือนกันทั่วประเทศ  วันนี้ต้องการร้องเรียนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ ประเด็นสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาจชต.ยังไม่ประสบความสำเร็จแม้จะทุ่มงบลงไปมาก มิหนำซ้ำ บางทีก็ซ้ำเติมสร้างความสับสนให้ประชาชน การลงทะเบียนซิม คนในจชต.สองล้านคน ถ้าประกาศให้ลงเหมือนกันทั่วประเทศ ผมว่าเราพร้อมลง แต่กรณีนี้เลือกปฏิบัติเฉพาะจชต. ทำให้เรารู้สึกว่ารัฐหรือหน่วยงานรัฐมองประชาชนในจชต.เป็นชนชั้นสองของประเทศ  ไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 4 กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน การลงทะเบียนนี้ผมว่าเป็นการละเมิดรธน.ตามมาตรา 4 และอีกหลายมาตรา”

“วันนี้ประชาชนอีกไม่น้อยที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยฝ่ายความมั่นคงในการบังคับใช้กฎหมาย   ขอความร่วมมือแต่ท่านมีเดดไลน์  ผมถามกสทช.ว่าผมลงแล้วถูกต้อง ถ้าผมถูกตัด ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ไหม ตามรธน.มาตรา 4 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน”

ถ้าประกาศให้ลงเหมือนกันทั่วประเทศ ผมว่าเราพร้อมลง แต่กรณีนี้เลือกปฏิบัติเฉพาะจชต. ทำให้เรารู้สึกว่ารัฐหรือหน่วยงานรัฐมองประชาชนในจชต.เป็นชนชั้นสอง: ซูการ์โน มะทา

2 มาตรการทั่วไปที่บังคับใช้ทั่วประเทศ คือกสทช.ให้จดทะเบียนระบบพิสูจน์อัตลักษณ์ แต่บังคับจดเฉพาะผู้ใช้รายใหม่

ข้อมูลจากการชี้แจงของเลขาธิการกส.ทช.นายฐากร คัณฑสิทธิ์ สรุปได้ว่า การบังคับจดทะเบียนซิมมีมาตั้งแต่หลังปี 2547 ตามมาตรการนี้ ผู้ใช้ที่ต้องลงทะเบียนอยู่แล้วคือผู้ใช้รายเดือน แต่ส่วนที่กสทช.ต้องพยายามทำให้มาตรการครอบคลุมให้ได้ คือผู้ใช้ซิมชนิดเติมเงิน กสทช.ได้ออกประกาศเพิ่มเติมในปี 2552 ให้ผู้ใช้ซิมไปจดทะเบียน แต่ทว่าก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงได้ออกประกาศอีกครั้งในปี 2557 ให้ประชาชนที่ซื้อซิมแบบเติมเงินไปจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แต่ก็พบอีกว่ามีการหลีกเลี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วคือให้ผู้อื่นจดทะเบียนให้  หลังจากนั้นกสทช.ได้พัฒนาระบบการจดทะเบียนโดยทำเป็นแอพพลิเคชั่นพิสูจน์อัตลักษณ์ คือ “ซิมสองแช๊ะ” ซึ่งประกาศใช้เมื่อเม.ย.2562 แต่กสทช.กำหนดว่า คนที่ลงทะเบียนในระบบเดิมไม่ต้องลงในระบบใหม่ก็ได้ ผู้ซื้อซิมใหม่เท่านั้นที่ต้องลงทะเบียนตามระบบใหม่ทุกราย 

การลงทะเบียนซิมสองแช๊ะ ประกอบไปด้วยการสแกนลายนิ้วมือและถ่ายรูปหน้าตัวเองให้ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน 

เหตุที่กำหนดให้ลงสำหรับผู้ซื้อซิมรายใหม่เท่านั้น กส.ทช.ชี้แจงว่า ส่วนหนึ่งเพราะการลงทะเบียนแบบนี้จะต้องใช้อุปกรณ์และเงินจำนวนมาก  อีกทั้งเชื่อว่าภายในระยะเวลา 3-5 ปี ผู้ใช้รายเดิมที่จดในระบบเดิมจะต้องทะยอยไปเปลี่ยนซิม ซึ่งก็จะทำให้ต้องลงทะเบียนภายใต้ระบบใหม่เช่นกัน  

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช.กล่าวด้วยว่า กระบวนการพิสูจน์ตัวตนแบบที่กสทช.นำมาใช้เป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไปอย่างเช่นในประเทศจีน “ผมต้องเรียนนะครับว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มันเป็นเรื่องที่คนเขาใช้ทั่วไป เพียงแต่ว่ากระบวนการที่ทำกสทช.ไม่ได้เก็บ (ข้อมูล) กระบวนการดิจิตอลหมด ดีกว่าสำเนาบัตร”

