Written by 11:17 am Food, Lifestyle

สมรภูมิ Cafe และ ร้านอาหาร บนถนนสาย มอ.

เมืองปัตตานีมีลักษณะคล้ายๆกับบรรดาเมืองอื่นๆที่เป็นที่ชุมนุมของผู้คน หน่วยงานราชการ สำนักงานต่างๆ ย่านการค้า กระทั่งร้านอาหาร ร้านคาเฟ่เก๋ๆ ที่เปิดให้ผู้คนได้แวะเวียนเข้ามา ชิมอาหาร จิบเครื่องดื่ม หรือ กระทั่งแลกเปลี่ยนบทสนทนา

เมืองปัตตานีมีย่านการค้าในหลายจุดของเมือง แต่ที่พิเศษคือการเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ถนนเจริญประดิษฐ์ อันเป็นถนนที่มุ่งไปสู่ มอ. หรือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีนั้นดูคึกคักมากเป็นพิเศษทั้งตอนกลางวันและกลางคืน แม้จะไม่คึกคักมากหากเทียบกับถนนนิมมานเหมินทร์แห่งเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยร้านรวงประเภทต่างและผู้คนในทุกตรอกซอกซอย แต่ตลอดระยะเวลากว่าสิบห้าปีของความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถนนเจริญประดิษฐ์ หรือ เรียกกันอย่างติดปากว่า ถนนสาย มอ. นั้น กลับอยู่ในบรรยากาศที่ดีมาโดยตลอด สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอาจทำให้เกิดผลกระทบอยู่บ้าง แต่ผู้คนและบรรยากาศบนถนนเส้นนี้ยังคงคึกคักอยู่เหมือนเดิม

ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นทางผ่านไปยังมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตฯ ถนนเส้นนี้จึงเป็นที่ตั้งของบรรดาหอพักเพื่อรองรับนักศึกษากระทั่งคนทำงานเป็นจำนวนมาก ตลอดสองข้างทางจากวงเวียนหอนาฬิกาจนถึงวงเวียนหน้ามหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านชา คาเฟ่ หรือร้านรวงประเภทต่างๆที่เปิดขึ้นมาโดยมีคนหนุ่มสาวหรือนักศึกษาเป็นเป้าหมายในการขาย และแน่นอนการแข่งขันกระทั่งค่าเช่าก็ย่อมสูงไปตามๆกัน

ในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดยาวที่นักศึกษาต่างทยอยกลับบ้านและทำให้ย่านนี้ซบเซาอยู่บ้าง แต่คนท้องถิ่นยังคงแวะเวียนมายังถนนเส้นนี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตุสำคัญสำหรับผู้คนในเมืองที่นิยมมานั่งจิบชา จิบกาแฟ กินขนม กระทั่งทานอาหารบนถนนเส้นนี้ มักบอกว่าถนนเส้นนี้คึกคักกว่าย่านอื่นๆของเมืองก็จริงแต่บรรดาร้านรวงต่างๆที่เปิดแข่งกันบนถนนเส้นนี้กลับเปลี่ยนมือผู้ประกอบการอยู่บ่อยครั้ง

Patani NOTES มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับสามคนที่มีโอกาสได้สังเกตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงบนถนนเส้นนี้มาอย่างยาวนาน ร่วมพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจว่าถนนเส้นนี้คือถนนปราบเซียนของคนที่คิดจะมาเปิดร้านคาเฟ่หรือร้านอาหารแถวนี้หรือไม่ กระทั่งเหล่าผู้ประกอบการบางคนปรับตัวอย่างไรเพื่อเอาตัวรอดจากสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ดลยารัตน์ บากา ประกอบอาชีพส่วนตัว และเป็นคนที่ใช้ชีวิตบนถนนเส้นนี้มาตั้งแต่เด็กๆบอกว่า ถนนเส้นนี้มีร้านใหม่ๆประเภทร้านอาหารหรือคาเฟ่เปิดขึ้นมามากมายก็จริงๆแต่ไม่ใช่ทุกร้านที่ยืนระยะได้ ดลยารัตน์บอกว่าในส่วนของร้านอาหารหรือร้านแบบคาเฟ่นั้น เมื่อก่อนอาจจะใช้เวลาวัดกันที่สามเดือนว่าร้านที่เข้ามาเปิดใหม่นั้นจะสามารถอยู่ได้หรือไม่ แต่ตอนนี้ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเวลาชี้ชะตาอาจมาเร็วกว่าเดิม “เดี๋ยวนี้แค่เดือนเดียวก็รู้ทิศทางลมแล้วว่าจะอยู่หรือไป”

