Written by 12:56 pm Local History

เงินตราในแดนมลายู


เป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่าการตั้งถิ่นฐานและความรุ่งเรืองของเมืองในอดีตแถบคาบสมุทรมลายูนั้นมีปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งสนับสนุน นั่นคือการที่มีทำเลอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างโลกตะวันออกคือจีนกับโลกตะวันตกคือ อินเดีย อาหรับและยุโรป ในระบบการค้าขายนั้น นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรงระหว่างสิ่งของต่อสิ่งของหรือสินค้ากับสินค้าที่เรียกกันว่า Barter system ก็มีระบบแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินตรา (Money) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยที่เงินตรา มีรูปแบบ 2 ชนิด คือ ชนิดที่เป็นธนบัตรและชนิดที่เป็นเหรียญ

ถึงแม้ว่าเมืองแต่ละแห่งจะมีการผลิตเงินตราของตัวเอง เช่น หอยเบี้ย พดด้วง ของสยาม เหรียญทองและเหรียญดีบุกของปตานี กลันตัน แต่ในตลาดการค้าของเมืองท่าแถบนี้ก็มีการใช้เงินตราต่างชาติหรือต่างถิ่นเช่นกัน เช่นเหรียญอีแปะของจีนและเหรียญกษาปณ์ของชาติมหาอำนาจตะวันตก

เหรียญกษาปณ์ในภาพเป็นเหรียญกษาปณ์ที่หลงเหลือในหีบของคุณย่าผู้เขียน สมัยเด็กๆผู้เขียนสอบถามคุณพ่อจนได้ความว่า เหรียญเหล่านี้เป็นเหรียญเงินของทวดที่ได้จากการค้าขายผ่านเคดาห์และปีนัง ซึ่งสามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ พ่อเล่าให้ฟังว่า ประมาณ 140 ปีก่อน ทวดใช้เหรียญเม็กซิโกและเหรียญสเปนเหล่านี้ซื้อบ้านหลังหนึ่งที่เมืองเมกกะห์(ซาอุดิอารเบีย) ซึ่งสมัยนั้นอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมาน ทวดใช้เหรียญเหล่านี้จำนวน 3,000 เหรียญซื้อบ้านราคา 3,000 รียาล เพราะมีน้ำหนักของเงินเท่ากัน ไม่ได้อิงตามอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนสมัยปัจจุบัน

เหรียญในภาพเท่าที่เห็นจะมีเหรียญของสยามจากสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ผลิตในช่วง พ.ศ.2419 – 2451 เหรียญจากสมัยรัชกาลที่หกที่ด้านหลังเป็นรูปช้างสามเศียร ผลิตในปี พ.ศ.2461 เหรียญเม็กซิโกที่เรียกกันว่าเหรียญนก (ค.ศ.1897) เหรียญของเกาะฮ่องกงและเหรียญสเปน

เหรียญเม็กซิโกที่มีรูปอินทรีย์มักเรียกกันง่ายๆว่าเหรียญนก เป็นเหรียญที่เม็กซิโกผลิตใน ค.ศ.1879 เพื่อใช้ในการทำการค้า ประเทศที่ไม่ได้ผลิตเงินตราของตัวเองนิยมนำไปตอกตราพิเศษที่ขานกเพื่อนำไปใช้เป็นเงินตราในประเทศของตน

เหรียญเงินที่มีรูปเทพีถือไม้เท้า นิยมเรียกกันง่ายๆว่าเหรียญไม้เท้าเป็นเหรียญเพื่อใช้ในการค้าของเกาะฮ่องกงในขณะที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ผลิตที่เมืองกัลกัตตาประเทศอินเดีย ใน ค.ศ. 1902

ในช่วงหนึ่งเหรียญกษาปณ์เหล่านี้เป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนซื้อขายของคนในคาบสมุทรมลายูอย่างแพร่หลาย

(Visited 123 times, 1 visits today)
Close