Jamal

Written by 10:44 am Featured, Patani Notes, World

จากอัฟกานิสถานถึงไทย ชีวิตที่ไร้ทางเลือก

จะมีตาลีบันหรือไม่มีมันก็เหมือนกันสำหรับฮาซารา

“ผมเป็นผู้ลี้ภัย”

ชายหนุ่มที่นั่งข้างหน้าแนะนำตัวว่ามาจากอัฟกานิสถาน หน้าตาที่ค่อนไปทางคนเอเชียทำให้เขาผิดแผกไปจากภาพลักษณ์ชาวอัฟกันทั่วไป 

จามาลบอกว่าเขาเดินทางมาเมืองไทยเมื่อปี 2558 เพื่อศึกษาต่อ แต่หลังจากนั้นก็ตัดสินใจขอสถานะผู้ลี้ภัย เราถามจามาลว่าทำไมจึงขอลี้ภัย คำตอบที่ได้รับยาวเหยียด ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องของจามาลโดยไม่เล่าเรื่องอัฟกานิสถาน 

จามาลเป็นคนเชื้อสายฮาซาราที่เป็นหนึ่งในสี่กลุ่มพลเมืองหลักของอัฟกานิสถานซึ่งประกอบด้วยปาทาน ทาจิค อุซเบ็คและฮาซารา แหล่งข้อมูลบางแหล่งยกให้ฮาซาราเป็นกลุ่มใหญ่อันดับสาม แต่ทั้งนี้ไม่มีตัวเลขจริงจัง สิ่งที่ชัดที่สุดจากแทบทุกแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับอัฟกานิสถานก็คือเรื่องที่ว่า ฮาซาราคือกลุ่มคนที่ถูกละเมิดหนักที่สุดและนานที่สุดเรียกว่านับศตวรรษก็ว่าได้ ทุกบันทึกเต็มไปด้วยเรื่องราวของฮาซาราที่ถูกเข่นฆ่าสังหาร ยึดทรัพย์สินที่ดิน ขับไล่ และผู้คนอพยพหนีตายออกจากดินแดนตนเอง  

จามาลเล่าว่าครอบครัวของเขาเองเป็นผู้อพยพ จากเดิมทีที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในเมืองโอรอสกัน (Orozgan/Urozgan province) ในภาคกลางของประเทศ วันหนึ่งชุมชนถูกกลุ่มตาลีบันโจมตี ผู้คนถูกสังหารและหมู่บ้านถูกเผาวอด คนที่เหลือรวมทั้งครอบครัวของเขาต่างหนีกระเจิดกระเจิง พ่อกับแม่ของจามาลอพยพไปอยู่เมืองเฮรัทที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ใกล้อิหร่าน ฮาซาราหลายคนหนีเข้าอิหร่าน บางคนหนีไปปากีสถาน 

แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า Orozgun หรือ Uruzgan เป็นเมืองที่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงในอดีต ในยุคสมัยที่คนแต่ละกลุ่มมีพื้นที่ของตัวเองชัดเจน ฮาซารามีดินแดนที่เรียกว่าฮาซาราจัทซึ่งอยู่ในภาคกลางของอัฟกานิสถานใกล้บามิยาน ในทศวรรษ 1880 อัฟกานิสถานมีผู้นำคืออับดูร์รามาน ข่าน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นชาติเช่นในปัจจุบัน เขาปราบปรามชนเผ่าต่างๆเพื่อสร้างเอกภาพ และฮาซาราเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านจึงเผชิญหน้ากับการถูกปราบอย่างหนัก เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่เมืองนี้และลงเอยด้วยการสังหารหมู่ฮาซารา เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนยังถกกันอยู่ว่า การเข่นฆ่าหนนั้นเข้านิยามคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ หลายฝ่ายอ้างว่าประชากรฮาซาราถูกกำจัดในหนนั้นถึง 60% ตัวเลขนี้แม้จะยังเป็นที่โต้แย้งแต่สิ่งที่มันบอกเล่าถึงผู้คนจำนวนมากที่ถูกสังหาร มันยังทำให้คนอีกเป็นจำนวนมากด้วยที่หนีตาย บ้างไปเหนือ แต่ส่วนใหญ่ไปยังพื้นที่ชายแดนใกล้อิหร่าน และปากีสถาน ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียและอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ สิ่งที่ทำให้การละเมิดฮาซารายกระดับก็คือการที่อับดูร์รามานดึงเอาเรื่องศาสนาเข้ามาเป็นเงื่อนไขสนับสนุน ฮาซารานั้นเป็นมุสลิมชีอะห์ ในขณะที่ประชากรกลุ่มอื่นไม่ว่าปาทาน ทาจิค อุสเบ็ค ล้วนเป็นสุหนี่ วาทกรรมสร้างความชอบธรรมเกิดขึ้นด้วยการบอกว่า ชีอะห์ไม่ใช่มุสลิม ไม่เพียงฆ่าได้แต่เอาไปขายเป็นทาสได้ด้วย 