ดลยารัตน์เล่าต่อว่า ร้านที่เปิดใหม่มักจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดหรือโฆษนาโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ แต่รสชาติและราคานั้นคือปัจจัยที่สำคัญมาก บางร้านอุตส่าห์ซื้อเฟรนไชส์จากต่างถิ่นเข้ามา หากรสชาติไม่อร่อยหรือไม่ถูกปาก และไม่ยอมปรับตัว ยังไงก็อยู่รอดยากและต้องเซ้งร้านให้คนอื่นเช่าต่อไป การปรับรสชาติของอาหาร รวมทั้งปริมาณและราคาให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้อยู่ในวัยทำงานนั้นคือเรื่องที่สำคัญมาก

ดลยารัตน์ ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ร้านคาเฟ่บางร้านบนถนนเส้นนี้อาจไม่ได้อยู่รอดได้ด้วยลูกค้าซึ่งมาทานที่ร้านอย่างเดียว เพราะด้วยบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ซบเซาและการแข่งขันที่สูง มีร้านคาเฟ่ใหม่ๆผุดขึ้นเยอะมาก รายได้สำคัญของบางร้านนั้นมาจากการจัดคอฟฟี่เบรกและขนมสำหรับการจัดประชุมมากกว่า ด้วยบรรยากาศการสร้างสันติภาพในพื้นที่จึงทำให้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้คนอยู่บ่อยครั้ง ดลยารัตน์ชี้ว่านั่นก็เป็นอีกช่องทางในการทำรายได้สำหรับร้านคาเฟ่เหล่านี้

ขณะที่ซานุดี ประดู่ หนุ่มฮิปสเตอร์จากสายบุรี ผู้นิยมมาจิบชาบนถนนเจริญประดิษฐ์บอกว่า สามเดือนแรกของการตัดสินใจเปิดร้านนั้นคือช่วงเวลาสำหรับการประเมิน จริงๆไม่ได้ประเมินกันแค่สามเดือน แต่มีทั้งช่วงหกเดือนและหนึ่งปี “สามเดือนคือช่วงเวลาพิสูจน์ เป็นหลักการในการค้าขาย บนถนนเส้นนี้” ซานุดีบอกว่าค่าเช่าบนถนนสาย มอ. นั้นแพงกว่าย่านอื่นๆของเมืองจึงต้องรีบพิสูจน์ตัว และที่สำคัญเนื่องจากผู้คนที่ขับรถมาย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงาน จึงต้องรีบปรับตัวให้เข้ากับรสชาติของช่วงวัย กำลังซื้อ และรสนิยม เพราะหากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถอยู่ได้ และบอกไม่ได้ว่าอะไรคือสูตรตายตัวที่จะทำให้ร้านบนถนนเส้นนี้อยู่ได้

ซานุดียกตัวอย่างร้านขายนมแห่งหนึ่งซึ่งเคยเปิดกลางสี่แยกใหญ่ ช่วงเปิดร้านใหม่มีคนมานั่งที่ร้านจนล้นออกไปบนถนน บรรยากาศคึกคักอยู่หลายเดือน แต่จู่ๆคนก็เงียบหายไป ซานุดีอธิบายว่าคนที่มายังร้านแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และอยากมาเช็คอินเพื่อให้ทันกับกระแสในโซเชี่ยลมีเดีย แต่พอกระแสซาไป ลูกค้าก็หายไปเสียจากร้าน ซานุดีวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเพราะบรรยากาศของร้านไม่เหมาะสำหรับการนั่งพูดคุยในมวลหมู่มิตรสหาย ขณะที่การตั้งร้านอยู่ตรงสี่แยกก็ทำให้หาที่จอดรถยาก เมื่อหมดช่วงตื่นเต้นกับร้านใหม่ ผู้คนก็พลอยหายไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกันกลับมีบางร้านที่กลับอยู่ยงคงกระพัน ซานุดียกตัวอย่างร้านคาเฟ่ร้านหนึ่งที่เปิดและอยู่รอดมาอย่างยาวนานบนถนนสายมอ.แห่งนี้ ซานุดีเล่าว่าเขารู้จักกับเจ้าของร้านและบอกว่าอาจมีช่วงเวลาที่ลูกค้าหายไปหรือรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ก็ต้องกัดฟันด้วยการปรับปรุงสภาพของร้านและเมนูอาหารของร้าน เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าที่มีตัวเลือกมากมายเข้ามาเลือกนั่งที่ร้าน ซานุดีเล่าต่อว่าการปรับขึ้นราคานั้นเป็นเรื่องใหญ่ เจ้าของร้านจึงต้องลดปริมาณของอาหาร เพื่อรักษาระดับราคาให้อยู่กับที่เนื่องด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงและสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก อย่างไรก็ตามซานุดียังบอกว่าอีกสองสามเหตุผลที่ทำให้ร้านขายเครื่องดื่มแห่งนี้อยู่ได้ คือการจัดบรรยากาศให้เหมาะสำหรับการมานั่งพูดคุย การไม่เปิดเพลงในร้านเพื่อไม่รบกวนบทสนทนาของลูกค้า และที่สำคัญคือที่จอดรถซึ่งแม้จะอยู่บนถนนที่จอแจแต่ยังพอมีมุมที่ให้จอดรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนตร์สำหรับลูกค้าอยู่พอสมควร

