ใครที่ขับรถผ่านเส้นทางตำบลมะรือโบตกในช่วงเวลาเช้าตั้งแต่ 6:30 น เป็นต้นไป จน 8-9 โมงเช้า ก็จะเห็นทีมปีกหมุนฝูงบินต่ำเดินเก็บขยะอยู่ที่ริมถนน ตัดหญ้า แต่งกิ่งไม้ พวกเขาทำงานสัปดาห์ละ 6 หยุดวันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น
ทีมปีกหมุนฝูงบินต่ำ 1 มีอยู่ 4 คน ทีมปีกหมุน 2 มีทั้งหมด 7 คน โดยมีสุไลมาน สะมะ เป็นหัวหน้าทีม ทีมปีกหมุน 2 มีหน้าที่เดินเก็บขยะริมถนนในเขตรับผิดชอบของตนเอง พวกเขาจะเดินเก็บขยะตั้งแต่ริมถนนจนถึงแนวเสาไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขยะพลาสติก กระดาษ ขวดน้ำ ขณะที่ทีมปีกหมุนฝูงบินต่ำ 1 จะทำหน้าที่ถางหญ้าและตัดแต่งต้นไม้ริมทาง ในทุกวันอังคารทั้งสองทีมยังสลับกันไปเก็บขยะในเขตชุมชนที่จัดเป็นภารกิจร่วมกัน
สุไลมาน หัวหน้าทีมปิดหมุนฝูงบินต่ำเล่าให้ฟังว่า งานเก็บขยะนี้เเริ่มมา 2 ปีกว่าแล้ว เขามีข้อสังเกตว่าจุดที่มีขยะมากที่สุดจะเป็นจุดที่เป็นทางแยกที่รถจะต้องชะลอ คาดว่าเพราะคนบนรถมักจะโยนขยะทิ้งออกไปในช่วงนั้น อีกข้อสังเกตหนึ่งเขาบอกว่าให้ดูจากร้านค้าที่รถรับส่งนักเรียนแวะจอดให้นักเรียนลงไปซื้อของกินและจากตรงนั้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเป็นจุดทิ้งขยะอีกที่หนึ่งซึ่งเป็นช่วงระยะที่เด็กนักเรียนบนรถดื่มน้ำในขวดหรือกินขนมในถุงหมดพอดี กินหมดโยนทิ้ง เขาบอกว่าส่วนใหญ่ของขยะที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้มาจากเด็กนักเรียนนี่เอง
นอกจากเก็บขยะในแต่ละวันแล้วเขาบอกว่าในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมพิเศษคือ Big cleaning Day ที่ทีมงานจะไปร่วมกันทำความสะอาดในชุมชน เช่นที่มัสยิดหรือที่อื่นๆ ที่เป็นจุดรวมของชุมชน เขาบอกว่าเมื่อลงชุมชนแล้วก็จะได้รับความร่วมมือและชุมชนมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี ทั้งจากชมรมจิตอาสาในชุมชนหรือกรรมการชุมชนก็จะเข้าร่วมในกิจกรรมด้วย
เก็บขยะเข้าธนาคาร
การเก็บขยะแบบนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน จากแนวคิดของนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลมะรือโบตก นายอาห์มัด สาเมาะ และเมื่อกองสาธารณสุข เทศบาลตำบลมะรือโบตกได้จัดตั้งธนาคารขยะขึ้นในปี 2560 ที่เริ่มต้นด้วยเงินทุน 3,000 บาทเพื่อรับซื้อขยะจากคนในชุมชน
นางสาวมารียัม เจะโว๊ะ นักวิชาการสาธารณสุขเล่าให้ฟังว่า ธนาคารจะเป็นระบบรับสมัครสมาชิก ให้สมาชิกนำขยะมาขายที่ธนาคาร โดยจะมีสมุดบัญชีของแต่ละคนไว้ รายได้จากกองทุนธนาคารขยะในปีแรกได้มากกว่า 40,000 บาทซึ่งเงินส่วนนี้ได้จัดสรรมาเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กกำพร้า ที่ได้กำไรเพราะว่าทางธนาคารได้จัดการคัดแยกขยะอีกครั้งหนึ่งเพื่อเพิ่มมูลค่า ยกตัวอย่างเช่น ขวดพลาสติกที่รับซื้อจากชุมชนกิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อมาคัดแยกอีกครั้งโดยแยกฝา ถอดจุก แกะสลากออก ก็สามารถที่จะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 7-15 บาท
การนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนเด็กกำพร้าและคนด้อยโอกาส ทำให้พนักงานที่ทำงานในเทศบาลหรือคนในชุมชนส่วนหนึ่งแยกขยะมาจากบ้านมาขาย และเอาเงินที่ได้สมทบเข้ากองทุนด้วย
การรณรงค์เรื่องการจัดการขยะและงานของธนาคารขยะได้ดำเนินการอย่างจริงจังโดยทีมงานปีกหมุนฝูงบินต่ำทั้งสองทีมและหน่วยเก็บขยะรถเทศบาลที่มีอยู่ 2 คัน พวกเขานำขยะมาแยกเพื่อขายให้กับธนาคาร และยังรณรงค์ให้ชุมชนจัดการกับขยะอินทรีย์โดยการทำปุ๋ยหมักและทําไบโอแก๊สใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้นำขยะอันตรายมาแลกแต้มเพื่อแลกกับสิ่งของเพื่อการบริโภคในครอบครัวได้ด้วย