สิ่งที่ทำให้การละเมิดฮาซารายกระดับก็คือการที่อับดูร์รามานดึงเอาเรื่องศาสนาเข้ามาเป็นเงื่อนไขสนับสนุน ฮาซาราเป็นมุสลิมชีอะห์ ส่วนปาทาน ทาจิค อุสเบ็ค ล้วนเป็นสุหนี่ วาทกรรมสร้างความชอบธรรมเกิดขึ้นด้วยการบอกว่า ชีอะห์ไม่ใช่มุสลิม ไม่เพียงฆ่าได้แต่เอาไปขายเป็นทาสได้ด้วย 

ยังมีข้อมูลของการสังหารหมู่ปรากฎอีกหลายครั้ง มีความรุนแรงทั้งต่อคนกลุ่มใหญ่และเล็กจากตาลีบันและกลุ่มอื่นๆ หลังการสังหารหลายครั้งมีการเข้ายึดครองที่ดิน มีแหล่งข้อมูลหลายแห่งอ้างว่ามีการขายฮาซาราเป็นทาส ผู้หญิงฮาซาราถูกจับแต่งงานกับมุสลิมสุหนี่เพื่อกลืนชาติพันธุ์ มันทำให้หลายคนในกลุ่มฮาซาราอพยพออกจากดินแดนของตัวเอง ฮาซารากลุ่มใหญ่กลายเป็นคนพลัดถิ่นอาศัยอยู่นอกประเทศ ในบางแห่งเช่นปากีสถาน เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศ ฮาซาราในปากีสถานก็ตกเป็นเป้าหมายถูกเข่นฆ่าและสังหารด้วย ที่หนึ่งที่ฮาซาราอพยพไปอาศัยอยู่จำนวนมากคือในกรุงคาบูล แต่พวกเขาอยู่ในที่ที่ยากจนและกลายเป็นคนด้อยโอกาส คนที่จากบ้านไปทำงานต่างเมืองมักจะไม่กล้ากลับบ้านเพราะกลัวจะถูกดักทำร้ายกลางทาง หรือถูกอุ้ม ฆ่า ว่ากันว่าถนนสายหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกรุงคาบูลได้รับการขนานนามเป็น The road of death หรือถนนสายมรณะ สำหรับฮาซารา ดังนั้นชุมชนเก่าของพวกเขาในที่มั่นเดิมภาคกลางจึงโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆเพราะผู้คนกลับบ้านไม่ได้

เราถามจามาลว่า ทำไมครอบครัวเขาไม่หลบหนีเข้าอิหร่านเหมือนคนอื่นๆ เพราะอิหร่านเป็นพื้นที่ของมุสลิมชีอะห์ จามาลนิ่งไปอึดใจก่อนจะบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆหลายคนก็คงไม่ไป เพราะแม้แต่ในอิหร่าน พวกเขาก็เป็นได้เพียงผู้หนีภัยเท่านั้น 

ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกประเทศ จามาลบอกว่าการเลือกปฏิบัติทำให้ในทางสังคมพวกเขาอยู่ในสถานะด้อยกว่าคนอื่นเสมอมา