3 มาตรการยกเว้นที่ใช้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลา

เป็นมาตรการที่ยกเว้นจากมาตรการทั่วไปของกสทช. กำหนดโดยกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จากการชี้แจงของผู้แทนของกสทช.และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่ามาตรการนี้ที่ให้ผู้ใช้ทุกรายไม่ว่าใหม่หรือเก่าต้องจดทะเบียนตามระบบพิสูจน์อัตลักษณ์ ให้ใช้กับจชต.และ 4 อำเภอสงขลาเท่านั้น กอ.รมน.ได้ออกประกาศในเดือนเม.ย. 2562 ให้ผู้ใช้ซิมโทรศัพท์มือถือทุกรายไปลงทะเบียนภายใต้ระบบใหม่ทั้งหมดไม่เพียงเฉพาะผู้ซื้อซิมรายใหม่เท่านั้น มาตรการนี้ได้รับการขยายเวลาหนึ่งครั้ง และสิ้นสุดลงเมื่อ 30 เม.ย. 2563  กอ.รมน.ระบุว่ามาตรการนี้เป็นการตอบสนองความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขอให้ดำเนินการเพื่อจะช่วยป้องปรามการนำเอาซิมไปใช้ก่อเหตุ ไม่่ว่าในการก่อเหตุระเบิด หรือในการดำเนินการสั่งการ/ติดต่อเพื่อก่อเหตุ

4 ตำรวจชี้ซิมที่ใช้ก่อเหตุในพื้นที่เป็นซิมที่ลงทะเบียนโดยผู้อื่น ซื้อผ่านบุคคลอื่น ผ่านเวบไซท์ ส่งทางไปรษณีย์ 

ในที่ประชุม ผู้แทนของสำนักงานตำรวจในจชต. พตอ.อรรถสิทธิ์ กิจจาหาญ ชี้แจงว่า การก่อเหตุหลายหน โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ๆ เป็นการใช้โทรศัพท์มือถือในการจุดชนวน ตำรวจจึงเสนอให้มีการลงทะเบียนแบบใหม่เพื่อป้องกันการนำเอาซิมไปใช้ในการก่อเหตุ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน โดยเสนอให้ทำตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา แต่ผู้ก่อเหตุก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยงต่างๆ เอาซิมที่เปิดใช้โดยคนอื่นหรือที่ซื้อผ่านเวบไซท์และลงทะเบียนโดยผู้อื่นมาใช้ก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้  พตอ.อรรถสิทธิ์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีการใช้ซิมที่มีปัญหาหลายเหตุการณ์ เช่น

– เหตุเผารถทัวร์บริษัทสยามเดินรถ เที่ยวเดินรถกทม.ไปยังเบตง เมื่อเดือนธค. 2560  เหตุลอบวางระเบิดตลาดพิมลชัยเมื่อมค.2561  จากการตรวจสอบกรณีแรก พบว่ามีซิมโทรศัพท์ที่ต้องสงสัย 7 เลขหมาย ส่วนในเหตุการณ์ที่สองพบซิมต้องสงสัย 9 เลขหมาย  ซิมที่กล่าวถึงซื้อโดยคนนอกพื้นที่จากร้านขายโทรศัพท์ในห้างซีคอนสแควร์ในกรุงเทพฯ ผู้จดทะเบียนซิมเป็นลูกจ้างในร้าน ส่งทางไปรษณีย์ให้ผู้รับที่สายบุรี ปัตตานี มีเจ้าของร้านมือถือในสายบุรีเป็นผู้รับ พตอ.อรรถสิทธิ์บอกว่า จากการตรวจสอบโทรศัพท์ส่วนตัวของเจ้าของร้านยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การยิงตร.ตายที่สายบุรี เมื่อกย. 2560