นายนูรุดดิน สุลัยมาน หัวหน้ากองสาธารณสุขเทศบาลตำบลมะรือโบตกเล่าให้ฟังว่า หลายปีก่อน เทศบาลเก็บขยะได้ประมาณวันละ 8 ตัน พวกเขาพบว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของขยะในชุมชนเป็นขยะอินทรีย์ จากข้อค้นพบนี้ทำให้พวกเขารณรงค์ในเรื่องของการแยกขยะโดยเริ่มจากให้ชุมชนแยกขยะอินทรีย์ทำเป็นปุ๋ยหมักที่ใช้ในครัวเรือน โดยให้แต่ละครอบครัวใช้ถังพลาสติกสีดำตัดก้นแล้วฝังลงในดินครึ่งนึงสำหรับนำขยะอินทรีย์ไปทิ้งเพื่อเป็นปุ๋ย และรณรงค์ให้เก็บขยะที่สามารถขายได้เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว ขยะที่เป็นเหล็กหรือโลหะให้นำไปขายที่ธนาคารขยะของเทศบาล หลังจากรณรงค์มา 2 ปีก็พบว่า ในวันนี้ขยะในชุมชนลดเหลือวันละประมาณ 3.8 ตัน
การรณรงค์เรื่องการแยกขยะอินทรีย์ในขั้นต่อไป ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขบอกว่าเขามีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดชุมชนไบโอแก๊สในมะรือโบตกให้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีครอบครัวที่ทำบ่อหมักไบโอแก๊สแล้ว 8 ครอบครัว ขณะนี้มีทุนให้ครอบครัวที่ต้องการทำบ่อไบโอแก๊สครอบครัวละ 6,000 บาทซึ่งเป็นทุนที่สามารถทำบ่อหมักจนเสร็จสมบูรณ์ได้ และเมื่อใช้การได้แล้วค่อยผ่อนส่งคืนเทศบาล
สุไลมาน เล่าให้ฟังว่าครอบครัวเขาเป็นครอบครัวหนึ่งที่ทำบ่อหมักไบโอแก๊สใช้ในครัวเรือน ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ก๊าซหุงต้มประมาณ 45 วันต่อ 1 ถัง เมื่อทำบ่อหมักไบโอแก๊ส เขาบอกว่าได้ยืดเวลาการใช้แก๊สไปเป็น 3 ถึง 4 เดือน ขณะนี้เขาได้ทำบ่อหมักไบโอแก๊สในบริเวณเทศบาล ซึ่งมีบ่อสาธิตให้กับผู้ที่สนใจไปศึกษาด้วย
ชุมชนปลอดถังขยะ เป้าหมายที่จะต้องเป็นจริง
นูรุดดินยังบอกอีกว่า เขาวางเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างชุมชนเทศบาลมะรือโบตกเป็นชุมชนปลอดถังขยะ วิธีการรณรงค์ก็คือ จากที่แต่ละบ้านมีถังขยะถังใหญ่อยู่หน้าบ้าน เปลี่ยนให้ชาวบ้านจัดการแยกขยะในครัวเรือนซึ่งจะมีอยู่ 3 ประเภทก็คือ ขยะอินทรีย์ที่สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ ขยะพลาสติกหรือขวดแก้วหรือพวกโลหะกระดาษที่สามารถนำไปขายให้กับธนาคารขยะที่เทศบาลได้ ก็จะเหลือส่วนที่ 3 ที่จะเป็นขยะที่ต้องทิ้งจริงๆ ซึ่งแต่ละครอบครัวสามารถจัดการเองโดยไม่ต้องอาศัยถังใหญ่หน้าบ้าน ขอเพียงมีถังขยะถังเล็กในครัวก็น่าจะเพียงพอ ถ้าทำแบบนี้ได้ ในชุมชนก็ไม่ต้องมีถังขยะตั้งอยู่หน้าบ้านหรือริมถนนให้เห็นเลย วิธีการนี้ก็เป็นวิธีที่ใช้กันในประเทศไต้หวันหรือในประเทศยุโรปหลายประเทศ
นอกจากนี้เขายังมีโปรแกรมจัดตลาดนัดขยะโดยมีการจัดตารางเวลาที่ชัดเจนของแต่ละชุมชนว่าวันไหนจะเป็นตลาดนัดขยะของชุมชนไหน ซึ่งในวันตลาดนัดขยะก็จะมีทีมงานของเทศบาลร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนหรืออสม.ไปรับซื้อถึงที่ ทั้งหมดนี้เขาพบว่าทำให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มแยกขยะในครัวเรือนมากขึ้น
สำหรับการจัดการขยะอันตรายที่ทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ ให้ชาวบ้านนำขยะอันตรายมาแลกแต้มที่ธนาคารขยะของเทศบาล ซึ่งขยะอันตรายแต่ละชนิดจะมีแต้มคะแนนให้และก็สามารถนำแต้มนั้นมาแลกเป็นของใช้ในครัวเรือน เช่น โทรศัพท์มือถือจะมี 10 แต้ม หลอดไฟทุกชนิดจะมี 3 แต้ม ถ่านไฟฉายขนาดเล็ก 4 ก้อนจะได้ 2 แต้ม กระป๋องสีสเปรย์ 1 กระป๋องจะได้ 2 แต้ม กระป๋องสีทาบ้านจะได้ 2 แต้ม ไฟแช็คที่ไม่ใช้แล้วจะได้ 1 แต้มและเมื่อสะสมแต้มครบ 10 แต้มก็สามารถและรับสิ่งของชิ้นเล็กได้ 1 ชิ้นอาจจะเป็นสบู่อาบน้ำหรือของใช้ในครัวอื่นๆ ความคิดนี้มาจากการที่เขาไปดูงานเทศบาลตำบลควนโดนที่จังหวัดสตูล