Written by 9:07 am Featured, Literature, World

อ่านหนังสือเรื่อง “เหยียดผิว”

อ่านหนังสือเติมความรู้เรื่องปัญหาการเหยียดผิวหรือ Racism ปัญหาใหญ่ที่จุดชนวนการประท้วงต่อเนื่องในสหรัฐฯ และระอุในทุกพื้นที่ระหว่างคนขาวกับคนดำ

ภาพจากเวบไซท์JimCrow

การชุมนุมต่อต้านการเหยียดผิวในสหรัฐฯยังดำเนินต่อเนื่องหลังจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายหนุ่มผิวดำที่ถูกจับด้วยข้อหาใช้ธนบัตรปลอม ในคลิปที่มีการเผยแพร่ ฟลอยด์ถูกตำรวจจับกดหน้าลงกับพื้นข้างถนนและเจ้าหน้าที่นายนั้นเอาเข่ากดลงที่ก้านคอของเขาจนเขาร้องว่า หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ความตายของเขาทำให้มีการชุมนุมประท้วงการเหยียดผิวเกิดขึ้นหลายแห่งกระจายตัวทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ จนกระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจะใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม 

สิ่งที่ปะทุจากความตายของฟลอยด์คือความไม่พอใจที่สะสมมาอย่างยาวนาน ฟลอยด์เป็นหนึ่งในรายล่าสุดที่เสียชีวิตเพราะการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ผิวขาวต่อคนผิวดำ ซึ่งมองกันว่าเป็นผลพวงของความคิดเหยียดผิวในหมู่ตำรวจอเมริกัน การรื้อฟื้นปัญหาการเหยียดผิวแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วเพราะหลายคนรู้สึกว่าปัญหานี้ยังเกิดขึ้นทุกวันและในทุกภาคส่วนของสังคมไม่ใช่เฉพาะในหมู่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มันทำให้สังคมต้องหันมามองประเด็นเรื่องการเหยียดผิวหรือ racism อีกครั้ง และทำให้ผู้คนพยายามแสวงหาข้อมูลความรู้เรื่องการเหยียดผิว ร้านหนังสือหลายแห่งบอกสื่อว่า หนังสือเรื่องการเหยียดผิวขณะนี้ขายดีจนต้องคิดเรื่องการพิมพ์เพิ่ม  ความตื่นตัวในเรื่องนี้ทำให้มีเว็บไซต์ต่างๆออกมาแนะนำหนังสือในประเด็นเรื่อง racism หรือการเหยียดผิวจำนวนมาก ไม่ใช่แค่การเหยียดผิวเท่านั้นแต่ขยายไปยังเรื่องของปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เป็นธรรมโดยทั่วไป ผู้คนตื่นตัวอยากทำความเข้าใจกับปัญหาในบริบทปัจจุบันพอๆกับอดีตที่ผ่านมา เวบข่าวซีบีเอสถึงกับรายงานว่า 8 ใน 10 อันดับของหนังสือขายดีของเวบ Amazon ขณะนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาเชื้อชาติสีผิว และครึ่งหนึ่งของลิสต์นี้ขายหมดเกลี้ยง

หนังสือที่ขายดีเล่มหนึ่งซึ่งอยู่ในลิสต์มาช้านานแล้วก็คือ The New Jim Crow เขียนโดย Michelle Alexander เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2010 ในช่วงที่หนังสือออกมาเป็นห้วงเวลาที่สังคมสหรัฐฯกำลังตื่นเต้นที่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือบารัค โอบามา ผู้นำสีผิวที่ได้เดินเข้าสู่ทำเนียบขาว สังคมอเมริกันกำลังปลาบปลื้มกับตัวเองและเชื่อว่าพวกเขามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เอาชนะปัญหาความแตกแยกทางสีผิวได้ 

แต่หนังสือเล่มนี้บอกพวกเขาว่า ในเวลาเดียวกันนั้นคนดำจำนวนมากกลับถูกกดลงต่ำอย่างเป็นระบบ และอันที่จริงแล้ว ระบบสร้างอภิสิทธิ์ทางชนชั้นที่เคยใช้กันในอดีตยังคงอยู่อย่างครบถ้วนในทางปฏิบัติ นั่นคือระบบกฎหมายจิว โครว อันเป็นกฎหมายเหยียดผิวแบ่งแยกด้วยการกำหนดให้คนขาวเหนือกว่าคนดำในทุกด้าน ผู้เขียนบอกว่าในปัจจุบันโดยเฉพาะภายใต้ระบบกระบวนการยุติธรรม คนขาวและคนดำมีชีวิตเหมือนอยู่ในโลกคู่ขนาน สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาได้รับการตอบสนองคนละแบบและคนละระดับไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม 

