เล่าจนมาถึงตอนนี้ คงจะเห็นว่าในสังคมมลายูรอบๆตัวผม มีออแรจีนอหรือคนจีนอยู่ร่วมในชุมชนมลายูกันเยอะพอสมควร ไม่เฉพาะชาวจีนหรอกครับ มีชาวเกอลิง กาโบ ยาวอและซีแย อยู่ในชุมชนของเราด้วย ก็คงต้องเล่าว่าตลาดเมืองญาบะ (อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส) เกิดเป็นชุมชนเพราะการตัดเส้นทางรถไฟผ่าน ก่อนหน้านั้น ชุมชนจะอยู่ตอนในแถบภูเขาและอยู่ใกล้ๆกับแม่น้ำซึ่งเป็นทางสัญจรสายหลักเสียมากกว่า เมื่อมีทางรถไฟตัดผ่าน ก็มีการย้ายมาสร้างเรือนเป็นชุมชน เพื่อความสะดวกในการเดินทาง การขนย้ายสินค้าที่เป็นทรัพยากรจากแผ่นดินตอนในออกสู่โลกภายนอก ชาวจีนก็ย้ายมาตั้งร้านค้าหรือเป็นพ่อค้าคนกลางอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ เหมือนกับชาวเกอลิง (กะลิงค์หรือตามิลจากอินเดีย) คนกาโบ (ชาวปาทานและปุชโตจากรุงคาบูล) หรืออื่นๆที่ย้ายมาตั้งรกรากเพื่อช่องทางทางเศรษฐกิจกันแทบทั้งนั้น ต่างเปิดร้านหรือรับจ้างตามแต่ความถนัดและโอกาสของแต่ละคน ถ้าจะนับตามกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากคนมลายูซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นแล้ว ก็มีชาวจีนที่ย้ายมาตั้งรกรากที่ญาบะมากที่สุด รองลงมาคือซีแยและกาโบ
เยื้องจากร้าน “คินสิน” ซึ่งเป็นร้านบัดกรีของโกฟาเป็นแผงขายเนื้อของ “ลาลา” ชาวปาทานที่อพยพมาจากตอนเหนือของปากีสตานใกล้เมืองคาบูลของอัฟฆานิสตาน คนมลายูแถวบ้านผมเรียกกลุ่มคนพวกนี้รวมๆว่า “ออแรกาโบ” แปลว่าชาวคาบุล ลาลากาโบจะขายเนื้อในตอนเช้า เปิดแผงหน้าบ้านห้องแถวที่แกเช่าตั้งแต่เช้ามืด จนสายๆเมื่อขายเนื้อหมดแผง แกก็จะเปิดประตูห้องแถวเพื่อรับซื้อยางพาราตลอดทั้งวัน ถัดจากนั้นเป็นร้านถ่ายรูปของคนจีนและร้านขายของชำของโกจ๋าย ถัดจากร้านโกจ๋ายก็จะเป็นตลาดสดที่แบ่งเป็นแผงย่อยๆ มีของแทบทุกอย่างขาย ตั้งแต่อาหารสดยันอาหารแห้ง และมีร้านน้ำชาของ”เปาะจิ”ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของเซียนหมากรุกอยู่ด้านในสุดของตลาดสด
โกจ๋ายเป็นชาวจีนร่างท้วม ผิวขาว อายุประมาณห้าสิบ ชอบนุ่งกางเกงแพรคาดผ้าขาวม้าใส่เสื้อคอกลมห่านคู่ แต่ส่วนมากที่ผมเห็นแกจะไม่ใส่เสื้อเสียมากกว่า โกจ๋ายชอบนั่งถอดเสื้อประแป้งลายพร้อย นั่งอยู่ตรงโต๊ะเก็บเงินประจำร้านแกเสมอในเวลาที่ไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เวลาที่แม่ผมใช้ให้ไปซื้อน้ำมันรำข้าว ผมมักจะไปที่ร้านแก ไม่ใช่เพราะใกล้บ้านอย่างเดียว แต่ร้านโกจ๋ายมีขนม มีลูกกวาดสารพัดสีใส่ในโหลแก้ววางเรียงเป็นตับอยู่หน้าร้านแกด้วย เงินทอนจากการซื้อน้ำมันซึ่งเป็นอันรู้กันระหว่างผมกับแม่ว่ามันเป็นค่าจ้างในการเดินไปซื้อของ ก็จะแปรสภาพเป็นลูกกวาดร้านโกจ๋ายนี่แหละครับ
