เสียงเพลงนี้เป็นของโอรังอัสลีจากในป่าบริเวณบ้านไอร์กาเวาะ ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ทีมนักวิจัยชุดหนึ่งเดินทางเข้าไปยังที่พักของโอรังอัสลี ซึ่งเรียกว่า ฮายะ หรือที่เรียกกันว่า ทับ ในภาษาไทย หนึ่งในทีมงานเล่าว่า ในระหว่างการเดินทางไปฮายะที่จะต้องใช้เวลาขึ้นเขาประมาณ 5 ชั่วโมงนั้น โอรังอัสลีขับร้องเพลงตลอดเวลา โดยจะร้องเป็นช่วง ๆ ผลัดกันไป เมื่อคนหนึ่งหยุดร้อง อีกคนก็จะรับช่วงร้องต่อ เป็นระยะๆ เพลงของพวกเขามีลักษณะเหมือนเพลงแหล่ คือเหมือนเป็นการเล่าเรื่องของตนเอง ฟังดูคล้ายบทกลอน มีการใช้ถ้อยคำที่สละสลวย มักขึ้นต้นด้วยว่าคำ “เอ๋ย เอ้ย” ยาวบ้างสั้นบ้างตามจังหวะ เมื่อฟังไปได้สักพักจะได้ความรู้สึกว่าบทเพลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าแห่งนี้ และมันสร้างบรรยากาศได้ดีในการเดินทางในป่า
ชายหนุ่มโอรังอัสลีที่ร้องเพลงในคลิปนี้ชื่อว่า ดูกู เขาร้องเพลงในขณะพักระหว่างทาง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาดั้งเดิมของพวกเขาที่ไม่เหมือนภาษามาลายูแบบที่คุ้นชินกันในพื้นที่ เมื่อสอบถามว่าบทเพลงร้องนั้นเกี่ยวกับอะไรบ้าง ดูกูบอกว่าเขาร้องเพลงเกี่ยวกับการมาเยือนของเพื่อนใหม่ ซึ่งก็คือพวกนักวิจัยนั่นเอง เพลงของเขายังพูดถึงวิถีชีวิตและความรักในการอยู่อาศัยในผืนป่าแห่งนี้
“พระเจ้าของฉัน กำหนดให้ฉันอยู่ในที่ร่ม อยู่ในป่า ส่วนพระเจ้าของคุณ กำหนดให้คุณอยู่ในที่สว่าง ” รอญี ชายหนุ่มโอรังอัสลีอีกคนว่า เขาอธิบายวิถีชีวิตที่ผูกพันกับผืนป่าที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และไม่เคยคิดที่จะอยู่ในพื้นที่สว่าง หรือ “ข้างนอก” เช่นในหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโอรังอัสลีก็ไม่ได้ปฎิเสธเทคโนโลยี หนุ่ม ๆ โอรังอัสลีบางคนมีโทรศัพท์ใช้ บางคนไม่ได้ใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร หากแต่เพื่อจะฟังเพลง และพวกเขาฟังเพลงทุกแนว บางคนร้องเพลงไทยได้ เพลงส่วนหนึ่งที่ดูเหมือนพวกเขาจะชื่นชอบมากก็คือเพลงมลายูท้องถิ่น ในระหว่างที่พบกันนั้น พวกเขาร้องเพลงที่ชอบให้ฟัง ซึ่งแตกต่างไปจากบทเพลงที่เขาร้องในระหว่างเดินทางในป่าเขาอย่างสิ้นเชิง
- บทความที่เกี่ยวข้อง
- โอรังอัสลี 1
- โอรังอัสลี 2
- โอรังอัสลี 3