Written by 9:00 am Memoir

แรกเริ่มเสื้อกระสอบที่สนามหลวง

เลิกกันเลย เลิกกันเลย

สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด สำหรับที่กรุงเทพมหานครนั้น ได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัดในปี พ.ศ. 2491 ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณสนามไชยและย้ายตลาดนัดกลับไปอยู่ที่สนามหลวงในปี พ.ศ. 2501

ผมมีโอกาสสัมผัสและคลุกคลีกับบรรยากาศตลาดนัดสนามหลวงในปี พ.ศ. 2524 ด้วยเหตุที่ต้องไปเรียนกรุงเทพฯ และพักอยู่กับเพื่อนรุ่นพี่จากจังหวัดปัตตานีคนหนึ่งซึ่งไปขายเสื้อกระสอบ หรือ เสื้อผ้ามือสองที่ตลาดนัดสนามหลวง ในช่วงนั้นคำว่า “เสื้อมือสอง” ไม่เป็นที่รู้จัก เรียกแต่เสื้อกระสอบทั้งนั้น อาจจะด้วยที่เสื้อผ้าเหล่านั้นถูกอัดแน่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมบรรจุหีบห่อขนาด 30 กิโลกรัมในกระสอบป่านที่ซีลรัดอย่างแน่นหนาด้วยเหล็กรัด กลุ่มพ่อค้านำเข้าชาวมลายูมุสลิมจากจังหวัดปัตตานีที่นำเข้าเสื้อมือสองจากประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซียเข้าสู่ประเทศไทยจึงเรียกเสื้อผ้าที่บรรจุในนั้นว่า “บาญู ฆูนี (Baju Guni)” และแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่าเสื้อกระสอบ

ช่วงที่ผมไปช่วยเพื่อนรุ่นพี่ขายเสื้อกระสอบที่ตลาดนัดสนามหลวงนั้น นับเป็นรุ่นที่สองของกลุ่มพ่อค้ามลายูมุสลิมจากตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยกลุ่มบุกเบิกเท่าที่ทราบข้อมูลจากการพูดคุยกับ “แบลี” หนึ่งในสี่ของกลุ่มบุกเบิกทราบว่า มีพ่อค้าชาวบางปู 4 คนบุกเบิกมาขายที่สนามหลวงก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ทั้ง 4 คนนี้ไม่มีใครพูดภาษาไทยได้เลยสักคน ทำให้ผมซึ่งตอนแรกที่ตั้งใจจะไปช่วยเพื่อนขายของ กลับต้องไปเป็นลูกมือช่วย “แบลี” หนึ่งในสี่คนแรกที่มาบุกเบิกขายของแทน ด้วยทนอึดอัดฟังการใช้ภาษาไทยของแกไม่ไหว

แบลีร้องตะโกนขายของได้แค่ประโยคเดียวที่จำจากแม่ค้าสนามหลวงคือ “เลิกกันเลย เลิกกันเลย”

แบลีแกไม่ได้หมายจะชวนวิวาทหรือชวนใครเลิก ชวนใครหย่าร้างอะไรหรอก แกตั้งใจจะร้องเชิญชวนว่า “เลือกกันเลย เลือกกันเลย” ตามที่ได้ยินแม่ค้าแผงใกล้ ๆ ที่ร้องขายของว่า “เลือกกันเลยจ้า เลือกกันเลย” แต่สำเนียงมลายูพูดภาษาไทยของแบลีได้แค่นี้จริง ๆ ส่วนการบอกราคาสินค้า แกใช้เขียนกระดาษหรือไม่ก็กดตัวเลขบนเครื่องคิดเลขให้ลูกค้าดู ส่วนใหญ่ก็ต่อรองราคากับบนหน้าจอเครื่องคิดเลขกันอย่างสนุกสนานทั้งคนซื้อและแบลี