– เหตุการณ์ระเบิดหลายจุดที่สงขลา ธค. 2561  พบว่าหมายเลขโทรศัพท์ต้องสงสัยในการก่อเหตุ 7 เลขหมายได้จากการสั่งซื้อทางเวบไซท์ชอปปี ตรวจสอบกับคนซื้อซิมพบว่าโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของสามีซึ่งพตอ.อรรถสิทธิ์ระบุว่าเป็นผู้ก่อเหตุรายสำคัญ อีกอย่าง ซิม 7 เลขหมายที่ซื้อก็ถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุฆ่าแขวนคอ เอารถคนตายไปทำคาร์บอมที่ฉก.สงขลา มค. 2562  ยิงป้อมตำรวจสภอ.นาประดู่ในเดือนมค. ปี 2562  วางระเบิดจนท.สายตรวจของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก ปัตตานีเมื่อม.ค. ปี 2562   และพบว่ามีซิมอีก 6 เลขหมายที่ผู้ซื้อรายนี้สั่งซื้อ ไปมีส่วนกับเหตุการณ์อีก 5 เหตุการณ์  เช่นขว้างระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชนที่โคกโพธิ์ ปัตตานี เมื่อสค.ปี 2561  เหตุปาระเบิดขวดยิงใส่การไฟฟ้าภูมิภาคที่โคกโพธิ์  ส.ค. 2561  เหตุยิงเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์สองสามีภรรยาเสียชีวิตที่สงขลา กย. 2561 เหตุวางเพลิงร้านซ่อมรถจักรยานยนต์และวางระเบิดจนท.ระหว่างเข้าตรวจที่เกิดเหตุที่จะนะ สงขลา กย. 2561  ยิงอส.ท่าม่วงเสียชีวิต 3 นาย ที่เทพา เดือนพ.ย. ปี 2561 และเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายยิงชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ลำพะยา ยะลา ตาย 15 ราย เมื่อพย. 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ปี 2562 จนท.ปิดล้อมตรวจค้นเกิดการยิงต่อสู้และวิสามัญบุคคลตายไปสอง จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ตายพบว่า รายแรกใช้ซิมที่จดทะเบียนโดยน้องภรรยาของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีกรายที่มีหมาย 10 หมายและถูกวิสามัญไปเมื่อ พย. 2557  ส่วนโทรศัพท์ของผู้ตายอีกราย ใช้ซิมที่จดโดยเจ้าของร้านมือถือที่นาประดู่ โคกโพธิ์ ตรวจสอบพบเพิ่มเติมว่าเจ้าของร้านยังจดซิมอีก 15 เลขหมายซึ่งได้มีการแจกจ่ายไปยังผู้ก่อเหตุต่างๆ พตอ.อรรถสิทธิ์ชี้ว่านี่เป็นปัญหาว่าการใช้โทรศัพท์มาก่อเหตุในพื้นที่มาจากการสั่งซื้อซิมที่จดทะเบียนโดยผู้อื่น ซื้อผ่านเวบไซท์ส่งกันทางไปรษณีย์

5 กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพจัดการลงทะเบียนซิม

พ.อ.อาทิตย์ อรุณโชค ตัวแทนจากกอ.รมน.ภาค 4 สน. อธิบายว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสนับสนุนให้ประชาชนได้ลงทะเบียนซิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลาด้วยการให้มีนายทะเบียนไปช่วย โดยได้รับสมัครอาสาสมัครไปเป็นนายทะเบียน ที่ได้ดำเนินการไปจนถึงวันที่ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ มีอาสาสมัครที่ไปทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 7,305 คน อาสาสมัครมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อสม. บัณฑิตอาสา และประชาชนทั่วไป กอ.รมน.ภาค 4 สน.ใช้วิธีข้อมูลของอาสาสมัครเหล่านี้ให้กสทช.เป็นผู้ตรวจสอบ มีการลงทะเบียนผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน จากนั้นจึงให้ยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ดแก่อาสาสมัครเหล่านี้ในการบันทึกข้อมูลในระบบ  ในวันที่มีการชี้แจงต่อกรรมาธิการฯนั้น พ.อ.อาทิตย์ระบุว่า ได้ช่วยประชาชนลงทะเบียนซิมไปแล้ว 74% ของผู้ใช้คือจำนวนที่ลงทะเบียนแล้ว 888,813 ซิม

พล.ต.กฤษดา พงษ์สามารถ รองแม่ทัพภาค 4 ยืนยันกับคณะกรรมาธิการว่า ข้อมูลที่ได้จากการจดทะเบียนซิมการ์ดระบบใหม่ของประชาชนในพื้นที่โดยนายทะเบียนที่กอ.รมน.รับสมัครมานั้นจะถูกส่งต่อให้กับบริษัทผู้ให้บริการ  ไม่ได้เก็บไว้เอง “ข้อมูลที่ถูกเข้าระบบจะเข้าไปสู่ผู้ให้บริการแต่ละเครือข่าย จะไม่ถูกจัดเก็บไว้ที่โทรศัพท์มือถือของนายทะเบียน” 

พร้อมกันนั้นยังย้ำว่า ประกาศของกอ.รมน.เป็นการขอความร่วมมือ การระงับสัญญาณก็เป็น “ลักษณะของการระงับใช้ชั่วคราว  หลังจากเมื่อระงับใช้ชั่วคราวแล้ว เจ้าของซิมถ้าไปลงทะเบียนตามที่กำหนดก็จะกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ซิมจะไม่ดับหายไปเลย”  