ผู้เขียนซึ่งเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและต่อมากลายเป็นนักวิชาการ เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเปิดเผยให้เห็นกระบวนการทางกฎหมายที่ทำให้เห็นว่าในที่สุดคนดำจะได้รับการปฏิบัติต่อไม่ต่างไปจากในอดีตที่คนเชื้อสายอาฟริกันจะได้รับการปฏิบัติต่อภายใต้ระบบกฎหมายเหยียดผิวที่เรียกกันว่าจิม โครว เมื่อไหร่ก็ตามที่คนดำถูกตราหน้าว่าเป็นคนกระทำผิด แม้กระทั่งความผิดเล็กน้อย แต่นับจากนาทีนั้นพวกเขาจะถูกปฏิบัติต่อด้วยกระบวนการที่ไม่ต่างไปจากระบบกฎหมายจิม โครว

จิม โครว เป็นระบบกฎหมายเหยียดผิวที่ใช้ในสหรัฐฯในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าจนถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ โดยเฉพาะในรัฐทางตอนใต้ของประเทศ ตามระบบนี้ กฎหมายกำหนดห้ามผิวดำทำอะไรต่างๆอย่างที่คนผิวขาวทำ พวกเขาไม่สามารถจับมือคนขาวได้ กินข้าวด้วยกันไม่ได้ ฯลฯ แม้แต่บริการสาธารณะและบริการต่างๆ พวกเขาก็ไม่อาจจะใช้ได้ สิทธิเรื่องการศึกษา งาน ถูกกำหนดไว้คนละระดับอย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียนบอกคนอ่านว่า กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯในปัจจุบันทำให้คนดำตกอยู่ในภาวะเหมือนเช่นในอดีต  แม้ว่าโดยหลักการแล้ว ระบบกฎหมายของสหรัฐฯไม่เลือกสีผิว แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการนี้มันคือภาพสมัยใหม่ของระบบเก่านั่นเอง

หนังสือที่ขายดีที่สุดอีกเล่มหนึ่งในเวลานี้ ก็คือ White Fragility: Why its So Hard for White People to Talk About Racism โดย Robin DiAngelo Jonathan Capehart เขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ในเวบวอชิงตันโพสต์ว่า มันเป็นหนังสือที่เขาแนะนำให้คนขาวต้องอ่าน

DiAngelo เป็นนักวิชาการผิวขาวที่เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้คนขาวอ่าน เพื่อให้พวกเขารู้จักเพื่อนร่วมชาติคนผิวดำ ในขณะที่คนดำรู้จักคนขาวดีอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพราะมันเป็นความจำเป็นของชีวิตพวกเขา แต่คนขาวไม่รู้จักคนดำเช่นนั้น ผู้เขียนบอกว่า คนผิวขาวมักมีข้ออ้างเสมอเมื่อพูดถึงปัญหาเหยียดผิวที่ดำรงอยู่ในหมู่ผู้คน โดยพวกเขามองว่ามันเป็นปัญหาศีลธรรมจรรยาส่วนตัวมากกว่าจะเป็นปัญหาของระบบ ในขณะที่คนเขียนมองว่าปัญหาอยู่ที่ว่า มันคือระบบที่ยกระดับอภิสิทธิ์ของคนขาวไว้เหนือคนดำ ผู้เขียนบอกว่าอธิบายของคนขาวหลายคนที่บอกว่า คนเหยียดผิวคือคนที่ไม่ชอบคนอื่นเพราะเรื่องของสีผิวเผ่าพันธุ์ ได้กลายเป็นข้ออ้างหรือเป็นคำอธิบายง่ายๆสำหรับระบบที่หยั่งรากฝังลึก และพวกเขาพยายามจะบอกว่า การเหยียดผิวมาจากการกระทำที่จงใจ ถ้าไม่ได้ตั้งใจ ก็ถือว่าไม่ผิดแต่อย่างใด มันกลายเป็นวิธีที่คนขาวใช้แก้ตัวให้กับระบบที่มีปัญหาจากการเหยียดผิว ข้อเขียนของ Capehart มาจากการสัมภาษณ์ที่บอกเล่าหลายอย่างด้วยกันและควรค่าแก่การอ่านเช่นกัน

อีกเล่มหนึ่งที่ปรากฎชื่อโผล่ขึ้นมาในแทบทุกเว็บไซต์ที่แนะนำหนังสือเนื้อหาเรื่องการเหยียดผิวก็คือ  How To Be An Antiracist เขียนโดย Ibram X. Kendi ซึ่งเป็น New York Times Best Seller อีกเล่มหนึ่ง คำอธิบายที่มีสำหรับหนังสือเล่มนี้คือเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนทำให้คนอ่านได้ปลดปล่อยวิธีคิดของตนเองกับมุมมองในเรื่องการเหยียดผิว มองให้กว้างไปกว่าเรื่องของระบบและนโยบายต่างๆ ประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างอิงจากหนังสือนี้คือ the opposit of ‘racist’ is not ‘not-racist’ สิ่งที่ตรงข้ามกับการเหยียดผิวไม่ใช่การไม่เหยียดผิว มันคือ antiracist คือการต่อต้านการเหยียดผิว

ด้านมหาวิทยาลัยชิคาโก้ได้ให้คำแนะนำหนังสือที่น่าสนใจในหัวข้อนี้ไว้อีกหลายเล่มด้วยกัน โดยเฉพาะที่พูดถึงความรุนแรงที่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น The Torture Letters: Reckoning with Police Violence โดย Laurence Ralph  พูดถึงประวัติศาสตร์ของความรุนแรงและการซ้อมทรมานโดยตำรวจในชิคาโก การเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอธิบายประเด็นว่าเหตุใดสิ่งเหล่านี้จึงยังดำรงอยู่ในสังคมอเมริกัน หนังสือเล่มนี้เวบไซท์มหาวิทยาลัยระบุว่าเป็นอีบุ๊คและยังสามารถดาวโหลดได้ฟรีภายในวันที่ 6 มิ.ย.