ผมและเด็กมลายูแถวนี้ไม่เรียกแกว่าโกจ๋ายเหมือนที่คนอื่นเรียกแกหรอกครับ เราเรียกแกว่า “โต๊ะแป๊ะบากา” โต๊ะแป๊ะมาจากคำว่า “อาแปะ” ที่แปลว่าลุงนั่นแหละครับ แต่ในภาษามลายูเรานิยมเติมคำว่า “โต๊ะ” นำหน้าคนที่สูงวัยหรือคนที่มีสถานะทางสังคมสูงเสมอ เป็นการเรียกแบบให้เกียรติที่เด็กเรียกผู้อาวุโส ส่วนคำว่า “บากา” คือ Tobaco ในภาษาอังกฤษที่แปลว่ายาสูบนั่นเองครับ แกชอบเอาบากา(ยาเส้น) หรือบางครั้งก็เอาฆาแม(สีเสียด)มาเหน็บอมในปากแกอยู่ตลอดเวลา จนปากแกแดงเถือก พวกเราเลยเรียกแกว่า “โต๊ะแปะบากา” แทนชื่อแกเสียเลย เรียกติดปากจนบางครั้งเราก็ลืมไปว่าแกชื่อโกจ๋า
คนจีนที่มาอยู่นานๆจนสนิทคุ้นเคยกับคนมลายู มักจะถูกคนมลายูตั้งชื่อใหม่เสียถ้วนหน้า หลายๆคนถูกเรียกเป็นสมญาตามลักษณะเด่นแบบที่พวกผมเรียก “โต๊ะแป๊ะบากา” และอีกหลายคนถูกตั้งชื่อใหม่ในภาษาอาหรับสำเนียงมลายูแบบที่เราใช้เรียกชื่อในหมู่คนมลายูมุสลิมที่ออกเสียงคล้ายๆชื่อเดิมของเขาเสียเลย ชื่อแบบจีนเรียกยากครับ คนมลายูไม่คุ้น เรียกลำบาก ก็เลยตั้งชื่อใหม่เพื่อให้เรียกได้ถนัดปากถนัดลิ้นแบบมลายู มีคนจีนคนหนึ่งที่ในหมู่ชาวจีนด้วยกันเรียก อาก๊กหรืออาก๊อกอะไรสักอย่าง คนมลายูก็ไปตั้งชื่อใหม่ว่า จีนอยะโก๊ะ (มาจากชื่ออาหรับว่ายะกู๊บหรือ Jacob ในไบเบิ้ล แต่ออกสำเนียงแบบมลายูว่า ยะโก๊ะ) อีกคนเรียกว่า จีนอมานะห์(Manaf)กันทุกคน จนไม่มีใครจำได้ว่าเดิมแกชื่ออะไร
ช่วงสมัยสงครามญี่ปุ่นหรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ชาวจีนโพ้นทะเลที่หนีภัยสงครามและภัยความอดอยาก มักจะยกลูกสาวที่เพิ่งเกิดใหม่ ยังเป็นทารกตัวแดงๆให้คนมลายูที่พอจะมีฐานะรับอุปการะ เลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม ส่วนใหญ่จะยกให้กับครอบครัวที่ไม่มีลูก ที่ญาบะบ้านผมมีเด็กลูกสาวชาวจีนที่คนมลายูรับอุปการะเป็นลูกถึง 4 ครอบครัว เด็กลูกสาวของชาวจีนทั้ง 4 คนนี้คนมลายูจดทะเบียนรับเป็นลูก เลี้ยงเหมือนลูกแท้ๆ ส่งเรียนหนังสือ หาสามีดีๆให้ รวมทั้งยกสมบัติที่มีทั้งหมดให้เป็นมรดกหลังจากที่ตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว
