Written by 2:23 pm Patani

นักแทงปลาแห่งบางปู .. ปัตตานี

“แรก ๆ เจอปลากะพงจะสั่น ๆ ตื่นเต้น หลัง ๆ เฉย ๆ แต่จะตื่นเต้นกับน้ำหนักปลาถ้าได้ปลาตัวใหญ่ ตอนนี้ถ้าได้กระเบนตัวละสี่สิบ ห้าสิบกิโล ก็ยังมีอาการสั่น ๆ ตอนแทงยังไม่เท่าไหร่ พอแทงได้ปุ๊บอาการสั่นมาเลย จะหลุด ไม่หลุด ถ้าแต่ไม่ได้ตั้งแต่แรกไม่เป็นไร ”

แวฮาซัน หะยีสอเฮาะ หรือ ซัน ชายหนุ่มรูปร่างบึกบึน เล่าให้ Patani Notes ฟังหลังจากที่เขาออกเรือแทงปลาตอนกลางคืนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มิ.ย.) และได้ปลากะพงขาวมาสามตัวใหญ่ ๆ ปลาดุกทะเล และปลากระเบนมาหลายตัว ด้วยอาวุธอย่างเดียวของเขาคือ ฉมวก

แม้จะมีประสบการณ์ในการแทงปลามานาน แต่อาการ “สั่น” ด้วยความตื่นเต้นดูจะมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพียงแต่ว่าจะ “สั่น” เพราะเหตุต่างกันไปในแต่ละคราวเท่านั้น
จะว่าไปแล้วอาชีพของซันก็คือประมงพื้นบ้าน อยู่ที่ย่านบางปู อ่าวปัตตานี ห่างจากตัวเมืองไปราว ๆ สิบกิโลเมตร เขาเริ่ม “ออกเรือ” ตั้งแต่วัยรุ่นด้วยการเอาเรือของที่บ้านออกไปหาปลา ทั้ง ๆ ที่สมาชิกในบ้านทุกคนไม่มีใครทำประมงเลย
“ตอน ม.2 พอตกกลางคืนก็แอบเอาเรือของที่บ้านออกไป ช่วงแรก ๆ ก็โดนบ่น โดนด่าไป” เขาว่า “ผ่านไปสักเดือนสองเดือน พอมีของเข้าบ้านก็…ไปเถอะ” ที่บ้านของเขาไม่มีใครเอาเรือออกหาปลา มีเพียงเรือลำเล็ก ๆที่พ่อซื้อไว้ “พายเล่น” ในความเห็นของเขา

ซันบอกว่าพอเริ่มได้เงินจากการหาปลา ก็ลองทำประมงจนเรียกได้ว่าลองมาแล้วเกือบทุกชนิด ตั้งแต่แทงกุ้ง แทงปู ดักลอบอวน แต่เขาบอกว่าอย่างอื่นที่ลองมานั้นล้วน “ไม่ใช่ทาง”
“อวนผมก็เล่นตามเขา ทำเหมือนเขาทุกอย่าง แต่ผมเสียอวนไปสองชุดก็ยังจับปลาไม่ได้เท่าคนอื่น”
จนกระทั่งมาเจอกับการแทงปลาที่เขาบอกว่าอันนี้ “ใช่” สำหรับตัวเอง เขาเริ่มเรียนรู้การแทงปลาด้วยการไปเป็นลูกเรือคนอื่น

“แรกๆ ติดเรือคนอื่นไปก่อน ไปดูวิธีการว่าเขาทำยังไง แล้วก็เป็นลูกมือให้เขา ขับเรือให้เขาก่อน พอรู้จังหวะเราก็มาเปลี่ยนเป็นเรือของตัวเอง หาลูกน้องมาหนึ่งคน ในช่วงเดือนสองเดือนแรกก็ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง พอเริ่มรู้จังหวะ เทคนิคต่าง ๆ เริ่มมา”

“ความสามารถของเรามันถูกโฉลกกับการแทงปลา ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองหมดเลย มันต้องใจรักด้วย การเรียนรู้ในการออกไปหามันจะจับรายละเอียดต่าง ๆ ของงานได้โดยอัตโนมัติ แทงปลานี่อย่างเดียวเลยถ้าฝนไม่ตก ถ้าลมไม่แรง ไปได้ตลอดทุกคน นอกนั้นไปหาเอาดาบหน้า”

บริเวณของอ่าวปัตตานีที่ซันออกไปแทงปลา ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งไม่มาก และสภาพใต้น้ำจะเป็นดินโคลน สภาพของน้ำที่เหมาะนั้น เขาบอกว่า น้ำต้องขุ่นนิด ๆ พอมองเห็นตัวปลา แต่ก็ต้องสะอาดในระดับหนึ่งพอที่จะให้ปลามาแหวกว่ายได้ และที่สำคัญต้องคนแทงปลาต้องใจเย็น รอได้ ประสบการณ์ของการอยู่กับทะเลมา 17-18 ปีทำให้เขารู้ว่าจังหวะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

“รู้ว่าจังหวะไหนควรรอ จังหวะไหนควรแทง แรก ๆ มันก็ยาก เพราะว่าปลาไม่อยู่นิ่งให้เราแทงง่าย ๆ ต้องใช้ไฟส่องให้เห็นตัวปลา เริ่มด้วยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

“ปลามันวิ่ง” ซันใช้คำนี้ “พื้นดินเป็นโคลน แล้วน้ำประมาณแค่เข่า ปลาจะอยู่ติดพื้นดิน เราเรียนรู้ว่าเวลาปลามันว่ายน้ำ น้ำจะออกขุ่น ๆ จากการที่มันสะบัดหนีไป ก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตามปลาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอตัว พอเจอปุ๊บเราค่อยง้างฉมวกลงไป จังหวะที่ส่องปลาก็ไปเรื่อย ๆ มันมีจังหวะของมัน และมันยังแล้วแต่ชนิดของปลา ที่ง่ายที่สุดคือปลากระเบน มันว่ายน้ำจะแบนไป ส่วนยากสุดก็ปลากะพง”

“ปลาแต่ละชนิดมันวิ่งไม่เหมือนกัน ปลาดุกทะเลมันก็จะไปเรื่อย ๆ รอยขุ่นของมันจะเป็นเหมือนรางรถไฟ ตามง่าย แต่ปลากะพงที่ว่ายากเวลามันสะบัดทีหนึ่งรอยขุ่นเป็นกอง ไม่รู้ว่ามันไปทางไหน จนกว่าจะเจออีกกองของมัน แต่ละทีที่มันสะบัดจะห่างกันประมาณห้าเมตร”

ปัจจุบันแวฮาซันบอกว่าในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีเหลือคนแทงปลาแทบจะนับหัวได้ เขาบอกว่าเมื่อก่อนมีคนแทงปลาจำนวนมาก มีเรือประมาณยี่สิบถึงสามสิบลำที่ออกไปแทงปลา แต่คนแทงปลาในรุ่นนั้นปัจจุบันอายุ 50-60 ปีขึ้นไปและพวกเขาจะมีปัญหาทางสายตา ทำให้ไม่สามารถออกไปแทงปลาได้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจการจับปลาแบบนี้กันมาก เขาบอกว่ามันอาจจะยากถ้าหากไม่มีใจให้กับมันจริง ๆ

(Visited 217 times, 1 visits today)
Close