Citizen Brown: Race, Democracy and Inequality in the St. Louise Suburbs โดย Colin Gordon  ปี 2014 มีการสังหารคนผิวดำคือ ไมเคิล บราวน์ ในเมืองเฟอร์กูสัน ทำให้มีการประท้วงอย่างกว้างขวางต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนการเหยียดผิว ผู้เขียนหนังสือบอกว่า เฟอร์กูสันเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการเหยียดผิวที่ดำรงอยู่อย่างฝังรากลึกในองค์กรตำรวจของสหรัฐฯ และในการใช้นโยบายสาธารณะที่แบ่งแยกผู้คนมานานนับสิบๆปีทั่วประเทศ

Beyond the Usual Beating: The Jon Burge Police Torture Scandal and Social Movements for Police Accountability in Chicago โดย Andrew S. Baer เนื้อหาหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง Jon Burge อดีตผู้บัญชาการตำรวจชิคาโก ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรงของตำรวจตลอดจนการปฏิบัติต่อคนผิวสีอย่างไม่เท่าเทียมกัน ในห้วงเวลาที่เขาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจชิคาโกนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐนี้มีเรื่องราวของการใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีอย่างหนัก มันเป็นการใช้ความทารุณที่มากกว่าการทุบตีโดยทั่วไป เช่นมีวิธีการสอบปากคำที่เหนือธรรมดา การทรมานด้วยวิธีการทางจิตวิทยา เช่นแกล้งฝังทั้งเป็น เผา  เป็นห้วงเวลาที่นำไปสู่การประท้วงและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก และก็ทำให้มีการปฏิรูปในบางเรื่อง เช่นการยกเลิกโทษประหารในรัฐอิลลินอยส์ เป็นต้น

Murder in New Orleans: the Creation of Jim Crow Policing โดย Jeffrey Adler ผู้เขียนหยิบยกตัวอย่างของนิวออร์ลีนส์มาศึกษา เขาเสนอว่าการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคนอเมริกันเชื้อสายอาฟริกันของทางการที่นั่น เป็นเรื่องที่ไม่ได้สัมพันธ์หรือสอดรับกับสถิติของการเกิดเหตุการณ์ แต่สะท้อนแนวคิดเก่าที่ยึดติดอยู่กับระบบที่กำหนดให้คนดำเป็นพลเมืองชั้นสองที่เคยใช้กันในอดีตสมัยปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งรัฐในตอนใต้ของสหรัฐฯใช้ระบบกฎหมายเหยียดผิวที่เรียกกันว่าจิม โครวที่กำหนดให้คนผิวดำเป็นรองคนผิวขาวทุกด้าน มีสิทธิน้อยกว่ากันตามกฎหมาย เขาบอกว่าวิธีคิดนี้ยังทรงอิทธิพลต่อระบบการจัดการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และมีอิทธิต่อแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างมาก

Tacit Racism โดย Anne Warfield Rawls และ Wavery Duck ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าการเหยียดผิวฝังอยู่กับชีวิตประจำวันของสังคมอเมริกันอย่างไร สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนต่างสีผิวไม่ว่าคนที่เกี่ยวข้องจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 

และอีกเล่มหนึ่ง Remembering Emmett Till โดย Dave Tell  เนื้อหาพูดถึงดินแดนสามเหลี่ยมมิสซิสซิปปี้ที่เต็มไปด้วยร่องรอยที่บอกเล่าเรื่องของความทรงจำในการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ร่องรอยที่สำคัญอันหนึ่งคือการสังหารเอ็มเม็ท ทิลล์ อันเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงโศกนาฎกรรมแห่งความเกลียดชังและความไม่เป็นธรรมที่กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนต่างสีผิว

ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ได้รับการแนะนำอย่างแพร่หลาย ปัญหาการเหยียดผิวทำให้ข้อมูลเหล่านี้ได้รับความสนใจและกลับมาเผยแพร่กันอีกครั้ง การประท้วงที่เกิดขึ้น บทสนทนาและข้อเขียนจำนวนมากในเรื่องนี้ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาการเหยียดผิวจะยังเป็นเรื่องใหญ่อยู่กับการเมืองสหรัฐฯและโลกไปอีกนาน ถึงที่สุดแล้วหลายคนเชื่อว่า การเหยียดผิวคือการเห็นคนไม่เท่ากัน และนั่น ทำให้ปัญหานี้มีความคล้ายคลึงกันกับอีกหลายปัญหาของการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในหลายๆสังคม

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยชิคาโก เว็บไซทต์ New Jim Crow และเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ Jim Cro

(Visited 132 times, 1 visits today)
Close