รองเลขาธิการกสทช. นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตรกล่าวด้วยว่า ข้อมูลการลงทะเบียนที่มีนายทะเบียนช่วยลงให้นั้น จะช่วยให้จนท.สามารถตรวจสอบได้ในที่สุดว่าใครเป็นผู้ช่วยลงทะเบียนให้

6  ประกาศกอ.รมน. สองฉบับ 26 เม.ย. 2562 และ 1 ตค. 2562  มาตรการนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ใครเป็นผู้สั่งการกรณีระงับสัญญาณ 

ปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานคณะกรรมาธิการฯได้ตั้งข้อสังเกตกับผู้ที่ชี้แจงคือกอ.รมน.ว่า ประกาศใดๆของหน่วยราชการต้องมีกฎหมายรองรับ ประกาศที่กอ.รมน.ออกก็ควรเป็นเช่นนั้น นายปิยบุตรชี้ว่า ประกาศฉบับแรกของกอ.รมน.เมื่อ 26 เม.ย. 2562 นั้นอ้างไว้ชัดเจนว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายพรก.ฉุกเฉินมาตรา 11(9) และ มาตรา 18 (6) ของพรบ.ความมั่นคง แต่ฉบับที่สองที่ออกเมื่อ 1 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นการขยายเวลาการจดทะเบียน มิได้ระบุฐานอำนาจข้อกฎหมายสนับสนุน เขาเตือนผู้แทนกอ.รมน.ว่า จุดนี้อาจจะทำให้ถูกฟ้องร้องได้ 

อีกประการหนึ่ง เขาระบุว่า ประกาศทั้งสองฉบับใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” หากผู้ให้บริการไม่ให้ความร่วมมือจะมีบทลงโทษหรือไม่  และหากมีบทลงโทษ หน่วยงานใดจะเป็นผู้บังคับใช้บทลงโทษดังกล่าวระหว่างกอ.รมน.กับกสทช. กระบวนการในการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นไปอย่างไร ระหว่างกสทช. กอ.รมน.และผู้ให้บริการ และการขอความร่วมมือนี้ แม้จะใช้คำว่าขอความร่วมมือแต่จำเป็นต้องทำตาม เช่นนั้นหรือไม่ 

นายธนิน เกตุทองจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติแจ้งที่ประชุมว่า  การออกมาตรการการควบคุมซิมการ์ดเป็นการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน ตามมาตรา 11 นายธนินระบุว่า ในส่วนของการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กสทช.กำหนด แต่ในส่วนของการป้องกันและระงับเหตุที่ต้องให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระงับการให้บริการหรือสัญญาณและต้องนำส่งการใช้ข้อมูลต่อจนท.นั้นดำเนินการโดยยึดตามหลักเกณฑ์ที่กอ.รมน.ภาค 4 สน.กำหนด กล่าวคือ กสทช.มีหน้าที่ในเรื่องการลงทะเบียน แต่การให้นำส่งข้อมูลและงดให้บริการเป็นการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน 

7 เสนอคุมเข้มที่ร้านค้ามากกว่า รวมทั้งควบคุมจำนวนซิมในครอบครองของแต่ละบุคคล

สส.ในที่ประชุมต่างเสนอว่า เมื่อได้ฟังข้อมูลจากฝ่ายตำรวจเห็นว่า จุดอ่อนที่ทำให้เกิดการนำซิมไปใช้ก่อเหตุอยู่ที่การปล่อยให้มีการลงทะเบียนซิมแทนกันซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยร้านค้า ดังนั้นควรมีมาตรการควบคุมส่วนนี้จะดีกว่าหรือไม่ รวมทั้งควบคุมจำนวนซิมที่ประชาชนแต่ละคนจะซื้อและมีได้ 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า เรื่องการจำกัดการมีซิมในครอบครองของแต่ละบุคคลนั้น กสทช.ยังคงอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้ข้อสรุประดับหนึ่ง กล่าวคือเดิมกสทช.พยายามจะกำหนดว่าให้บุคคลแต่ละคนลงทะเบียนซื้อซิมได้ไม่เกินคนละ 5 เลขหมาย แต่มาตรการนี้เห็นกันว่าจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมและดำเนินการด้วยความรอบคอบ เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยที่ลงทะเบียนซื้อซิมให้กับญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ เช่นผู้คนจากต่างจังหวัดที่เดินทางไปทำงานในเมือง หากทำไม่รอบคอบจะกระทบคนเหล่านั้น เรื่องนี้ต้องรับฟังเสียงประชาชนจึงยังประกาศไม่ได้ 