ในส่วนของอาซีซี ยีเจะแว หุ้นส่วนของร้าน In_t_af Cafe & Gallery ผู้ผ่านประสบการณ์การบริหารร้านคาเฟ่ ที่ถึงแม้ว่าไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนสายมอ. ก็ตาม แต่ประสบการณ์ของเขาบอกเล่ากับเราผ่านประสบการณ์ของเขาว่าว่า การจะดูว่าร้านคาเฟ่แบบเขาบนถนนสายมอ. สามารถอยู่รอดได้บนถนนสาย มอ. นั้นอาจจะต้องใช้เวลาดูกันพอสมควร “อาจใช้เวลาสักหกเดือนหรือหนึ่งปี เพื่อดูทิศทางของร้าน” ปัจจัยของโซเชี่ยลมีเดียนั้นอาจจะทำให้ผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มานั่งมาเช็คอินหรือลองมานั่งกันพอสมควร อาซีซีย้ำว่า “ถ้ารสชาติถูกจริต ผู้คนจะบอกต่อและกลับมาอีกครั้ง” ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลในการประคับประคองร้านให้อยู่ได้ ในช่วงหกเดือนหรือหนึ่งปีถือว่ายังเป็นช่วงของการทดลอง และต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมของผู้คน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเปิดร้านคาเฟ่ หรือ ร้านอาหารบนถนนสายมอ.

อาซีซียังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนมักเลือกนั่งร้านคาเฟ่ที่เอื้อกับบรรยากาศของการพูดคุย อาจมีร้านบางร้านที่ขายของตามสมัยนิยม เช่น ชาบู หรือ กระทั่งบิงซู ที่มีเปิดกันหลายเจ้า แต่ท้ายที่สุดกลับอยู่ได้เพียงไม่กี่ร้าน อาซีซีบอกว่า ร้านชาบูบางร้านอยู่ได้ด้วยเหตุผลของความลงตัวระหว่างรสชาติที่ดีและราคาที่ถูก ขณะที่บิงซูที่ชามหนึ่งอาจมีราคาสูงถึงถ้วยละสองร้อยบาท แต่ยังมีบางร้านที่อยู่ได้เพราะเอื้อให้นักศึกษาได้มานั่งแชร์การกินบิงซูไปด้วยกันท่ามกลางบทสนทนาอันสนุกสนาน

เมื่อถามถึงภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาซีซียอมรับว่าในฐานะสถาปนิกซึ่งเป็นอาชีพหลักของเขานั้นกำลังประสบกับปัญหาเรื่องนี้อย่างชัดเจน ลูกค้าเลือกที่จะรัดเข็มขัดใช้เงินอย่างรอบคอบมากขึ้น แต่ในส่วนของร้านอาหารหรือกาแฟนั้น อาซีซีบอกว่า ยังไงเสียอาหารก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องบริโภคเช่นเดียวกับกาแฟที่กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว หากรักษารสชาติและบรรยากาศที่ดีได้ผู้คนก็จะยังคงเลือกเดินเข้าไปในร้านอยู่ดี

(Visited 85 times, 1 visits today)
Close