Written by 1:51 pm Art, Literature

เราสูญเสียอัตลักษณ์มลายูให้แก่ความเป็นไทยไปแล้ว

เราสูญเสียอัตลักษณ์มลายูให้แก่ความเป็นไทยไปแล้ว คือถ้อยคำที่ ซะการีย์ยา อมตยา ได้กล่าวบนเวทีเสวนาชื่อ “Violence Know No Border” หรือ ความรุนแรงไม่รู้จักพรมแดน เวทีอันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อฉลองวาระครบรอบ150 แห่งการก่อตั้งห้องสมุด เนียลสัน เฮยส์ ในระหว่างวันที่16-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เทศกาครั้งนี้ มีศิลปินนักเขียนชื่อดังทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก และบนเวทีที่ซะการีย์ยา อมตยา ได้ขึ้นไปร่วมพูดนั้น มีวิทยากรร่วมพูดบนเวทีที่น่าสนใจมากๆคือ พาทริค วินน์ สื่อมวลชนที่ทำข่าวเกี่ยวกับการต่อสู้ของกองกำลังติดอาวุธในเอเชีย พี.ศิวาคามี นักเขียนชื่อดัง นักเคลื่อนไหว และ นักการเมืองซึ่งอาสาเป็นตัวแทนของคน“ดาลิต”หรือ คนนอกโครงสร้างวรรณะของอินเดีย และ ดร.ธิดา ศัลยแพทย์ นักเขียน นักเคลื่อนไหวชื่อดังจากพม่าผู้ที่เคยถูกคุมขังในคุกอยู่หลายปี

เมื่อเริ่มเวทีพิธีกรก็ยิงคำถามสำคัญเพื่อเปิดวงกับเหล่าบรรดาวิทยากรว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียล้วนมีสาเหตุมาจากการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของคนตัวเล็กตัวน้อยกระทั่งการไม่มีตัวแทนของเขาได้ส่งเสียงออกมาใช่หรือไม่

พี.ศิวาคามี ซึ่งเป็นนักเขียนชื่อดัง นักเคลื่อนไหว และ นักการเมืองซึ่งอาสาเป็นตัวแทนของคน “ดาลิต” หรือ คนนอกโครงสร้างวรรณะของอินเดียที่มักจะได้รับการปฏิบัติจากคนวรรณะอื่นอย่างเลวร้ายบอกว่าสิ่งที่พิธีกรได้กล่าวไว้นั้นเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะในกรณีของคนดาลิตที่มักจะเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งกายภาพและโครงสร้างของประเทศอินเดีย หรือเรียกง่ายๆว่าคือฝุ่นธุลีของโครงสร้างวรรณะในอินเดีย

ศิวาคามีได้เล่าหนึ่งตัวอย่างอันน่าขมขื่นของชายชาวดาลิตที่หลงรักผู้หญิงที่อยู่ในระบบวรรณะว่าความรักของเขาทำให้หมู่บ้านของชาวดาลิตโดนเผาจากคนวรรณะอื่น ขณะที่ศรีษะของเขาก็ถูกตัดออกจากตัว สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ตำรวจก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แม้ว่าชายชาวดาลิตคนดังกล่าวจะก้าวข้ามเรื่องชนชั้นไปแล้ว แต่ผู้คนกลับใช้กรอบคิดเรื่องวรรณะในการห้ำหั่นกันเสมอ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อย่ำยีชาวดาลิต โดยเฉพาะในกรณีแบบนี้ที่มักจะเป็นสถานการณ์ที่เหล่าบรรดาคนในวรรณะอื่นๆกระทั่งพรรคการเมืองจะใช้เป็นเครื่องมือในการระดมพล รวมกลุ่มกันย่ำยีชาวดาลิต

ศิวาคามียังบอกอีกว่าชะตากรรมของชาวดาลิตเป็นแบบนี้มาตลอด ผู้หญิงดาลิตมักเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืน ขณะที่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆถาโถมเข้าใส่คนดาลิต แต่คดีความต่างๆกลับถูกดองไว้ที่สถานีตำรวจ ไม่มีโอกาสได้ขึ้นศาล ศิวาคามีเผยว่าในรัฐที่เขาอาศัยอยู่นั้นมีคดีความที่คั่งค้างอยู่มากกว่าเจ็ดหมื่นคดี แน่อนว่าสถานการณ์เหล่านี้ทำให้ชาวดาลิตหลายคนต้องลุกขึ้นมาสู้ในรูปแบบต่างๆเพื่อปกป้องตัวของชาวดาลิตเอง

ซะการีย์ยา อมตยา บรรณาธิการวารสารมลายูปริทัศน์บอกว่า ความรุนแรงในการปราบปรามทางวัฒนธรรมนั้นรุนแรงกว่าทางกายภาพมาก และยังยอมรับว่าเขาคือหนึ่งในคนที่พ่ายแพ้และสูญเสียอัตลักษณ์มลายูดั้งเดิมไปแล้ว ซะการีย์ยายังบอกอีกด้วยว่า ภาษามลายูไม่ได้รับความนิยมในชีวิตประจำวันสำหรับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป แม้สถานการณ์ในปัจจุบันรัฐจะเปิดพื้นที่ให้มีการส่งเสริมการใช้ภาษามลายูมากขึ้นแต่ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเสียแล้ว