แต่การที่ยังไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ออกมา กสทช.ยอมรับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ “ลูกตู้” คือผู้ขายซิมหน้าร้านลงทะเบียนซิมในนามตนเองหรือให้ลูกค้าที่อยู่ในร้านลงทะเบียนซิมเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรมีและส่งให้คนอื่นต่อไป เรื่องนี้นายฐากรระบุว่า กสทช.ได้มี “หนังสือกำชับ” ผู้ประกอบการ และยอมรับว่าจุดนี้เป็นช่องโหว่ที่ยังอุดไม่ได้ 

“หลายครั้งท่านจะเห็นว่ามีแก๊งหลอกลวงที่เป็นแก๊งค์ call center ต่างๆที่มีการขายซิมต่างๆออกไปในพื้นที่ตะวันออก ลูกตู้ลงทะเบียนซิมให้ลูกค้าทีหนึ่ง 300 ซิม ออกไปในนามตัวเอง แล้วก็เอาลูกค้าในร้านของตัวเองลงทะเบียนเอง พอคนจีนมาซื้อก็เอาซิมพวกนี้ส่งมอบให้เลย แต่เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่า คนที่จะโดนกล่าวหาก่อนก็คือคนที่ไปลงทะเบียนซิมแทน ตรงนี้คือหน้าที่ตร.ต้องไปดำเนินการจับกุม”  พร้อมกันนั้นก็ให้คำมั่นว่าจะพยายามทำหลักเกณฑ์ให้กระชับมากขึ้น

ด้านรองเลขาธิการกสทช. นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร ระบุว่า ในกรณีที่มีการกระทำผิด เช่นในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้า การลงโทษเป็นเรื่องของการยกเลิกสัญญา ส่วนในเรื่องของการลงทะเบียนซิม ในกรณีที่มีผู้กระทำผิดจากที่กำหนดไว้ นายก่อกิจระบุว่า “เราทำได้แค่ท่อนลงทะเบียน ส่วนการกระทำผิดหรือไม่ อย่างไร ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกสทช. ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามอธิบายกับทุกภาคส่วนว่า การลงทะเบียนนั้นเรื่องหนึ่ง การใช้นั้นอีกเรื่องหนึ่ง”

8 ยังมีซิมเก่าค้างในระบบ และซิมจากต่างประเทศ

กสทช.รายงานว่า มีซิมเก่าที่ค้างอยู่ในระบบเดิมไม่ไปลงทะเบียนและรอวันถูกระงับสัญญาณ  โดยเลขาธิการกสทช. นายฐากร ระบุว่า ในระบบทั่วประเทศมีซิมเก่าจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้จดทะเบียนและจะทะยอยหมดอายุไปเรื่อยๆ  ในปี 2557 มีซิมระบบเติมเงินอยู่ 90 ล้านเลขหมาย จากการกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนซิม มีผู้นำซิมไปลงทะเบียนราว 80 ล้านเลขหมาย  เท่ากับมี 10 ล้านเลขหมายที่จะต้องยุติการให้บริการ ในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งถูกระงับสัญญาณไปแล้ว คาดว่าเหลือไม่ถึง 1 ล้านเลขหมาย แต่ในการชี้แจงต่อมานายฐากรระบุตัวเลขอีกว่า เชื่อว่ามีไม่ถึง 300,000 – 400,000 เลขหมาย 

เรื่องนี้เลขาธิการกสทช.อธิบายพฤติกรรมผู้ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงินว่า เพราะคนจำนวนหนึ่งซื้อซิมแล้วไม่ได้ใช้แล้วทิ้งไปโดยไม่แจ้ง ในขณะที่การจะระงับสัญญาณซิมต้องทำหลังเวลา 120 วัน ในจำนวนซิมที่เหลือนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใช้งานจริงเท่าไหร่ ต้องรอไปเรื่อยๆ “เนื่องจากว่าขณะนี้เราจะไปตรวจสอบเลยว่าประชาชนใช้หรือไม่ใช้มันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะเราจะไม่ให้ใครเข้าไปดำเนินการในเบอร์โทรศัพท์ที่มีการใช้งานโดยเด็ดขาด” ดังนั้นในปัจจุบันเลขาธิการกสทช.ระบุว่ามีซิมที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ 170 ล้านซิม แต่ใช้งานจริง 130 ล้าน

