Written by 8:44 am Memoir

โอรังอัสลี 1

วิจัยโอรังอัสลี ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ร่วมทำงานวิจัยสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโอรังอัสลีในประเทศไทย ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็คือพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดยะลาและนราธิวาสเท่านั้น เพราะจังหวัดปัตตานีไม่มีพื้นที่ใดที่มีโอรังอัสลีอยู่อาศัย ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลและส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีพื้นที่ภูเขาและป่าดิบไม่มากนักเมื่อเทียบกับจังหวัดยะลาและนราธิวาสที่มีพื้นที่หลาย ๆ อำเภอติดกับป่าดิบในประเทศมาเลเซีย พื้นที่ที่เป็นที่รู้จักก็คือป่าฮาลาบาลาซึ่งเป็นป่าที่เชื่อมต่อกับป่าเบอลุม(Belum) เป็นพื้นที่ป่าที่โอรังอัสลีอยู่มานานนับพันนับหมื่นปีก่อนที่ใคร ๆ ชาติพันธุ์ไหนจะมาตั้งรกรากอยู่บนคาบสมุทรมลายูแห่งนี้เสียอีก อันนี้นักวิชาการทางด้านมานุษวิทยาและโบราณคดีเขาว่าอย่างนั้นครับ ส่วนในพื้นที่แถบพัทลุงและสตูลที่ถูกแยกเรียกเป็นชาวมันนิ ซึ่งไม่รวมในงานวิจัยชิ้นนี้

เรื่องการเรียกชื่อกลุ่ม, เผ่าหรือชาติพันธุ์(Ethnic) เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการทำงาน เพราะชื่อต่าง ๆ ที่ทั้งเป็นคำที่ถูก อธิบายว่าเป็นการเหยียด(Racist)หรือไม่เหยียดในการเรียกพวกเขาไม่ว่าจะเป็นโอรังอัสลี ซาไก มันนิ เงาะป่า เซมัง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นชื่อที่คนพื้นราบจากภายนอกไปเรียกเขาทั้งสิ้น แต่เพื่อความสะดวกและเข้าใจตรงกันก็จะขอเรียกพวกเขาว่าโอรังอัสลีไปก่อน ผมเคยถามหัวหน้าโอรังอัสลีกลุ่มหนึ่งว่าพวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่ม เป็นเผ่าหรือเป็นชาติพันธุ์อะไร ผลที่ได้คือเขาไม่เข้าใจคำถามนี้ เขาถามกลับมาว่าทำไมต้องมีชื่อเผ่าหรือชื่อชาติพันธุ์

ตอนที่ตัดสินใจร่วมงานนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นงานที่ไม่ยากนัก ด้วยผมคุ้นเคยกับป่าแถบนี้พอสมควร เมื่อก่อนผมเข้าป่าแถบนี้บ่อย ประกอบกับครอบครัวผมมีความสัมพันธ์กับโอรังอัสลีกลุ่มหนึ่งมาตั้งแต่สมัยรุ่นทวดจากการที่ทวดจ้างโอรังอัสลีในการถางป่าเพื่อทำสวนยางพารา เรื่อยมาจนรุ่นปู่และรุ่นพ่อก็ยังคงจ้างโอรังอัสลี จนมาถึงรุ่นผมที่ป่าโปร่งกว่าเดิมมากจึงใช้แรงงานรับจ้างจากชาวบ้าน แรงงานจากคนอิสานและเครื่องจักรโดยที่ไม่ได้จ้างโอรังอัสลีอีก จนเมื่อเริ่มทำงานวิจัยฯชิ้นนี้ผมถึงได้รู้ตัวว่าผมพลาดเข้าอย่างแรง มันไม่ง่ายอย่างที่ผมคิดไว้ในตอนแรกเลย การที่จะเข้าถึงโอรังอัสลีเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ถ้าเขาไม่รู้จักและไว้ใจ เขาจะไม่เต็มใจที่จะพูดคุยกับเราและการที่เราจะเข้าไปเก็บข้อมูลและศึกษาถึงที่พักที่เขารวมกลุ่มกันในป่านั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ด้วยความที่โอรังอัสลีไม่ยินยอมให้คนภายนอกเข้าไปรบกวนเขาจนถึงที่พักของเขาเลย และด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นจากสมัยที่เคยเดินป่าเมื่อก่อนก็ทำให้การเก็บข้อมูลแต่ละครั้งหนักหนาสาหัสไม่น้อยทีเดียว

ในการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลครั้งหนึ่ง เราได้พยายามอ้อนวอนหัวหน้ากลุ่มของโอรังอัสลีกลุ่มหนึ่งเพื่อเดินทางไปยังที่พักกลางป่าลึกของเขา ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีทั้งเด็ก ผู้หญิงและคนชราที่ไม่ลงมาติดต่อกับหมู่บ้าน เราพยายามขอเขาหลายครั้งมาก เขาบ่ายเบี่ยงทุกครั้ง จนเกือบปีที่ใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาทำวิจัยฯชิ้นนี้เขาถึงอนุญาติให้ทีมเราไปได้ เรานัดวันกันโดยที่หัวหน้ากลุ่มเขารับปากว่าเขาจะลงมารับที่หมู่บ้านเชิงเขา ไม่ห่างจากตำแหน่งที่เขาเคลื่อนย้ายมาตั้งที่พักนัก เขาประมาณการว่าทีมเราน่าจะใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทีมวิจัยเราเดินไหว เมื่อถึงวันที่นัดกัน ทีมเราก็ไปรอที่หมู่บ้านเชิงเขาแห่งหนึ่งในเขตอำเภอบันนังสตา(จังหวัดยะลา) พร้อมทั้งเตรียมข้าวสาร กาแฟ ยาสูบและอีกสารพัดอย่างที่จะมอบให้โอรังอัสลีและของกินของใช้ของทีมเรา ปรากฏว่าเขาไม่ได้มาตามนัด ผู้ช่วยวิจัยเราคนหนึ่งซึ่งคุ้นกับโอรังอัสลีกลุ่มนี้บอกว่า กลุ่มนี้รู้จักเฉพาะวันอังคาร ถ้านัดวันอื่นเขาจะสับสน ตอนแรกผมไม่เชื่อหรอกว่าจะเป็นอย่างที่เขาบอก จนเมื่อเจอตัวหัวหน้ากลุ่มที่นัดกับเรา เขาบอกว่า เขาไม่ได้ลืม ไม่ได้เบี้ยวนัด แต่คิดว่ายังไม่ถึงวันที่นัดกัน ถึงตรงนี้ก็คงต้องบอกว่าเราพลาดเอง เพราะโอรังอัสลีไม่สามารถนับเลขและไม่มีปฎิทินที่นับวันเดือนปีแบบเรา เขานับหยาบ ๆ เป็นฤดูกาลเสียมากกว่า