“ฮาซาราส่วนใหญ่ต้องทำงานรับจ้าง สถานะทางสังคมของพวกเราถือว่าต่ำสุด เมื่อก่อนเราไม่มีสิทธิความเป็นพลเมือง ทำงานราชการไม่ได้ จะเป็นตำรวจ ทหาร หรือเป็นนักการเมืองในตำแหน่งสำคัญๆไม่ได้ หรือถ้าได้ก็น้อยมาก นับครั้งได้ในประวัติศาสตร์” จามาลเห็นว่ามีช่วงเวลาแค่สั้นๆที่คนเชื้อสายฮาซาราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานการเมืองระดับบน ช่วงหนึ่งคือภายใต้การปกครองของกษัตริย์ซาเฮียร์ ชาห์ แต่แม้ในช่วงดังกล่าว ฮาซาราก็ยังโดนข่มเหงตลอดมา

อัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลกษัตริย์ซาเฮียร์ ชาห์ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นยุคที่ประเทศเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตย มีการริเริ่มใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 1964 หรือ 2507 และมีการปฏิรูป แต่ในปี 1973 หรือ 2516 ซาเฮียร์ ชาห์ถูกยึดอำนาจโดยโมฮัมเหม็ด ดาอุด ข่าน ผู้ซึ่งที่จริงก็เป็นญาติกันนั่นเอง เมื่อยึดอำนาจแล้วข่านได้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ จัดตั้งอัฟกานิสถานเป็นสาธารณรัฐและเขากลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ แนวคิดสำคัญของข่านคือรวบรวมดินแดนของปัชตุนหรือปาทานเข้าด้วยกัน อีกห้าปีถัดมาเขาถูกรัฐประหารและถูกสังหาร อัฟกานิสถานได้รัฐบาลสังคมนิยมภายใต้นูร์ โมฮัมหมัด ทารากี ตามมาด้วยยุคของการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันในหมู่นักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างหนัก มีการเปลี่ยนผู้นำหลายครั้ง แต่รัฐบาลไม่ได้รับความนิยมและนโยบายแนวสังคมนิยมถูกประชาชนหลายกลุ่มต่อต้านโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ฝ่ายต่อต้านมาจากการรวมตัวกันอย่างหลวมๆของกลุ่มมูจาฮีดีนหลายกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯและอีกหลายประเทศรวมทั้งมุสลิมอีกมากจากทั่วโลกที่เดินทางไปช่วยรบ ปี 2519 สหภาพโซเวียตยกกำลังเข้าสู่อัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายซ้ายในเวลานั้นในการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้าน สหภาพโซเวียตเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลคนใหม่เพื่อแก้ไขสถานการณ์ อัฟกานิสถานกลายเป็นสนามรบภายใต้บรรยากาศสงครามเย็นระหว่างตะวันตกกับค่ายคอมมิวนิสต์ สองฝ่ายต่อสู้กันกว่าสิบปีจนในที่สุดสหภาพโซเวียตถอนตัวในปี 1989 หรือ 2532 และอีกสี่ปีต่อมากลุ่มมูจาฮีดีนโค่นล้มรัฐบาลลงได้ แต่พวกเขาขัดแย้งกันจนไม่อาจใช้อำนาจทางการเมืองร่วมกันได้และลงเอยด้วยการต่อสู้กัน มันทำให้อัฟกานิสถานเข้าสู่สภาพสงครามกลางเมือง สองปีถัดมากลุ่มตาลีบันปรากฎตัวยึดพื้นที่ต่างๆได้และยึดได้เป็นส่วนใหญ่ในที่สุด การขึ้นสู่อำนาจของตาลีบันได้รับการต้อนรับจากผู้คนทั่วไปเพราะคำมั่นสัญญาที่ว่าจะทำให้ประเทศสงบและกลับสู่สันติภาพเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับประชากรที่เหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายสงคราม แต่หลังจากนั้นตาลีบันก็เริ่มใช้มาตรการแข็งกร้าวในการปกครอง 