เลขาธิการกสทช.กล่าวในระหว่างการชี้แจงด้วยว่า ควรจะมีการบังคับจดทะเบียนซิมจากต่างประเทศด้วย มีกรณีที่มีการนำซิมต่างประเทศมาก่อเหตุ เช่นจากมาเลเซีย ซึ่งตนเห็นว่าควรจะให้มีการรายงานเรื่องการนำซิมจากต่างประเทศเข้าไปในในจชต.ด้วยเพราะขณะนี้มีการนำซิมต่างประเทศเข้าไปใช้งานจำนวนมากและการควบคุมเป็นไปอย่างลำบาก 

9 ผู้ใช้นอกพื้นที่ได้รับการแจ้งเตือน จดหรือไม่จดดี

สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนอกพื้นที่ที่เข้าไปในพื้นที่ ในขณะนี้กสทช.ชี้แจงว่าทุกคนจะได้รับข้อความเอสเอ็มเอสเข้าเครื่องโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่นั่นหรือไม่ก็ตาม ระบบอัตโนมัติจะส่งเอสเอ็มเอสให้ทันที ถ้าลงทะเบียนแล้วก็จะไม่ได้รับข้อความ กสทช.ยืนยันว่าหากไม่ใช่คนในพท.นั้นก็ไม่ต้องไปลงทะเบียน 

แต่ในขณะเดียวกัน จากคำชี้แจงของพล.ต.กฤษดา พงษ์สามารถ รองแม่ทัพภาค 4 ระบุว่า สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนอกพื้นที่ที่ได้รับเอสเอ็มเอสนั้นก็เพื่อให้ไปลงทะเบียน “ประเด็นสำคัญคือเมื่อเข้าพื้นที่แล้ว เราต้องการให้เขายืนยันตัวตนเท่านั้นเอง จะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่เอง อยู่ข้างนอกและเข้าพื้นที่ไป หรือคนจากข้างนอกเข้าไปในพื้นที่ ก็มีสัญญาณ SMS เตือนเพื่อให้เขารู้ว่าเขาเข้ามาในเขตพื้นที่แล้ว เพื่อให้ยืนยันตัวตนว่า ตัวซิมที่เขาใช้อยู่นั้นยังไม่ได้ลงทะเบียน เมื่อเขาเข้าไปในพื้นที่แล้ว ถ้าดำเนินการลงทะเบียนก็จะจบไปในเรื่องของการส่งข้อความ”

10. ข้อทักท้วงจากสส. และกรรมาธิการ มาตรการตอบโจทย์หรือไม่ ละเมิดสิทธิเกินความจำเป็นและได้ “สัดส่วน” หรือไม่

สส.จากจชต.นายซูการ์โน มะทา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ได้ตั้งประเด็นว่า การสั่งให้ผู้ใช้ซิมทุกรายไปจดทะเบียนซิม อันเป็นมาตรการที่แตกต่างไปจากทั่วประเทศ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติคือขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอกันหรือไม่  

สส.อาดิลัน จากพรรคพลังประชารัฐชี้ว่า จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่เองแสดงว่า ซิมโทรศัพท์มือถือที่เอาไปก่อเหตุเป็นซิมที่ซื้อโดยผู้อื่นที่ลงทะเบียนแทนกัน เขาตั้งคำถามว่าจนท.ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้อย่างไร และซิมที่นำไปใช้น่าจะไม่ใช่ซิมที่จดทะเบียนนานแล้ว แต่เป็นซิมซื้อใหม่มากกว่าใช่หรือไม่

สส.อาดิลันยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในฐานะที่ทำงานเป็นทนายในคดีความมั่นคงมาก่อน เขาเห็นว่าข้อมูลการจดทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือที่จนท.นำไปจัดทำเป็นแผนผังข้อมูลโยงใยความเชื่อมโยงการใช้โทรศัพท์เพื่อก่อเหตุ ไม่ใช่ “ข้อมูลดิบ” ที่ผู้ให้บริการส่งให้จนท. แต่เป็นข้อมูลที่นำเอาไปแปลงได้ 

“เพราะเราพบว่าเบอร์โทรเพี้ยน หมายเลขวันเวลาไม่ถูก เป็นภาษาไทยบ้างอาราบิคบ้าง พยานก็บอกว่าเป็นข้อมูลที่เติมได้ นี่เป็นความบกพร่องของข้อมูล ในเมื่อเราต้องการพิสูจน์ด้วยหลักฐานที่เชื่อได้ ให้ประชาชนเชื่อมั่นในคำพิพากษา พยานหลักฐานต้องสมบูรณ์ ”