ครอบครัวผมมีชาวจีนมาอยู่ร่วมกับเราด้วยสองคน คนแรกเป็นชายชราที่เราเรียกว่า “ตะเย๊าะห์มิง” หนีภัยสงครามหรือความอดอยากจากเมืองจีนผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว แกเปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลาม ย่ารับเลี้ยงแกไว้ โดยให้อยู่บนเรือนกับครอบครัวเรา ตะเย๊าะห์มิงไม่มีสมบัติอะไรสักอย่าง ยกเว้นห่อผ้าเก่าๆที่แกหวงมาก ไม่ยอมให้ใครไปยุ่งกับห่อผ้านี้ เป็นห่อผ้าที่แกเก็บธงประจำตระกูลแซ่ของแกที่เขียนชื่อลำดับบรรพบุรุษเอาไว้ แกบอกพี่ผมว่าถ้าหายไปในยามที่ครอบครัวแตกฉานซ่านเซ็นแบบนี้ จะไม่มีใครรู้เลยว่าแกเป็นใคร แซ่อะไร
ครั้งหนึ่งที่พ่อพาตะเย๊าะห์มิงไปทำฮัจญ์ที่นครเมกกะ พ่อเล่าให้พวกเราฟังว่า ระหว่างที่นั่งเรือโดยสารกลางทะเลเพื่อที่จะไปยังท่าเรือเมืองเจดดาห์ ตะเยาะห์มิงได้เจอกับหนุ่มจีนที่ทำหน้าที่เป็นกลาสีเรือโดยสารลำนั้น คุยสืบประวัติจนรู้ว่าเป็นน้องชายของแกเอง ต่างคนต่างเอาธงประจำตระกูลแซ่มาให้ดูและกอดคอกันร้องไห้อยู่นาน พ่อฟังไม่รู้เรื่องหรอกเพราะแกคุยและร้องไห้เป็นภาษาจีน พ่อมารู้ก็เพราะตะเยาะห์มิงมาเล่ารายละเอียดให้ฟังทีหลัง ตะเยาะห์มิงกลับมาเสียชีวิตที่ญาบะและฝังศพที่กุโบร์ร่วมกับครอบครัวของเราอีกหลายๆคน
อีกคนเป็นเด็กหญิงที่ตา(น้าชายของแม่)ผมรับเลี้ยงเป็นลูก ตาของผมคนนี้ไม่มีลูก ก็เลยไปแจ้งที่อำเภอว่าเป็นลูกแกที่เพิ่งเกิด จดทะเบียนเป็นลูกสาวแท้ๆของแกเลยทีเดียว ตาตั้งชื่อแกว่า “มัรยัม” แต่เราเรียกแกในสำเนียงมลายูว่า “แม๊ะแย” แม่เล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆสัก 11-12 ขวบ แม๊ะแยเคยเป็นมาลาเรียอย่างรุนแรงจนขึ้นสมอง รอดตายมาได้แต่ก็ทำให้สติของแมะแยไม่ค่อยสมบูรณ์นัก เป็นสติที่เหลือของเด็กหญิงวัยสิบขวบ หลังจากที่ตาเสียชีวิต แม๊ะแยก็มาอยู่กับครอบครัวเรา อยู่ในความดูแลของแม่ แม่ดูแลแม๊ะแยเหมือนเป็นน้องสาวของแม่คนหนึ่ง พวกเราก็คุ้นเคยกับแม๊ะแยเหมือนเป็นญาติสนิทคนหนึ่งในครอบครัวเรา ทั้งที่แกสติไม่สมบูรณ์ แม่และบรรดาพี่สาวผมก็ขยันอาบน้ำ สระผม ตัดผมให้อยู่เสมอ จนแม๊ะแยเสียชีวิตด้วยวัยชราในเดือนรอมฎอนเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง แม๊ะแยะเสียชีวิตหลังจากแม่ผมเสียราว 5-6 ปี ศพของแม๊ะแยก็ฝังไว้ใกล้ๆกับกุโบร์ของแม่ผมนั่นเอง
ผมเผลอเล่าเรื่องในครอบครัวไปเสียไกล ทั้งๆที่ตั้งใจจะเล่าเรื่องคนจีนที่ตลาดญาบะ