ก่อนที่ตาลีบันจะยึดอำนาจ ได้หลอกล่อจนจับกุมผู้นำกลุ่มฮาซาราที่รวมอยู่ในกลุ่มพันธมิตรมูจาฮีดีน คืออับดุล อาลี มาซาลี เขาผู้นี้มีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลสังคมนิยม มาซาลีเป็นคนที่เสนอให้ตั้งสหพันธรัฐ ให้เสรีภาพความเท่าเทียมกับทุกกลุ่มประชากร รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้หญิง มาซาลีถูกตาลีบันทรมานและสังหาร 

มาซาลี ผู้นำฮาซาราที่ถูกสังหารโดยตาลีบัน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหลายคนรวมทั้งจามาล เขาหยิบคำพูดของมาซาลีมาพูดต่ออีกครั้ง เขาบอกว่าฮาซาราต้องการความเสมอภาค ความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ มันคือการได้เป็นพลเมืองที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้ความเมตตาปรานีของใครแต่มีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนอื่นๆ “เขาบอกว่าเราไม่ต้องการให้คนจับปลามาให้ เราต้องการจะจับเอง เราไม่ต้องการให้ใครมาตั้งชื่อให้ เราอยากจะตั้งชื่อตัวเอง” 

แต่ความฝันเช่นนั้นดูเหมือนจะยังไกลสุดเอื้อม ในยุคสมัยของตาลีบัน มีประวัติใช้ความรุนแรงกับฮาซาราอย่างหนักไม่แพ้ยุคก่อนหน้า

การขึ้นสู่อำนาจของตาลีบันได้รับการต้อนรับจากผู้คนทั่วไปเพราะคำมั่นสัญญาที่ว่าจะทำให้ประเทศสงบและกลับสู่สันติภาพ ถือเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับประชากรที่เหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายสงคราม

“ผมเกิดท่ามกลางเสียงปืน” เขาว่า เมื่อถามว่าเกิดเมื่อไหร่แน่จามาลกลับบอกว่าไม่แน่ใจ “แม่บอกว่าผมอายุสามสิบห้า แต่เราไม่มีเอกสารสูติบัตรของจริง แม่ก็ได้แต่เดา ถ้าดูตามเอกสารมันจะบอกว่าอายุสามสิบแปด” ซึ่งนั่นก็คือช่วงที่กำลังมีการต่อสู้ระหว่างมูจาฮีดีนและรัฐบาลคอมมิวนิสต์ มันคือเวลาที่ตาลีบันเข้ายึดพื้นที่ต่างๆรวมทั้งเมือง Orozgun หรือ Uruzgan บ้านเก่าของครอบครัวจามาลก่อนจะยึดอำนาจการเมืองได้ในช่วงเวลาของการรบพุ่งกันเองระหว่างกลุ่มมูจาฮีดีน ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่แน่ แต่ที่แน่ชัดคือชีวิตวัยเด็กของจามาลอยู่ในช่วงที่อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้ตาลีบัน ความเป็นเด็กนั่นเองน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาผ่านห้วงเวลาเหล่านั้นมาได้

“ผมเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาของชีอะห์ แต่มีตาลีบันเป็นคนควบคุม ไม่มีวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรืออะไรอื่น เรียนศาสนาอย่างเดียว”  เขาถูกบังคับให้เรียนศาสนาตามแบบสุหนี่และละหมาดแบบสุหนี่ “ผมก็เลยรู้ทั้งสองเรื่อง” เขาว่า และว่าในเรื่องการเรียนหนังสือ พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทำได้เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น

จามาลเล่าว่าไม่ไกลจากโรงเรียนมีโรงหนังโรงหนึ่ง วันหนึ่งสมาชิกตาลีบันบอกให้นักเรียนไปทุบทำลายโรงหนังแล้วให้นำก้อนอิฐ หิน ปูนกลับไปที่โรงเรียนโดยบอกว่าเพื่อจะสร้างมัสยิด “พวกเราดีใจมาก ไม่ได้คิดอะไรเพราะเด็กๆก็เบื่ออยู่แล้ว ได้โอกาสหนีเรียน เราก็พากันไปทุบโรงหนัง” 