ในฐานะคนทำวารสาร ซะการีย์ยาบอกว่าเขาอยากให้มีงานเขียนภาษามลายูอยู่ในวารสารที่เขาฟูมฟัก แต่ปรากฎว่าไม่มีคนส่งงานภาษามลายูเข้ามาเลย คงด้วยเพราะการที่ครั้งหนึ่งการพูดการใช้ภาษามลายูเป็นสิ่งต้องห้ามในพื้นที่ทางการ และทำให้ตัวภาษามลายูในพื้นที่นั้นไม่เติบโต ขณะที่หลายคนก็ไม่สามารถสื่อสารความคิดอันลึกซึ้งผ่านภาษามลายูได้อีกต่อไป แม้จะมีความพยายามของผู้คนในการฟื้นฟูภาษามลายู แต่ซะการีย์ยาย้ำว่าสิ่งแรกที่ต้องยอมรับก่อนคือ ตัวภาษานั้นไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปแล้ว และการยอมรับว่ามันมีปัญหาจึงจะทำในสิ่งที่เรียกว่าฟื้นฟูได้

ขณะที่แพทริค วินน์ นักข่าวมือรางวัล ผู้ที่เคยสัมภาษณ์หัวหน้ากลุ่ม Bersatuมาแล้วนั้น บอกว่าจากการสัมภาษณ์เหล่าบรรดาผู้ที่เป็นเหล่านักสู้ทั้งหลาย เขาตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการที่เหล่าหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธใช้ในการสร้างความชอบธรรมสำหรับการการต่อสู้คือความจำเป็นในการปกป้องผู้คนจากภัยต่างๆ จากประสบการณ์ของแพทริคที่เจอกลุ่มกองกำลังชาติพันธ์ในพม่านั้นบอกว่า การมีกลุ่มกองกำลังทำให้อย่างน้อยที่สุดเป็นการกดดันให้รัฐบาลพม่าต้องขยายความเจริญเข้าไปในเขตสู้รบ ซึ่งด้านหนึ่งมันแปลว่าวิธีการแบบนั้นใช้ได้แต่กรณีของโรฮิงยานั้นกลับแตกต่างกันออกไป แพทริคยังเสริมด้วยว่าเมื่อสถานการณ์ที่ชาวโรฮิงยาได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายถูกพูดถึงในระดับโลกนั้น กลุ่มชาติพันธ์ต่างๆหรือกระทั่งชาวพม่ากลับมีท่าทีเหมือนไม่เคยมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย

ในส่วนของดร.ธิดา ศัลยแพทย์ นักเขียน นักเคลื่อนไหวชื่อดังจากพม่าผู้ที่เคยถูกคุมขังในคุกอยู่หลายปีบอกว่า การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เป็นผลผลิตของอาณานิคมและเป็นความทรงจำอันย่ำแย่ของสังคมพม่า ดร.ธิดาบอกอีกว่าสังคมของพม่านั้นมีความหลากหลายมากแต่การรัฐประหารในปี ค.ศ. 1962 อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบทหารอันยาวนานในพม่านั้นได้ทำลายความหลากหลายของอัตลักษณ์ในพม่าไปเสียสิ้น อัตลักษณ์เดียวที่อยู่รอดได้คืออัตลักษณ์ของทหาร จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือนไปแล้วแต่ทหารยังคงมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ ดร.ธิดายังเปรยว่า อันที่จริงแล้วการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2010 คือกระบวนการที่ทำให้ระบอบทหารได้รับความชอบธรรมในการบริหารประเทศขณะที่พลเรือนก็ยังคงไม่มีปากมีเสียงเท่าไหร่นัก

เมื่อถูกถามถึงประเด็นของชาวโรฮิงยา ดร.ธิดาพยายามจะชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของสถานการณ์ว่า คนพม่าจำนวนมากไม่รู้จักอดีตของตัวเอง และไม่มีอัตลักษณ์ร่วมบางอย่างที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ ตั้งแต่ปี 1988 ที่ผู้คนลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและถูกปราบปรามอย่างหนักถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาติพันธ์ต่างๆในพม่าสร้างกองกำลังของตัวเองขึ้นมา แต่ตอนนั้นชาวโรฮิงยาไม่ได้สร้าง และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในพม่าไม่รู้จักโรฮิงยา เมื่อประเด็นโรฮิงยาถูกพูดถึงในเวทีประชาคมโลกคนพม่าจำนวนมากไม่รู้จะต้องทำความเข้าใจอย่างไร ดร.ธิดาเองก็พาดพิงไปถึงนางอองซาน ซูจี  ด้วยว่าเธอเองก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องมีทีท่าในเรื่องนี้อย่างไร เมื่อทหารเองยังมีบทบาทในการเมืองพม่าที่สูงมาก แต่ดร.ธิดาบอกว่า สังคมพม่าที่เธออยู่นั้นยังคงมืดบอดในหลายๆเรื่อง และความมืดบอดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างจากข่าวลวง โฆษณาชวนเชื่อต่างๆที่ไหลออกมาจากโซเชียลมีเดีย

(Visited 59 times, 1 visits today)
Close