ใกล้ๆกับสถานีรถไฟ เป็นย่านของคนจีนที่มาเปิดร้านขายของ เป็นห้องแถวเรือนไม้(Shop House) เรียงตลอดสองข้างทาง เรียกว่าปอฮงจือลาฆี(ย่านต้นมะขาม) มีต้นมะขามขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่ริมถนน แถวนั้นจะมีโรงเตี๊ยมอยู่สองสามโรงสำหรับให้เซลแมนและสายส่งหนังมาพัก เมื่อก่อนเคยมีโรงฝิ่นอยู่แถวนั้นด้วย แต่เลิกไปนานแล้วหลังจากที่ฝิ่นถูกประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตรงหัวมุมถนนย่านปอฮงจือลาฆีตรงข้ามกับโรงเตี๊ยม จะมีร้านน้ำชาของโกหย่วน ชั้นบนแบ่งเป็นห้องเล็กๆหลายห้อง ร้านน้ำชาของโกหย่วนขึ้นชื่อว่ามี“ออแร บีเละ” เป็นภาษามลายูแปลว่า นางประจำห้อง ซึ่งหมายถึงผู้หญิงขายตัวหรือโสเภณีนั่นเองครับ
อนงค์นางที่เป็นออแรบีเละนี่มีทั้งคนซีแย จีนอและมลายู จะมาจากไหนบ้างผมก็ไม่ทราบ แต่ไม่ใช่คนในพื้นที่ละแวกนี้แน่ๆ มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน แต่คงมีมานานแล้ว น่าจะพอๆกับการมีชุมชนตลาดญาบะ และคนต่างถิ่นที่เริ่มเข้ามามากขึ้น สนนราคาค่าบริการในการร่วมหอกับอนงค์นางเหล่านี้ เท่าที่ผมทราบจากเพื่อนรุ่นพี่คนจีนที่แวะเวียนมาฝึกวิทยายุทธ์บ่อยๆ ก็คือ 10 บาท อาจต่อรองจำนวนรอบและราคาได้ถ้าเป็นลูกค้าขาประจำและนวลนางเธอพอใจ
ต้องขออภัยที่ผมให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องออแรบีเละที่ร้านน้ำชาโกหย่วนได้ไม่มากนัก ร้านน้ำชาโกหย่วนเป็นสถานที่อโคจรสำหรับผม แม่ประกาศเตือนผมว่าห้ามโคจรผ่านร้านน้ำชาโกหย่วนโดยเด็ดขาด แม่บอกว่าที่นั่นมี“ออแรบีเละ” ตอนนั้นผมอายุไม่ถึง 10 ขวบเสียด้วยซ้ำ ยังไม่รู้ว่าออแรบีเละแปลว่าอะไร ถามแม่ แม่ก็แค่ตอบว่าร้านโกหย่วนมีผู้หญิงที่น่ากลัวอยู่หลายคน ซึ่งผมก็ไม่กล้าเดินผ่านแถวนั้น พยายามที่จะเลี่ยงการเดินผ่านหน้าร้านน้ำชาโกหย่วนให้มากที่สุด … ผมกลัวออแรบีเละกินผมครับ
.ร้านน้ำชาที่มีออแรบีเละของโกหย่วนมาพบจุดสิ้นสุดเมื่อกลุ่มมุสลิมที่มีทั้งมลายูและกาโบเริ่มขัดหูขัดตากับการมีซ่องอยู่ในชุมชน ก็เลยลงขันกันซื้อร้านน้ำชาของโกหย่วนในราคาที่ดีพอสมควร เป็นการใช้มาตรการทางสังคมล๊อบบี้หรือบังคับให้แกต้องขาย และขอร้องโกหย่วนว่าอย่าเปิดโรงน้ำชาแบบนี้อีก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พ่อเล่าให้ผมฟังเมื่อตอนที่ผมโตเป็นหนุ่มแล้ว
- บทความที่เกี่ยวข้อง
- เกิดบนเรือนมลายู 1 ริมครัวมลายู
- เกิดบนเรือนมลายู 2 บนโต๊ะกินข้าว
- เกิดบนเรือนมลายู 3 นิทานก่อนนอน
- เกิดบนเรือนมลายู 4 เรียนอัลกุรอาน
- เกิดบนเรือนมลายู 5 แตออ นาซิปาฆี
- เกิดบนเรือนมลายู 7 ฆีฮายี (ไปฮัจย์)
- เกิดบนเรือนมลายู 8 โต๊ะหะยีใหม่
- เกิดบนเรือนมลายู 9 เฝ้าดุซง
- เกิดบนเรือนมลายู 10 ฮารีรายอปอซอ