ตาลีบันยึดหลักหลายอย่าง เช่นจามาลเล่าว่า โดยทั่วไปพวกเขาจะไม่มองหน้าผู้หญิง ถือว่าเป็นบาป และการดูหนังฟังเพลงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องห้ามเพราะถือว่าขัดหลักศาสนาพวกเขาจึงไม่ต้องการโรงหนัง แต่คนไม่น้อยก็ยังลักลอบดูหนังกันในบ้าน การดูหนังมักจะเป็นไปอย่างทุลักทุเลเพราะไฟฟ้ามีจำกัดต้องใช้แบตเตอรี่ พวกเขาปิดห้องเอาผ้าคลุมหน้าต่างแล้วแอบดูหนังกัน หนังที่ได้รับความนิยมก็คือหนังอินเดียเพราะเป็นสิ่งเดียวที่พอจะหาได้จากตลาดมืด เป็นหนังที่อัดมาจากทีวีหรือสื่ออื่นๆและเอามาขายต่อในคุณภาพที่ต้องบอกว่าสมกับราคา แต่เมื่อมีสินค้าแค่นั้นความนิยมก็แน่นอนว่ามีมากชนิดที่จามาลบอกว่าหลายคนเริ่มรู้จักภาษาอินเดียก็เพราะการดูหนังเหล่านั้น แต่ถ้าถูกจับได้มีโอกาสถูกลงโทษอย่างหนักจากตาลีบัน และแทบจะไม่มีโอกาสได้แก้ตัว  “ตาลีบันมีระบบการตัดสินที่พวกเขาทำกันเอง ไม่ต้องซักถาม เขาจะเอาคนโดนจับไปเดินรอบชุมชนแล้วก็ลงโทษ เช่นถ้าพบว่าคุณมีวิดีโอและเขาคิดว่าคุณขโมยมา พวกเขาจะบังคับให้ยอมรับว่าขโมยแล้วก็ตัดมือ”

ตาลีบันอยู่ยาวถึงหกปี ในช่วงนี้พวกเขาไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด  “เราอยู่เพราะเราไม่มีทางเลือก เราไม่มีเอกสาร” เอกสารที่ว่านี้เขาบอกว่าฮาซาราจะได้มาอย่างยากเย็น แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้หลายคนมีโอกาสเดินทางได้ ในครอบครัวเขาจามาลอธิบายว่าคนที่ไม่มี “เอกสาร” ก็คือแม่ ตัวเองนั้นจามาลบอกว่าเขามีเอกสารหรือมี “บัตร” ที่มีได้ก็เพราะพ่อของเขามี หากพ่อไม่มี จามาลก็จะไม่มีเช่นกัน ความข้อนี้อธิบายว่าเหตุใดในเวลาต่อมาเขาจึงออกมาจากประเทศได้ แต่จามาลออกมาในจังหวะเวลาที่ประเทศกำลังมีเค้าเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ในระหว่างการต่อสู้ของกลุ่มมูจาฮีดีนกับรัฐบาลในร่มเงาของสหภาพโซเวียต หนึ่งในบุคคลที่สนับสนุนกลุ่มมูจาฮีดีนซึ่งในเวลาต่อมามีบทบาทอย่างสำคัญก็คือโอซามา บินลาเดน ซึ่งต่อมาเดินทางเข้าอัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุนตาลีบัน ในยุคที่สหรัฐฯยังสนับสนุนการต่อสู้ของมูจาฮีดีนกับฝ่ายซ้าย พวกเขาทั้งหมดยังเป็นพันธมิตรกัน ว่ากันว่าการเมืองเบื้องลึกระหว่างบินลาเดน  ตาลีบันและสหรัฐฯมีเรื่องหลายซับหลายซ้อนและจามาลเชื่อว่าบินลาเดนล่วงรู้หลายเรื่องที่เป็นเรื่องวงใน