วันที่ทีมวิจัยฯเราพลาดจากการนัดกับหัวหน้ากลุ่มโอรังอัสลี โชคยังเข้าข้างเราอยู่บ้างที่เจอหนุ่มอัสลีสองคนลงมาที่หมู่บ้านในช่วงสาย ๆ เกือบเที่ยง เราเจอเขานั่งอยู่หน้าร้านน้ำชาริมถนนในหมู่บ้าน มองดูผู้คนรถราที่ผ่านไปมาอย่างเพลิดเพลิน ผมรี่เข้าไปทักเขาพร้อมกับเล่าให้เขาฟังว่าเราจะไปนอนที่ฮายะอ์(ทับหรือที่พักของโอรังอัสลี)ใหญ่ของกลุ่มเขา เขาบอกทันทีว่าเราไปไม่ได้ แต่ผมก็พยายามบอกเขาว่าเราได้รับการอนุญาติจากหัวหน้ากลุ่มเขาแล้ว และนัดกันว่าหัวหน้ากลุ่มเขาจะมารับเราที่หมู่บ้านแต่หัวหน้ากลุ่มเขายังไม่มา เราลองติดต่อหัวหน้ากลุ่มโดยการโทรศัพท์ไปหาเขาหลายครั้งจนสามารถติดต่อเขาได้ ปรากฏว่าเขาอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง เอาสมุนไพรไปส่งให้คนในหมู่บ้าน จะกลับไปยังฮายะอ์เขาตอนค่ำ เราจึงให้เขาคุยกับโอรังอัสลีหนุ่มสองหน่อที่เราเจอในหมู่บ้านเพื่อนำทางเราไปยังฮายะอ์ของเขา หลังจากที่สองหนุ่มโอรังอัสลีได้รับการยืนยันจากหัวหน้ากลุ่มของเขาว่าอนุญาติให้เราไปยังฮายะอ์ของเขาได้ เขาจึงยินยอมนำทางให้ แต่ก็ไม่วายบอกกับทีมวิจัยของเราว่า เราเดินไม่ไหวหรอก เพราะฮายะอ์เขาอยู่ไกลจากหมู่บ้านมาก เราไม่เชื่อเขาสักเท่าไร เพราะเราได้ข้อมูลจากหัวหน้ากลุ่มเขามาก่อนแล้วว่าฮายะอ์ของกลุ่มเขาอยู่บริเวณพิกัดไหน เราประเมินว่าเราต้องเดินเท้าประมาณ 4 ชั่วโมง ถ้าเราออกเดินทางจากหมู่บ้านตอนบ่ายก็จะถึงประมาณเกือบค่ำ อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ แต่สองหนุ่มอัสลีนั่นก็ยังออกความเห็นว่าเราน่าจะเดินไม่ไหว เราลงความเห็นกันในทีมว่า เขาคงไม่ค่อยเต็มใจพาเราไปสักเท่าไรกระมังถึงพยายามตะล่อมเราว่าที่พักของพวกเขาไกลมากและเราจะเดินไม่ไหว ทีมเราก็เถียงสองหนุ่มนั่นว่าพวกเราทุกคนแข็งแรงมาก ถ้าไม่มีสัมภาระ ไม่ต้องหิ้วข้าวสารอาหารแห้งและกระเป๋ากล้อง พวกเราจะวิ่งขึ้นเขาให้ดู สองหนุ่มนั่นยิ้มไม่ว่าอะไร คงเชื่อว่าเราแข็งแรงและเดินป่าเก่งกันทุกคน

เราเริ่มเดินทางออกจากหมู่บ้านตอนเกือบบ่ายสอง หลังจากที่เราเอามอเตอร์ไซด์ที่เราขับจากหมู่บ้านมาที่เชิงเขาเพื่อจอดซ่อนในรกข้างทางแบบฝากให้พระเจ้าช่วยดูแล เราก็เดินเท้าสู่ป่าดิบและทางชันไปเรื่อย ๆ เส้นทางรกหนักหนาสาหัสเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล การขึ้นเขาไปสู่ที่สูงซึ่งออกซิเจนน้อยกว่าที่ราบทำให้เราเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โชคดีอยู่บ้างที่สองหนุ่มอัสลีมีน้ำใจช่วยแบกสัมภาระชิ้นหนัก ๆ ของเราไปหลายชิ้นตั้งแต่เริ่มเดินทาง แต่ก็ยังทำให้ทีมเราลำบากอยู่ดี ทีมเราเดินบ้าง พักบ้าง ตลอด 4 ชั่วโมงกว่า ด้วยความหวังว่าถึงที่พักของเขาเราจะพักให้หายเหนื่อยหายล้าแล้วค่อยทำการเก็บข้อมูล ตลอดทางมีเสียงถามสองหนุ่มอัสลีนั่นบ่อย ๆ ว่า “อีกไกลไหม ?” คำตอบที่ได้ทุกครั้งคือ “อีกไกล” จนเราเริ่มท้อว่าเดินมาหลายชั่วโมงแล้วยังอีกไกลหรือ… อำกันหรือเปล่า ? ลึกๆเราเชื่อว่าอีกไม่ไกลแล้วก็คงถึง เพราะเรารู้จากหัวหน้ากลุ่มของเขาคร่าวๆแล้วว่าเขาตั้งที่พักแถวไหน