ตำบลบางปูก่อนที่จะเป็นแหล่งธุรกิจเสื้อกระสอบนั้นเป็นหมู่บ้านประมงที่มีสภาพเศรษฐกิจไม่ดีนัก ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในธุรกิจประมงเหมือนหมู่บ้านริมชายฝั่งทะเลปัตตานีทั่วไป บางปูในสมัยก่อน พ.ศ. 2524 มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากหมู่บ้านหรือตำบลอื่น คือ แทบทุกบ้านจะเลี้ยงเป็ดไข่ไว้ใต้ถุนบ้านเพื่อส่งขายในตลาด ผมไม่รู้ว่าปริมาณเป็ดในตำบลบางปูมีจำนวนกี่หมื่นกี่แสนตัว ที่รู้อย่างแน่ชัดคือกลิ่นขี้เป็ดฟุ้งไปทั้งตำบล

ต่อมาเมื่อมีการบุกเบิกนำเสื้อกระสอบจากประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย และนำไปขายที่ตลาดนัดสนามหลวงจนเกิดรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จึงทำให้เกิดการขยายตัวให้คนอื่นในตำบลบางปูหันมาทำธุรกิจนี้บ้าง รายย่อยที่ไม่มีทุนทรัพย์ก็เลิกทำประมง เลิกเลี้ยงเป็ด หันมาประกอบธุรกิจต่อเนื่องจากสินค้าเสื้อกระสอบ เช่น รับจ้างซักรีดเสื้อกระสอบ รับจ้างคัดแยกเกรดเสื้อ จนอาชีพเลี้ยงเป็ดสูญหายจากตำบลบางปู กลิ่นขี้เป็ดที่เคยฟุ้งเปลี่ยนมาเป็นกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและผงซักฟอกแทน

ช่วง พ.ศ. 2524 – 2525 ที่ผมคลุกคลีอยู่ที่ตลาดนัดสนามหลวงเกือบทุกสัปดาห์ ตั้งแต่ค่ำวันศุกร์จนถึงค่ำวันอาทิตย์ น่าจะเป็นช่วงที่พ่อค้าเสื้อกระสอบจากสามจังหวัดทำรายได้อย่างมหาศาลจากการผูกขาดการนำเข้าและขายส่งให้พ่อค้าขายปลีกรายอื่นที่สนามหลวง แม้กระทั่งพ่อค้ารายย่อยจากสามจังหวัดที่ขายปลีกอย่างเดียวก็สามารถทำกำไรได้ 10,000 – 40,000 บาทต่อสัปดาห์ ด้วยต้นทุนที่รับมาถูกกว่าพ่อค้านอกสามจังหวัดที่ต้องซื้อต่อจากกลุ่มพ่อค้าผู้นำเข้าชาวมลายูปัตตานี

พ.ศ. 2525 กรุงเทพฯ ได้ปรับพื้นที่สนามหลวงเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงมีการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และพยายามย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงออกไปยังที่ดินสวนจตุจักรด้านทิศใต้ของการรถไฟ โดยใช้ชื่อว่า ตลาดนัดพหลโยธิน

ช่วงที่กรุงเทพฯเปิดให้จับจองพื้นที่ตลาดนัดพหลโยธินนั้น เปิดให้จองพื้นที่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่กลุ่มพ่อค้าเสื้อกระสอบรายใหญ่และขนาดกลางจากสามจังหวัดที่ทำกำไรอย่างมากมายจากตลาดนัดสนามหลวงไม่มีใครไปจับจองพื้นที่ใหม่ที่ตลาดพหลโยธิน ด้วยความที่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ไม่คึกคักเหมือนตลาดนัดสนามหลวงที่อยู่ใจกลางพระนคร จึงแยกย้ายกันกลับบ้านเปลี่ยนไปลงทุนในอาชีพอื่น คงมีเพียงพ่อค้ารายเล็ก ๆ จากสามจังหวัดไม่กี่เจ้าที่ไม่มีทางเลือกจำต้องยอมไปจับจองพื้นที่ใหม่ แต่เพียงเวลาไม่กี่ปีตลาดพหลโยธินที่เงียบเหงาก็คึกคักเป็นทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตลาดนัดจตุจักร” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน

(Visited 302 times, 1 visits today)
Close