“เหตุการณ์ 911 ผมว่าไม่มีใครรู้แน่ว่าใครทำ” 911 คือเหตุการณ์โจมตีอาคารแฝดเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ในสหรัฐฯเมื่อปี 2001 หรือ 2544 ความเห็นของจามาลไม่ต่างไปจากมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่มองเหตุการณ์นี้อย่างเคลือบแคลง จามาลมีข้อสงสัยเพราะเขาคิดว่าเรื่องนี้กลายเป็นข้ออ้างที่สหรัฐฯใช้ในการโจมตีอัฟกานิสถานในตอนนั้น คือเพื่อกำจัดบินลาเดนและกลุ่มอัลไคด้า ซึ่งสหรัฐฯและพันธมิตรทำสำเร็จภายในเวลาเพียงสามเดือนหลังจากที่เริ่มปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน ตาลีบันล่มสลายและอัฟกานิสถานเหมือนจะเหมือนจะก้าวเข้าสู่จุดสตาร์ทใหม่ในเส้นทางที่จะเป็นประชาธิปไตยในช่วงปลายปี 2544

จามาลเล่าถึงจุดเปลี่ยนเมื่อตาลีบันหลุดจากอำนาจ เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจนผู้คนงงงัน “ตอนกลางคืนเรายังมีตาลีบัน พอถึงตอนกลางวันพวกเขาไม่อยู่แล้ว” ผู้คนโห่ร้องดีใจ “คุณรู้มั้ยสิ่งแรกที่พวกเขาทำคืออะไร” เขาบอกว่าบรรดาผู้ชายต่างพากันไปโกนหนวด เนื่องจากก่อนหน้านั้นตาลีบันไม่อนุญาตให้ผู้ชายโกนหนวดเคราด้วยถือว่าขัดหลักอิสลาม “พอโกนหนวดกันหมดก็ปรากฎว่าเราจำกันไม่ได้” เขาว่า “นั่นคือสิ่งแรกที่ผมเห็นหลังตาลีบันล่ม”

การเปลี่ยนแปลงที่เขาจำได้ถัดมาคือการที่วิทยุและทีวีกลับเข้ามามีบทบาทในชีวิตอีกครั้ง รวมทั้งเพลงและหนัง ก่อนหน้านั้นตาลีบันไม่อนุญาตเพราะถือว่าการฟังเพลงและดูหนังถือเป็นบาป ส่วนเรื่องข่าวนั้นยอมให้ได้ แต่ “เราไม่เห็นคนในทีวี” ยุคหลังตาลีบันพวกเขาได้วิทยุกลับมาพร้อมทีวีขาวดำ เทปคาสเซท และเสียงเพลง 

ตาลีบันล่มสลาย ผู้คนโห่ร้องดีใจ พวกผู้ชายพากันไปโกนหนวด เนื่องจากก่อนหน้านั้นตาลีบันไม่อนุญาตให้ผู้ชายโกนหนวดเคราถือว่าขัดหลักอิสลาม พอโกนหนวดกันหมดก็ปรากฎว่าเราจำกันไม่ได้

ยุคหลังตาลีบันเป็นยุคที่หลายคนเชื่อว่าอัฟกานิสถานน่าจะดีขึ้นในเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ฮามิด คาไซได้เป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์ ต่อมามีการจัดเลือกตั้งและคาไซก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อ ประเทศเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงได้ออกทำงาน ได้เข้าศึกษา สถานการณ์ในยุครัฐบาลใหม่นำพาความหวังให้หลายๆคน จามาลได้ทำงานหลายอย่างในแวดวงการทำสื่อ แต่ในระหว่างนี้ข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ยังปรากฎก็คือความรุนแรงต่อฮาซารายังคงดำเนินต่อไป กลุ่มตาลีบันที่แม้จะหลุดจากอำนาจแต่ยังไม่ได้หายไปไหน ยังมีผู้คนและหวนกลับคืนสู่ปฏิบัติการในเวลาอันไม่นานนัก ยังมีกลุ่มที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์กับไอซิสที่เรียกกันว่าไอซิสเคในอัฟกานิสถาน ทั้งสองกลุ่มล้วนใช้แนวคิดเข้มงวดในเรื่องศาสนาและต่างยึดฮาซาราเป็นเป้าหมาย การสังหารหมู่ อุ้มฆ่า ทำร้าย ทรมาน ฯลฯ ยังดำเนินต่อไปภายใต้รัฐบาลใหม่ “ไอซิส ตาลีบันจะทำอะไรกับพวกเราก็ได้ จะจับจะทรมาน มันไม่มีใครช่วยเราได้ และเรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นความลับอะไร ทุกคนรู้กันหมด”