ส่วนสส.กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติ ตั้งคำถามว่า กระบวนการสอบสวนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้อยู่แล้วแม้ไม่มีการจดทะเบียนระบบพิสูจน์อัตลักษณ์ และแม้จะจดแล้วก็ยังนำซิมเหล่านั้นไปก่อเหตุได้อีก ไม่ได้มีผลยับยั้งแต่อย่างใด ดังนั้นมาตรการนี้ตอบโจทย์หรือไม่

“โดยสถิติที่ผ่านมา ไม่มีการก่อเหตุครั้งใดที่ใช้ชื่อจริง มันเป็นวิธีของฝ่ายตรงข้าม แต่ทุกครั้งฝ่ายสืบสวนก็สามารถไล่ไปทีละเสตปได้แม้ไม่ได้แสดงอัตลักษณ์สองอย่าง สามารถทำชาร์ท ไปสอบสวนได้  และเมื่อมีการแสดงอัตลักษณ์สองแชะแล้ว ซิมก็ยังสามารถส่งมอบให้บุคคลอื่นได้อีก มันก็ยังทำได้ ถ้าเขาคิดจะทำ สามารถให้บุคคลอื่นก่อเหตุได้อีก จุดสำคัญคือมันจะตอบโจทย์การป้องกันได้หรือไม่เพียงใด”

“แต่คนส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้อง มันทำให้เขารู้สึกระแวง จะเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ต่อมาต้นเหตุสำคัญคือห้างร้านที่ขายซิมโทรศัพท์ ก่อนหน้านี้ท่านบอกว่ามีการปลอมเอกสาร ต้นเหตุสำคัญคือร้านค้า ท่านมีมาตรการกับร้านค้าหรือยัง ก่อนจะมาผลักภาระให้กับคนในพท. เพราะร้านค้ามีเป้าหมายทำยอดขายซิม วิธีการปล่อยซิมมันหละหลวม นั่นคือต้นเหตุ จนถึงขณะนี้กอ.รมน.และกสทช.มีมาตรการอย่างไรกับต้นเหตุจริงๆ มันสามารถทำได้แต่ต้น ใครไปซื้อซิมเห็นหน้าก็รู้ แต่ปล่อยปละละเลยต้นเหตุ มาแก้ปัญหาปลายเหตุ”  

ในเรื่องหลักการของการออกมาตรการแก้ปัญหาที่ยึดความจำเป็นและต้องได้สัดส่วน ผู้แทนจากกอ.รมน.ชี้แจงกับกรรมาธิการว่าเป็นหลักการที่กอ.รมน.ใช้มาโดยตลอด ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินความจำเป็น คออธิบายอีกส่วนมาจากนายธนิน เกตุทองจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติชี้แจงว่าการที่กำหนดให้ผู้ใช้ในจชต.และ 4 อำเภอสงขลาต้องจดทะเบียนซิมทั้งหมดนั้น อันที่จริงกสทช.ต้องทำทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่ต้องเลือกพื้นที่ก่อนเพราะมีปัญหางบประมาณ ที่สำคัญคือในจชต.มีปัญหาความไม่สงบ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว แต่ทำเท่าที่จำเป็นและ “บนพื้นฐานที่ได้สัดส่วน”

ส่วนใหญ่เป็นซิมการ์ดประเภทซื้อมาขายไปในช่วงเวลาไม่กี่วัน แต่ทำไมท่านกวาดทุกคนเลยว่าต้องมาลงทะเบียนหมด มันก็จะส่งผลว่าตกลงแล้วมาตรการนี้มันบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการจัดการปัญหาความไม่สงบหรือไม่ แล้วมันจำเป็นไหม: ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตร ประธานกรรมาธิการกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การใช้มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมนั้นมักมีการละเมิดสิทธิอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรจึงจะสร้างสมดุลในสองเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องอาศัยหลักการตามที่กอ.รมน. 4 สน.เองก็ยืนยันคือหลักการการได้สัดส่วน พอสมควรแก่เหตุ ต้องดูว่ามาตรการที่ใช้จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ และต้องพิจารณาข้อมูลซิมการ์ดที่ใช้ก่อเหตุ  “หากตามฐานข้อมูลส่วนใหญ่เป็นพวกซิมการ์ดประเภทซื้อมาขายไปในช่วงเวลาไม่กี่วัน แต่ทำไมท่านกวาดหมดเลย กวาดทุกคนเลยว่าต้องมาลงทะเบียนหมด มันก็จะส่งผลว่าตกลงแล้วมาตรการนี้ที่ให้ลงทะเบียนมันบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการจัดการปัญหาความไม่สงบหรือไม่ แล้วมันจำเป็นไหม”  ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้คนรู้สึกว่า เฉพาะคนในสามจังหวัดภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลาที่ถูกบังคับให้ทำ