จนเมื่อเรามาถึงพิกัดที่เราได้ข้อมูลมาว่าเป็นจุดที่โอรังอัสลีกลุ่มนี้ตั้งที่พัก เรากลับพบว่าเป็นที่พักที่ถูกทิ้งร้างไปแล้ว ผมหันไปถามสองหนุ่มอัสลีที่นำทางเราว่าคนอื่นหายไปไหนกันหมด คำตอบของเขาคือ กลุ่มเขาย้ายที่พักเข้าไปในป่าลึกเมื่อไม่กี่วันก่อน พลังงานที่ยังพอหลงเหลืออย่างริบหรี่ของทีมวิจัยเราห่อเหี่ยวเหมือนลูกโป่งถูกปล่อยลมจนหมดเดี๋ยวนั้น ผมถามเขาว่าที่พักใหม่ที่ย้ายไปนี่อยู่ห่างจากตรงนี้อีกไกลไหม ? เขาบอกว่าก็พอ ๆ กับที่เดินจากหมู่บ้านมาถึงตรงนี้ หนึ่งในหนุ่มอัสลีหันมาถามผมว่า “จะเอาไง จะไปอีกไหม?” พวกเขาจะรีบกลับฮายะอ์เพราะป่าเริ่มจะมืดแล้ว ทีมเราปรึกษาหารืออย่างลังเลว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี มีสามทางเลือกคือ เดินกลับไปหมู่บ้าน พักกันตรงนี้หรือเดินต่อไป สุดท้ายมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าเราควรเดินตามเขาไปจนถึงที่พักของกลุ่มเขา เพราะการเดินกลับหรือพักที่นั่นกลางป่าดิบเฉพาะพวกเราน่าจะเสี่ยงอันตราย เสี่ยงกับถูกเสือขบมากกว่าเดินไปกับเขา เราเดินกันต่อท่ามกลางป่าที่เริ่มมืดอย่างรวดเร็วโดยมีไฟฉายติดหน้าผากของคนนำขบวนกับท้ายขบวน ส่วนกลางขบวนแทบจะเรียกว่าเดินเหมือนคนตาบอด ทั้งล้าทั้งเหนื่อย แต่ละคนแทบจะก้าวขาไม่ออกด้วยความที่เส้นยึดไปหมด เดินเตะขอนไม้จนล้มกลิ้งไปไม้รู้กี่รอบ เราเดินกันอีก 4 ชั่วโมงจนมาถึงฮายะอ์หรือที่พักของกลุ่มเขาในเวลาเกือบๆ 4 ทุ่ม… เหนื่อยแทบขาดใจ ทุกคนในทีมเราหลับกลางเต้นท์นอนทั้งชุดเดินป่าที่เปียกโชกไปด้วยเหงื่อ ไม่มีใครอาบน้ำเลยสักคน

ตื่นเช้าในวันรุ่งขึ้น ในยามที่ทัศนะวิสัยดี มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา ผมรู้สึกคุ้นภูมิประเทศแถบนั้นอย่างบอกไม่ถูก ผมเปรยกับหัวหน้ากลุ่มโอรังอัสลีที่ร่วมวงดื่มกาแฟกับเราว่า แถบนี้บรรยากาศคล้าย ๆ ป่าแถวอำเภอศรีสาคร(จังหวัดนราธิวาส) เขายิ้มแล้วตอบว่า “ไม่คล้ายหรอก แต่ที่เห็นนั่นเป็นเขตอำเภอศรีสาครแล้ว เดินอีกหน่อยเดียวก็ถึง”

นี่พวกผมเดินข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัดกันเลยหรือ ? เดินเท้าฝ่าป่าดิบข้ามภูเขาจากอำเภอบันนังสตาจนมาเกือบถึงอำเภอศรีสาครนี่ไม่ใกล้เลยครับ

(Visited 93 times, 1 visits today)
Close