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยเรื่องของการละเมิดสิทธิ หนึ่งในรายงานที่หาอ่านได้จากในเว็ฐไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหรือ OHCHR เขียนโดยนักวิจัยด้านสันติภาพ มูฮัมหมัด ฮุสเซน ฮัสรัท (Mohammad Hussain Hasrat) เมื่อปี 2019 (2562) รายงานเน้นเฉพาะการละเมิดสิทธิฮาซาราในช่วงหลังตาลีบันและชี้ว่า ฮาซาราถูกทำให้บาดเจ็บล้มตาย ถูกสังหารในหลายรูปแบบทั้งโจมตีด้วยระเบิดในสถานที่ต่างๆรวมทั้งสถานที่สาธารณะ สถานศึกษา สังหารแบบเจาะจงตัว ตัดหัว ผู้ลงมือสำคัญคือกลุ่มตาลีบันที่หวนกลับมาใหม่ กับกลุ่ม Islamic State- Khorasan Province ไอพีเค หรือที่เรียกกันว่าไอซิสเค รายงานให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเวลาสิบปีคือ 2009 -2018 (2552-2561) ไว้ไม่ต่ำกว่าเจ็ดหมื่นคน หนีภัยไร้ที่อยู่อีกนับหมื่นครอบครัว ตาลีบันกับไอซิสจับมือกันโจมตีฮาซาราไม่ต่ำกว่าสามสิบครั้ง กลุ่มยังใช้วิธีบล็อคเส้นทาง ดักทำร้าย สังหารหรือลักพาตัว วิธีการนี้ทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของฮาซาราได้ อีกด้านก็ทำให้ชุมชนฮาซาราโดดเดี่ยวช่วยตัวเองไม่ได้ ยิ่งกลุ่มตาลีบันเข้มแข็งมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่ฮาซาราจะถูกละเมิดสิทธิมีหนักกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงความพยายามที่จะ “กลืน” กลุ่มฮาซารา เช่นมีการบังคับแต่งงาน เป็นต้น

จามาลได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าตาลีบันจะอยู่หรือไป สำหรับฮาซารา อัฟกานิสถานเป็นที่ที่อันตรายอย่างยิ่ง “ฮาซาราโดนเลือกปฏิบัติตลอดไม่ว่าจะมีตาลีบันหรือไม่มี ไม่กี่เดือนที่แล้วนี้ก็ยังมีคนร้องเรียนเรื่องสังหารหมู่ฮาซารา จะมีไอซิส มีตาลีบัน หรือไม่มีมันก็เหมือนกัน รัฐบาลไม่ได้ปกป้องฮาซารา” 

“จะตาลีบันหรือไม่ใช่ตาลีบัน ก็พวกเดียวกัน พวกเขาคือปาทาน มันเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรแตกต่าง”

เขาเห็นว่าในยุคที่อัฟกานิสถานได้รัฐบาลที่ไม่ใช่ตาลีบัน ข้อดีคืออาจมีการแบ่งปันอำนาจการเมืองให้คนกลุ่มอื่นๆบ้าง แต่กลุ่มฮาซาราได้พื้นที่ทางการเมืองน้อยที่สุดในความเห็นของเขา เขาบอกว่า นักการเมืองเชื้อสายปาทานอ้างว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นปาทาน “แต่พวกเขาไม่เคยสำรวจจำนวนประชากรจริงจัง ทุกครั้งที่มีแผนว่าจะทำ มันจะถูกชะลอหรือลดความสำคัญลง เอาเข้าจริงๆไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มไหนมีเท่าไหร่แน่”