ด้านพ.อ.อาทิตย์ อรุณโชคจากกอ.รมน.ภาค 4 สน.ตอบในเรื่องการละเมิดสิทธิว่า จนท.ยึดตามหมวดสามของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เรื่องของการให้ความร่วมมือในการลงทะเบียนซิมก็ยังเป็นไปตามหมวด 4 ของรธน. ด้วย  แต่สส.ซูการ์โน มะทาบอกว่า การอ้างมาตรา 50 ของรธน. นั้นทำได้ แต่การใช้จะต้องบังคับใช้กับคนทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะจชต. ทางด้านสส.อาดิลัน อาลีอิสเฮาะเสริมว่า กสทช.ควรจะประกาศใช้มาตรการนี้ทั่วประเทศเพื่อให้คนในจชต.จะได้ไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ แต่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ชี้แจงว่า การทำเช่นนั้นจะเป็นปัญหา “ถ้าอย่างนั้นประชาชนทั้งหมดมาลงทะเบียนใหม่หมด เดี๋ยวเขาจะบอกว่าละเมิดสิทธิของเขาอีก” ทำให้นายอาดิลันกล่าวว่า “ถ้าท่านคิดอย่างนี้แสดงว่าท่านก็รู้ว่า คนสามจังหวัดสี่อำเภอถูกละเมิดใช่ไหม ท่านก็รู้ว่าเขาถูกละเมิดอยู่ตอนนี้ครับ” และเมื่อพ.อ.อาทิตย์ อรุณโชค จากกอ.รมน.ภาค 4 สน.พยายามชี้แจงเรื่องคำว่า “ละเมิด” นายธนิน เกตุทองจากสมช.ยกมืออธิบายความแทนว่า การใช้มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามพรก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องของการดำเนินการเพื่อความมั่นคง รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ถือว่าเป็น prioity (มีความสำคัญมาก่อน) และยังชี้แจงต่อว่า มาตรการนี้หากไม่ได้ผลก็ต้องมีการปรับ หามาตรการเสริมหรือออกแบบวิธีการใหม่

พ.อ.อาทิตย์ชี้แจงแย้งสส.กมลศักดิ์ที่เอ่ยถึงปัญหาความไม่สงบในช่วงตั้งคำถามว่า มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คู่ความขัดแย้งกับรัฐหรือจนท.รัฐ โดยพ.อ.อาทิตย์ระบุว่า ในพื้นที่ไม่มีคู่ความขัดแย้ง มีแต่ “กลุ่มก่อความไม่สงบ กลุ่มอาชญากรรม กลุ่มก่อเหตุรุนแรง อันนี้เป็นกลุ่มที่เรายังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำกลุ่ม” อย่างไรก็ตาม พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส กรรมาธิการกล่าวว่า ตนเห็นว่าคู่ความขัดแย้งในพื้นที่นั้นมีจริง พร้อมระบุว่า กลุ่มก่อเหตุในวันนี้เหลืออยู่ราว 5,000 ถึง 10,000 คน การใช้มาตรการเพื่อจัดการกับคนจำนวนเท่านี้แต่กระทบคนนับล้านจะเป้การผลักคนออกจากรัฐ ในขณะที่วิธีการจุดระเบิดมีหลายวิธี ให้ระวังการดำเนินการที่บีบคนจนไม่มีทางเลือกหันไปใช้หนทางที่หนักขึ้น เช่น suicide / car bomb  ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมาธิการกล่าวในทำนองเดียวกันว่า ทางจนท.ต้องประเมินผลที่ได้จากมาตรการให้รอบคอบ หากผลที่ได้ไม่มากแต่เป็นมาตรการที่ผลักคนจำนวนมากออกจากรัฐย่อมไม่เป็นผลดี นายพีระพันธุ์ตั้งคำถามว่า มาตรการจดทะเบียนนั้นเป้าหมายก็เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่จะใช้ในการสอบสวน ข้อมูลที่ได้จากการจดทะเบียนซิมแบบเดิมใช้ไม่ได้จริงหรือ และหากยังใช้ได้และนำไปขยายผลได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้จดใหม่ให้แตกต่างจากพื้นที่อื่น  นายปิยะบุตรแจ้งให้จนท.กอ.รมน.กลับไปพิจารณาประเด็นความจำเป็น ความสมควรแก่เหตุและผลของมาตรการ

เนื้อหารายงาน https://crcfthailand.org/2020/05/29/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3/?fbclid=IwAR1pdwWGofg65iUmjpEsXTmq2H4wMoGzbLlH8BvwM6ayOiZFQjYTBq2dNws

(Visited 134 times, 1 visits today)
Close