การทำร้ายฮาซาราเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้รัฐบาลใหม่และภายใต้ผู้นำหลายคน สำหรับจามาล ไม่ปรากฎว่าจะมีใครสืบสวนสอบสวน “รัฐบาลไม่ได้ปกป้องเรา” เขาย้ำ เขาบอกว่ามีฮาซาราหลายคนออกนอกประเทศในห้วงเวลาหลังยุคตาลีบันเช่นเดียวกันกับตัวเขา

จามาลเป็นห่วงพ่อกับแม่ของเขาที่อายุมากขึ้นทุกวัน เขาเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้พ่อมีอาการโรคหัวใจ โชคดีที่ตอนนี้เริ่มเดินได้อีกครั้ง แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วแม่ติดโควิด ในระหว่างที่คุยกันผ่านโซเชียลมีเดียหนหนึ่ง “แม่บอกว่า แม่อยากจะเห็นหน้าผมแบบใกล้ๆ ขอแค่อีกสักครั้งหนึ่งเท่านั้นในชีวิต” 

จามาลโชว์รูปญาติๆของเขาให้ดู ผู้คนครอบครัวใหญ่นั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกัน เขาชี้ให้ดูรูปพ่อกับแม่ พี่ชายและพี่สะใภ้ มีรูปหลานสาวคนหนึ่งที่เป็นวัยรุ่นและกำลังโตขึ้นทุกวัน เขามีอาการวิตกเมื่อพูดถึงญาติพี่น้อง 

เราถามจามาลว่าเวลาพูดถึงบ้าน เขาคิดถึงอะไร  

“มันเป็นที่ที่สวยงามมาก” เขาเล่า “pure milk pure butter” ไม่ว่านมหรือเนยล้วนของแท้ “ผมจำได้ว่าสมัยเป็นเด็ก ตอนเช้าๆแม่จะทำอาหาร แม่จะทำขนมปัง กลิ่นหอมไปทั้งบ้านผมยังจำได้ ส่วนผมไปรีดนม ทำเนย ผมมีแกะ มีสัตว์เลี้ยงมากมาย หน้าหนาวอากาศหนาวมากขนาดติดลบสิบหรือสิบห้าองศาในหมู่บ้านที่ผมอยู่ หิมะตกหนักมาก ภาพที่ติดตาผมก็คือภาพหมาวิ่งไล่ตามหมอกในวันที่อากาศหนาวจัด”

“เราทั้งหมดอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน บ้านทำจากดิน ในบ้านเราจะมีท่อใต้ดินต่อจากครัว เวลาทำอาหาร ความร้อนจะผ่านไปตามท่อ มันทำให้ห้องอุ่นในช่วงหน้าหนาว”  

สมาชิกครอบครัวของเขาหลายคนหลบหนีกันไปคนละทิศคนละทาง จึงทำให้พวกเขากระจายตัวกันอยู่หลายที่และไม่มีโอกาสได้พบกันมานานหลายปีแล้ว จามาลไม่พูดเรื่องรายละเอียดในอดีต ราวกับว่ามีบาดแผลบางอย่างที่ไม่อยากแตะ แต่ก็ไม่มีเรื่องของอนาคตอยู่ในบทสนทนาเช่นกัน ไม่มีเรื่องการจะได้กลับไปพบญาติ “ผมเองยังไม่รู้เลยว่าจะได้ไปไหน วางแผนชีวิตไม่ได้ ผมกลับประเทศไม่ได้ ตอนนี้ผมเป็นผู้ลี้ภัย คือมันเหมือนไม่มีอนาคต ทั้งๆที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ทุกๆวันที่ผ่านไป 24 ชม. ผมได้แต่ดูนั่นดูนี่เพื่อให้เวลาหมดไป ตกตอนกลางคืนก็นอนไม่หลับ มันตื่นตลอดเวลา” 

เขาบอกว่ามันผ่านมาหกปีแล้ว “ไม่มีอะไรที่ผมจะทำได้นอกจากรอเท่านั้น และก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปจนถึงเมื่อไหร่”

ลิงค์รายงานสถานการณ์สิทธิhttps://www.ohchr.org/Documents/Issues/Racism/SR/Call/mhhasrat.pdf

(Visited 152 times, 1 visits today)
Close